คนไม่ใช่สินทรัพย์ หรือทรัพยากร (1)
คอลัมน์ หนึ่งคิดหนึ่งทำ
โดย สันติ โยนกพันธ์, ชนายุส ตินารักษ์
การเพิ่มประสิทธิภาพการแข่งขัน การบริหารจัดการให้ผลประกอบการดีขึ้น การทำให้กิจการขยายตัวเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและการสร้างกิจการให้มีความยั่งยืน เป็นเสมือนสัญญาณชีพ 4 ประการขององค์กรธุรกิจ ไม่ว่าวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีพัฒนาก้าวหน้าไประดับไหน ปัจจัยสำคัญที่ทำให้สัญญาณชีพดังกล่าวปกติดียังเป็นมนุษย์ที่เป็นจิตวิญญาณแท้จริงขององค์กร โดยมีศูนย์รวมอยู่ที่ผู้ประกอบการ และ ฝ่ายบริหารระดับสูง
ความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ
หลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐานระบุปัจจัยการก่อรูปองค์กรธุรกิจเพื่อผลิตสินค้าหรือบริการไว้ 4 ประเภท คือ ที่ดิน อันครอบคลุมตั้งแต่ผืนแผ่นดิน ย่านน้ำ จนถึงทรัพยากรธรรมชาติทุกชนิด แรงงานหมายถึงทรัพยากรมนุษย์ทั้งแรงงานกาย แรงงานสมอง ทักษะ ความชำนาญต่าง ๆ ทุน หมายรวมตั้งแต่เงินทุน เครื่องจักร อุปกรณ์การผลิต เทคโนโลยี และ ผู้ประกอบการ หมายถึง บุคคล (หรือกลุ่มบุคคล) ที่รวบรวมบริหารจัดการปัจจัย การผลิตอื่น
ผลตอบแทนให้ปัจจัยการผลิตดังกล่าวระบุไว้กว้าง ๆ คือ ที่ดินได้ผลตอบแทนในรูปของค่าเช่าแรงงาน ได้รับค่าจ้างทุน ได้รับดอกเบี้ย และผู้ประกอบการได้กำไรหลังจากทุนนิยมพัฒนาปรับตัวอย่างต่อเนื่องท่ามกลางการขับเคี่ยวกับแนวคิดสังคมนิยม การบริหารจัดการธุรกิจเปลี่ยนแปลง
ขณะที่ความตื่นตัวเรื่องสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติเพิ่มขึ้นอย่างสูง พร้อม ๆ กับการเกิดวิบัติภัยธรรมชาติ อย่างร้ายแรงมีความถี่เพิ่มขึ้น ข่าวสาร ด้านนี้เผยแพร่ ทั่วถึงรวดเร็ว เห็นภาพและเสียงชัดเจน มากขึ้น
ผลโดยรวมคือการบริหารจัดการความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาติแวดล้อมในปริมณฑลต่าง ๆ มีการทบทวน ปรับเปลี่ยนพัฒนากันอย่างขนานใหญ่
นอกจากภาครัฐแล้ว กลุ่มบุคคลที่ทรงพลังมากที่สุดในเวลานี้ คือ บรรดาผู้ประกอบการทั้งหลายที่มีสถานะเป็นทั้งเจ้าของทุน ผู้บริหารระดับสูง และเป็นผู้มีอิทธิพลทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แม้นับจำนวนหัว มองภาพเชิงปริมาณประชากรแล้ว คนกลุ่มนี้มีน้อยกว่ากลุ่มอื่นก็ตาม
อำนาจและการใช้อำนาจ
กล่าวเฉพาะเมืองไทยในยุคสมัยที่การ ส่งเสริมอุตสาหกรรมและธุรกิจช่วง 20 ปีแรกของแผนพัฒนาเศรษฐกิจหรือระหว่าง พ.ศ. 2504-2524 การพัฒนา ในแนวคิด labour intensive มีบทบาทสูงในช่วงแรก ๆ และต่อมาการพัฒนา แบบ capital intensive จึงมีบทบาท เพิ่มขึ้น หลังจากแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 8 เริ่มระบุถึงการพัฒนาคนอย่างจริงจัง ล่าสุด ร่างแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 11 ซึ่งกำหนดใช้ใน พ.ศ. 2555 ระบุถึงเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์อันเป็นทางเลือกทางเสริมของการพัฒนาเศรษฐกิจไทย อีกมิติและ อีกระดับหนึ่ง แน่นอนว่า ไม่ได้รื้อทิ้ง การพัฒนามาแต่เดิม หากเสริมแนวทางเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ให้มากขึ้น
ภาพรวมที่เทียบเคียงกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจฯนั้นเป็นการแสดงถึงความเปลี่ยนแปลงด้านบริหารจัดการปัจจัยการผลิตทั้ง 4 ประการที่กล่าวมาตอนต้น ตั้งแต่เรื่องที่ดินอันขยายไปสู่ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม แทบทุกมติแรงงาน ในมุมของความเป็นเพื่อนร่วมโลก เป็นมนุษย์ที่มีชีวิตจิตใจเหมือนกัน ทุนที่ขยายขอบเขตทุนทางสังคม ทุนทางวัฒนธรรม โดยเชื่อมโยงกับประวัติศาสตร์ ภูมิศาสตร์ และสภาพแวดล้อม สุดท้ายผู้ประกอบการ มีการกล่าวถึงคุณธรรม จริยธรรม มีการแยกแยะระหว่างเจ้าของกับนักบริหารมืออาชีพ บริษัทมหาชน องค์กรมหาชน เป็นต้น
กล่าวเฉพาะแรงงาน มีความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระดับวาทกรรมจนถึงแนวคิดปรัชญา
คำเรียกลูกจ้าง หรือ employee ที่มีนัยสื่อถึงแรงงานไร้ความชำนาญ มีเพียงแรงงานและทักษะพื้นฐานในการทำงาน มีการศึกษาในระบบไม่สูงนัก ต่อมาคำว่า ลูกจ้าง-employee เริ่มจางหายไป แต่ก็ยังดำรงอยู่ ภาพสะท้อนในช่วงนี้มิได้เป็นเรื่องของการบริหารจัดการที่ยกระดับความสามารถ ทั้งยังไปไม่ถึงขอบเขตของทรัพยากรมนุษย์ หากยังวนเวียนอยู่รอบ ๆ คำว่า ค่าแรงขั้นต่ำ
ถัดจากนั้นแรงงานปรับเปลี่ยนมาสู่ วาทกรรม asset สินทรัพย์ขององค์กร คำภาษาไทยที่ใช้กันมากขึ้น คือ พนักงานบริษัท สื่อนัยที่แตกต่างกับการทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็นแบบ labour intensive หากเป็นบริษัทธุรกิจพาณิชยกรรม หรือโรงงานสมัยใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง คนงานจบการศึกษา ระดับสูง ปวส. ปริญญาตรีถึงปริญญาเอก พนักงานต้องมีความเชี่ยวชาญชำนาญงานเฉพาะด้าน แตกต่างกันไป
ตีคู่มาด้วยกันคือ วาทกรรม resource ทรัพยากร นำมาใช้กับพนักงานลูกค้า "สินทรัพย์ขององค์กร" เป็นทรัพยากร ขององค์กร ฝ่ายบุคคลปรับเป็นฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ และเป็นฝ่ายพัฒนาทรัพยากรบุคคล (human resource development) ในที่สุด
อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงทางสังคมรวดเร็ว อันเป็นผลสืบเนื่องจากเทคโนโลยีการสื่อสารโทรคมนาคมและ การคมนาคมขนส่ง โลกไร้พรมแดน โลกาภิวัตน์ ทำให้พรมแดนทางกายภาพและพรมแดนแห่งโลกดิจิทัลเจือจางลง ในเงื่อนไขสภาพแวดล้อมเช่นนี้ เสมือนหนึ่งว่า "ความรู้อาจเล่าเรียนทันกันหมด" ทำให้ข้อมูลความรู้ที่ผู้ประกอบการ ฝ่ายบริหารระดับสูงรับรู้ พนักงานลูกจ้างก็มีโอกาสเข้าถึงเรียนรู้ได้
แนวคิดในการบริหารจัดการแรงงานคน ลูกจ้าง พนักงาน ทรัพยากรมนุษย์ เผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ ๆ อันหมายถึงอำนาจและการใช้อำนาจในการบริหารจัดการเงื่อนไขความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันขององค์กรธุรกิจ
ผู้ประกอบการ เจ้าของกิจการ ยังมีอำนาจที่เหนือกว่าในการบริหารจัดการ แต่เส้นทางบรรลุจุดประสงค์ในการประกอบการมิได้ หยาบกระด้าง ปฏิบัติ ต่อผู้อื่นเหมือนเป็นทรัพยากร-สินทรัพย์- พนักงาน-ลูกจ้าง วาทกรรมที่ปฏิเสธ ไม่ได้ว่า ตีค่าความเป็นมนุษย์ของผู้อื่น แตกต่างกับตนเอง
พัฒนาการจากแนวคิด คนไม่ใช่ สินทรัพย์หรือทรัพยากรนำไปสู่ความ เปลี่ยนแปลงอย่างมากมาย
หน้า 31
วันที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4184 ประชาชาติธุรกิจ