เรื่องเล่าจากโค้ช Deadbeat Employee


722 ผู้ชม


เรื่องเล่าจากโค้ช Deadbeat Employee




เรื่องเล่าจากโค้ช "Deadbeat Employee"
เรื่องเล่าจากโค้ช Deadbeat Employee
สุริยา

คุณหนึ่ง เป็นพนักงานที่กําลังจะได้รับการโปรโมทเป็นหัวหน้างานในปีหน้า เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมองค์กรได้ส่งเธอเข้าร่วมโครงการพัฒนาด้วยการโค้ชแบบตัวต่อตัวกับผม

ระหว่างการโค้ชเรื่องการสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงาน คุณหนึ่งถามผมเกี่ยวกับพนักงานในทีมงานคนหนึ่ง ที่เธอต้องดูแลในอนาคต

เพราะเท่าที่สังเกตการทํางานของพนักงานคนนี้ ข่าวลือและเสียงเตือนที่ได้ยินมาดูเหมือนจะมีปัญหา

“ลองอธิบายให้ผมฟังหน่อยครับ ที่ว่ามีปัญหา มีปัญหาอย่างไร”

“คือ ดิฉันไม่รู้จะอธิบายอย่างไรดี เขาไม่ค่อยจะชอบมาทํางานเท่าไร โทรมาลาป่วยบ่อยมาก ทํางานแบบขอไปที โต๊ะทํางานก็ไม่ค่อยอยู่ เดินไปคุยกับคนโน้นทีคนนี้ที ที่สําคัญเขาชอบสร้างกระแสข่าวลือต่างๆ รวมถึงนินทาว่าร้ายองค์กรหรือผู้บริหาร ทําเอาพนักงานคนอื่นหมดกําลังใจในการทํางานไปด้วย บางครั้งถึงกับทําให้พนักงานใหม่ๆ ถอดใจลาออกไปก็มี”

“แล้วหัวหน้าคนปัจจุบันของเขาทําอย่างไรครับ”

“เขาเองก็ไม่รู้จะทําอย่างไร ตักเตือนก็แล้ว เรียกมาคุยก็แล้ว ดูเหมือนจะไม่ได้ผล ครั้นจะให้ลาออกก็ทําไม่ได้ เพราะเขาไม่ได้ทำผิดร้ายแรง เรื่องผลการทํางานปรากฏว่าเขาสามารถทํางานได้ตามเป้าหมาย อาจจะไม่สูงกว่าเป้ามากนัก แต่ก็ไม่ต่ำกว่าเป้าเช่นกัน พูดตรงๆ นะคะดิฉันกลัวที่จะรับมือกับพนักงานคนนี้มากเลย”

ผมยิ้มเพื่อให้กําลังใจเธอ ในภาษาอังกฤษ เขาเรียกพนักงานลักษณะนี้ว่า Deadbeat Employee ถือเป็นฝันร้ายของหัวหน้างานเลยทีเดียว เพราะจะมีผลกระทบต่อพนักงานคนอื่นค่อนข้างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของกําลังใจ ประสิทธิภาพในการทํางานก็ลดลง แม้ว่าจะมีพนักงานกลุ่มหนึ่งที่อาจเข้าใจในลักษณะนิสัยของเขา แต่ถ้าเจอคำพูดที่บั่นทอนกําลังใจทุกวันสักวันหนึ่งก็อาจจะเขวได้เช่นกัน

การที่จะหวังให้คนลักษณะนี้ลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงตนเองคงค่อนข้างยาก ดังนั้นจึงขึ้นอยู่กับหัวหน้างานที่ต้องจัดการให้เด็ดขาด เพราะไม่เช่นนั้น พนักงานคนอื่นจะมองว่าสิ่งที่เขาทําองค์กรและหัวหน้ายอมรับได้โดยไม่มีความผิด ดีไม่ดีคนอื่นก็จะเอาไปทําเป็นตัวอย่างด้วย ดังนั้นทางที่ดีหัวหน้างาน

ควรเข้าไปแก้ไขตั้งแต่เนิ่นๆ

“ดิฉันจะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลง Deadbeat Employee คนนี้ได้อย่างไรคะ”

ขั้นแรกเลยคือ ต้องหาสาเหตุที่ทําให้เขาเป็นเช่นนี้ให้ได้ คนส่วนใหญ่เวลาเริ่มงานใหม่ๆ ไฟในการทํางานจะค่อนข้างแรง มีความกระตือรือร้นและความตื่นเต้นกับงาน จึงต้องค้นหาว่าอะไรทําให้ไฟในการทํางานของเขามอดลง

เหตุผลที่ทำให้ไฟมอดมีได้หลากหลายรูปแบบไม่ว่าจะเป็นนโยบายขององค์กร ลักษณะงาน เพื่อนร่วมงาน ตัวหัวหน้างาน หรือแม้แต่ตัวเขาเองที่มีปัญหาบางอย่าง จงหาต้นตอของปัญหาให้พบ

ซึ่งความเป็นจริงมีคนไม่มากนักที่ตื่นเช้าขึ้นมาแล้วตัดสินใจว่า วันนี้จะต้องเป็นวันที่แย่สําหรับฉันแน่ๆ หรืออยากให้การทํางานวันนี้ไม่ประสบความสําเร็จ หรือบังเอิญว่า "ถ้ามี" คนที่คิดมักสรุปมันไม่ใช่ความผิดของเขา แต่เป็นความผิดของคนที่เป็นหัวหน้าต่างหาก

เมื่อคุณรู้ว่าเขากลายเป็น Deadbeat Employee ได้อย่างไรก็ต้องเข้าไปช่วยแก้ไขหรืออย่างน้อยที่สุดช่วยทุเลาปัญหาให้คลี่คลายให้ได้มากที่สุด โดยอาจต้องเริ่มจากแสดงความเข้าใจและเห็นใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นก่อน (แม้ไม่ใช่ความผิดหรือเกี่ยวข้องกับคุณซึ่งเป็นหัวหน้าเลยก็ตาม) อย่างน้อยการที่เข้าไปรับรู้ถึงปัญหาของเขา จะทําให้เกิดความรู้สึกดีๆ ว่าหัวหน้าเข้าใจเขามากขึ้น

ในขณะเดียวกันก็ต้องชี้ให้เห็นว่าการกระทําของเขาส่งผลกระทบอะไรบ้าง ไม่ว่าต่อองค์กร ต่อเพื่อนร่วมงาน ต่องานที่ทํา ตลอดจนผลกระทบต่อตัวของเขาเองด้วย เช่นการที่เขามีผลงานได้แค่ตามเป้านั้นทําให้เขาไม่โดดเด่นพอที่จะได้ปรับเลื่อนตําแหน่งขึ้นมาเป็นหัวหน้างาน หรือได้โบนัสไม่มากเท่าที่ควรจะได้ เป็นต้น

นอกจากนี้ จําเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยหาแนวทางในการพัฒนาตัวเขาเองเพื่อให้ประสบความสําเร็จในหน้าที่การงานด้วย และอย่าลืมที่จะให้กําลังใจกับเขาว่าคุณในฐานะหัวหน้ามั่นใจในความสามารถและเขาจะประสบความสําเร็จได้หากพยายามมากขึ้น

แต่อย่าลืมว่าบางครั้งพนักงานก็ต้องการเพียงคําพูดในแง่บวกเกี่ยวกับตนเองจากหัวหน้างานบ้างเป็นครั้งคราว บางทีผมคิดว่าเขาอาจจะไม่เคยได้ยินเลยมานานแล้วก็เป็นได้

สำคัญที่สุดต้องช่วยเขาตั้งเป้าหมายในระยะสั้นและกําหนดผลลัพธ์ที่ชัดเจน เป้าหมายที่ว่านี้ไม่เฉพาะเรื่องหน้าที่การงานเท่านั้น แต่รวมถึงเป้าหมายด้านพฤติกรรมและทัศนคติด้วย และอย่าลืมติดตามผลนะครับ

“ฟังดูแล้วพอจะมีหวัง ไว้ปีหน้าพอดิฉันได้ขึ้นเป็นหัวหน้าแล้วจะลองนําวิธีเหล่านี้ไปใช้ดู”

“ครับ! ขอให้โชคดี หากทําเต็มที่แล้วยังไม่ได้ผลค่อยมาคุยกันต่อ”

ที่มา : bangkokbiznews.com

อัพเดทล่าสุด