งานเบาคนไม่เก่ง มุมมองแม่ทัพ SCG chemicals


938 ผู้ชม


งานเบาคนไม่เก่ง มุมมองแม่ทัพ SCG chemicals




หลังเรียนจบ “ชลณัฐ ญาณารณพ” ก็เดินเข้าสู่สายพานการสร้างคนของเครือซิเมนต์ไทย ไม่ต่างกับผู้ชายที่มีฝันและต้องการประสบความสำเร็จเหมือนคนอื่น

วันแรกที่เข้ามาเขาได้รับรู้ว่า ทางเดินทางอาชีพถูกตีวงไว้ 3 กรอบคือ ถนนสายบริหารจัดการ เส้นทางสู่ผู้เชี่ยวชาญ และเนื้องานวิจัยพัฒนา

เวลาผ่านไปแขนขาเครือซิเมนต์ไทยก็เติบโตยาวยืด เป็นช่วงเวลาเดียวกับที่เขาถูกสลับหมุนเวียนไปทำงานหลากแขนงธุรกิจในเครือ และไต่เต้าขึ้นไปเรื่อยๆ ตามสายงาน

ผ่านมาถึงวันนี้ 20 กว่าปี เขาขึ้นมากินตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เคมิคอลส์ จำกัด ผู้นำธุรกิจผลิตและจำหน่ายเคมีภัณฑ์ในเครือซิเมนต์ไทย

สิ่งหนึ่งที่ยังทำให้เขารู้สึกเหมือนกับวันแรกที่เข้ามาคือ ยังสนุกกับงานและรักในสิ่งที่ทำจนอยากบอกต่อ

“ผมอยากให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้และสนุกกับงานเหมือนกับผม เพราะเป็นโลกของการทำงานที่เน้นกระจายอำนาจจริงๆ และทำอย่างต่อเนื่องตลอดเวลา ผู้บังคับบัญชาจะให้โอกาสเราได้แสดงความสามารถแต่แรกเริ่ม เป็นแบบนี้เรื่อยๆ และคอยดูว่าแต่ละคนมีความสามารถ ศักยภาพที่เหมาะสมกับเนื้องานตรงไหน ไม่มีใครอยู่ไกลปืนเที่ยงหรือตรากตรำในต่างแดน โดยปราศจากคนเหลียวดู”

ถึงจะมายืนอยู่ในจุดสูงสุดของธุรกิจปิโตรเคมี แต่เขาก็ยืนยันว่า ความสามารถหลักของเอสซีจีที่ทำให้ผงาดได้อย่างมั่นคงทุกวันนี้คือการทำงานเป็นทีม ทุกคนแปะมือถึงกันหมด แม้แต่ตัวผู้บริหารระดับสูงที่ถือว่าเป็นผู้เล่นตัวกลั่น ก็ต้องยิ่งถ่อมตนเพื่อเปิดโอกาสให้คนอื่นได้ก้าวขึ้นมา

“ยิ่งโตมาก ยิ่งดูเหมือนไม่เก่ง เพื่อให้คนอื่นได้มีโอกาสแสดงฝีมือ ทำให้การทำงานเป็นทีมเกิด กลายเป็นความแข็งแกร่งของธุรกิจ ไม่ว่าลงมือทำงานอะไรจะในประเทศหรือต่างประเทศเหมือนมีทัพหน้าทัพหลังคอยสนับสนุนอยู่เต็มที่ ยิ่งการทำงานในต่างแดน คนปูนจะถือว่าเป็นตัวแทนบริษัทเข้าไปขยายตลาด ไม่ใช่ส่งไปวัดดวง ฉะนั้นถ้างานไม่สำเร็จก็แปลว่าหน่วยงานหรือองค์กรนั้นต้องรับผิดชอบร่วมกัน”

หนึ่งในประเพณีเป็นที่รับรู้กันดีในแวดวงปิโตรเคมีก็คือ ยิ่งเป็นคนเก่งจะยิ่งได้รับเกียรติให้ไปทำงานสุดหิน ชลณัฐบอกว่า การส่งคนไม่เก่งไปทำงานยากๆ ทำให้โอกาสล้มเหลวมีสูง ฉะนั้นงานยากๆ จึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงสำหรับคนเก่งๆ

ขณะเดียวกัน ถ้าบังเอิญเป็นคนเก่งแล้วได้ทำงานยากๆ โอกาสที่จะโค-ตะ-ระ-เก่งก็จะยิ่งสูงขึ้นไปอีก

“บางคนอีโก้สูง แต่ความที่ถูก (เคี่ยว) เข็ญให้ไปทำงานยาก ก็จะได้เห็นโลกในอีกมุมมองหนึ่ง ว่าไม่มีอะไรได้มาง่ายเหมือนกระดิกนิ้ว ถ้าเราอยากเป็นตัวจริงและแน่จริง เราต้องทำงานที่ยากให้ประสบความสำเร็จ สุดท้ายเราก็ได้รับการตกรางวัล เพราะถือว่าถูกท้าทายมาจากโจทย์ของธุรกิจ”

ปัจจุบันปิโตรเคมีถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมดาวรุ่ง ที่มีส่วนขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ด้วยอัตราเติบโตที่สูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด ถือเป็นอีกธุรกิจที่ต้องอาศัยการทำงานหนัก มีความอึด และเสมอต้นเสมอปลายอย่างต่อเนื่อง ข้อเสียของคนในธุรกิจนี้คือการทำงานเป็นบ้าเป็นหลังจนขาดสมดุลในชีวิต แต่ข้อดีที่เขามองว่ากลายเป็นวัฒนธรรมองค์กรคือ การทำงานหนักทำให้คนเป็นงานและเก่งเร็ว “ถ้างานเบาคนก็จะไม่เก่ง”

ชลณัฐบอกว่า หน้าที่ผู้นำต้องสร้างบรรยากาศ สภาพแวดล้อมให้คนอยากทำงาน เป็นองค์กรที่น่าร่วมงานด้วย และข้อคิดการทำงานยุคนี้คือ อย่าเลือกทำงานกับบริษัทที่จ่ายเงินดีเพียงอย่างเดียว โดยมองข้ามเรื่องอื่นๆ

คนสมัยก่อนยอมทำงานหนัก โดยมองเงินเป็นเรื่องสุดท้าย เพราะสิ่งที่จะได้กลับมามีมูลค่ามากกว่าตัวเงิน

“เราต้องเลือกวัฒนธรรมองค์กรที่เข้ากับเราได้ ถ้าเราเป็นคนมีไอเดีย มีความคิดพุ่งกระฉูดอยู่ตลอดเวลา รักอิสระในการทำงาน อย่าเสียเวลาไปทำงานกับราชการ หรือองค์กรที่มีแบบแผนตึงเกินไป

ถ้าเมื่อไรที่เราฟิตกับวัฒนธรรมองค์กร เงินทองจะตามมาทีหลังเอง ขอแต่เพียงให้ทำงานแล้วมีความสุข ถ้าเราทำงานได้ดี เงินเดือนและตำแหน่งจะมาเอง อย่าดูเรื่องการปรับเงินเดือนประจำปี แต่ดูว่าผลงานเรามากน้อยขนาดไหน ตรงนี้จะเป็นจุดที่ทำเงินได้เยอะมากกว่า โลกยุคใหม่นี้ทุกอย่างดูเหมือนสั้นไปหมด ทุกอย่างเร็วหมด ทำให้คนมองยาวไม่เป็น มีใครมาเสนออะไรตรงหน้า ก็คว้าแล้ว ทั้งที่ความจริง การทำงานคือชีวิต เมื่อชีวิตเราอยู่ยาว เส้นทางการทำงานก็ควรจะยาวอยู่ได้ระดับหนึ่ง”

จุดแข็งของเครือซิเมนต์ไทยคือ เลือกที่จะรับคนตั้งแต่จบใหม่ ทำให้ง่ายต่อการหล่อหลอมเป็นเนื้อเดียวกันทั่วทั้งองค์กร ผนวกกับความเชื่อที่ว่า คนเป็นสินทรัพย์ที่มีคุณค่า และเป็นสิ่งเดียวที่สามารถมากู้วิกฤติ และแก้ปัญหาธุรกิจให้ออกจากวิกฤติได้

“เครือซิเมนต์ไทยเริ่มต้นค่านิยมของเครือบนอุดมการณ์ 4 แล้วแยกออกไปตามลักษณะธุรกิจ ปิโตรเคมีเป็นธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงเร็ว ลักษณะของคนก็เลยต้องเร็ว ยืดหยุ่นสูง ต้องแข่งขันกับต่างชาติตลอดเวลา เพราะเป็นธุรกิจที่ต้องเขย่งขาแข่งกับระดับโลก เราจึงต้องสร้างคนที่มีความสามารถที่จะมีปฏิสัมพันธ์กับต่างชาติ และเข้าใจคนต่างชาติมากกว่าธุรกิจอื่น”

เขามองว่า การสร้างความแตกต่างของคนปูนในกลุ่มธุรกิจปิโตรเคมี พื้นฐานหลักคือเรื่องของความปลอดภัย ซึ่งเป็นธรรมชาติของธุรกิจ ถัดมาคือการปลูกฝังเรื่องของวินัยในการทำงาน สุดท้ายจึงเป็นเรื่องของทัศนคติที่ว่า ต้องคิดถึงคนอื่นด้วยนอกเหนือจากตัวเอง ซึ่งเป็นจุดที่บริษัทเชื่อว่า สามารถสร้างความแตกต่างให้เกิดในตัวคน และคนก็ไปสร้างความแตกต่างให้กับสินค้าและบริการ ภายใต้บรรยากาศการทำงานที่เปิดกว้างทางความคิด และผลักดันให้คนมุ่งไปสู่จุดที่สูงกว่าตลอดเวลา

“ผมมองเป็นภาพว่าทุกที่เราสามารถเรียนรู้ได้ อย่างค่านิยมอุดมการณ์ 4 เครือซิเมนต์ไทยทำมานาน 50 ปี แต่เพิ่งเขียนเป็นลายลักษณ์อักษรได้ไม่นาน ทุกองค์กรต้องมีผู้สืบทอด ทำธุรกิจวันนี้ยากกว่า 10 ปีที่แล้ว การมองไปข้างหน้าวันนี้สำคัญกว่ามองไปข้างหลัง วิกฤติที่เกิดขึ้น เพราะคนมองข้างหลังมากเกินไป การมองข้างหน้าไม่ชัด คนก็เลยถนัดมองไปข้างหลัง ทำอย่างไรให้คนได้เรียนรู้ ถนัดมองไปข้างหน้าได้มากกว่าคนอื่นๆ

คนส่วนมากเก่งวิเคราะห์บทเรียนจากอดีต แต่ถามว่าโลกข้างหน้ามาจากสิ่งที่เป็นข้างหลังมากน้อยขนาดไหน หลายอย่างที่เกิดขึ้นวันนี้ทั้งโรคไข้หวัดใหญ่ วิกฤติเศรษฐกิจไม่ซ้ำหน้า หรือปัญหาการเมือง ไม่มีบทเรียนข้างหลัง ถึงเวลาต้องฝึกคนให้มองไปข้างหน้า กล้าที่จะไปก่อน กล้าที่จะเป็นผู้นำ รู้จักอ่านเกมให้ขาด และเตรียมตัวให้พร้อมเพื่อรองรับกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า”

หลายครั้งที่ชลณัฐตั้งคำถามกับตัวเองว่า อีก 10 ปีข้างหน้าเอสซีจี เคมิคอลส์จะต้องเตรียมคนแบบไหนไปสู้กับธุรกิจ หลายฉากที่เขามองเห็นซ้ำๆ กันคือ ต้องมีแบบฉบับของความเก่งแบบคนปูน เก่งแล้วคนชื่นชม เป็นคนน่าคบหาสมาคม อยากทำงานด้วย และคิดถึงส่วนรวมมากกว่าส่วนตน

“ทำอย่างไรให้คนส่วนมากไปในจุดที่เราอยากให้ไป อยากให้คนปิโตรเคมีมีนวัตกรรมอยู่ในสายเลือด ทุกเรื่องตั้งแต่ตื่นเช้า เป็นคนแสวงหาสิ่งใหม่ๆ ตลอดเวลา ทนไม่ได้ที่จะอยู่ที่เดิม อยู่กับมาตรฐานเดิม ไม่ทำตัวทรงๆ ทรุด ถ้าเราสร้างแรงขับเคลื่อนได้ คนก็จะเดินไปตามเส้นทางของนวัตกรรมได้เอง”

หลังเรียนจบ “ชลณัฐ ญาณารณพ” เดินเข้าสู่สายพานการสร้างคนของเครือซิเมนต์ไทย ไม่ต่างกับผู้ชายที่มีความฝัน และต้องการประสบความสำเร็จเหมือนคนอื่นๆ

ผ่านไป 20 ปี วันนี้เขายืนอยู่บนปลายสายพานของการสร้างคนเอสซีจี เคมิคอลส์ ไม่ต่างอะไรกับผู้นำที่มีความฝัน และต้องการให้ธุรกิจแข็งแกร่งเหนือองค์กรอื่นๆ

โดย : วรนุช เจียมรจนานนท์ / bangkokbiznews.com


อัพเดทล่าสุด