ดูแลพนักงานอย่างบูรณาการ


619 ผู้ชม


ดูแลพนักงานอย่างบูรณาการ




คอลัมน์ หนึ่งคิดหนึ่งทำ
โดย สันติ โยนกพันธ์, ชนายุส ตินารักษ์

บางแง่มุมแนวคิดการดูแล พนักงานอย่างบูรณาการ เหมือนย้อนไปสู่ยุคเจ้านายสมัยโบราณ เพื่อเรียกร้องให้องค์กรธุรกิจเอาใจใส่ดูแลชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงานให้มากขึ้นจนถึงลูกหลาน แต่เป็นแค่เหมือนเพราะพัฒนาการย่อมไม่ย้อนกลับและเนื้อแท้ แตกต่างกัน
สร้างเอกภาพผลประโยชน์
องค์กรธุรกิจจ่ายเงินเดือนและผลตอบแทนอื่น ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนแรงงาน ทักษะ ความชำนาญ ความคิดสร้างสรรค์ และความรับผิดชอบของพนักงานอย่าง สมเหตุสมผลระหว่างกัน แต่มิใช่ทุกอย่างที่เป็นไปโดยอัตโนมัติ ในเมื่อผู้คนมีความ แตกต่างทั้งทางกายภาพ ความรู้สึกนึกคิด ความสามารถที่หลากหลายตามพื้นฐานความเป็นมาและพัฒนาการส่วนบุคคล ขณะที่องค์กรธุรกิจย่อมต้องการความสมบูรณ์ ดีเลิศและ ดียิ่งขึ้นไปเรื่อย ๆ เพื่อตอบสนองสภาพแวดล้อมของการแข่งขัน การอยู่รอดเติบโตและขยายตัวขององค์กรธุรกิจเอง
ชีวิตของพนักงาน ฝ่ายบริหาร เจ้าของธุรกิจหรือผู้ประกอบการ หล่อหลอมรวมกันในองค์กรธุรกิจ ขณะเดียวกันแต่ละฝ่ายก็มีชีวิตอยู่นอกองค์กรธุรกิจ ทั้งนี้ในปัจจุบันระยะเวลาและผลกระทบต่อคุณภาพและ วิถีชีวิตส่วนใหญ่เป็นผลจากการทำงาน เป็นผลจากการประกอบธุรกิจ
การดูแลทางกายภาพของพนักงานตั้งแต่ สภาพแวดล้อมการทำงานถึงสุขภาพกายและใจของพนักงาน การเอาใจใส่ความรู้สึกนึกคิด จิตวิญญาณของพนักงาน การพัฒนาขีดความสามารถที่องค์กรต้องการ และการให้ผลตอบแทนที่สอดคล้องกับพัฒนาการขององค์กร เป็นปัจจัยที่ต้องพิจารณาอย่างทั่วด้าน กล่าวได้ว่าเป็นการบริหารจัดการบุคลากรอย่างบูรณาการ หรือวาทกรรมใหม่ "บริหารจัดการชีวิตองค์กร Organization Life Management"
ชีวิตองค์กรหรือมีคำที่ใช้ในความหมายใกล้เคียงกันคือ สุขภาพองค์กร Organization health ที่สำคัญคือ ผลประกอบการ และอนาคตขององค์กร แกนภายในชีวิตองค์กรคือชีวิตของผู้คน ทั้งหลายตั้งแต่เจ้าของ ผู้บริหารสูงสุด ลดหลั่นลงมาถึงพนักงานอันดับสุดท้าย
การบริหารจัดการชีวิตองค์กรต้องทำให้คนกับองค์กรเป็นเอกภาพกันนี้ เมื่อมองในภาพรวม แนวโน้มใหม่ของสังคม วิถีใหม่ของการบริหารจัดการธุรกิจแล้วเป็นเรื่องที่หลายองค์กรกำลังดำเนินการ
แต่จำเป็นต้องมองในภาพย่อย มองปัจจัยเฉพาะของตนเอง บริหารจัดการในเงื่อนไขปัจจัยของตนเอง
ให้ดีที่สุด โดยมีทิศทางที่แน่นอนในการก้าวไปสู่สิ่งที่ดีกว่าโรงงานอุตสาหกรรมที่เป็น labour intensive ซึ่งยังมีอยู่จำนวนไม่น้อย ย่อมมีการบริหารจัดการอย่างหนึ่ง บริหารชีวิตองค์กร (ชีวิตโรงงาน) ในรูปแบบและวิถีของตนเอง โรงงานอุตสาหกรรมทันสมัยก็เป็นอีกอย่างหนึ่ง กิจการรับเหมาก่อสร้าง พาณิชยกรรม สถาบันการเงิน ธุรกิจการค้า ฯลฯ ล้วนมีหนทางที่เหมาะสมของตนเอง
แก่นแท้ร่วมกันนั้นอยู่ในปริมณฑลของผลประโยชน์ต่างตอบแทนที่สร้างความรู้สึกชอบธรรมระหว่างทั้ง 2 ฝ่าย หรือหลาย ๆ ฝ่าย ความรู้สึกชอบธรรมมีอิทธิพลมากกว่าความชอบธรรมในเชิงคณิตศาสตร์ แต่โดยพื้นฐานการแบ่งปันแล้วต้องชอบด้วยเหตุผลเป็นเบื้องต้น ขณะเดียวกันก็ต้องมีการพัฒนาในวิถีขององค์กรเอง
บุคคลในองค์กรเป็นเสมือนเซลล์ชีวิตขององค์กร เซลล์ที่ดีเกิดจากการดูแลที่ดี เซลล์มะเร็งเกิดจากการดูแลร่างกายที่ไม่ดี ความรับผิดชอบต่อเซลล์องค์กรธุรกิจก็ เช่นกัน
เซลล์ชีวิตแต่ละเซลล์กับร่างกายทั้งหมด ไม่สามารถแยกออกจากกันได้เด็ดขาด บุคลากรกับองค์กรธุรกิจก็มีคุณสมบัติเช่นนี้ แม้ว่ามองบางแง่มุมเหมือนผลประโยชน์ไม่ได้สอดคล้องกัน แต่ระยะยาวและโดย พื้นฐานแล้วอยู่ในเงื่อนไขปัจจัยที่สามารถสร้างเอกภาพแห่งผลประโยชน์ได้
ความสุขในที่ทำงาน
วิถีชีวิตของคนทำงาน ช่วงเวลาที่ยาวนานมากที่สุดอยู่กับที่ทำงานหรืองานประมาณ 8-10 ชั่วโมงหรือมากกว่า ด้วยเหตุนี้ผลกระทบต่าง ๆ จากที่ทำงานจึงมีความหมายต่อชีวิตในช่วงเวลาแห่งกิจกรรมอื่นของวัน ในแง่มุมเดียวกันช่วงเวลาอยู่กับครอบครัวที่บ้านเป็นจังหวะที่ร่างกายผ่อนคลายพักฟื้นจึงมีผลต่อการทำงานเช่นกัน
พนักงานเวลามีปัญหาจากที่บ้านส่งผล กระทบต่อการงาน พนักงานมีปัญหาจากการงาน หรือทำงานแล้วไร้ความสุขก็ส่งผลต่อครอบครัว ทุกวันนี้พนักงานมีความสุขระหว่างการทำงานหรือไม่ เป็นหัวข้อที่ผู้บริหารหรือเจ้าของธุรกิจหากอยากรู้ต้องสังเกตสังกา ถ้าใช้แบบสำรวจหรือตั้งคำถามแล้วผลออกมาย่อมบิดเบี้ยวแน่นอน
ความสุขในที่ทำงานเกิดขึ้นได้ประกอบด้วยปัจจัยหลายอย่างที่จำเป็นดังเช่น สภาพทางกายภาพ สถานที่ทำงาน สภาพแวดล้อม สภาพของกระบวนการทำงาน อีกด้านหนึ่งคือสภาพจิตใจของพนักงานอันมีผลจากปัจจัยทางกายภาพ และปัจจัยทางความสัมพันธ์กันในกระบวนการทำงาน
ความสุขในการทำงานของพนักงานเป็นประเด็นที่การบริหารงานบุคคล การบริหารพัฒนาทรัพยากรมนุษย์หรือเรียกชื่อ แตกต่างกันอย่างไรก็ละเลยไม่ได้ กระนั้นความสุขในการทำงานมิใช่เป็นแค่จุดมุ่งหมาย หากเป็นทั้งจุดมุ่งหมายและวิธีการ หมายความว่าพนักงานทำงานอย่างมีความสุข แต่ชีวิตการทำงานที่มีความสุขนั้นต้องสามารถสร้างสรรค์ผลงานที่ยอดเยี่ยมตามมาตรฐานการวัดผลต่าง ๆ ความสุขต้องมาจากพื้นฐานการทำงานที่ได้ผลลัพธ์ที่ดี
ทัศนคติต่อการทำงานกับการบริหารจัดการความสามารถและความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานกับกระบวนการทำงานจึงเป็นเรื่องสำคัญ ความสุขของพนักงานทางกายภาพเป็นเรื่องที่ไม่สลับซับซ้อน แต่ความสุขทางความรู้สึกชีวิตจิตใจนั้นซับซ้อนมากกว่า การสร้างนั้นต้องผ่านความร่วมมือระหว่างกัน
รวมทั้งตระหนักรู้ร่วมกันว่า ความสุขของพนักงานที่ยั่งยืนคือการสร้างผลงานได้มาตรฐานยอดเยี่ยม การริเริ่มสิ่งใหม่ ๆ ที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร มาตรฐานเช่นนี้เปิดเผย เสริมพลังให้ทุกชีวิตในองค์กรธุรกิจร่วมกันมุ่งหน้าสู่จุดมุ่งหมายที่สูงยิ่งขึ้น
หน้า 29


วันที่ 18 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4193  ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด