สร้างสุขพนักงาน...ด้วยความผูกพันและบรรยากาศ


731 ผู้ชม


สร้างสุขพนักงาน...ด้วยความผูกพันและบรรยากาศ




สร้างสุขพนักงาน...ด้วยความผูกพันและบรรยากาศ
อุทัย โล้วมั่นคง - บุปผาวดี โอวรารินท์ - ดร.ปรอง กองทรัพย์โต
สร้างสุขพนักงาน...ด้วยความผูกพันและบรรยากาศ
       @ ''วัทสันฯ'' ชี้คนผูกพันองค์กรได้ต้องคิดบวก เตือนเครื่องมือวัดไม่เที่ยงตรงเป็นดาบสองคม
       
       @ ''Gallup'' สื่อสารความคาดหวังพนักงานชัดเจนตั้งแต่แรกลดแรงต่อต้าน
       
       @ ''สแปนชั่น ไทยแลนด์'' ถ่ายทอดประสบการณ์ มุ่งสู่ ''องค์กรอัจฉริยะ''
       
       @ สร้างคนและบรรยากาศผูกพนักงานด้วย 4 มิติ ร่างกาย จิตใจ สติปัญญา สังคมและอารมณ์

       
        ว่าด้วยเรื่องของการสร้างความผูกพันต่อองค์กรหรือ Engagement นับเป็นงานที่ท้าทายของ HR ที่จะเลือกวิธีการ กลยุทธ์ แปลงมาสู่กิจกรรมผูกใจพนักงาน 2 องค์กรที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง วัทสัน ไ วแอท และ Gallup แนะวิธีการที่ทำได้ง่าย และกรณีจาก "สแปนชั่นไทยแลนด์" องค์กรตัวอย่างสร้างสุขพนักงานจากรางวัลที่การันตีคุณภาพจำนวนมาก
       
        บุปผาวดี โอวรารินท์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท วัทสัน ไวแอท (ประเทศไทย) จำกัด องค์กรที่ปรึกษาด้านพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ กล่าวว่า การสร้างความผูกพันพนักงานต่อองค์กรหรือ Engagement ได้นั้นหน่วยงานต้องเปลี่ยนแนวความคิดให้คนในทุกระดับมีทัศนคติเชิงบวกเพราะจะมีส่วนช่วยให้คนทำงานมีความรู้สึกที่ดีเมื่อได้รับผลกระทบทั้งจากภายในและภายนอกองค์กร แต่การจะเปลี่ยนได้ไม่ใช่เรื่อง่ายต้องมีความอดทนและใช้ความพยายามในการทำงานอย่างต่อเนื่อง
       
        "สิ่งที่เป็นตัวชี้วัดว่าคนเริ่มผูกพันกับองค์กรจะเห็นได้จากการที่เขาเริ่มบอกเล่าเรื่องดีๆ ภายในให้คน ภายนอกได้รับทราบ"
       
       โดยกระบวนการสร้างความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กรต้องเริ่มจากการจัดการระบบบริหารคน ภายใน ซึ่งต้องมีการกำหนดเครื่องมือวัดความผูกพันของพนักงานให้ชัดเจนและมีประสิทธิภาพจริง ๆ เพราะหลายครั้งที่เครื่องมือเหล่านั้นมีความผิดพลาด ส่งผลต่อสภาพจิตใจของพนักงานที่มีความทุ่มเทอยู่เดิมให้ลดประสิทธิภาพการทำงานลง
       
        ตลอดจนองค์กรต้องมีการตรวจสอบและนำผลที่ได้จากการประเมินมาหาจุดเด่นและจุดด้อยของตนเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกันต้องสรุปประเด็นความสำเร็จที่ได้จากการแก้ปัญหาด้วยการเก็บข้อมูลในรูปแบบต่างๆ โดยต้องจัดเก็บเป็นหมวดหมู่ เช่น ระดับกลุ่มภายในองค์กร หรือ ข้อมูลระดับองค์กรในแต่ละแผนก
       
        "การสื่อสารอย่างต่อเนื่องและชัดเจนเป็นอีกประเด็นที่สำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริหารต้องเข้าใจว่า ในการพูดแต่ละครั้งจะสื่อสารไปยังพนักงานกลุ่มไหนเพื่อให้เขาได้รับทราบสิ่งที่หน่วยงานจะปฏิบัติต่อเขาอย่างชัดเจน"
       
        สอดคล้องกับ "อุทัย โล้วมั่นคง" Engagement Manager บริษัท Gallup (ประเทศไทย) จำกัด บริษัทที่ปรึกษาและวิจัยชั้นนำ ให้ความเห็นว่า การสร้างความผูกพันให้กับพนักงานต้องเริ่มต้นที่การคัดเลือกคนที่มีความสามารถเหมาะสมกับงานที่ทำ เนื่องจากปัญหาที่ผ่านมาหลายองค์กรไม่มีกระบวนการคัดเลือกอย่างเหมาะสมทำให้พนักงานพอทำไปได้สักพักก็เริ่มเบื่อเพราะเป็นงานที่ตนไม่ถนัดซึ่งจะเป็นตัวบั่นทอนประสิทธิภาพของคนทำงาน
       
        ขณะเดียวกันองค์กรต้องมีการสื่อสารที่ชัดเจนว่าหน่วยงานต้องการประสิทธิภาพการทำงานอย่างไรในตัวของพนักงาน ซึ่งจะเป็นการสื่อสารความคาดหวังให้บุคลากรได้รับรู้ ตลอดจนต้องมีโค้ชที่อาจเป็นผู้บริหารในระดับสูงของหน่วยงานเป็นที่ปรึกษาให้กับพนักงานเพื่อถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนความรู้การทำงานระหว่างกัน
       
        ซึ่งการออกแบบสำรวจความผูกพันต่อองค์กรเป็นสิ่งจำเป็นที่หน่วยงานต้องมีการประเมินอยู่เป็นประจำ โดยแบบสำรวจที่ดีต้องไม่มีคำถามที่ละเอียดเกินไปเพราะอาจทำให้ผู้ถูกประเมินเกิดความเบื่อหน่ายในแบบสอบถาม แต่ต้องสามารถแบ่งกลุ่มคนที่มีความรักต่อองค์กรและไม่มีความผูกพันออกจากกันได้ ขณะเดียวกันแบบสอบถามต้องสามารถบอกย้อนหลังได้ถึงเหตุปัจจัยที่ทำให้คนไม่มีความเชื่อมั่นในองค์กร
       
        "ในภาวะวิกฤตเช่นนี้การสร้างความรักของพนักงานที่มีต่อองค์กรได้ผู้บริหารควรเลือกทำสิ่งที่องค์กรไม่ต้องลงทุนมากและสามารถทำเองได้โดยไม่ต้องจ้างคนอื่นเพราะจะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับองค์กร "
       
        และปฏิเสธไม่ได้ว่า "บรรยากาศที่ดีในการทำงาน" เป็นหนึ่งในหลายปัจจัยที่มีผลต่อความผูกพันกับองค์กร "สแปนชั่น ไทยแลนด์" บริษัทผู้ผลิตแผงวงจรรวม ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การันตีจากหลายรางวัล เช่น รางวัลโรงงานสีขาวแบบยั่งยืน รางวัลสถานประกอบการดีเด่นด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน จากกระทรวงแรงงาน และรางวัลการบริหารสู่ความเป็นเลิศ จากคณะกรรมาธิการรางวัลคุณภาพแห่งชาติ
       
        "ดร.ปรอง กองทรัพย์โต" ผู้อำนวยการฝ่ายคุณภาพ บริษัท สแปนชั่น ไทยแลนด์ จำกัด บอกว่า ได้เริ่มจากจุดที่องค์กรอยากจะเป็นคือ "องค์กรอัจฉริยะ" คือ องค์กรที่ทำให้พนักงานในองค์กรมีความรู้ทั้งส่วนลึกและกว้างให้ได้มากที่สุดและไม่หยุดศึกษา สร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมและสถานที่แห่งความสุขและให้พนักงานได้ใช้สมอง สองมือ หัวใจ จิตวิญญาณได้เต็มที่
       
        ซึ่งแก่นของการจัดการเพื่อเข้าสู่องค์กรอัจฉริยะดังกล่าวนี้ ต้องเกื้อหนุนและบริหารบรรยากาศสถานที่ พฤติกรรมคน ตอบรับต่อการเปลี่ยนแปลงมุ่งสู่สิ่งที่อยากจะเป็นอย่างมีความสุข
       
        ดร.ปรอง บอกถึงการพัฒนาบุคลกรขององค์กรควบคู่ไปกับบรรยากาศสถานที่ทำงานด้วยกันใน 4 มิติ คือ ร่างกาย จิตใจ สติปัญญา สังคมและอารมณ์ โดยได้แปลงออกมาเป็นกิจกรรมผ่านในส่วนงานของ HR
       
        1.ร่างกาย ประกอบด้วย การกินโดยบริษัทจะสนับสนุนวัตถุดิบ เช่น น้ำปลา น้ำมัน คุณภาพให้กับร้านอาหารที่มาเปิดขายอาหารให้กับพนักงาน ส่วนการออกกำลังกายจะมีฟิตเนสให้ หรือการพักผ่อนและสันทนาการ จะมีห้องคาราโอเกะให้จ่ายค่าห้องเพียง 1 บาทเท่านั้น
       
        2.จิตใจ ให้รู้จักความซื่อสัตย์ รู้จักให้และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น โดยฝ่าย HR ได้ออกแบบกิจกรรมจิตอาสาในการปลูกป่า
       
        3.สติปัญญา มีการใฝ่รู้ตลอดเวลา บรรยากาศเอื้อต่อการเรียนรู้และการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการสร้างบรรยากาศการทำงาน
       
        4.สังคมและอารมณ์ มีทักษะทางสังคม ทำงานเป็นทีม รู้จักสนุกและร่าเริงทั้งนี้ผ่านการกระตุ้นจากกิจกรรมที่สร้างขึ้น หรือการบริหารบรรยากาศก่อนเข้าประชุมทักทายกันก่อน
       
        "ทั้ง 4 มิตินี้สำคัญมาก เพราะหล่อหลอมคนคนหนึ่ง ให้เป็นคนคิดดี จิตใจดี ไม่ทำร้ายคนอื่น"
       
        และสิ่งที่สแปนชั่นใช้เป็นกลยุทธ์ หรือวัดอุณหภูมิของบรรยากาศในที่ทำงานประกอบด้วย 1.ผู้บริหารไม่ใช่พระเอกหรือนางเอก แต่เป็นผู้ช่วยพระเอกและนางเอกที่เก่งในทุกๆ ด้าน 2.เปลี่ยนความคาดหวังเป้นความหวังดี 3.เข้าใจว่าสุขและทุกข์ไม่ได้อยู่ในแกนร่วมเดียวกัน เพราะการลดทุกข์ไม่ใช่เพิ่มสุข
       
        4.ใช้วัฒนธรรมและบรรยากาศแบบนักศึกษามหาวิทยาลัย เช่นที่สแปนชั่นมีชมรมพระเครื่อง 5.เน้นเรื่องมิติของคน บริหารบรรยากาศเชิงบวก เอาความเป็นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง 6.ลดช่องว่างของตำแหน่งและคุณวุฒิมาเน้นที่ความรู้ความแตกต่างในตัวคน
       7.มีความเชื่อว่าคนทุกคนมีความเก่งที่แตกต่างกัน ต้องช่วยกันค้นหาและเปิดโอกาสให้ได้พัฒนา และใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ 8. เป็นดั่งแบทแมน คือมีประสบการณ์ ความสามารถและเครื่องมือ 9.เน้นการสร้างค่านิยม ควบคู่กับความรู้ทางเทคนิคและวิชาการ
       
        เรียบเรียงจากงานสัมมนา The Secret Of HR Success จัดโดย สมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย PMAT
อ้างอิง : โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์
 

อัพเดทล่าสุด