HR จะสร้างบารมีอย่างไรให้เกิดผลดีต่อการปฏิบัติงาน


811 ผู้ชม


HR จะสร้างบารมีอย่างไรให้เกิดผลดีต่อการปฏิบัติงาน




การบริหารทรัพยากรมนุษย์ เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เข้ามาเป็นตัวช่วยในการบริหาร การบริหารคนก็ต้องอาศัยหลักของการให้ก่อน แล้วทุกอย่างก็จะตามมาเอง โดยไม่ต้องเรียกร้อง สำหรับการให้จะอยู่ในรูป การให้สิ่งของ หรือให้ด้วยใจ เช่น การให้คำปรึกษาที่ดี การช่วยเหลือโดยการขอร้องบุคคลที่สามให้มามีส่วนช่วยให้ปัญหายุติ การเข้าไปเยี่ยมเมื่อยามเจ็บไข้ เป็นต้น 
                หลักของการทำงานโดยทั่วไป เมื่อเข้าไปทำงานวันแรก อย่าเพิ่งไปลงรายละเอียดของงาน ให้เริ่มที่เรียนรู้เรื่องคน ในองค์การก่อนว่า ในผังองค์การของบริษัทมีใครดำรงตำแหน่งอะไร และนั่งอยู่ที่ใดบ้าง นิสัยคนไทยเมื่อคนเข้าไปใหม่ๆ ถ้าให้เกียรติคนเก่าที่ทำงานอยู่เดิม มักจะให้อภัยได้ ถึงแม้ว่าบางครั้งงานที่ออกอาจจะมีความผิดพลาดอยู่บ้างก็ตาม ฉะนั้นในช่วงเดือนแรกๆ ต้องทำความรู้จักผู้ที่เป็นผู้หลักและผู้ใหญ่ในองค์การเสียก่อน คำว่าผู้หลัก หมายถึง ผู้ที่มีตำแหน่งหน้าที่การงานที่เป็นตำแหน่งหลักในองค์การนั้นๆ เช่น ผู้จัดการฝ่ายผลิต ผู้จัดการฝ่ายวิศวกรรมและซ่อมบำรุง ฝ่ายการตลาด ฝ่ายบุคคล เป็นต้น ส่วนคำว่าผู้ใหญ่ หมายถึง ผู้ที่อาวุโสในองค์การ หรือผู้ใหญ่ที่พนักงานในองค์การให้ความเคารพ ซึ่งถ้าเราศึกษาองค์การได้ในลักษณะนี้แล้ว เชื่อมั่นได้ว่า การทำงานของเราจะมีความราบรื่นอย่างแน่นอน เพราะเราให้เกียรติบุคคลดังกล่าวข้างต้น การทำงานในลักษณะนี้ ผู้เขียนถือว่าเป็นศิลปะในการทำงาน เป็นการสร้างฐานการทำความรู้จักเรื่องคนเอาไว้ก่อน เมื่อเราลงมือปฏิบัติงานจริง จะสามารถนึกภาพกระบวนการทำงานได้ถูกต้อง และสามารถนึกถึงผู้รับผิดชองในสายงานที่เราจะติดต่องานด้วย ถ้ามองในด้านลึกสามารถวิเคราะห์ถึงพฤติกรรมเป็นรายบุคคลได้ด้วยว่า ผู้บริหารแต่ละท่านมีบุคลิกภาพเป็นอย่างไร และไม่ชอบคนในลักษณะไหน ซึ่งก็เป็นศิลปะในเชิงลึกอีกชั้นหนึ่ง ยิ่งเป็นวิชาชีพที่เป็นงานด้าน การบริหารคน ต้องเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง ที่ต้องใช้ศิลปะเข้ามาบริหารเป็นอันดับแรก 
                ผมอยากจะยกตัวอย่างเจ้านายของผมท่านหนึ่ง ท่านดำรงตำแหน่ง เป็นผู้จัดการส่วนบุคคล ในขณะนั้น เมื่อท่านถูกแต่งตั้งให้มารับตำแหน่งในบริษัทแห่งนี้ ก็ถือว่าเป็นสิ่งใหม่สำหรับธุรกิจที่ท่านต้องเรียนรู้ สิ่งที่ผมได้สัมผัสในวันแรกของการทำงาน นายท่านนี้ให้ผมพาเดินโรงงานเลย โดยให้ผมพาไปพบหัวหน้าแผนกที่อาวุโสที่สุดก่อนในโรงงาน ให้ทำแผนไว้ด้วยว่าช่วงเช้าจะไปพบใคร หลังจากวันแรกผ่านไป ที่เข้าไปทำความรู้จักกับ หัวหน้าแผนกที่มีความอาวุโส ประมาณ 4 ท่าน หัวหน้าแผนกดังกล่าวได้โทรศัพท์มาหาผมแล้วพูดกับผมว่า ผู้จัดการส่วนบุคคลท่านนี้ คือใครมาจากที่ไหน อยากรู้จักมากกว่านี้ เพราะที่ผ่านมาเมื่อผมทำงานในโรงงานแห่งนี้ ไม่เคยมีผู้บริหารที่เป็นระดับจัดการ อยากจะทำความรู้จักพวกพนักงานระดับอย่างผมเลย ผมได้แต่นึกในใจว่า สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ดีนะ เสียงตอบรับจากพนักงานในระดับหัวหน้าแผนกดีมาก หลังจากนายผมได้เดินโรงงานเป็นเวลา 1 อาทิตย์เต็มๆ สิ่งที่ท่านได้เพิ่มเติมจากการเดินโรงงานในครั้งนี้ อีกก็คือ ปัญหาที่พนักงานได้รับความเดือดร้อน จากการทำงาน ปัญหาเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงาน และกิจกรรมสันทนาการของพนักงาน สำหรับปัญหาต่างๆที่ท่านได้รับฟัง ท่านไม่เคยสั่งให้ผมจดบันทึกเลย ท่านหยิบสมุดโน้ตเล็กๆมาจากกระเป๋าแล้วรีบจดบันทึกด้วยตนเองอย่างตั้งใจ แล้วยังกระชับกับหัวหน้าแผนกที่ท่านได้ไปพบทุกคนว่า ผมจะนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมผู้บริหารและดำเนินการของบประมาณบางส่วน มาจัดทำในสิ่งเหล่านี้ให้กับพนักงาน เช่น ห้องน้ำ ตู้น้ำเย็น กิจกรรมชมรมต่างๆ ที่จะให้กับพนักงาน เช่น สนามฟุตบอล สนามเปตอง และ ชมรมดนตรี เป็นต้น 
                เมื่อนายของผมได้ปฏิบัติงานประมาณสัก 3 เดือน พนักงานในโรงงานเริ่มรู้จักท่านมากขึ้น จนบางครั้งพนักงานได้ขึ้นมาปรึกษาที่ห้องทำงานเป็นประจำทุกวัน บางวันมีงานบวช งานแต่งาน งานขึ้นบ้านใหม่ เป็นประจำแทบทุกวัน หรือแม้กระทั่งพนักงานถูกจับ กรณีขับรถชนคู่กรณีเสียชีวิต หรือ เล่นการพนัน ถูกจับดำเนินคดีตามกฎหมาย ท่านก็เคยเข้าไปประกันตัวให้ก็มี ถ้าเป็นในกรณีที่ไม่จงใจที่กระทำความผิด จนทำให้เป็นที่รักใคร่ชอบพอในหมู่พนักงานในโรงงาน ในระดับผู้บริหารก็มีความรู้สึกที่ดี ที่พนักงานในช่วงนี้ให้ความร่วมมือกับกิจกรรมพนักงานเป็นอย่างดี 
                เวลาผ่านไปถึงประมาณเดือน ปลายเดือนธันวาคม ต้นเดือนมกราคม เป็นฤดูกาลที่จะต้องปรับค่าจ้างและจ่ายโบนัสประจำปี ซึ่งปีนี้เป็นปีที่เศรษฐกิจไม่ค่อยสู้ดีนัก โบนัสที่เคยจ่าย 3-4 เดือน ก็ต้องพิจารณาปรับลดลงมา ซึ่งย่อมทำให้พนักงานในโรงงานเกิดความไม่พอใจเป็นอย่างมา ว่าทุกปีเคยได้รับประมาณนี้ แต่ทำไมปีนี้ตัวเขาเองไม่ได้รับเหมือนเช่นปีที่ผ่านมา ผู้จัดการโรงงานก็บอกได้แต่เพียงคำเดียวว่า เป็นนโยบายของบริษัทที่อนุมัติการจ่ายเงินเพียงเท่านี้ ไม่ได้รับคำตอบที่มากไปกว่านี้เลย เกิดการรวมตัวประท้วงขึ้นที่หน้าโรงงาน ไม่ยอมเข้าปฏิบัติงาน จนต้องเชิญ กรรมการผู้จัดการต้องเข้ามาระงับเหตุ และชี้แจงกับพนักงานกลุ่มดังกล่าวประมาณเกือบ 100 คน แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ พนักงานได้แต่โห่ร้อง บอกว่าไม่อยากรับฟังเหตุผลเดิมๆ อีกแล้ว มิหนำซ้ำยังได้มีการขว้างปา ขวดน้ำดื่ม ก้อนหิน ขึ้นไปบนเวที ที่กรรมการผู้จัดการขึ้นไปชี้แจงอีก จนทำให้ต้องใช้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ามาระงับเหตุ พนักงานกลุ่มดังกล่าวก็ยังไม่เข้าปฏิบัติงาน ยื่นข้อเรียกร้องให้จ่ายโบนัสเท่าเดิมเหมือนปีที่แล้ว ในช่วงนั้นผมเห็นเจ้านายผมได้เข้าไปพูดคุยหารือกลับกลุ่มที่ประท้วงอย่างเคร่งเครียด และหลังจากนั้นได้เดินทางเข้าไปเจรจาที่ห้อง กรรมการผู้จัดการ ประมาณ 30 นาที ท่านก็ได้ออกมาพบกับกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงอีกครั้งหนึ่ง และท่านก็ได้ขึ้นไปบนเวที บอกกับพนักงานว่า ผมได้หารือกับกรรมการผู้จัดการ และก่อนที่จะเข้าไปหารือผมได้มีการประชุมกับหัวหน้าผู้อาวุโสของพวกเราที่อยู่ ณ ที่นี้ ที่พวกเราเห็นอยู่ ว่าบริษัทจะดูแลเรื่องผลตอบแทนในการปรับค่าจ้างในเดือนมกราคมที่จะถึงนี้เป็นการทดแทนให้กับโบนัสในเดือนธันวาคม ซึ่งด้านล่างเวทีก็จะมีหัวหน้าแผนกอาวุโส ประมาณ 4 ท่านที่เข้ามาช่วยกันพูดคุยกับลูกน้อง ของตนเองที่อยู่ในบริเวณดังกล่าวแยกออกไป พยายามทำความเข้าใจและอธิบายกับลูกน้องๆ หลังจากที่เจ้านายของผมจะลงเวทีได้กล่าวทิ้งท้ายไว้ประโยคหนึ่ง ที่ว่า สิ่งที่ผมอยากจะขอพวกเราที่อยู่ ณ ตรงนี้คือ การเข้าไปปฏิบัติงานเหมือนเดิมและผมจะหารือกับผู้บริหารว่าสิ่งที่พวกเราได้กระทำลงไปแล้วถือว่าไม่มีความผิดเกิดขึ้นแต่อย่างใด ถือเสียว่าผมขอพวกเราก็แล้วกัน และท่านก็เดินลงเวที หลังจากนั้นก็มีพนักงานที่เป็นผู้นำในการประท้วงในครั้งนี้ ได้ขึ้นบนเวที แล้วพูดขึ้นว่า ผมได้พูดคุยกับพี่...........(เขาเอ่ยนามชื่อของเจ้านายของผม) ซึ่งเป็นพี่ชายที่ผมเคารพและนับถือ ผมจะตอบแทนบุญคุณท่านที่เคยช่วยประกันตัวพนักงานบางส่วนที่อยู่ตรงนี้ ที่ประสบอุบัติเหตุจนได้รับการปล่อยตัวออกจากห้องขัง ของโรงพักสถานีตำรวจ ขอให้พวกเราสลายการชุมนุมและให้รอฟังผลการประชุมจากผู้บริหารในสิ้นเดือน มกราคมนี้ 
                เมื่อผู้นำประท้วงท่านนั้นกล่าวจบ ก็เดินลงมาจากเวที เดินมาที่เจ้านายผมยืนอยู่ โดย ยกมือไหว้ขอโทษกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น สักพักหนึ่งก็จะมีกลุ่มที่ประท้วงเข้ามายกมือไหว้ขอโทษอีกเช่นกัน ทำให้บรรยากาศ ณ ขณะนั้นจากที่แสงแดดร้อนจัด แดดเปรี้ยง กลับกลายเป็นความเย็นขึ้นมาทันที ผมได้เห็นพนักงานกลุ่มที่ประท้วงกอดคอกันร้องไห้ ด้วยความประทับใจ รวมทั้งเจ้านายของผม หัวหน้าแผนกที่อาวุโสทั้ง 4 ท่านด้วย ทุกคนได้เดินกอดคอกันเข้าโรงงานไปปฏิบัติงานเหมือนเดิม ตามที่ได้ตกลงกันไว้
                 จะเห็นได้ว่า บทบาทการทำงานของ ฝ่าย HR ต้องมีความสัมพันธ์กันกับ พนักงานทุกระดับชั้น การให้สิ่งที่ดีๆแก่พนักงานก่อน เมื่อเขาได้รับแล้ว ย่อมส่งผลดีต่องานที่จะตัดสินใจในอนาคตอย่างแน่นอน บรรยากาศที่จะจบลงในลักษณะนี้เป็นไปได้ยากมาก ถ้าผู้บริหารไม่ได้เข้าไปคลุกคลี ทำความเข้าใจ และเคยเข้าไปแก้ปัญหาให้กับพนักงาน ให้เขาเห็นหรือสัมผัสได้ แต่เหตุการณ์นี้เป็นกรณีศึกษาที่เกิดขึ้นจริง ที่ผู้บริหารด้านทรัพยากรมนุษย์ ได้ให้ไปมีบทบาทสำคัญในการเข้าไปกอบกู้สถานการณ์ ที่จะขยายตัวไปสู่ความรุนแรง โดยถ้าพนักงานไม่มีใครเป็นที่พึ่งของเขาได้ พนักงานที่ประท้วงอาจจะตัดสินใจเผาโรงงาน หรือทำร้ายผู้บริหารถึงแก่ชีวิตก็เป็นได้ 


                
ผู้เขียน กฤติน กุลเพ็ง ประสบการณ์ 25 ปี ทางการบริหารทรัพยากรมนุษย์และพัฒนาองค์กร เชี่ยวชาญเรื่องการบริหารทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่ บริหารวัฒนธรรมองค์กร และที่ปรึกษ การ Implement Competency Model ให้กับองค์กรภาครัฐและเอกชน ประสบการณ์ในการทำงานในเครือซิเมนต์ไทยมา 15 ปี เป็นอาจารย์พิเศษ คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา วิทยาเขตบางแสน


อัพเดทล่าสุด