แม่ไม้บริหาร HR ของสุดยอด SME (ตอนจบ)


721 ผู้ชม


แม่ไม้บริหาร HR ของสุดยอด SME (ตอนจบ)




รายงานโดย :เรื่อง : รศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย:

วันจันทร์ที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2551

ใครว่าบริษัทขนาดเล็กหรือขนาดกลางจะเป็นเจ้าของแม่ไม้บริหารชั้นเลิศ (Best Practices) อย่างบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น GE IBM หรือ Toyota ไม่ได้? เมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมานี้

 สถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาด้านการบริหารองค์กรระดับโลกาภิวัตน์ ชื่อ “The Great Place to Work Institute Inc.” ได้ประกาศผลการสำรวจและจัดอันดับ “สุดยอด 50 บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในสหรัฐอเมริกา” (Best Small & Medium Companies to Work for in America) ประจำปี 2007 ซึ่งเป็นปีที่ 5 ที่มีการจัดการสำรวจนี้ โดยนิตยสาร HR Magazine ได้นำผลการสำรวจและข้อมูลจากการสัมภาษณ์บริษัทที่ติดอันดับมาตีพิมพ์เผยแพร่ และผู้เขียนได้นำเสนอแม่ไม้บริหารบางประการ HR ของบริษัท “จิ๋ว...แต่แจ๋ว” เหล่านี้ลงในคอลัมน์นี้ไปแล้ว แต่เนื่องจากยังมีแม่ไม้อีกหลายประการที่น่าสนใจ จึงขอนำมาพูดคุยกันต่อในสัปดาห์นี้ให้แฟนๆคอลัมน์ได้อ่านกันอย่างจุใจ โดยขอนำเสนอแม่ไม้ที่ 4 ต่อจากคราวที่แล้วเลยนะคะ

แม่ไม้ที่ 4 : เคารพและให้คุณค่ากับชีวิตส่วนตัวของพนักงาน (Respects and values an employee’s personal life as well as their work)

ผู้บริหารคนหนึ่งของบริษัท McDonough Bolyard Peck Inc. กล่าวว่า “เมื่อชีวิตส่วนตัวของคุณดี แน่ชัดเลยว่าบริษัทจะได้รับประโยชน์จากเรื่องนี้” บริษัทจึงมีนโยบาย “ให้สัมผัสที่สร้างความรู้สึกเป็นส่วนตัว” (Personal Touch) แก่พนักงาน Bolyard ผู้ก่อตั้งบริษัท กล่าวว่า การสร้างความรู้สึกว่าบริษัทดูแลพนักงานอย่างเป็นส่วนตัว โดยไม่ใช้นโยบายดูแลพนักงานทุกๆ คนเหมือนกันแบบสไตล์โหลเป็นสิ่งที่ต้องสร้างสมใช้เวลานาน ไม่ใช่ทำแค่วันเดียวแต่ต้องทำทุกๆ วัน

โดยตัวเขาเองจะเดินไปทั่วสำนักงานทุกๆ เช้า เพื่อทักทายพนักงานแต่ละคน นอกจากการเซย์ Hello กับพนักงานทุกๆ เช้าแล้ว บริษัทยังมีนโยบายที่เป็นรูปธรรมอื่นๆ ที่แสดงความห่วงใยครอบครัวของพนักงานอย่างจริงใจก็คือ เรื่องของสวัสดิการที่ทางบริษัทจ่ายค่าประกันสุขภาพที่รวมถึงการทำฟันให้พนักงานเต็ม 100% (ใจกว้างจริงๆ...) ยัง...ยังไม่หมดค่ะ บริษัทจ่ายค่าสมาชิกยิมและฟิตเนสให้พนักงาน มีสวัสดิการค่ารักษาพยาบาลให้บุคคลที่ต้องพึ่งพิงพนักงาน เช่น บิดา มารดา บุตร เป็นต้น ค่าใช้จ่ายทั้งหลายทั้งปวงที่บริษัทจ่ายเพื่อดูแลพนักงานและครอบครัวก็เพราะบริษัท “ไม่ต้องการให้พนักงานต้องวิตกกังวลเรื่องครอบครัว เช่น ห่วงเรื่องลูกหรือสามี หรือภรรยาที่มีปัญหาสุขภาพและต้องการการดูแลเป็นพิเศษ เป็นต้น” ฟังแล้วอยากทำงานด้วยไหมคะ?

แม่ไม้ที่ 5 : ให้สิทธิประโยชน์มากมายไม่มีใครเหมือน (Uncommon Benefits)

ไม้เด็ดอีกประการหนึ่งที่พบว่าบรรดาบริษัทขนาดจิ๋วและขนาดกลางใช้ในการผูกใจพนักงานก็คือ การให้สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่างๆ อย่างจุใจ บริษัท Ultimate Software แชมป์อันดับ 1 ของบริษัทขนาดกลางที่น่าทำงานด้วยมากที่สุดในสหรัฐ มีพนักงาน 810 คน มีการให้สิทธิประโยชน์แก่พนักงานมากมาย เช่น จ่ายค่าประกันรักษาพยาบาลชั้น 1 ให้แก่พนักงานและสมาชิกในครอบครัว ให้หุ้นแก่พนักงาน ให้ทุนการศึกษาแก่พนักงานและครอบครัวเป็นมูลค่าสูงถึง 5,280 เหรียญสหรัฐต่อปี นอกจากนี้ยังจ่ายเงินทดแทนให้พนักงานบางคนที่ลางานเพื่อเดินทางไปรับเด็กมาอุปการะ (โอ้! ฝันไปรึเปล่านี่...พระเจ้าจอร์จ) และยังส่งการ์ดแสดงความยินดีที่ได้บุตรบุญธรรมอีกด้วย

Kathy Collins พนักงานคนหนึ่งของ Ultimate Software เล่าให้ฟังว่าเธอเคยขอเบิกเงินล่วงหน้าจากบริษัทหลังจากที่บ้านของเธอถูกทำลายเพราะพายุเฮอริเคนแคทรินา และเมื่อเธอนำเงินมาคืน ทางบริษัทบอกว่า “ไม่ต้องหรอก ยกให้” เชื่อแล้วว่า Ultimate Software ดูแลพนักงานยอดเยี่ยมไม่แพ้บริษัทขนาดใหญ่อย่าง Microsoft ดังที่พนักงานคุยอวดนักข่าว

แม่ไม้ที่ 6 : พัฒนาพนักงานอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

บริษัทขนาดเล็กและขนาดกลางมักไม่ค่อยมีงบในการพัฒนาพนักงาน โดยมองว่าเป็นเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณมากและ “ไม่ใช่เรื่องที่บริษัท SME จะทำไหว ต้องเป็นบริษัทใหญ่ๆ จึงจะทำได้” ถ้าคิดแบบนี้ ขอบอกเลยว่าคุณอาจจะคิดผิดเสียแล้ว เพราะผลของการสำรวจพบว่าบริษัทเล็กและกลางที่ติดโผ “สุดยอดบริษัทน่าทำงานด้วยที่สุดนี้” แม้เป็นองค์กรขนาดเล็กหรือขนาดกลาง แต่ก็มีผลประกอบการสูง หลายบริษัทดำเนินกิจการมากว่า 10 ปี และพอใจที่จะดำรงขนาดของธุรกิจไว้อย่างนั้นโดยไม่ได้ขยายขนาด ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าการที่ไม่ขยายขนาด คือการไม่ขยายกิจการธุรกิจ กิจการของธุรกิจนั้นเติบโตก้าวหน้า แต่ยังสามารถคงจำนวนพนักงานไว้เท่าเดิม เพราะถ้าพนักงานมีประสิทธิภาพสูงผนวกกับการนำเทคโนโลยีมาใช้จะทำให้ผลผลิตเพิ่มมากขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องจ้างพนักงานเพิ่มขึ้นก็ได้

เพราะตระหนักถึงความจริงในข้อนี้ ผู้บริหาร SME ที่ชาญฉลาดจึงจัดสร้างโครงการพัฒนาฝึกอบรมพนักงานโดยวิธีหลายรูปแบบ เช่น ส่งเข้าคอร์สฝึกอบรมเข้าฟังสัมมนา เข้าเวิร์กช็อปที่จัดโดยหน่วยงานภายนอก ฝึกอบรมผู้บริหารให้ทำหน้าที่พี่เลี้ยงดูแลพนักงานใหม่ เชิญวิทยากรภายนอกมาอบรมพนักงานในบริษัท จัดระบบบัดดี้ (Buddy) หรือเพื่อนคู่หูเพื่อช่วยเป็นพี่เลี้ยงผลัดกันดูแลคู่ของตนในเรื่องงานและเรื่องส่วนตัว มีการนัดรับประทานอาหารเพื่อสร้างโอกาสให้ผู้บริหารและพนักงานได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็น จัดโครงการให้ผู้บริหารระดับสูงได้รับการโค้ชจากที่ปรึกษาภายนอก (Leadership Coaching)

สนับสนุนทั้งเวลาและทุนให้พนักงานได้ศึกษาต่อ จัดงบประมาณเลี้ยงอาหารกลางวันเดือนละ 2 ครั้ง เพื่อให้พนักงานได้รับประทานอาหาร และฟังวิทยากรทั้งภายในและภายนอกบริษัทนำเสนอข้อมูลความรู้ในหัวข้อต่างๆ ซึ่งโปรแกรมการรับประทานอาหารกลางวันไปด้วยและเรียนรู้ไปด้วยนี้ บริษัท McDonough Bolyard Peck Inc. เรียกว่า “Lunch–and–learn session” ซึ่งใครจะนำไปลอกเลียนแบบก็ไม่หวงห้าม ประมาณว่า ลอกไม่กลัว... กลัวไม่กล้าลอกมากกว่าน่ะซี!

สำหรับรายชื่อของบริษัท SME ที่มีโครงการฝึกอบรมพัฒนาพนักงานในหลายรูปแบบเช่นนี้มีอยู่หลายรายด้วยกัน ขอยกตัวอย่างให้รู้จักพอเป็นทำเนาได้แก่ Moody, Famiglietti & Andronico Heinfeld, Meech & Co. McMurry Kahler Slater Clark Nuber เป็นต้น

แม่ไม้ที่ 7 : สร้างที่ทำงานให้สนุก (Fun working place)

บริษัท McWhinney Real Estate Services เห็นความสำคัญของการสร้างบรรยากาศของการทำงานให้พนักงานรู้สึกสนุกที่จะทำงาน ตั้งแต่การสร้างความเป็นกันเองและการมีสัมพันธภาพที่ดีระหว่างผู้บริหารกับพนักงาน การดูแลพนักงานและครอบครัวของพนักงานเหมือนคนในครอบครัวเดียวกัน การให้สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่ดี อนุญาตให้พนักงานแต่งตัวง่ายๆ สบายๆ มาทำงาน ส่งเสริมให้พนักงานได้ทำงานในสิ่งที่ตนชอบและพัฒนาพวกเขาให้เติบโตและเป็นในสิ่งที่ดีที่สุดที่เขาจะเป็นได้ ใช้นโยบายสื่อสารแบบเปิด (Open Communication) ใช้โครงสร้างองค์กรแบนราบ (Flat Organization) เพื่อลดชั้นการบังคับบัญชา

แม่ไม้บริหาร HR ทั้ง 7 ประการนี้ เป็นไม้เด็ดไม้ตายที่เถ้าแก่น้อยในประเทศไทยน่าศึกษา และนำไปปรับใช้เพื่อพัฒนาบริษัทของท่านให้จิ๋ว...แต่แจ๋วได้โดยไม่ยาก อย่ากังวลจนเกินไปในเรื่องของงบประมาณ เพราะถ้าศึกษาเรื่องราวของ SME เหล่านี้อย่างลึกซึ้งจะพบว่าแม่ไม้หลายประการของเขา ใช้สมอง ใช้หัวใจ ในการบริหารพนักงานมากกว่าเงิน

ที่มา : .posttoday.com

อัพเดทล่าสุด