"CPM" กระบวนการโยงใยให้ "BSC" สัมฤทธิผล


749 ผู้ชม


"CPM" กระบวนการโยงใยให้ "BSC" สัมฤทธิผล




        CPM (Corporate Performance Management) เป็นการอธิบายความถึง กรรมวิธีการในการบริหารจัดการเรื่องคุณภาพ เกี่ยวขัองกับหน่วยวัดต่างๆ ว่า กระบวนการต่างๆ จะใช้อะไรเป็นตัววัดว่า ประสบผลสำเร็จหรือไม่ อย่างไร จากนั้นก็มีระบบงานที่ใช้ในการตรวจติดตาม ว่าการดำเนินธุรกิจเป็นอย่างไร 
       สรุปได้ว่า CPM คือ กรรมวิธีในการที่จะตรวจติดตามการดำเนินงานขององค์กร โดยยึดตามตัวหน่วยวัดเป็นตัวหลัก และเป็นหน่วยวัดซึ่งมีที่มาจากกลยุทธ์ขององค์กร
       ขณะที่ BSC (Balanced Scorecard) เป็นเครื่องมือวัดผลการปฏิบัติงานขององค์กร ภายใต้แนวคิดของ "โรเบิร์ต แคปแลน" กับ "เดวิด นอร์ตัน" ที่มองว่าแกนของ BSC สามารถขับเคลื่อนได้โดยผ่าน 5 กระบวนการคือ
        1. ทำอย่างไรให้มีการขับเคลื่อนเปลี่ยนแปลง

         2.ต้องมีการแปลยุทธศาสตร์ออกมาในเชิงปฏิบัติการได้

        3.การเชื่อมโยงสร้างความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับภายนอก 
       
        4.ตั้งเป้าสร้างแรงจูงใจให้การปฏิบัติงานบรรลุวัตถุประสงค์ และ 

         5.ทำอย่างไรให้ต่อเนื่องเป็นกลยุทธ์ที่เป็นงานของทุกคน 
       ดังนั้น CPM จึงเป็นกระบวนการหนึ่งที่โยงใยให้ BSC บรรลุผลสำเร็จ และถือเป็นอีกแนวทางหนึ่งในการประยุกต์ใช้ BSC มาจัดการในองค์กร
       "BSC ไม่ใช่มีแต่ตัวเลขหรือตัวชี้วัด แต่เป็นกระบวนการปรับสภาพองค์กรจากภาวะหยุดนิ่ง ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวใน 5 มิติ" ศิริศักดิ์ ถิรวัฒนางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท บิสซิเนส แอพพลิเคชั่น จำกัด ตัวแทนจำหน่ายซอฟต์แวร์ Cognos Metrics รองรับระบบงานไอทีสำหรับ BSC กล่าวถึงบทบาทของ BSC ที่มีอิทธิพลต่อการบริหารองค์กรทุกวันนี้
      ซึ่งก็ดูเหมือนว่าหลังจากแคปแลนขยายเมล็ดพันธุ์ความคิดผ่าน "แผนที่กลยุทธ์" (Strategy Maps) หนังสือภาคต่อเนื่องของ BSC ในเมืองไทยเมื่อต้นเดือนส.ค. ที่ผ่านมา กระแสตื่นตัวของหลายองค์กรที่มีต่อ BSC ก็เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
      BSC ในเวอร์ชั่น Strategy Maps เป็นการลงลึกศาสตร์แห่งกลยุทธ์ที่เข้าไปผูกกับแต่ละแผนงานในองค์กร และตรวจสอบว่าทำไมเป้าหมายที่ตั้งไว้ปีนี้ถึงสูงหรือต่ำลงกว่าที่คาดการณ์ สิ่งสำคัญก็คือได้เรียนรู้ว่า ที่สำเร็จเป็นเพราะอะไร และที่ไม่สำเร็จเป็นเพราะอะไร ทั้งหมดนี้เป็นผลที่ได้จากการนำ BSC มาใช้
       อีกประเด็นหนึ่งของ BSC ที่แคปแลนหยิบยกมาพูดถึง คือการนำระบบไอทีมาขยายภาพของ BSC ให้ชัดขึ้น และดึงการทำงานที่ใช้มือทำ มาเป็นระบบ อิเล็กทรอนิกส์ ภายใต้คุณสมบัติหลักๆ 4 ข้อคือ 1.เป็นซอฟต์แวร์ที่เชื่อมโยงกลยุทธ์เข้ากับตัวชี้วัดทั้งองค์กร 2.สามารถแสดงความเชื่อมโยงระหว่างวัตถุประสงค์กับแผนงานและเป้าหมายต่างๆ 3.สามารถดึงข้อมูลและวิเคราะห์ผลการปฏิบัติงานต่างๆ ทั้งองค์กรได้ และ 4.ข้อมูลนั้นต้องโชว์ออกมาเป็นผลสำเร็จ ชัดเจน กระชับ และเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจ 
       ทั้งหมดนี้จึงเป็นที่มาของการนำเสนอตัวของ Cognos ซอฟต์แวร์โซลูชั่นงาน CPM ที่เข้ามาโฟกัสงานของ BSC ให้ดูง่ายขึ้น
       หลักการของ CPM ประกอบด้วย 1. Srategy 2.Planning 3.Metrics และ 4.Business Intelligence (BI) ซึ่งจะบ่งชี้ว่า กลยุทธ์ที่วางแผนไว้ จะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ อย่างไร จะต้องมีมาตรวัด และ BI ซึ่งเป็นชุดข้อมูลมาเป็นตัวตอบคำถามทางกลยุทธ์ เพื่อให้ผู้ใช้งานเข้าใจง่ายขึ้น
       ศักดิ์ชัย ผดุงพัฒโนดม Business Consulting Manager บริษัท บิสซิเนส แอพพลิเคชั่น จำกัด กล่าวเสริมว่า จากผลสำรวจบริษัท 380 แห่งที่มีอัตราการเจริญเติบโตสูงสุด ของบริษัท ไพรซ์วอเตอร์เฮาส์คูเปอร์ จำกัด พบว่า 78% ของบริษัท
เหล่านี้มีการนำเอามาตรวัดมาวัดผลการปฏิบัติงาน 
       ซึ่งเมื่อมองเชื่อมโยงกับมุมมองของแคปแลนที่ระบุชัดว่า strategy map ที่ดีจะเป็นตัวบอกเล่ากลยุทธ์ขององค์กรใน 4 มิติ ได้แก่ 1.Financial Perspective 2.Customer Perspective 3.Internal Perspective และ 4.Learning Perspective โดยดึงแต่ละมิติมาทำเป็นวัตถุประสงค์ โยงแต่ละประเด็นให้รู้ว่าเป็นเหตุเป็นผลกัน (cause & effect) 
       การแยกตัววัดผลออกมาเป็น 4 มุมมอง และให้แต่ละมุมมองสอดคล้องกัน มีความสมดุลระหว่างเหตุและผล สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับกรรมวิธีของ CPM ได้อย่างลงตัว
       ทางด้านเตชะ บุณยะชัย ที่ปรึกษารองนายก รัฐมนตรี (จาตุรนต์ ฉายแสง) และสมาชิกสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ในฐานะผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการนำ BSC ไปใช้กับภาค รัฐ กล่าวถึงแนวทางประยุกต์ BSC แบบไทยๆ ว่า เหตุผลหลักที่บริษัทใหญ่ๆ สามารถบรรลุเป้าหมายได้ภายในปีสองปี คำตอบมาจากการเน้นในเรื่องของ focus & align ตามแนวทางของแคปแลน โดยทำการโฟกัสทั้งในแง่การผลิต สินค้าให้ตรงกับความต้องการลูกค้า แง่ของไอที ให้เข้ากับวิสัยทัศน์องค์กร และจัดงบประมาณให้กลมกลืนกับยุทธศาสตร์ หรือฝึกอบรมคนในทิศทางเดียวกับที่บริษัทต้องการจะเป็น
       "แต่ละบริษัทจะมีพันธกิจและวิสัยทัศน์ที่คนภายนอกมองเห็น แต่เรื่องยุทธศาสตร์เป็นเรื่องที่อยู่ใต้น้ำมองไม่เห็น ต้องดำเนินการเพื่อให้วิสัยทัศน์เป็นจริงได้ โดยวิสัยทัศน์ที่ดีจะต้องมี 3 ส่วนคือ 1.ความคาดหวัง 2.บทสรุปวิสัยทัศน์องค์กร และ 3.ต้องมี core value เป็นค่านิยมร่วม"
       เขากล่าวต่อว่า Strategy Organization Best Practice ของแคปแลนที่ว่าด้วย แผนงาน 5 มิติเป็นการลงมือทำ เพื่อให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจว่าทิศทางบริษัทจะไปทางไหน และมีเส้นทางอะไรบ้าง แล้วก็มาทำ BSC ขององค์กร ซึ่งประกอบด้วยตัวชี้วัด มีเป้าหมาย มีแผนงาน ซึ่งถ้าทำทั้ง 5 ขั้นตอนจะเปรียบเหมือนภูเขาน้ำแข็ง ที่โผล่พ้นน้ำแค่ 1 ส่วน แต่อยู่ใต้น้ำถึง 11 ส่วน เรียกว่า หลักการภูเขาน้ำแข็ง เป็นการนำเสนอภาพกลยุทธ์ขององค์กรที่สามารถอธิบายความได้หมดภายในแผ่นเดียว และเป็นการประยุกต์ให้เข้าใจง่ายๆ กับองค์กรไทยๆ และระบบราชการ
      "หลักการของ BSC สามารถเอาไปเชื่อมโยงกับหน่วยงานต่างๆ ในองค์กรให้เป็นทิศทางเดียวกัน มีเป้าหมายเดียวกัน ยุทธศาสตร์เดียวกัน ขั้นต่อไปคือทำให้ยุทธศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน จะต้องกระจายตัวชี้วัดในระดับองค์กร ไปสู่ระดับบุคคล ให้เชื่อมโยงกับผลตอบแทนในรูปของเงินหรือไม่ใช่เงินก็ได้"
       เตชะย้ำว่า จะเอา BSC มาใช้ได้ ทุกคนต้อง เข้าใจตรงกันเสียก่อนว่า BSC คืออะไรโดยปรับให้เข้ากับสภาพของบริษัทนั้นๆ ถ้าไม่สามารถ สื่อสารให้เข้าใจได้ ก็ยากที่จะลงมือปฏิบัติ

แหล่งข้อมูล : ผู้จัดการรายสัปดาห์


Send this page to a friend

อัพเดทล่าสุด