HR ปีฉลู


829 ผู้ชม


HR ปีฉลู




ฝ่าด่าน "HR" ปีฉลู

HR ปีฉลู


:

บรรดา HR คงจะพอรับรู้ และประเมินสภาพเศรษฐกิจในปีหน้าได้อยู่แล้วว่า หน้าตาจะออกมาเป็นอย่างไร ถือว่าเป็นอีกปีที่หนักหนาสาหัสเอาการสำหรับชีวิต HR

กรุงเทพธุรกิจ ออนไลน์ : จะว่าไปแล้ววิกฤติที่ว่าก็พอดีครบรอบ 12 ปี ถ้านับจากวิกฤติต้มยำกุ้ง @ไทยในปี 2540 มาจนถึงปี 2552 วิกฤติแฮมเบอร์เกอร์@อเมริกา 

สงสัยคราวหน้าอีก 12 ปีผ่านไป เราอาจจะได้เจอกับวิกฤติ ติ่มซำ@จีน, โรตี@อินเดีย, ข้าวปั้น@ญี่ปุ่น, กิมจิ@เกาหลีใต้ ฯลฯ ตามมาอีกหลายสิบเมนูวิกฤติระดับชาติ

ในสถานการณ์แบบนี้ HR ควรทำอย่างไรดี

คำตอบก็คือ เราต้องมาตั้ง “สติ” (ก่อนสตาร์ท) กันก่อนดีกว่า เพราะหากทำตัวเซไปเซมากับสภาพเศรษฐกิจภายนอก เผลอๆ อาจจะคิดอะไรไม่ออก เพราะขนาดขับรถ เขายังห้าม “เมาไม่ขับ” นี่เรากำลังทำงาน HR กับภารกิจอุ้มช้างอาบน้ำ ยิ่งต้องห้ามเมาแน่นอน

HR ปีหน้าควรจะทุ่ม “สรรพกำลัง” ความสนใจไปที่ 2 ด้าน คือ การช่วยองค์กรลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น (Cost Side) และช่วยหาทางเพิ่ม/รักษาระดับรายได้ให้กับองค์กร (Revenue Side) ให้มากที่สุด หรืออย่างเก่งก็ให้ยอดขายลดลงให้น้อยที่สุด (เมื่อเทียบกับคู่แข่ง) ก็ยังดี

นั่นแปลว่า “สรรพสิ่ง” ในงานด้าน HR ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ “โครงสร้างองค์กร” (Structure) “ระบบและกระบวนการทำงาน” (System&Process) “บุคลากร” (People) และ “สภาพแวดล้อมและบรรยากาศองค์กร”(Environment) ควรจะต้องมีการปรับเปลี่ยน หรือทบทวนให้ดี เพื่อตอบโจทย์ “หยิน & หยาง” ในเรื่องของ “ลดค่าใช้จ่าย” และ “เพิ่ม/รักษาระดับรายได้” ให้ได้

HR ก็คงต้องมาคิดหาหนทางว่า จะใช้ศาสตร์และวิธีการด้าน HR อะไรบ้าง เพื่อตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ เช่น 

โครงสร้างองค์กร (Structure) ช่วงวิกฤติเศรษฐกิจ คำถามที่น่าสนใจคือ จะออกแบบโครงสร้างองค์กรใหม่ (Organization Redesign) ได้หรือไม่ รวมถึงการออกแบบงานใหม่ (Job Redesign) ถ้าทำแล้วหน้าตาเป็นอย่างไร อย่างเช่น ทราบว่าบริษัทบางแห่ง CEO ให้โจทย์ฝ่าย HR มาว่า หากปีหน้ายอดขายเหลือ 50% โครงสร้างบริษัทควรจะเป็นอย่างไร และควรจะบริหารบุคลากรโดย “ไม่ปลดคนเลย” ได้หรือไม่ (สาธุ ขอให้ CEO ท่านนี้จงจำเริญๆ ยิ่งขึ้นไปเทอญ)

ระบบและกระบวน การทำงานต่างๆ (System & Process) ควรจะมีการปรับระบบ หรือกระบวนการทำงานต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพ ประสิทธิผลดียิ่งขึ้นไปอีกได้หรือไม่ เพราะในช่วงเศรษฐกิจดีๆ HR ไม่ค่อยมีเวลาสนใจเรื่องพวกนี้กันสักเท่าไหร่ ประมาณว่า Walk & Clean ถือโอกาสจัดบ้านเป็นการแปลงวิกฤติให้เป็นโอกาส

บุคลากร (People) จะมีวิธีการปรับเปลี่ยนทัศนคติและพฤติกรรมในการทำงาน (Attitude& Competency) ของพนักงานให้เหมาะสมและมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นได้หรือไม่ เพื่อเตรียมความพร้อม การฝ่าด่านเศรษฐกิจปีฉลู (ปี 2552) ร่วมกัน

สภาพแวดล้อมและบรรยากาศในการทำงาน (Environment)  จะมีวิธีการในการบริหารการเปลี่ยนแปลง (Change Management) หรือปรับเปลี่ยน “วัฒนธรรมองค์กร” (Corporate Culture) เพื่อส่งเสริมบรรยากาศในการทำงาน (Organization Climate) ที่ดีร่วมกัน อันจะนำไปสู่ “ความเจริญเติบโตแบบยั่งยืน” (Sustainable Growth) ได้อย่างไร

เหล่านี้ล้วนเป็นโจทย์ชวนคิดในการฝ่าด่าน HR ปีฉลูร่วมกัน

ตัวอย่างที่น่าสนใจของการวางกลยุทธ์แผนงานและโปรแกรมงานด้าน HR (HR Action Plan& Program) ในปีหน้า เช่น การเทงบประมาณด้านบุคลากรที่ได้มา เพื่อไปตอบโจทย์การช่วยกันลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น (Cost Saving) ในขณะเดียวกันก็ต้องช่วยกันหาวิธีเสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ และนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation & Creative) เพื่อคิดค้นสินค้าและบริการ รวมถึงวิธีการทำงานใหม่ๆ ให้กับองค์กร

ขอฟันธงว่า งาน HR ปีฉลูตามหลักการสร้างคนในเรื่องของ การรับคน (Attract) รักษาไว้ (Retain) จูงใจ (Motivate) และพัฒนา (Develop) จะต้องหันมาใส่ใจในเรื่องของ “หยิน & หยาง” ให้มากขึ้น

ในที่นี้ก็คือ “Cost Saving vs. Revenue” นั่นเอง

เรื่อง : ธีระ วีรธรรมสาธิต

กรรมการผู้จัดการ บริษัท APM Consulting จำกัด (Human resource Consulting)

ที่มา : bangkokbiznews.com

อัพเดทล่าสุด