ลดต้นทุนเรื่องคนอย่างไรไม่ให้เจ็บมาก
คำถาม
ผมเป็นผู้บริหารระดับสูงของบริษัทขนาดไม่ใหญ่นัก โดยผมจะดูแลภาพรวมและทิศทางทั้งหมดของบริษัท บริษัทของผมเป็นบริษัทด้านลอจิสตกส์ ก่อตั้งในเมืองไทยมาเกือบ 15 ปี มีการเติบโตมาเรื่อยๆ และที่ผ่านมายังไม่เคยเจอวิกฤตทางธุรกิจหนักๆ แม้แต่ตอนปี 2540 ที่ว่าแย่ๆกัน บริษัทผมเองก็ยังผ่านมาได้แบบไม่เลวร้ายมากนักรวมทั้งพนักงานก็ไม่ได้ผลกระทบอะไร แต่มาคราวนี้ผมเองไม่มีความมั่นใจว่าจะผ่านสถานการณ์ไปได้โดยไม่มีการดำเนินการที่จะกระทบกับพนักงาน ผมเองได้พยายามลดต้นทุนอย่างอื่น เพิ่มประสิทธิภาพด้วยการใช้เทคโนโลยี แต่ก็ยังไม่คุ้มกับสถานการณ์ที่แย่ลง ก็คงจะต้องลงมาถึงเรื่องการลดต้นทุนเรื่องคน ก่อนผมจะเปิดเรื่องนี้กับทีมผู้บริหาร ผมอยากขอแนวทางจากคุณดิลกว่า มีขั้นมีตอนเรื่องการลดต้นทุนเกี่ยวกับคนอย่างไร และมีข้อควรระวังในเรื่องอะไรบ้าง- อุดม
คำตอบ
ในช่วงเวลาแบบนี้ ผมได้รับคำถาม และการขอข้อแนะนำจากผู้บริหารหลายท่านบ่อยมาก ซึ่งก็คงเป็นตัวชี้วัดอย่างหนึ่งว่า เรากำลังอยู่ในช่วงย่ำแย่กันจริงๆ ผมจะให้ข้อแนะนำในลักษณะที่เป็นแนวทางแบบค่อยเป็นต่อยไป เพราะเดาจากคำถามแล้ว คุณอุดมดูจะยังไม่อยากหักด้ามพร้าด้วยเข่า หรือทำให้เสียบรรยากาศ ดังนั้น ก็ควรจะเลือกแนวทางแบบค่อยเป็นค่อยไปน่าจะเหมาะกว่านะครับ
การลดค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคนแบบที่ค่อยเป็นค่อยไป ก็คงจะต้องเตรียมการอย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยใช้หลักการว่าเราจะลดจากเรื่องที่กระทบกับพนักงานน้อยที่สุดไปถึงกระทบมาโดยลำดับ โดยเทียบกับการลดลงของธุรกิจ และบริษัทมีการพยายามลดต้นทุนอย่างอื่นไปแล้วแต่ก็ยังไม่พอ จึงต้องลดต้นทุนเกี่ยวกับพนักงานเพิ่มขึ้นไปอีก นั่นแปลว่า คุณอุดมต้องได้ตัวเลขที่ชัดเจนว่าจะต้องลดให้ได้กี่บาทต่อเดือน เพื่อจะได้กำหนดแนวทางได้ว่า จะดำเนินมาตรการไปจนถึงจุดใด
ขั้นแรก เรื่องที่กระทบกับพนักงานค่อนข้างน้อยก็น่าจะเป็นเรื่องสวัสดิการที่เกียวกับความสะดวกสบายหรือความบันเทิง เช่น การจัดเลี้ยงปีใหม่ การจัดนำเที่ยว การจัดงานรื่นเริงต่างๆ
ขั้นถัดมา ถ้าขั้นแรกยังไม่ได้ตามเป้าหมาย คุณอุดมก็คงต้องพิจารณาเรื่องสวัสดิการที่เป็นความจำเป็น โดยยังให้มีอยู่แต่อาจลดลงมาในระดับที่น้อยลงหรือปรับคุณภาพให้ลดลงมาหน่อย เช่น ลดค่าเบี้ยเดินทาง ลดค่าน้ำมันรถ เปลี่ยนรถรับส่งจากรถปรับอากาศเป็นรถพัดลม
ขั้นต่อมา ถ้าต้องมีการลดอีก ก็เริ่มขยับไปเรื่องที่ใกล้ตัวพนักงานมากขึ้นก็คือ เรื่องค่าจ้างเงินเดือน โดยเริ่มจากการลดการทำงานล่วงเวลา แล้วขยับไปเป็นให้การประกาศให้หยุดโดยจ่ายร้อยละ 75 ตามกฎหมาย หนักขึ้นอีกก็ให้ลากิจโดยไม่ได้รับค่าจ้าง นอกจากนี้การควบคุมค่าจ้างทางอ้อมก็ต้องทำควบคู่กันไป คือไม่จ้างคนใหม่ ถ้ามีใครลาออกก็ให้เกลี่ยงานภายใน มีการปรับกระบวนการทำงานให้ใช้คนน้อยลง
ขั้นที่เริ่มหนักขึ้นหากสถานการณ์ยังแย่อยู่ ก็คงต้องลดคน โดยการลดคนแบบก็มีแบบร่วมใจจากในรูปของการให้เงินจูงใจเป็นพิเศษ หรือแบบเลิกจ้างยกแผงโดยจ่ายค่าชดเชยพร้อมเงินช่วยเหลือให้กับพนักงาน แต่ไม่ว่าแบบไหนก็ตามคุณอุดมจะต้องหาแนวทางวิธีการที่จะทำให้มั่นใจว่า พนักงานที่เก่งที่ดีจะยังคงทำงานอยู่ด้วยกันกับเรา
และที่สำคัญไปกว่านั้น คุณอุดมจะต้องออกแบบเรื่องการสื่อสารให้ดีโดยเฉพาะถ้าเรามีสหภาพแรงงาน ก็ยิ่งจะต้องเตรียมการมากเป็นพิเศษ รวมทั้งต้องสร้างความเชื่อมั่นว่าเราดำเนินการไปอย่างมีเหตุผลและเป็นธรรม นอกจากนี้อย่าลืมประเด็นในทางประปัญหาทางกฎหมายโดยเฉพาะหลักเรื่องการยินยอมของพนักงาน จะต้องให้ปรากฎหลักฐานเป็นลายลักษณ์อักษรไว้อย่างชัดเจน
ขอให้คุณอุดมสามารถผ่านไปได้ด้วยดีครับ
ที่มา : โดย ผู้จัดการ 360° รายสัปดาห์