บริหารงานด้วยปริมาณบุคลากรจำกัด


763 ผู้ชม


บริหารงานด้วยปริมาณบุคลากรจำกัด




บริหารงานด้วยปริมาณบุคลากรจำกัด

เหตุเพราะกรมทรัพย์สินทางปัญญามีหน้าที่และความรับผิดชอบเกี่ยวกับการปฏิบัติงานให้ความคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาตามกฎหมายว่าด้วยสิทธิบัตร
กฎหมายว่าด้วยเครื่องหมายการค้า กฎหมายว่าด้วยลิขสิทธิ์ กฎหมายว่าด้วยแบบผังภูมิของวงจรรวม กฎหมายว่าด้วยความลับทางการค้า กฎหมายว่าด้วยสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ และกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
รวมทั้งยังจะต้องพัฒนาการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญา ส่งเสริมการคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานทรัพย์สินทางปัญญาใหม่ๆ จากภูมิปัญญาไทย และสร้างมูลค่าเพิ่มของผลิตภัณฑ์จากทรัพย์สินทางปัญญา และอื่นๆ อีกมากมาย
ซึ่งถือเป็นขอบเขตงานที่กว้างขวางอยู่พอสมควร
แต่ปรากฏว่าอัตรากำลังของบุคลากรในกรมทรัพย์สินทางปัญญา กลับมีพนักงานเพียง 357 คนเท่านั้น ซึ่งแบ่งออกเป็นข้าราชการประจำ 219 คน พนักงานราชการ 138 คน นอกจากนั้นยังมีลูกจ้างประจำอีก 38 คน
โดยเรื่องนี้แม้อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา "พวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์" จะทำเรื่องขอบุคลากรเพิ่มไปทางสำนักงาน ก.พ. แต่จนถึงทุกวันนี้ก็ไม่ได้รับคำตอบแต่อย่างใด กลับได้แต่บุคลากรจากสำนักงานประกันภัยมาทดแทน ซึ่งถือว่ายังไม่ตรงตามเป้าหมายเท่าใดนัก
ยิ่งเฉพาะในส่วนของผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรที่มีเพียง 16 คนเท่านั้นเอง ทั้งๆ ที่ลักษณะของการให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรครอบคลุมถึง 3 ประเภทด้วยกันคือ
หนึ่ง สิทธิบัตรการประดิษฐ์
สอง สิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์
สาม อนุสิทธิบัตร
ซึ่งผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรเหล่านี้จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีความรู้ด้านการผลิตและออกแบบ ที่สำคัญยังจะต้องมีความรู้ในเรื่องของไบโอเทคโนโลยีด้วย
แต่บุคลากรของผู้ตรวจสอบสิทธิบัตรของ กรมทรัพย์สินทางปัญญากลับมีเพียง 16 คนเท่านั้น ซึ่งเรื่องนี้เมื่อสอบถาม "พวงรัตน์" ถึงปริมาณงานของผู้มายื่นคำขอสิทธิบัตร ปรากฏว่ามีสูงถึง 6,261 รายในปี 2551
ปริมาณคำขอต่อคน 391 ราย ในระยะเวลาการจดทะเบียนนาน 18-30 เดือน โดยมีระยะเวลางานค้างสูงถึง 15 เดือน ขณะที่ฟิลิปปินส์มีปริมาณคำขอสิทธิบัตร 3,275 ราย จำนวนผู้ตรวจสอบ 50 คน ปริมาณคำขอต่อคน 63 ราย ระยะเวลาการจดทะเบียน 60 เดือน มีระยะเวลางานค้าง 72 เดือน
เช่นเดียวกัน เมื่อมาดูประเทศมาเลเซีย มีปริมาณคำขอสิทธิบัตร 4,800 ราย จำนวนผู้ตรวจสอบ 72 คน มีปริมาณคำขอต่อคน 77 ราย ระยะเวลาในการจดทะเบียน 48 เดือน และมีระยะเวลางานค้าง 60 เดือน
ขณะที่ประเทศเวียดนาม มีปริมาณคำขอสิทธิบัตร 1,624 ราย จำนวนผู้ตรวจสอบสิทธิบัตร 40 คน ปริมาณคำขอต่อคน 41 คน และมีระยะเวลางานค้าง 36 เดือน
ซึ่งจะเห็นว่าจำนวนผู้ตรวจสอบในประเทศไทยมีจำนวนน้อย แต่ปริมาณคำขอสิทธิบัตรมีมากกว่าประเทศเพื่อนบ้าน แต่กระนั้นก็สามารถผลักดันสิทธิบัตรไม่ให้ค้างคาในปริมาณที่น้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
มองในแง่ดี อาจเป็นผลดีต่อผู้ขอ สิทธิบัตรการประดิษฐ์ แต่ถ้ามองในแง่ลบ สิทธิบัตรที่ถูกอนุมัติอย่างรวดเร็วนั้นอาจมีความผิดพลาดเกิดขึ้นได้
ผลตรงนี้เมื่อมามองประเทศยักษ์ใหญ่อย่างสหรัฐอเมริกา จะเห็นว่ามีปริมาณคำขอสิทธิบัตร 415,551 ราย แต่มีจำนวนผู้ตรวจสอบ 4,779 คน ปริมาณคำขอต่อคน 87 ราย ระยะเวลาในการจดทะเบียน 36 เดือน แต่มีระยะเวลางานค้างเพียง 31 เดือนเท่านั้นเอง
เหตุนี้เอง จึงทำให้ "พวงรัตน์" จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องแก้เกม ทั้งในเรื่องการอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องไบโอเทคโนโลยี รวมทั้งการเข้าไปทำสนธิสัญญาความร่วมมือด้านสิทธิบัตร (Patent Cooperation Treaty-PCT) ซึ่งปัจจุบัน PCT มีประเทศสมาชิกทั้งสิ้น 138 ประเทศ
"และการเข้าไปร่วมมือระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญาไทย กับสำนักงานสิทธิบัตรยุโรป ด้วยการนำเครื่องมือ EPOQUE Net หรือเครื่องมือที่ถูกออกแบบมาเพื่ออำนวยความสะดวกในการสืบค้นของเจ้าหน้าที่ตรวจสอบสิทธิบัตร ซึ่งผลการสืบค้นจะถูกดึงมาจากฐานข้อมูลของสิทธิบัตรทั่วโลก เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครจดซ้ำซ้อนที่ไหน เครื่องมือนี้จะแสดงผลขึ้นทันที"
"นอกจากนั้นเรายังเป็นสมาชิกความร่วมมือ Madrid Protocol หรือพิธีสารเกี่ยวกับความตกลงกรุงมาดริด ที่เกี่ยวกับการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าระหว่างประเทศอีกด้วย"
ทั้งนั้นเพื่อไม่เพียงจะเป็นการเชื่อมโยงระหว่างกรมทรัพย์สินทางปัญญากับนานา ชาติ หากยังเป็นการเชื่อมโยงองค์ความรู้ด้วย เพราะอย่างที่ทราบกรมทรัพย์สินทางปัญญาประกอบด้วยงานหลายส่วนด้วยกัน
ดังนั้นบุคลากรในฝ่ายบริหาร ข้าราชการประจำ ผู้ตรวจสอบสิทธิบัตร ผู้ตรวจสอบเครื่องหมายการค้า รวมไปถึงฝ่ายกฎหมาย จะต้องเข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน
ยิ่งเฉพาะในฝ่ายกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตรและเครื่องหมายการค้า "พวงรัตน์" ยอมรับว่ามีการเทิร์นโอเวอร์สูงมาก เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเฉพาะ เป็นกฎหมายเฉพาะด้าน ดังนั้นถ้าเราไม่มีแรงจูงใจมากพอที่จะทำให้เขาเป็นข้าราชการประจำของเรา
หรือเติบโตขึ้นเป็นฝ่ายบริหาร
เขาและเธอเหล่านั้นก็จะเลือกทำงานภาคเอกชนมากกว่า เพราะให้ผลตอบแทนสูงกว่า
ผลเช่นนี้เอง จึงทำให้ "พวงรัตน์" จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาองค์ความรู้เกี่ยวกับเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาอย่างครบวงจร ทั้งในเรื่องของ FTA
หรือแม้แต่สิทธิประโยชน์ของนักแสดงที่จะต้องสร้างองค์ความรู้ให้คนข้างนอกเข้าใจ ขณะเดียวกันก็จะต้องพยายามสื่อสารภายในองค์กรเข้าใจด้วย
ซึ่งเรื่องเหล่านี้ล้วนเป็นเรื่องที่ "พวงรัตน์" มองว่าเป็นเรื่องท้าทายอย่างยิ่ง เพราะตามธรรมเนียมในเรื่องของการจดสิทธิบัตร ถ้าจดประเทศไหนก็มักจะคุ้มครองแต่เฉพาะประเทศนั้น แต่เมื่อเธอเข้าร่วมกับ Madrid Protocol แล้ว การจดสิทธิบัตรก็จะคุ้มครองทั่วโลกกล่าวกันว่าที่ "พวงรัตน์"
มีความชำนาญในกลเกม และการติดต่อเจรจากับนานาประเทศ เป็นเพราะส่วนหนึ่ง เธอเคยเป็นเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทย ประจำองค์การการค้าโลกมาก่อนด้วย
ทั้งยังเคยเป็นผู้แทนไทยในการประชุมคณะกรรมการสินค้าเกษตรของ WTO และเคยได้รับเลือกเป็นประธานองค์กรการทบทวนนโยบายการค้าของสมาชิก WTO จึงทำให้เธอมองว่างานที่ผ่านมากับตำแหน่งอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา จริงๆ แล้วมีความต่างกันอย่างสิ้นเชิง
เพราะงานเอกอัครราชทูตผู้แทนไทย ประจำองค์การการค้าโลก เป็นงานเจรจาเสียส่วนใหญ่ แต่งานของกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นงานบริหารที่ยุ่งยากมาก มีรายละเอียดเยอะ แต่กระนั้น "พวงรัตน์" ก็ยอมรับว่า ตรงนี้เป็นงานที่ท้าทายเป?นอย่างมาก
เพราะไม่เพียงจะต้องเรียนรู้ทำความเข้าใจเยอะ หากยังจะต้องติดต่อเจรจาความเยอะมากเช่นกัน เพราะฉะนั้นในบทบาทเพียง 1 ปีกว่าๆ ของการทำหน้าที่อธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เธอจึงมองว่าเป็นก้าวที่ท้าทายเป็นอย่างยิ่ง
ยิ่งเฉพาะในเรื่องของวิสัยทัศน์ที่มองไว้ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะเป็นองค์กรนำในการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันทางการค้าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา
กอปรกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ว่า กรมทรัพย์สินทางปัญญาจะสร้างสังคมไทยให้เป็นสังคมแห่งทรัพย์สินทางปัญญาและการเรียนรู้ เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจไทยให้เติบโตอย่างยั่งยืน
ที่แม้ตอนนี้กรมทรัพย์สินทางปัญญาอาจจะก้าวข้ามผ่านอุปสรรคไปบางขั้น แต่กระนั้นก็ยังมีอีกหลายขั้นที่ทำให้ "พวงรัตน์" จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องท้าทายในการบริหารองค์กรมากกว่านี้
อย่างน้อยก็ในเรื่องของการเสริมทัพกำลังคน ?
หน้า 33
พวงรัตน์ อัศวพิศิษฐ์

ที่มา : matichon.co.th

อัพเดทล่าสุด