คลีนิค พี่เลี้ยง : Mentoring Program ตอนที่ 1 : รู้จักกับคำว่า Mentoring
เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา มีผู้เข้าสัมมนาหลักสูตร การสร้าง และ Implement ระบบพี่เลี้ยง คนหนึ่ง เข้ามาคุยกับ ดิฉันว่า หนู เพิ่งเรียนจบปริญญาโทด้าน HRD มาจาก มหาวิทยาลัยชั้นนำของ ของอังกฤษ และได้เข้ามาทำงานในบริษัทแห่งหนึ่ง เป็นบริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับน้ำมัน งานแรกซึ่งหนูได้รับมอบหมาย คือ การนำ Mentoring Program เข้ามาใช้ในบริษัท ซึ่งเจ้านายของหนู Buy-in กับ ระบบพี่เลี้ยง เป็นอย่างมาก เจ้านายเล่าให้ฟังว่า เคยทำงานอยู่ที่บริษัทยักษ์ใหญ่ในอเมริกา และ บริษัทดังกล่าว มีการนำ ระบบ Mentoring มาใช้ ซึ่งเป็นระบบที่มีประโยชน์ทั้งในด้านของการพัฒนา พนักงานซึ่งเป็นแบบ Two in one และ การสร้างบรรยากาศที่ดีในการทำงาน แถมด้วยสร้างให้พนักงาน เกิดความผูกพันต่อองค์กรอีกด้วย และ เจ้านาย ยังบอกอีกว่า ปัจจุบันเขากลับมาอยู่เมืองไทยได้ 5 ปีแล้ว เขายังติดต่อกับพี่เลี้ยงและน้องเลี้ยงของเขาที่อยู่ในบริษัทนั้นอยู่เลย เพราะผูกพันกันเหมือนพี่น้องจริง ๆ ดังนั้นวันนี้เจ้านายก็เลยส่งหนูมาเข้าอบรมค่ะ
HRD มือใหม่วัยใส เล่าจบก็บอกว่า อาจารย์คะ หนูต้องทำ Mentoring Program แล้วค่ะ ดังนั้น หนูขอให้อาจารย์ช่วยเป็น พี่เลี้ยงให้หนูได้ไหมคะ ? เพราะ อาจารย์เคยเป็นทั้ง น้องเลี้ยง, พี่เลี้ยง, ที่ปรึกษาด้านระบบพี่เลี้ยง และ เป็น HRD มาก่อน
วันนี้ดิฉันก็เลยมีน้องเลี้ยงคนใหม่เพิ่มขึ้นมาอีกหนึ่งคน และเมื่อวานนี้น้องเลี้ยงคนนี้ ก็แนะนำให้เพื่อน ๆ ที่เป็นชาว HR ของบริษัทต่าง ๆ ซึ่งกำลังได้รับมอบหมายให้ศึกษาและ นำระบบพี่เลี้ยงไปใช้ในองค์กร โทร.มาหาดิฉัน สอบถามเกี่ยวกับ Mentoring Program ซึ่งจากการประมวลคำถาม สรุปได้ว่า น้อง HR ของเราหลายคนยังงง ๆ และสับสน ว่า ระบบพี่เลี้ยง คืออะไรกันแน่ หากจะเริ่ม ทำโครงการพี่เลี้ยง ต้องเริ่มอย่างไร
ดังนั้น ดิฉัน จึงถือโอกาสนี้เปิด คลีนิคพี่เลี้ยง เพื่อนำประสบการณ์ ในการสร้างระบบพี่เลี้ยงให้เกิดขึ้นในองค์กร มาเล่าให้น้อง ๆ ได้ทราบ ทั้งประสบการณ์ที่เคยล้มเหลว และ ประสบกับความสำเร็จ ในฐานะที่เป็น พี่เลี้ยง HRD มือใหม่ อย่างไม่ทันตั้งตัว !!!
ก่อนที่จะคุยถึง Mentoring อยากให้ทราบถึงความหมายกันก่อน Mentoring หมายถึง กระบวนการเรียนรู้อย่างหนึ่ง ซึ่งมีบุคคลที่เกี่ยวข้องอยู่ 2 ฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายแรกคือ Mentor หรือ พี่เลียง เป็นผู้ทำหน้าที่ในการถ่ายทอดแนวคิด ความรู้ ประสบการณ์ ในเรื่องต่าง ๆ ให้แก่อีกฝ่าย หนึ่ง นั่นก็คือ Mentee หรือ น้องเลี้ยง วัถตุประสงค์ของ Mentoring ก็เพื่อช่วยเสริมสร้างให้ Mentee ได้เพิ่มพูนความรู้ เสริมสร้างความเข้าใจ ทั้งในด้านของแนวทางการดำรงชีวิต และ หนทางที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จ การสร้างให้องค์กรมีพี่เลี้ยงและน้องเลี้ยงนี้ ถือเป็นการปลูกฝังให้มีการถ่ายทอดประสบการณ์ จากคนรุ่นหนึ่งไปสู่คนอีกรุ่นหนึ่ง ซึ่งบางองค์กรถือปฏิบัติต่อเนื่องกันมาจนกลายเป็นวัฒนธรรมไปแล้ว ดังนั้น Mentoring จึงเป็นส่วนหนึ่งในกระบวนการ สร้างรากฐานให้ องค์กรกลายเป็น องค์กรแห่งการเรียนรู้ (Learning Organization LO) ด้วยการโอนถ่ายความรู้ จากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งโดยสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เพิ่มขึ้น
ยกตัวอย่างง่าย ๆ ลองย้อนกลับไปในสมัยที่เข้าเรียนในมหาวิทยาลัย พวกเราก็มีพี่รหัสซึ่งคอยทำหน้าที่ดูแลให้คำแนะนำต่าง ๆ นำตำรา Sheet หรือข้อสอบเก่า ๆ มาให้เรา และเมื่อเราอยู่ปีสอง มีนักศึกษาใหม่เข้ามา เราก็ทำหน้าที่เป็นพี่รหัส นั่นเอง