"ทีม คือ เพื่อน" เคล็ดลับบริหารองค์กร ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์


861 ผู้ชม


"ทีม คือ เพื่อน" เคล็ดลับบริหารองค์กร ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์




คอลัมน์ HR Young blood
โดย เอื้อมพร สิงหกาญจน์ [email protected]
"ทีม คือ เพื่อน" เคล็ดลับบริหารองค์กร ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์

ทุกคนมีสัญลักษณ์อันมองไม่เห็นแขวนอยู่ที่คอ บอกว่า จงทำให้ฉันรู้สึกเป็นคนสำคัญ อย่าลืมข้อความนี้เมื่อทำงานกับผู้อื่น
ทฤษฎีของ "แมรี เคย์ แอช" อดีตประธานบริหาร ผู้เป็นตำนานเล่าขานของบริษัทซึ่งมีอายุ 76 ปี ใช้ได้กับทุกบริษัททุกประเทศจริงๆ
"ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์" บุตรชายคนโตของอดีตอธิบดีกรมตำรวจ "พล.ต.อ.สวัสดิ์ อมรวิวัฒน์" แม้จะเป็นคนรุ่นใหม่ แต่ก็มองเห็นความสำคัญของเรื่องนี้ และใช้เป็นหลักในการทำงานมาตลอด มุมมอง วิธีคิด ชั้นเชิงในการบริหารงานของเขา โดดเด่น จนผู้บริหารหลายองค์กรละสายตาไม่ได้
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวันที่ "ณัฐวุฒิ อมรวิวัฒน์" นั่งแท่นผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมนิทรรศการ (สสปน.) องค์การมหาชน ซึ่งถือเป็นตัวแทนประเทศไทยที่ต้องไปเสนอตัว เชื้อเชิญชาวต่างชาติให้เข้ามาจัดประชุมสัมมนาในประเทศไทย อีกยังต้องพัฒนายกระดับศักยภาพของบุคลากรทางด้านไมซ์ให้ทันกับตลาดที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ณ ปัจจุบัน ในขณะที่เขามีอายุเพียง 30 ปีเศษเท่านั้น บทบาทของเขาจึงน่าจับตาอย่างยิ่ง
"ณัฐวุฒิ" อาจจะเป“นคนโชคดีที่ได้มีโอกาสทำงานเคียงบ่าเคียงไหล่กับ CEO และผู้มากประสบการณ์หลายคน ก่อนจะโบยบินมาอยู่ สสปน. ได้นั่งทำงานในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ทำให้เขาได้เรียนรู้การสร้างคน สร้างองค์กร ในหลากหลายรูปแบบ
"ช่วงที่ทำงานกับทรูได้อะไรเยอะ ทรูสอนให้รู้จักการทำงานเป็นทีม เพราะคนที่เป็นเอ็มดีหรือซีอีโอนั้นใช่ว่าจะเชี่ยวชาญรู้ลึกไปทุกเรื่อง ดังนั้นต้องแบ่งงานกันทำ"
"ผมจะบอกลูกทีมเสมอว่า คุณคือ ผู้บริหารที่จะต้องเป็นผู้บริหารเชิงกลยุทธ์ ไม่ใช่หัวหน้าทีมปฏิบัติ เวลามีปัญหาอย่ามาเฉพาะปัญหา ต้องมาพร้อมทางออก เช่น เจอปัญหาอย่างนี้จะแก้สถานการณ์อย่างไร"
การทำงานที่ฝึกให้ทุกคนได้คิด มองหาทางออกด้วยตัวเอง คือปัจจัยหนึ่งที่ทำให้บุคลากรขององค์กรแห่งนี้พัฒนาความก้าวหน้าในการทำงานได้อย่างรวดเร็ว
"ณัฐวุฒิ" บอกว่า โดยส่วนตัวแล้วจะให้ความสำคัญกับเรื่องคุณค่าของคนมาก
"เราจะต้องสร้างให้ทีมมีความสุขก่อน จึงจะสามารถสร้างคุณค่าให้กับลูกค้าหรือผู้รับบริการได้"
ในชั่วโมงที่องค์กรนี้ยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายมากนัก ภาระหลักจึงมุ่งไปที่สร้างความมักคุ้นกับองค์กรต่างๆ เพื่อให้ สสปน. เข้าไปเป็นตัวเลือกหนึ่งของผู้ใช้บริการ
แต่การจะก้าวไปถึงจุดนั้นต้องอาศัยพลังความสามารถของบุคลากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ผู้บริหารหนุ่มเลือกที่จะหยิบเอา balanced scorecard เครื่องมือบริหารทรัพยากรมนุษย์ยุคใหม่มาประยุกต์ใช้ในการทำงาน โดยนำเรื่องประสิทธิภาพการทำงานไปผูกติดไว้กับระบบเงินเดือน ระบบการวัดผลรายบุคคล
และเนื่องจากองค์กรนี้ใหม่ทั้งคนทั้งองค์กร การเทรนนิ่งจึงเป็นเรื่องที่ขาดไม่ได้
"เราจะกำหนดไว้เลยว่าทุกคนจะต้องได้รับการเทรนนิ่งอย่างน้อย 2 ครั้งในหนึ่งปีเป็นภาคบังคับ จากนั้นแต่ละแผนกต้องการจะพัฒนาอะไรก็ไปจัดเทรนนิ่งเสริมตามความเหมาะสม เพราะแต่ละแผนกงานไม่เหมือนกัน เช่น เทคนิคการขาย การเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน"
"ณัฐวุฒิ" บอกว่า การทำงานทุกอย่างจะมีความคล่องตัวมากขึ้น องค์กรจะต้องมีระบบซัพพอร์ตงานที่ดีมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะเรื่องข้อมูลต้องอัพเดตตลอดเวลา เช่น ฝ่ายมาร์เก็ตติ้งต้องสามารถเปิดดูข้อมูลได้ตลอดเวลาว่า ขณะนี้มีเงินอยู่เท่าไร ใช้ไปเท่าไร โปรเจ็กต์แต่ละเรื่องมีผลกำไรจากการลงทุนเท่าไร
เมื่อเรื่องข้อมูลมีความสำคัญมาก ที่ผ่านมา สสปน.จึงได้มีการทำ customer startdy structure survey อย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลต่างๆ มาปรับปรุงการทำงาน และเสริมด้วยคำแนะนำดีๆ จากผู้บริหารระดับสูง
"โดยส่วนตัว จะพยายาม coaching ลูกน้องตลอด เพื่อสะท้อนให้พนักงานรู้ว่าสิ่งไหนที่ต้องปรับปรุง ตรงไหนที่ผิดพลาด เช่น พนักงานจดหมาย บางฉบับพนักงานทำผิดพลาด ก็จะให้กลับไปดูใหม่ จะไม่วงว่าผิดตรงไหนเพื่อฝึกความรอบคอบ ครั้งต่อไปจะได้ไม่ผิดพลาดอีก"
ด้วยความที่ สสปน.เป็นศูนย์รวมของ คนรุ่นใหม่ไฟแรง การบริหารงานจึงต้องใช้วิทยายุทธ์ที่แตกต่างจากองค์กรอื่น
"กลุ่มไฮเปอร์ฟอร์แมนซ์ ส่วนใหญ่จะใจร้อน เราจะต้องสนับสนุน ฟังความคิดเห็นของทุกคน เพื่อให้เขารู้สึกว่าเขาฟิตกับองค์กรแห่งนี้"
ชัดเจนว่า "เงิน" เป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้คนทำงานทุกเจเนอเรชั่นให้มีไฟฝันตลอดเวลา แต่สำหรับเด็กรุ่นใหม่ความต้องการในชีวิตมีหลากหลายมากขึ้น องค์กรแห่งนี้จึงกระตุ้นการทำงานของพนักงานด้วยการใช้ความสำเร็จของงานเป็นสิ่งที่สร้างความภาคภูมิใจของคนทำงาน โดยใช้ชื่อโครงการว่า Star of the month ซึ่งจะมอบให้กับผู้ที่ตอกย้ำคุณค่าขององค์กรซึ่งประกอบไปด้วย passion to win, believe in people และ openness & constructive thinking ได้เป็นอย่างดีในรอบเดือน โดยผ่านการโหวตจากเพื่อนๆ พนักงานกันด้วย
"มนุษย์เป็นสิ่งที่มีคุณค่ามากกว่าที่จะใช้คำว่าทรัพยากร เพราะมนุษย์คือตัวต้นน้ำที่จะเปลี่ยนทรัพยากรที่มีอยู่ให้มีคุณค่า สำหรับผมมนุษย์คือทีม คือเพื่อน คือหลักที่จะทำให้งานสำเร็จ"
และนี่คือเคล็ดลับความสำเร็จในการบริหารองค์กรของ "ณัฐวุฒิ" ที่ทำให้เขาสามารถก้าวกระโดดขึ้นมาถึงระดับนี้ได้
"ความเป็นเพื่อนช่วยในการทำงานได้เยอะ บางครั้งเขารู้สึกว่าอยากเปลี่ยนเรื่องโน้นเรื่องนี้ก็กล้าที่จะเข้ามาคุย และยิ่งถ้าสามารถเปลี่ยนให้เขาเห็นในทันที เขาก็จะรู้สึกดี"
วิธีคิดง่ายๆ แบบนี้ "ณัฐวุฒิ" จึงมีอีกโครงการหนึ่งที่น่าสนใจ เรียกกันติดปากในองค์กรว่า Section with president เป็นการเปิดรับฟังความคิดเห็นของพนักงานทุกระดับ โดยจะเกณฑ์คนประมาณ 5 คน ทั้งระดับล่าง ระดับกลาง ระดับผู้บริหาร ทั้งที่เป็นลูกน้องโดยตรงและที่ไม่ใช่ลูกน้องโดยตรง ไปนั่งกินกาแฟกันประมาณ 1 ชั่วโมงเพื่อรับฟังความคิดเห็นว่าใครมีปัญหาอะไร มีข้อเสนออะไร
และจากวงสนทนาเล็กๆ นี่เองที่ทำให้ "ณัฐวุฒิ" ได้รับรู้ถึงปัญหาขององค์กร หลายอย่าง
"คนที่อยู่หน้างานจะเป็นคนที่รู้ปัญหามากที่สุด แต่ส่วนใหญ่ปัญหามาไม่ถึงเรา อาจจะเป็นเพราะว่าผู้บริหารระดับกลางไม่คิดว่าเป็นเรื่องสำคัญ หรืออะไรก็แล้วแต่ ถ้าหากคนเหล่านี้ได้มีโอกาสมานั่งเล่าให้ เพรซิเดนต์ฟัง แล้วผมนำเรื่องนี้ไปแก้ไข ทุกคนก็จะภูมิใจ และเป็นประโยชน์กับองค์กร"
"บางครั้งปัญหาหญ้าปากคอกเล็กๆ น้อยๆ เป็นปัญหาเส้นผมบังภูเขา แต่พนักงานเห็นว่าเป็นเรื่องใหญ่เพราะแต่ละคนจะทำงานในกรอบของตัวเอง จึงคิดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นแก้ไม่ได้ เช่น บางองค์กรแฟกซ์อาจจะเสีย พอบอกผู้จัดการ ผู้จัดการบอกว่า งบประมาณไม่มี ทุกอย่างก็เหมือนไร้ทางแก้ไขได้ แต่พอปัญหามาถึง ผมบอกว่าก็สั่งซื้อทุกอย่างก็จบ พอลงไปแก้ไขปัญหาแบบนี้ขวัญกำลังใจของพนักงานฮือขึ้นมาทันที"
"ณัฐวุฒิ" ทิ้งท้ายว่า การพูดคุยแบบเป็นกันเอง เหมือนทุกคนเป็นเพื่อน มีความสำคัญมาก ในวันที่เขามีไอเดียอะไรดีๆ ก็จะมานำเสนอ หรือเวลาเจอปัญหาอะไรในองค์กรก็จะรีบมาบอก และสิ่งที่ผู้บริหารจะต้องทำ คือ ต้องแจ้งความคืบหน้าในการแก้ปัญหาให้เขาทราบด้วย เขาก็จะบอกต่อเพื่อนๆ ช่องว่างระหว่างพนักงานกับผู้บริหารก็จะแคบลงทันที
หน้า 34

ที่มา : matichon.co.th


อัพเดทล่าสุด