เตรียมองค์กรให้พร้อม... รับมือวินาศกรรม


742 ผู้ชม


เตรียมองค์กรให้พร้อม... รับมือวินาศกรรม




คอลัมน์ hr corner
โดย กิตติ สุขุตมตันติ แผนกที่ปรึกษาระบบรักษาความปลอดภัย บจก.ไดเร็คชั่น แพลน [email protected]

ตามที่ได้เกิดการก่อวินาศกรรมในการยิงระเบิดเข้าไปในหลายอาคาร การระเบิดเสาสายส่งไฟฟ้าและการระเบิดคลังน้ำมัน ทำให้คนในสังคมต้องปรับตัว เพิ่มระดับความพร้อมในการเตรียมรับมือเหตุวิกฤต โดยเฉพาะองค์กรที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง
ในเบื้องต้นขอแนะนำว่าต้องติดตามข่าวอย่างทันต่อเหตุการณ์ ยิ่งมีการข่าวกรองที่ดีมากเท่าไร ก็จะยิ่งมีข้อมูลมาประกอบการตัดสินใจได้ดีมากยิ่งขึ้น
แล้วต้องมีการประชุมวิเคราะห์เหตุวิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้สำหรับองค์กรอย่าง ต่อเนื่อง
เช่น การขาดบุคลากร หากมีพนักงานบางตำแหน่งไม่สามารถมาทำงานได้ การเกิดไฟดับ การบุกรุกจากบุคคลภายนอก การเกิดจารกรรม รถหาย ทรัพย์สินหาย การเกิดวินาศกรรม ขู่วางระเบิด วางเพลิง เป็นต้น
ที่สำคัญกว่านั้นต้องมีการจัดทำแผนฉุกเฉินเตรียมรับมือ สำหรับบุคคล สำหรับองค์กร สำหรับสถานที่ สำหรับข้อมูล ให้มีจุดอ่อนให้น้อยที่สุด
เรียกว่าต้องเตรียมความพร้อมอย่างเพียงพอและไม่ประมาท โดยจัดทำแผนทางเลือกที่ 1 ทางเลือกที่ 2 และทางเลือกที่ 3 ให้เตรียมพร้อมไว้
รวมถึงการประชุมชี้แจง อบรมพนักงานให้มีความรู้เกี่ยวกับการเตรียมรับมือความเสี่ยงจากเหตุฉุกเฉินอย่างไม่ประมาท
ในการเตรียมแผนการปฏิบัติสำหรับพนักงานทั่วไป หลัก ๆ
1.จัดทำแผนและการเตรียมพร้อมของระบบสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ และแจ้งเหตุ เช่น โทรศัพท์ โทรทัศน์วงจรปิด ระบบคอมพิวเตอร์ การส่งอีเมล์ การส่ง SMS และการประกาศทางลำโพงกระจายเสียง ให้ความเหมาะสม และพนักงานสามารถใช้งานได้เป็น และพนักงานทุกคนรู้หมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้รับแจ้งเหตุฉุกเฉิน
2.จัดทำแผนการอพยพคน พร้อมการซักซ้อมอพยพ ของพนักงานทั่วไปในระบบคู่หู (Buddy) และของพนักงานที่มีหน้าที่ช่วยปฏิบัติยามฉุกเฉิน เช่น ช่วยสื่อสารประสานงาน ช่วยปฐมพยาบาล ช่วยคนเจ็บ และช่วยทำหน้าที่อื่น ๆ ยามฉุกเฉิน
3.จัดทำแผนการจัดโซนพื้นที่จอดรถ และจัดการจราจรของยานพาหนะ
4.จัดทำแผนการปฏิบัติงาน ก.ให้สามารถหยุดการทำงานได้อย่างมีความ สูญเสียน้อยที่สุด หรือ ข.ให้สามารถทำงานที่จำเป็นภายใต้ภาวะฉุกเฉินได้ และ ค.ให้สามารถกลับคืนสู่สภาวะการทำงานปกติได้โดยเร็วที่สุด
5.จัดทำแผนการสำรอง ข้อมูลคอมพิวเตอร์ (Data Backup and Restore)
6.จัดทำแผนการปฐมพยาบาลระหว่างเกิดเหตุวิกฤต
7.จัดทำแผนการฟื้นฟูภายหลังเกิดเหตุวิกฤต เช่น การฟื้นฟูความสามารถในการปฏิบัติงาน การฟื้นฟูสภาวะจิตใจของ ผู้สูญเสีย เป็นต้น
เท่านั้นยังไม่เพียงพอ ต้องมีการเตรียมแผนการปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยไปพร้อม ๆ กันด้วย
1.จัดทำคู่มือและมาตรฐานการปฏิบัติงานสำหรับเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ในการควบคุมคนและยานพาหนะเข้าออก ในการตรวจตราและตรวจค้นบุคคล สิ่งของ อาคารสถานที่ พื้นที่แวดล้อม และ ยานพาหนะ เป็นต้น
2.จัดเตรียมอุปกรณ์สนับสนุนสำหรับ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เช่น อุปกรณ์สื่อสาร อุปกรณ์รักษาความปลอดภัย อุปกรณ์ตรวจค้น อุปกรณ์กู้วัตถุระเบิด และอาวุธ เช่น กระบอง ปืน เป็นต้น
3.จัดอัตรากำลังเจ้าหน้าที่ให้เพียงพอ เตรียมแผนการเพิ่มกำลังพลเสริม กรณีมีการปรับเพิ่มระดับวิกฤตตามสถานการณ์ และการเตรียมผลัดการเข้าเวร
4.จัดทำแผนรักษาความปลอดภัย สำหรับบุคคลสำคัญ บุคคลทั่วไป ข้อมูล และทรัพย์สินของมีค่า
5.จัดทำแผนป้องกันวิกฤตก่อนเกิดเหตุ เช่น มีการแบ่งโซนระดับความปลอดภัย มีการแบ่งโซนพื้นที่รับผิดชอบ มีการติดป้ายเขตพื้นที่ห้ามเข้า ฯลฯ
6.จัดทำแผนปราบปรามระงับเหตุวิกฤตและตอบโต้ขณะเกิดเหตุ
7.จัดทำแผนฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ
ในแง่ของการเตรียมพร้อมของอาคารสถานที่ก็ต้องจัดการอย่างเป็นระบบเช่นกัน
1.จัดให้มีระบบไฟฟ้าแสงสว่าง ส่องสว่างในบริเวณรั้ว ทางเข้าออก ทางเดิน ลานจอดรถ และสถานที่อาจเกิดความเสี่ยงตามโซนพื้นที่ซึ่งได้กำหนดไว้ ให้เพียงพอ และเหมาะสม เพราะแสงสว่างจะช่วยลดแรงจูงใจและโอกาสของการเกิดโจรกรรม วินาศกรรมได้
2.จัดให้มีระบบไฟฟ้าแสงสว่างฉุกเฉิน (emergency lighting) ตลอดทางเดินและเส้นทางอพยพให้เพียงพอ และปลอดภัย ตามมาตรฐาน วสท. 2004 (www.EIT.or.th) เพื่อให้สามารถทำงานที่สำคัญจำเป็นได้อย่างต่อเนื่องได้ (เช่น สามารถใช้ลิฟต์ ห้องปฐมพยาบาลได้) สามารถยกเลิกงานอันตราย (เช่น ห้องเครื่องจักรทำงาน ห้องเก็บถังก๊าซ ห้องครัว) และสามารถอพยพคนออกจากอาคารได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยหากเกิดเหตุฉุกเฉิน
3.จัดให้มีระบบโคมไฟฟ้าป้ายทางออกฉุกเฉิน (exit sign luminaire) ตลอดทางเดินและเส้นทางอพยพ ให้เพียงพอ และปลอดภัย ตามมาตรฐาน วสท. 2004 เพื่อให้สามารถอพยพคนออกจากอาคารได้อย่างรวดเร็วและปลอดภัยกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟไหม้ ไฟดับ แผ่นดินไหว วินาศกรรม เป็นต้น
4.จัดให้มีระบบสื่อสารสำหรับพนักงานกรณีฉุกเฉิน เช่น การเตรียมระบบลำโพงแจ้งประกาศ (public speaker address system) การเตรียมระบบแจ้งประกาศทางอีเมล์และ SMS การเตรียมสมุดหมายเลขโทรศัพท์บ้าน/มือถือของผู้มีหน้าที่ยามฉุกเฉิน และของพนักงานทั่วไปทุกคน ให้เป็นฉบับล่าสุด ที่รวมหมายเลขโทรศัพท์ของพนักงานใหม่ พนักงานฝึกงาน พนักงานชั่วคราว เป็นต้น
5.จัดให้มีระบบสื่อสารพิเศษสำหรับ เจ้าหน้าที่ เช่น วิทยุสื่อสาร
6.จัดให้มีช่องทางการสื่อสารสำรอง กรณีที่ช่องทางหลักไม่สามารถใช้งานได้ อาทิ กรณีไฟดับ กรณีโทรศัพท์มือถือ ไม่สามารถใช้งานได้อาจเนื่องจากช่องสัญญาณเต็มในกรณีเกิดเหตุวิกฤต
7.จัดให้มีอุปกรณ์ปฐมพยาบาล อุปกรณ์เคลื่อนย้ายผู้ด้อยสมรรถนะ (เช่น คนเจ็บ คนชรา คนท้อง คนพิการ เด็ก ฯลฯ) และรถฉุกเฉิน ให้พร้อมใช้อย่างเพียงพอและเหมาะสม
8.จัดให้มีอุปกรณ์ดับเพลิง ให้พร้อมใช้อย่างเพียงพอและเหมาะสม
9.จัดให้มีอุปกรณ์ในระบบรักษาความปลอดภัยอย่างเพียงพอและเหมาะสม เช่น เซ็นเซอร์ (sensor) อุปกรณ์ตรวจจับโลหะ (metal detector) อุปกรณ์เอกซเรย์ อุปกรณ์ควบคุมการผ่านเข้าออก (access control)
10.จัดให้มีระบบไฟฟ้าสำรอง UPS สำหรับระบบคอมพิวเตอร์ พร้อมเครื่อง server สำรอง และแหล่งเก็บข้อมูลสำรองที่อยู่ต่างสถานที่กับแหล่งเก็บข้อมูลหลัก
11.เตรียมเส้นทางอพยพให้พร้อมใช้ยามฉุกเฉิน เช่น มีป้ายแผนผังบอกเส้นทางอพยพและประตูทางออก มีป้ายบอกข้อความสำหรับประตูที่ไม่ใช่ประตูทางออก มีประตูทางออกอย่างน้อย 2 ทาง และ ไม่มีวัตถุกีดขวางเส้นทางอพยพ
นอกจากองค์กรทั่วไปแล้ว สำหรับองค์กรเฉพาะทางด้านการบริหาร ด้านความมั่นคง ด้านการแพทย์ ด้านการสื่อสาร ด้านการเงิน ด้านพลังงาน ด้านการทหาร ยุทโธปกรณ์ หรือเรือนจำ ฯลฯ เป็นต้น จำเป็นต้องจัดทำแผนเตรียมรับมือเหตุฉุกเฉินเฉพาะทาง เช่น การติดตั้งอุปกรณ์เตือนในระบบรักษาความปลอดภัย ทั้งแบบที่ติดตั้งในที่เปิดเผย (เช่น กล้องวงจรปิด) และแบบติดตั้งซ่อน (เช่น เซ็นเซอร์อินฟราเรด เซ็นเซอร์ไมโครเวฟ เซ็นเซอร์แสง เซ็นเซอร์สนามแม่เหล็กไฟฟ้า)
การเตรียมพร้อมระบบดับเพลิง การ เตรียมพร้อมระบบปฐมพยาบาล การ เตรียมพร้อมระบบปฏิบัติการสำรอง เพื่อเตรียมรับมือวิกฤตและให้พร้อมรองรับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นได้ทั้งในรูปแบบต่าง ๆ ให้สามารถผ่านวิกฤตได้อย่าง สูญเสียน้อยที่สุด
และการเตรียมระบบฟื้นฟูหลังเกิดเหตุวิกฤตให้สามารถพื้นฟูกลับสู่สภาวะปกติได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งการไม่ประมาท ด้วยการ เตรียมความพร้อมล่วงหน้าให้พร้อมได้มากเท่าไร ก็ยิ่งมีการสูญเสียต่ำลงมากขึ้นเท่านั้นหากเกิดเหตุวิกฤต
หน้า 25
 วันที่ 29 เมษายน พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4205  ประชาชาติธุรกิจ

อัพเดทล่าสุด