HR ต้องอยู่กับความไม่เป็นรูปธรรมได้
กพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เก่งๆ จำนวนมิใช่น้อยที่ไม่ได้จบด้าน Human Resource (HR) โดยตรง
"ศุภวรรณ ธนพัฒน์เจริญ" ผู้จัดการฝ่าย Learning&Development ( L&D) บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ก็เช่นเดียวกัน
เธอจบด้านไฟแนนซ์มา และไม่เคยรู้สึกชอบงานด้าน HR แม้แต่น้อย เพราะเธอคิดว่าเป็นงานรูทีนที่น่าเบื่อ
แต่ทว่า...วันหนึ่งความรู้สึกนี้ได้เปลี่ยนไป
หลังจากที่เธอทำงานไฟแนนซ์ได้ประมาณ 3 ปี ได้มีโอกาสไปศึกษาต่อ เอ็มบีเอด้าน quality management อันเป็นจังหวะเดียวกับที่ภาพลักษณ์ของ HR เริ่มโดดเด่นขึ้นมา
เธอจึงเข้ามาจับงานด้าน organization development ยิ่งได้เข้าไปทำงานด้านลีดเดอร์ชิปกับบริษัทของสวีเดนเธอก็ยิ่งรู้สึกสนุก และพาเธอมาลงตัวในงานด้าน HRD (Human Resource development) ที่ บริษัท ยูโนแคลไทยแลนด์ จำกัด
"ทำงาน HR มากว่า 6 ปีแล้ว ยอมรับว่า HR ยุคใหม่เปลี่ยนไปเยอะ ทั้งผู้บริหารระดับสูงขององค์กรต่างให้การสนับสนุนชัดเจน พนักงานในองค์กรก็พูดถึงฝ่าย HR มากขึ้น ภารกิจของงานมีฟังก์ชันที่เด่นชัดมากขึ้นไม่ใช่งานรูทีนเหมือนก่อน"
เพราะบรรยากาศงาน HR ในยุคปัจจุบันไม่ใช่แค่ดูแลเรื่องแค่ขาด ลา มาสายเท่านั้น แต่ต้องสร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานในองค์กร รวมไปถึงการพัฒนาบุคลากร การบริหารจัดการบุคลากรภายในองค์กร และภารกิจงานหลายด้านที่ต้องรับผิดชอบนี่เองทำให้บรรยากาศการทำงานด้าน HR เปลี่ยนจากความน่าเบื่อเป็นความท้าทายขึ้นมาทันที
เมื่อตั้งคำถามว่าเธอมีเทคนิคในการดูแลคนเก่งในเชฟรอนอย่างไร "ศุภวรรณ" ได้โค้ดคำพูดของ "ดร.ณัฐวุฒิ พงษ์สิริ" ผู้จัดการฝ่ายทรัพยากรบุคคล บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ที่ได้พูดไว้ว่า การจะกระตุ้นให้คนเก่งอยากทำงาน คือ ต้องให้คนเก่งมีโอกาสอยู่กับคนเก่ง เพราะเมื่อคนเก่งได้อยู่กับคนเก่งจะเกิดการต่อยอด ด้วยเหตุนี้การสร้างบรรยากาศในการทำงานที่เอื้อให้คนกลุ่มนี้ได้ทำงานด้วยกันจึงเป็นเรื่องสำคัญและเป็นหลักยึด ในการปฏิบัติงานตลอดมา
อีกประการหนึ่งเชฟรอนถือได้ว่าเป็นองค์กรแห่งเทคโนโลยี เป็นบริษัทชั้นนำในกลุ่มธุรกิจพลังงาน การจะจูงใจให้คนที่มีคุณภาพ คนเก่งๆ อยากอยู่กับองค์กร HR จะต้องดูแลในเรื่องของเครื่องอำนวยความสะดวกต่างๆ ที่เป็นพื้นฐานให้ก้าวล้ำคนอื่นๆ
ในฐานะที่ดูแลงานด้าน L&D จะดูเรื่อง core business ของบริษัทเป็นหลักว่ามีฟังก์ชันอะไรบ้าง จากนั้นจะน้ำหนักการเทรนนิ่งไปทางด้านนั้น โดยผู้จัดการเข้ามามีบทบาทในเรื่องการพัฒนาคนให้ก้าวขึ้นมาสู่การเป็น professional
คำว่า professional ในที่นี้ หมายถึง สามารถปรับตัวให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงได้ มีความรับผิดชอบต่อภาระงานสูง เพราะฉะนั้นการจัดโปรแกรมการพัฒนาในระดับองค์กรจึงไม่เคยหยุดนิ่ง จะพยายามหาช่องทางตอบสนองความต้องการของบุคลากรให้ได้มากที่สุด เพราะคนคือสิ่งที่สำคัญที่สุดขององค์กร ถ้าคนไม่พัฒนา กระบวนการอื่นๆ จะไม่มีคุณภาพตามไปด้วย
งานทุกอย่างมีความท้าทายอยู่ในตัว "ศุภวรรณ" โชคดีที่ได้เข้ามาทำงานในช่วงที่ 2 องค์กร(ยูโนแคล-เชฟรอน) เมิร์จเข้าด้วยกัน จึงได้มีโอกาสเฝ้ามองการรวมตัวของสององค์กรอย่างใกล้ชิด
"จากที่เคยทำงานมาหลายธุรกิจตั้งแต่สายการบิน ก้าวเข้าสู่วงการอสังหาริมทรัพย์ แล้วมาจับงานด้านที่ปรึกษาแล้วลงท้ายด้วยธุรกิจพลังงาน ทุกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยส่วนตัวจึงสามารถปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงได้เร็ว แต่พอมาอยู่องค์กรแห่งนี้รู้สึกว่า ตัวเองสปีดช้ามาก แต่สักพักหนึ่งจึงปรับตัวได้เพราะระบบที่ดีทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ดี"
นั่นเพราะเธอเปลี่ยนแปลงตัวเอง
"ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลง เราต้องเปลี่ยนตัวเองก่อน เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงอย่าไปยึดติดกับเวลา มีปัญหาอะไรให้นิ่งไว้ก่อนเพื่อที่จะดูว่าอะไรที่เวิร์กที่สุด ทั้งในแง่ส่วนตัวและองค์กร เพราะเราต้องเป็น ผู้ถ่ายทอดสิ่งต่างๆ ออกไปสู่พนักงาน การสื่อสารถือว่าเป็นเรื่องสำคัญมากในช่วงของการเปลี่ยนแปลง"
ประสบการณ์ที่ท้าทายครั้งนั้นถือว่าเป็นทุนที่ยิ่งใหญ่มากสำหรับนักบริหารทรัพยากรมนุษย์หน้าใหม่อย่างเธอ
สำหรับ "ศุภวรรณ" แล้วการเป็น HR ที่ดีนั้นคุณสมบัติข้อแรกที่ต้องมีคือความมีมนุษยสัมพันธ์ มีความน่าเชื่อถือ แม้ว่าทุกอย่างจะมีข้อยกเว้น แต่หลักการต้องมี จึงจะเรียกความไว้วางใจจากพนักงานได้
ที่เชฟรอนแม้ว่า corporate culture จะแข็งแรงมาก ทำให้การจัดการต่างๆ ง่ายขึ้น แต่ความท้าทายในการทำงานก็ยังมีอยู่
"เมื่อทุกคนมีเบสิกเหมือนกันหมดทำอย่างไรจะต่อยอดจากตรงนั้นขึ้นไปอีก ตรงนี้เป็นเรื่องที่ยาก ทุกครั้งที่มีโอกาสจะพยายามเปิดโลกทัศน์ให้กับพนักงาน ทุกคนจะได้อยู่ในบรรยากาศของการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา"
เพราะงาน HR คือการจัดการความไม่เป็นรูปธรรม !
"การเทรนนิ่งหรือการพัฒนาคนผลจะไม่ออกมาทันทีที่จบหลักสูตร งานบางอย่างต้องหวังผลระยะยาว ฉะนั้นคนที่ทำงานตรงนี้ต้องมีใจรักในงานพอสมควร ใจเย็นและอยู่กับความไม่เป็นรูปธรรมได้ และต้องสามารถทำความไม่เป็นรูปธรรมให้เป็นรูปธรรมได้ โดยเฉพาะในองค์กรที่มีวิศวกรอยู่เยอะ ฝ่าย HR มักจะเจอคำถามอยู่ตลอดเวลาว่า กระบวนการเป็นอย่างไร ผลเป็นอย่างไร ฉะนั้นต้องทำงานอย่างมีสติเข้าใจธรรมชาติของงานและธรรมชาติของคน"
"ศุภวรรณ" จัดเป็นสาวอารมณ์ดีที่น่าสนใจอีกคนหนึ่ง เพราะวันนี้เธออายุสามสิบกว่าปีแต่ก็สามารถก้าวขึ้นเป็นหัวหน้างาน L&D ในองค์กรต่างชาติได้
ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากมุมคิดเล็กๆ ที่เธอใช้ในชีวิตการทำงานมาตลอด
"การจะทำงานอะไรก็ตาม ต้องเริ่มต้นทำงานที่ตัวเองทำแล้วมีความสุข ก็จะสามารถทำงานได้เยอะและผลออกมาดี แต่ถ้าช่วงไหนที่ทำงานแล้วรู้สึกไม่แฮปปี้ก็จะตั้งสติว่าที่ไม่แฮปปี้นั้นเป็นเรื่องงานหรือว่าเรื่องคน แล้วให้เวลากับตัวเองจัดการกับปัญหานั้น ทุกอย่างก็จะเดินต่อไปได้ดี"
และงาน HRD ได้ทำให้ศุภวรรณได้เรียนรู้อะไรหลายอย่าง ทั้งการพัฒนาคน การต่อยอดทัศนคติที่ดีให้กับพนักงาน แต่ความท้าทายในชีวิตของเธอยังไม่ได้หยุดอยู่แค่นี้ ในวันข้างหน้า "ศุภวรรณ" มุ่งมั่นว่าจะเติบโตไปเป็น HR professional ที่มีคุณภาพต่อไป
หน้า 38
คอลัมน์ HR YOUNG BLOOD
โดย เอื้อมพร สิงหกาญจน์ [email protected]
ที่มา : matichon.co.th