เทคนิคการเลือกที่ปรึกษา


774 ผู้ชม


เทคนิคการเลือกที่ปรึกษา




คอลัมน์ ถามมา-ตอบไปสไตล์คอนซัลท์
โดย อภิวุฒิ พิมลแสงสุริยา [email protected]
นานๆ ผมจึงมีโอกาสได้เข้าไปนั่งทำงานที่บริษัทตัวเองสักที โดยปกติแล้ว ชีวิตการทำงานของผมจะอยู่กับลูกค้าเป็นส่วนใหญ่ ในการเข้าไปทำงานครั้งนี้ พนักงานที่บริษัทของผมคนหนึ่งที่เพิ่งเข้ามาทำงานใหม่ทำท่าดีใจมากกว่าปกติ เขากำลังคิดอยู่ว่าจะ โทร.ไปปรึกษาผมดีไหม แต่พอผมเข้าออฟฟิศ เขาจึงรีบฉวยโอกาสอันมีน้อยนิดเข้ามานั่งคุย
เขาว่า เขาได้คำถามจากเพื่อนที่อยู่บริษัทอื่น ซึ่งตัวเองก็ใหม่ในวงการนี้ เลยไม่รู้จะให้คำตอบอย่างไร เรื่องมีอยู่ว่า องค์กรที่เพื่อนของเขาทำงานอยู่มีโครงการที่จะจ้างที่ปรึกษามาช่วยให้คำแนะนำ เจ้านายของเขาให้หาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท ที่ปรึกษาต่างๆ ที่มีอยู่ในประเทศไทย ตอนนี้เขามีรายชื่ออยู่จำนวนหนึ่ง ซึ่ง ค่อนข้างเยอะมาก จึงคิดว่าจะเลือกบริษัทที่ปรึกษาสัก 3-4 แห่งให้เข้าไปคุยกับหัวหน้า แต่ปัญหาคือ จะเลือกอย่างไรดี
อย่างแรกที่อยากแนะนำสำหรับการหา ที่ปรึกษา คือการระบุขอบเขตของงานที่ต้องการจะให้ที่ปรึกษาช่วยให้ชัดเจนก่อน เพราะขึ้นชื่อว่าที่ปรึกษา ไม่ได้แปลว่าทำได้ทุกอย่าง บริษัทที่ปรึกษาแต่ละแห่งจะมีความเชี่ยวชาญในเรื่องบางเรื่องเท่านั้น นอกจากนี้ความชัดเจนในสิ่งที่คุณต้องการ จะช่วยให้ที่ปรึกษาสามารถหาแนวทางในการช่วยคุณได้ง่ายขึ้น และลดปัญหาเรื่องความเข้าใจที่ไม่ตรงกันในระหว่างทางได้อีกด้วย
หลังจากได้เป้าหมายที่ชัดเจนแล้ว ก็ต้องมาดูต่อว่ามีงบประมาณ
ในการจ้างที่ปรึกษาเท่าไร เพราะบริษัทที่ปรึกษามีหลายขนาด มีตั้งแต่บริษัทที่ปรึกษาแบบข้ามชาติ จนถึงที่ปรึกษาแบบบุคคล ซึ่งอาจจะเป็นอาจารย์ตามมหาวิทยาลัย ไปจนถึงผู้เชี่ยวชาญที่ออกมาทำงานอย่างอิสระ แน่นอนว่าราคาก็จะต่างกันออกไปด้วย
สำหรับบริษัทข้ามชาติหรือบริษัทที่เป็นญาติหรือเป็นดองกับบริษัทเหล่านั้น สนน ราคาในการให้บริการก็จะสูงในระดับที่องค์กรขนาดเล็กไม่สามารถใช้บริการได้ และในขณะเดียวกันบริษัทเหล่านี้ก็ไม่สนใจกับงานเล็กๆ เช่นกัน แต่ข้อดีของบริษัทที่ปรึกษาในกลุ่มนี้คือ การมีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย มีผู้เชี่ยวชาญในเรื่องที่เขารับปรึกษาจริงๆ ที่สำคัญมีข้อมูลที่ค่อนข้างแน่นเพราะโดยส่วนมากแล้วจะมีศูนย์วิจัยเป็นของตนเอง
ถ้างบประมาณของคุณอยู่ในระดับกลางๆ บริษัทที่มีเชื้อสายไทยอาจจะพอช่วยคุณได้ บริษัทเหล่านี้โดยส่วนมากแล้วจะเป็นบริษัทที่พัฒนาเครื่องไม้เครื่องมือเป็นของตนเอง หรืออาจจะซื้อเครื่องไม้เครื่องมือจากต่างประเทศมาใช้อีกที ซึ่งแน่นอนว่าบริษัทที่ปรึกษาในกลุ่มนี้ ราคาจะย่อมเยากว่าและมีเวลาให้ลูกค้ามากกว่ากลุ่มบริษัทข้ามชาติ แต่ข้อจำกัดของบริษัทในกลุ่มนี้คือ ความเชี่ยวชาญและความน่าเชื่อถือที่อาจจะมีน้อยกว่ากลุ่มแรก
สุดท้ายสำหรับองค์กรที่มีงบประมาณแบบน้อยสุดๆ คงไม่พ้นการใช้บริการ ที่ปรึกษาอิสระ ซึ่งแน่นอนว่าที่ปรึกษาอิสระมีข้อจำกัดในเรื่องของมาตรฐานในการทำงานที่แตกต่างกัน ดังนั้นองค์กรของคุณจะได้ที่ปรึกษาดีหรือไม่ ขึ้นอยู่กับความเฮงและความสามารถในการวิเคราะห์ที่ปรึกษา ประมาณว่าตาดีได้ ตาร้ายเสีย
แนวทางข้างต้นน่าจะพอช่วยให้สามารถคัดเลือกบริษัทที่ปรึกษาที่จะเรียกเข้ามาคุยด้วยได้ในเบื้องต้น จากนั้นเมื่อเรียกเข้ามาคุยแล้ว ก็ต้องมีแนวในการคัดเลือกที่ลึกซึ้งมากขึ้น
เนื่องจากการจ้างที่ปรึกษามาช่วยงานนั้น โดยส่วนมากจะเป็นการจ้างในระยะยาว มีตั้งแต่ 2-3 เดือนจนไปถึง 2-3 ปี ซึ่งแน่นอนว่าคุณในฐานะผู้จ้าง ต้องทำงานร่วมกับบริษัทที่ปรึกษาไปอีกนาน ดังนั้นจำเป็นจะต้องเรียกบริษัทเหล่านี้เข้ามาพูดคุยเพื่อที่จะได้มีโอกาสสังเกตและสอบถามรายละเอียดต่างๆ
นอกจากการได้พูดคุยเพื่อสอบถามในรายละเอียดแล้ว คุณต้องเข้าใจว่าคนที่จะมาทำงานร่วมกับคุณ อาจไม่ใช่คนที่กำลังนั่งคุยกับคุณตอนก่อนเริ่มโครงการเสมอไป คุณควรจะมีโอกาสได้พบปะและพูดคุยกับทีมงานที่จะมาทำงานร่วมกับคุณจริงๆ ด้วย ลองคุยและถามคำถามกับทีมงานดู คุณจะได้รู้ว่าคุณสามารถทำงานร่วมกับพวกเขาได้ไหม และถ้าไม่ก็ควรจะคุยกับบริษัทที่ปรึกษาแต่เนิ่นๆ ในการเปลี่ยนทีมที่จะมาทำงานร่วมกับคุณ
อย่าคิดว่า หยวนๆ ทีมงานอย่างไรก็ได้ เพราะคุณกำลังจะได้เพื่อนร่วมงานทีมใหม่ที่จะอยู่กับคุณไปอีกนาน
เมื่อคุณได้บริษัทที่ปรึกษาและทีมงานที่จะมาทำงานด้วยแล้ว จุดสำคัญต่อมาคือการคุยให้ชัดเจนถึงผลลัพธ์สุดท้ายที่ต้องการ คุยกันให้ละเอียดเลยว่าจบโครงการแล้วต้องได้อะไรบ้าง คุยแบบไม่ต้องเกรงใจ ยึดคติทะเลาะกันให้จบก่อนเริ่มงาน พอทำงานจะได้ไม่ต้องทะเลาะกัน ในขณะเดียวกันคุณอาจจะคุยถึงระยะเวลาในการรายงานความคืบหน้าของโครงการด้วย เพราะบางครั้งงานที่ปรึกษาบางงานเป็นงานที่ต้องทำอยู่หลังฉาก บางทีคุณอาจจะสงสัยว่าทำไมอยู่ๆ ที่ปรึกษาก็หายไป การรายงานความคืบหน้าเป็นระยะๆ จะช่วยให้คุณเข้าใจได้มากขึ้น
ปัจจัยสำคัญอีกอย่างคือจะทำให้งานที่ปรึกษาออกมาสำเร็จหรือไม่ ตัวคุณเองในฐานะลูกค้า ทางที่ดีที่สุดที่จะให้งานออกมาสำเร็จได้ จำเป็นต้องมีคนคนหนึ่งที่ทำหน้าที่เป็นจุดศูนย์กลางในการรับผิดชอบโครงการที่ปรึกษาในครั้งนี้ และคนที่จะมาเป็นจุดศูนย์กลางนี้ควรจะมีอำนาจ มีเวลา มีความรู้ และความมุ่งมั่นในการทำงาน เพื่อช่วยให้งานที่ปรึกษาออกมาสำเร็จลุล่วง (ไม่ใช่เอาคนที่อยู่ว่างๆ ไม่มีอะไรทำมาเป็น) พูดจริงๆ แล้ว ที่ปรึกษาที่ดีจะสามารถช่วยคุณได้มาก แต่จะตรงจุดแค่ไหนก็ขึ้นอยู่กับว่า เขามีคนที่จะบอกเขาหรือไม่ว่าต้องการให้ช่วยตรงไหน
สุดท้ายคุณคงไม่ต้องการที่จะใช้ที่ปรึกษา ตลอดไปแน่นอน ซึ่งหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้คุณต้องหันหน้าไปหาที่ปรึกษา ก็เพราะว่าองค์กรของคุณไม่มีใครที่มีทักษะในเรื่องนั้นๆ ดังนั้นเมื่อคุณจ้างที่ปรึกษามาช่วยแล้ว จงส่งคนของคุณไปเรียนรู้สิ่งที่ที่ปรึกษาทำด้วย
ดังนั้นถ้าเป็นไปได้ อย่าลืมที่จะระบุลงไปในสัญญา เพื่อที่ปรึกษาจะได้เข้าใจว่าทำไมคนของคุณถึงชอบเข้าไปยุ่งกับเขา และที่สำคัญเขาจะได้เปิดใจในการสอนคนของ คุณด้วย
พูดจริงๆ แล้ว การเลือกที่ปรึกษาเปรียบเสมือนการหาแฟนสักคน และเมื่อเป็นแฟนกันแล้ว ครั้นจะเลิกกันก็ยาก ดังนั้นก่อนจะคบกันเป็นแฟน จงสำรวจและพินิจพิจารณาให้ดี จะได้ไม่ผิดหวังกับคนที่คุณเลือกมา
หน้า 29

ที่มา : matichon.co.th

อัพเดทล่าสุด