บริหารงานบุคคลอย่างมีกึ๋น สร้างองค์กรให้ฉลาดได้อีก


928 ผู้ชม


บริหารงานบุคคลอย่างมีกึ๋น สร้างองค์กรให้ฉลาดได้อีก




โดย วันทนีย์ คงทัด

บริหารงานบุคคลอย่างมีกึ๋น สร้างองค์กรให้ฉลาดได้อีก

การบริหารองค์กรธุรกิจในปัจจุบัน เริ่มให้ความสำคัญกับการนำหลักพุทธและจิตวิญญาณตะวันออกเข้ามาผสมผสานเพื่อให้เข้ากับการบริหารงานภายในองค์กรมากขึ้น แม้ว่าที่ผ่านมาเราได้ยึดหลักการบริหารงานแบบตะวันตกมาพอสมควรก็ตาม แต่สำหรับองค์กรธุรกิจในประเทศไทยนั้น การนำหลักพุทธเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในวัฒนธรรมองค์กร ได้ผ่านการพิสูจน์ในหลายองค์กรแล้วว่าสามารถทำให้องค์กรไปได้ไกล
เมื่อเร็ว ๆ นี้บนเวทีเสวนา "ฉลาด... ในการบริหารงานบุคคลอย่างมีกึ๋น" ซึ่งจัดโดยบริษัทจัดหางาน จ๊อบส์ดีบี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ สำนักพิมพ์ดีเอ็มจี "ดร.วรภัทร์ ภู่เจริญ" อดีตวิศวกรนาซ่า ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารจัดการองค์กร ได้ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญในการนำหลักพุทธศาสนามาเสริมสร้างการพัฒนาความรู้และศักยภาพด้านทรัพยากรบุคคลภายในองค์กรอย่างน่าสนใจ
"ผู้คิดไม่รู้ ผู้รู้ไม่คิด หากไม่คิด ก็ไม่รู้ ควรคิดตอนรู้ เมื่อมีสติแล้วจึงคิดได้ ใช้การสังเกต อย่าด่วนตีความ รู้เฉย ๆ รู้สบาย ๆ มีเฉพาะผู้รู้กับสิ่งที่ถูกรู้ เท่านั้น"
ฟังแล้วหลายคนอาจจะงง ๆ "ดร.วรภัทร์" ได้อธิบายแก่นของเรื่องนี้ว่า ในการพัฒนาความรู้ และเพิ่มศักยภาพทรัพยากรบุคคลภายในองค์กร สิ่งแรกที่สำคัญที่สุดคือ ไม่ควรตัดสินว่าใครผิด ใครถูก ใครดีหรือเลว แต่ให้เราตัดสินพิจารณาคนเราเองเป็นสำคัญ เพราะศาสนาพุทธ พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า อย่าเห็นว่าใครโง่กว่า ใครฉลาดกว่า หรืออย่าเห็นว่าใครเสมอกับเรา อย่ารีบร้อนตีความพิพากษาหรือตัดสินใครในทันที ควรดูเขาให้ลึก ๆ จิตใจสงบเป็นกลาง ไม่มีอคติและไม่ลำเอียง
"ดร.วรภัทร" บอกว่า ความฉลาด ของคน สามารถแบ่งได้เป็น 3 ฐาน
ฐานแรกสำคัญมาก เป็นความฉลาดของฐานกาย (sensing) เป็นการรู้ที่ร่างกายของเรา ซึ่งปัจจุบันคนเราขาดการเรียนรู้ฐานนี้กันมาก
ฐานที่สองมีความสำคัญไม่แพ้กัน นั่นคือ ความฉลาดที่ฐานใจ (feeling) เป็นเรื่องการรับรู้และจัดการทางอารมณ์
และฐานที่สาม ความฉลาดที่ฐานคิด (thinking) เป็นการใช้สมองซึ่งจะตามมาทีหลังเมื่อเราสามารถมีทั้งฐานกายและใจเป็นพื้นฐานที่ดี
"เวลาใช้ความคิดพิจารณาสิ่งต่าง ๆ จะต้องคิดในตอนที่จิตสงบเพราะปัญญาจะเกิดจากสติมา จิตสงบ ปัญญาเกิด เมื่อใดที่จิตไม่สงบ ปัญญาจะไม่ทำงาน หรือทำงานก็ทำงานแบบเฉโก (ฟุ้งซ่าน) ทำงานแบบสร้างแต่ปัญหา"
เคล็ดลับง่าย ๆ ที่ทำให้ตัวเอง
ฉลาดขึ้น องค์กรฉลาดขึ้นในรูปแบบของ "ดร.วรภัทร์"
ในการนำหลักพุทธมาปรับใช้กับองค์กร "ดร.วรภัทร" แนะไว้ว่า บุคคลที่สำคัญอันดับหนึ่งเลย คือซีอีโอ
"ในช่วงที่ผ่านมา ซีอีโอ หรือผู้นำองค์กรส่วนใหญ่จะได้รับอิทธิพลทางความคิดจากวัฒนธรรมตกในการบริหารจัดการองค์กร จนทำให้หลายคนกลายเป็นคนที่ตกไปในกล่องความคิดแคบ ๆ แต่ปัจจุบันซีอีโอส่วนหนึ่งได้เริ่มนำระบบการบริหารจัดการที่เน้นความเป็นมนุษย์ (soft side) เข้ามาบริหารงานมากกว่าแบบ hard side คือให้ความสำคัญในเรื่องอารมณ์ จิตใจเข้ามาพูดคุยกันภายในองค์กรมากขึ้น มีการเชิญเกจิอาจารย์ดัง ๆ มาสอนธรรมะในองค์กร"
วันนี้ต้องยอมรับว่า หลายองค์กรตกอยู่ในภาวะป่วย ป่วยอย่างไร "ดร.วรภัทร์" อธิบายว่า ผู้บริหารเหล่านี้ไม่มีความกล้าในการเปิดพื้นที่ทางใจในการเรียนรู้การบริหารจัดการแบบใหม่ ๆ ยังยึดติดอยู่กับแหล่งแนวทางที่มาจากภายนอก โดยไม่พยายามสร้างปัญญา องค์ความรู้จากภายในที่เป็นของตนเอง
คนกลุ่มนี้จึงมีข้อเสียที่สำคัญ นั่นคือ
ติดนิสัยชอบแซวคนอื่น คำพูดจะเป็นตัวทำลายพื้นที่การเรียนรู้ พื้นที่ที่จะทำให้คนในองค์กรควรจะมีโอกาสใกล้ชิดกัน ทำให้ช่องว่างภายในองค์กรเพิ่มมากขึ้น ซึ่งผลดีของการเปิดพื้นที่ทางใจที่ปลอดภัย (Space or safe zone) คือ พนักงานและลูกน้องจะมีความกล้าในการเสนอความคิดเห็นที่สร้างสรรค์อีกมากมาย ดังนั้นผู้บริหารควรทำตัวให้เหมือนศิราณี มีฐานใจเป็นที่ตั้ง
"ในโลกแถบตะวันตก การบริหารจัดการเดิมทีเป็นลักษณะแบบตะวันตก ในขณะที่ประเทศไทยมีการบริหารเป็นแบบตะวันออก แต่เมื่อสภาพสังคมโลกเปลี่ยนแปลงไปการบริหารจัดการงานในปัจจุบันโซนตะวันตกเน้นการนำมาผสมผสานกันระหว่างตะวันออกกับตะวันตก เป็นลักษณะหยินหยาง คือ แบบ soft side กับแบบ hard side ผสมกัน แต่สำหรับบ้านเราเน้นเรื่อง hard side ค่อนข้างมาก ดังนั้นซีอีโอไทยในยุคนี้ จึงควรที่จะเปิดพื้นที่ทางใจเชื่อมต่อกับลูกน้องผ่านสื่อทันสมัยต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ เอ็มเอสเอ็น"
"ดร.วรภัทร์" ให้ความกระจ่างในเรื่องความต่างของผู้บริหารในแนวตะวันออกและตะวันตก พร้อมชี้เห็นปัญหาและแนวทางแก้ไขในการบริหารจัดการองค์กรในแบบตะวันออกว่า สามารถแบ่งออกเป็น 4 ประเภทด้วยกัน คือ
1) ความเกรงใจ (I in me) ซีอีโอยังมีการวางมาด เกรงใจไม่กล้าพูดคุย ซักถามกับลูกน้อง
2) เปิดการโต้วาที (I in it) เริ่มนำเอาข้อเท็จจริงมาพูดคุยร่วมกันมากขึ้น
3) ฉันเข้าใจเธอ เธอเข้าใจฉัน (I see you) เห็นความสุข ความทุกข์ร้อน ขีดจำกัด และความสามารถของแต่ละฝ่าย
สุดท้ายคือ 4) การอยู่กับปัจจุบันไม่ยึดติดกับเหตุการณ์ต่าง ๆ คือปล่อยให้ผ่านมาแล้วผ่านไป
ซึ่งไม่ว่าจะใช้วิธีการใดก็ตามสิ่งสำคัญที่สุด เจ้านายต้องพัฒนาจิตใจให้สูงขึ้น มองบริบทรอบตัวอย่างเป็นกลาง และควรให้มีการฝึกฝนซ้ำ ๆ เป็นประจำสม่ำเสมอ เช่น การอบรมพนักงานก็ควรทำซ้ำ ๆ บ่อย ๆ เหมือนการตีลูกเทนนิสหลาย ๆ ครั้ง เพื่อให้เกิดความชำนาญ คนญี่ปุ่นเรียกวิธีนี้ว่า "Repeat without thinking" คือไม่มีการสอนทฤษฎีใดจนกว่าจะผ่านการทำขั้นพื้นฐานได้ เน้นปัญญาฐานกายก่อน
อย่างที่รู้กันดีว่าระบบการทำงานภายในองค์กร คนกลุ่มใหญ่ขององค์กรคือ พนักงาน ดังนั้นเราจะใช้ความฉลาดอย่างไรจึงจะยกระดับตัวเองก้าวขึ้นมาเป็นฝ่ายบริหารได้ ?
"ดร.วรภัทร์" ย้ำเสมอว่า "เราควรเลือกใช้ความฉลาดในตัวบุคคลอย่างถูกต้องเหมาะสมกับความเชี่ยวชาญหรือความสามารถของตัวบุคคลนั้น ๆ เพื่อสร้างองค์กรให้มีความฉลาดมากขึ้น ซึ่งกุญแจสำคัญอยู่ที่ซีอีโอ จะต้องเปิดใจยอมรับฟังความคิดเห็นของทุกคน ไม่ควรยึดเอา ความคิดของตนเองเป็นหลัก เพราะตรงนี้คือปัญญาฐานใจที่สำคัญในการบริหารจัดการองค์กร ที่มากกว่านั้น จะต้องไม่มองข้ามครูที่สำคัญทางด้าน HR
การบริหารจัดการในแนวทางของพุทธศาสนา พระพุทธเจ้า คือผู้รู้ทั้ง 3 ฐาน เป็นผู้ตื่น (awakening) จากอวิชชา และเป็นผู้เบิกบาน เพราะท่านไม่ปล่อยให้ความคิดเฉโก ที่สำคัญท่านเป็นครูของมนุษย์และเทวดา ศาสตร์ต่าง ๆ ทางด้าน HR กูรู ชาวต่างชาติส่วนใหญ่ได้ลอกเลียนกันต่อ ๆ มา แต่เมื่อสืบสาวราวเรื่องไปถึงต้นกำเนิดจริง ๆ จะพบว่าที่จริงแล้วทฤษฎีด้าน HR มาจากแหล่งเดียวกัน นั่นคือพุทธศาสนา
การเคารพในความแตกต่างถือเป็นก้าวแรกในการทำงานร่วมกันได้ ในการทำงานฝ่าย HR ก็เช่นเดียวกันเมื่อต้องคัดเลือกคนเพื่อเข้าทำงานในองค์กร ก็จะต้องให้ความสำคัญกับทุกคน จัดให้มีการล้อมวงคุยกันอย่างสม่ำเสมอระหว่างซีอีโอกับพนักงาน
ซีอีโอที่ดีจะต้องรู้จักที่จะเสียสละความสุขส่วนตัวเพื่อพนักงานและลูกน้องเสมอ
ไม่มีการแบ่งเขต แบ่งชนชั้น แบ่งเกรด หากทำเช่นนี้ได้ก็จะซื้อใจพนักงานได้
"ศาสนาพุทธสอนให้มนุษย์มีจิตใจกว้างขวางและขยันอย่างต่อเนื่องอยู่ตลอดเวลา เมื่อเกิดนิวรณ์เข้ามาในจิตใจควรรีบขจัดทิ้งไปโดยเร็ว"
"ซีอีโอต้องอย่ากลัวความล้มเหลว และอย่ามองผลสำเร็จเพียงด้านอย่างเดียว เพราะความล้มเหลว คือบทเรียนก้าวแรกของการเริ่มต้นและพัฒนาให้ดียิ่ง ๆ ขึ้นไป"
และนี่คือผลึกความคิดที่ "ดร.วรภัทร์" มองว่าเป็นฐานที่สำคัญที่จะให้ผู้บริหารองค์กรฉลาดได้อีก พนักงานองค์กรก็จะฉลาดได้อีก และสุดท้ายองค์กรฉลาดได้อีก
หน้า 31


วันที่ 05 เมษายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4198  ประชาชาติธุรกิจ


อัพเดทล่าสุด