ในอนาคต "ซีอีโอ" จะต้องมีบทบาทสำคัญอย่างที่สุดในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ !!


882 ผู้ชม


ในอนาคต "ซีอีโอ" จะต้องมีบทบาทสำคัญอย่างที่สุดในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ !!




ครั้งหนึ่งองค์กรมองว่า "คน" เป็นต้นทุนอย่างหนึ่งของธุรกิจ ในการบริหารคนจึงเป็นแค่การบริหารเช่นเดียวกับต้นทุนอื่นในธุรกิจ หากแต่ปัจจุบันแนวคิดเกี่ยวกับการบริหารทรัพยากรมนุษย์กำลังเปลี่ยนไป ปัจจุบัน "คน" กลายเป็นสินทรัพย์สำคัญขององค์กร และในอนาคตเส้นทางสายนี้ยังคงจะเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่อง ไม่เฉพาะฟังก์ชันของงานบุคคล
ในอนาคต "ซีอีโอ" จะต้องมีบทบาทสำคัญอย่างที่สุดในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ !!
"แนวโน้มในอนาคตจะทำให้ฟังก์ชันของบุคคลจะละลายหายเข้าไปอยู่ในตัวผู้บริหาร จะเป็น ส่วนหนึ่งของผู้บริหารธุรกิจ เพราะถ้าพูดถึงการบริหาร จัดการ ก็หนีที่จะพูดเรื่องคนไม่ได้ ดังนั้น งานบุคคลก็จะเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้บริหารของ ซีอีโอในบริษัท" ดร.อาชว์ เตาลานนท์ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะผู้ที่คลุกคลีในแวดวงการจัดการมายาวนานกว่า 40 ปี ให้ ความเห็น
และดูเหมือนว่าการบริหารทรัพยากรบุคคลนับจากนี้ กำลังจะย้อนกลับสู่วัฏจักรของการบริหารในอดีต ที่มีเถ้าแก่ทำหน้าที่บริหารเอง เพียงแต่มีรูปแบบเปลี่ยนไป ตามยุคสมัยและแนวคิดในการพัฒนาองค์กร
โดยลำดับให้ฟังว่า เมื่อ 40 ปีที่ผ่านมา ฝ่ายบุคคลถือเป็นเรื่องฟุ่มเฟือยของบริษัท มีเพียงเถ้าแก่เป็นคนดำเนินงาน ในขณะนั้นมีเพียงบริษัทต่างประเทศที่มีความก้าวหน้าด้านการบริหารจัดการ เช่น เชลล์ เอสโซ่ ฯลฯ เท่านั้นที่มี ในยุคต่อมาบริษัทที่เป็นผู้นำ คือ ปูนซิเมนต์ไทย ที่เริ่มนำการบริหารจัดการสมัยใหม่มาใช้ ส่วนกลุ่มเถ้าแก่ที่ให้ความสำคัญของงานบุคคลในอดีตก็เช่น บริษัทในเครือสหยูเนี่ยน เครือสหพัฒน์ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนาคารกสิกรไทย
เป้าหมายธุรกิจวันนี้
"คน" เป็นฟังก์ชันสำคัญ

จากอดีตถึงปัจจุบันแนวคิดในการบริหารคนเปลี่ยนแปลงไปมากเมื่อคอนเซ็ปต์ในการบริหารงานเปลี่ยนไป มีการกำหนดเป้าหมาย คนจึงถูกบรรจุให้เป็นหนึ่งในเป้าหมายนั้น เพราะฉะนั้น จะเห็นได้ว่าเวลานี้เป้าหมายของบริษัทและยุทธศาสตร์ไม่ได้อยู่ที่ตัวเลขกำไรและตัวเลขการขยายธุรกิจแต่อย่างเดียว เป้าหมายธุรกิจถือเอาคนเป็นฟังก์ชันสำคัญ
บทบาทของฝ่ายบุคคลก็เปลี่ยนไปเช่นกัน จากเดิมที่เคยทำงานเอกสาร วันนี้ฝ่ายบุคคลก็ทำงานในเชิงยุทธศาสตร์มากขึ้น จากงานที่ปรึกษา บริษัทหลายแห่งกำลังเปลี่ยนแปลงงานบุคคลให้อยู่ในฐานะหุ้นส่วนทางธุรกิจ (business partner) งานบุคคลจึงจะเล็กลงและต้องการคนที่เชี่ยวชาญสูงขึ้น ขณะที่งานบางส่วนก็จะถูกเอาต์ซอร์ซออกไปข้างนอกมากขึ้น เช่น การสำรวจและกำหนดโครงสร้างเงินเดือน
ซีอีโอกำหนดวัฒนธรรมองค์กร
เมื่อซีอีโอจะต้องเข้ามามีหน้าที่ในการบริหารจัดการด้านบุคคล ดร.อาชว์มองว่า ความท้าทายคือการทำอย่างไรให้องค์กรสามารถขับเคลื่อนได้ด้วยจิตวิญญาณ เพราะในอนาคตการแสวงหาคนเก่ง คนดี ถ้ามีเงินไปจ้าง "เฮด ฮันเตอร์" ก็หาคนที่ต้องการได้ คงไม่มีข้อจำกัดอะไรนัก ก็จะมีความสามารถในการแข่งขันเท่าเทียมกัน แต่สิ่งที่จ้างไม่ได้ก็คือ "ใจ" ดังนั้น สิ่งที่ซีอีโอจะทำได้ก็คือการสร้างวัฒนธรรมองค์กรให้เกิดขึ้น แม้ว่าโดยธรรม ชาติองค์กรจะมีวัฒนธรรมอยู่แล้ว ทั้งดีและไม่ดี เช่น การเลื่อยขาเก้าอี้กัน วัฒนธรรมการสร้างกำแพง บทบาทที่ท้าทายของผู้นำคือ การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีให้เกิดขึ้นเพื่อที่จะสามารถขับเคลื่อนองค์กรไปในทิศทางที่ต้องการและสามารถทำองค์กรให้ไปสู่ความสำเร็จได้ และเป็นการใช้คนมาเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนที่แท้จริง
บริหารด้วยความเป็นธรรม
โดยเทคนิคในการโน้มน้าวให้คนทำงานด้วยใจนั้น นายสมประสงค์ บุญยะชัย ประธานกรรมการบริหารฝ่ายธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม ไร้สาย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า ต้องมองพนักงานในบริษัทเป็นสมาชิก เป็นมนุษย์ ซึ่งต่างจากต้นทุน อื่นซึ่งเป็นเครื่องจักร และมองว่า "คน" เป็นระบบที่ขยายตัวได้ ถ้าเทียบกับคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมา ต่อให้นานแค่ไหน ความสามารถเท่าเดิม แต่คนยิ่งอยู่นานจะยิ่งมีความสามารถมากขึ้น และในการบริหารทรัพยากรบุคคล ต้องมองว่าทำอย่างไร คนถึงทำอย่างเต็มที่ ต้องมาจาก "ใจ" แนวคิดก็คือ ปัจจุบันหมดยุคที่จะทำอะไรคนเดียว องค์กรปัจจุบันเกิดขึ้นจากหลายส่วนประกอบกัน ดังนั้น ความสำเร็จขององค์กรจะเกิดจากการบูรณาการ (integration) เข้าด้วยกัน จึงจะเกิดผลลัพธ์ได้ โดยต้องสามารถสื่อ สารให้พนักงานเห็นว่าความสำเร็จขององค์กรจะส่งผลที่ดีกับตัวเองอย่างไร
หน้าที่ของผู้บริหารที่จะต้องทำก็คือ ต้องทำงานให้กับ 4 ส่วน 1.ลูกค้า 2.ผู้ถือหุ้นและเจ้าหนี้ 3.พนักงาน 4.สังคม
"ในการบริหารคนให้ได้ สำคัญที่สุดต้องดำรงไว้ซึ่งความเป็นธรรม ปัญหาในองค์กรที่แก้กันไม่ได้ เพราะว่าเลือกปฏิบัติ และต้องตั้งอยู่บนความถูกต้อง" นายสมประสงค์กล่าวในที่สุด
และอาจจะเป็นการย้ำคำพูดของ ดร.อาชว์ ที่ว่า ในอนาคตไม่ว่ารูปแบบและเครื่องมือการบริหารจัดการจะเปลี่ยนไปขนาดไหน แต่ที่แน่ๆ ไม่ว่าจะองค์กรเล็กองค์กรใหญ่ "คน" ยังเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดได้ชัดเจนขึ้น !!
โมเดลความสำเร็จ"ไอบีเอ็ม"
ในวันที่ HR เปลี่ยนไป

2ปีที่ผ่านมากับโมเดลใหม่ในการบริหารจัดการของไอบีเอ็ม เป็นแบบตัวอย่างหนึ่งของความสำเร็จในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่
"มาลีรัตน์ ชินสุภัคกุล" ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด เล่าถึงความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นให้ฟังว่า
อย่างที่รู้กันว่า HR มีส่วนสำคัญอย่างมากที่ทำให้ประสิทธิภาพขององค์กรประสบความสำเร็จ โดยบทบาทใหม่ของ HR จะต้องรู้ว่า ธุรกิจจะต้องดำเนินการอย่างไร ปัจจัยความสำเร็จของธุรกิจคืออะไร นั่นหมายความว่า HR จะต้องเปลี่ยน
วันนี้ไอบีเอ็มเปลี่ยนไปแล้ว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่คล้ายกันเป็นระบบทั่วโลก โยกย้ายงานเอกสารไปสู่ระบบ "เซอร์วิสเซ็นเตอร์" โดยเอาเทคโนโลยีมาจับ มีเว็บไซต์ที่เก็บข้อมูลให้กับผู้บริหารและพนักงานสามารถเข้าไปสืบค้น โดยมี BuzzHR ในการให้บริการตอบคำถามในเชิงลึก ระบบดังกล่าวเป็นการกำหนดวิธีการใช้งานให้ พนักงานและผู้บริหารที่ใช้บริการได้ช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น
"ใหม่ๆ คนที่เปลี่ยนพฤติกรรมยากที่สุดคือผู้จัดการ แต่ในฐานพนักงานเปลี่ยนแปลงไม่ยากนัก"
มากกว่านั้น บุคลากรในฝ่ายทรัพยากรบุคคลบางส่วนก็เปลี่ยนบทบาทไปเป็นที่ปรึกษาหรือ HR partner โดยรูปแบบที่สร้างขึ้นจะเป็นการบริหารในระดับภูมิภาค ในแต่ละประเทศจะมีผู้จัดการฝ่าย HR ดูงานในภาพรวม ไม่ว่าจะกฎหมายแรงงาน มาตรฐานแรงงาน ฯลฯ ขณะเดียวกัน ในแต่ละหน่วยงาน เช่น ฝ่ายขาย ฝ่ายบริการ ฝ่ายให้ คำปรึกษาบริการ จะมี HR partner คอยให้คำปรึกษาและแก้ปัญหา ขณะที่บางประเทศที่มีหน่วยงานใหญ่มาก จะมี HR adviser ให้คำปรึกษาดูแลอีกครั้งหนึ่ง
"รูปแบบโครงสร้างที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างนี้ เพราะในแต่ละหน่วยงานแต่ละฝ่ายต้องการคำปรึกษาและลงลึกในรายละเอียดของปัญหาแตกต่างกัน อย่างฝ่ายขายก็จะมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง ฝ่ายบริการจะมีปัญหาอีกแบบหนึ่ง"
กรณีตัวอย่างหนึ่งเกิดกับฝ่ายขาย คือพนักงานขายติดโต๊ะ ติดออฟฟิศมากเกินไป จึงมีวิธีการแก้ปัญหาใหม่ เพื่อให้พนักงานออกไปพบลูกค้าให้มากขึ้น โดยมีออฟฟิศกลางให้กับพนักงานทุกคน แต่จะไม่มีโต๊ะประจำ โดยจะมีล็อกเกอร์ที่เก็บของให้แต่ละคน และชุดอุปกรณ์สำนักงานเล็กๆ แจกทุกคน เวลาที่พนักงานต้องเข้ามาใช้โต๊ะทำงาน ก็จะไปล็อกออนที่ฝ่ายสถานที่ ขอใช้โต๊ะทำงาน แต่ใช้เสร็จก็ล็อกออฟ ให้คนอื่นเข้ามาใช้ต่อไป และไม่น่าเชื่อวนี้แก้ปัญหาเรื่องการไม่ออกไปพบลูกค้าได้เป็นอย่างดี
cs
นี่เป็นแบบตัวอย่างของการบริหาร ด้วยเทคนิคที่ใช้ความเชี่ยวชาญเฉพาะทางในการแก้ปัญหาและบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ให้เกิดประสิทธิผลได้มากที่สุด !!

แหล่งข้อมูล : ประชาชาติธุรกิจ 


อัพเดทล่าสุด