เคลื่อนพล HR สู้ศึก "แนวหน้า"
ทุกธุรกิจต่างยอมรับ หรือจำต้องยอมรับนะครับว่า กระแสธุรกิจแบบโลกาภิวัตน์ ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ในทุกวงการ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งวงการธุรกิจ กล่าวโดยสรุปแทบทุกธุรกิจต้องพบกับภาวการณ์แข่งขันสูงขึ้น รายได้ลดลง กำไรลดลง รายจ่ายเพิ่มขึ้น การหดตัวของตลาด การลดลงของความจงรักภักดีทั้งจากลูกค้า ผู้แทนจำหน่าย รวมทั้งพนักงาน สิ่งที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดขณะนี้ก็คือ การลดค่าใช้จ่าย และวิธีที่ทำได้ง่ายที่สุด และเร็วที่สุดก็คือ การลดพนักงาน
แต่ก็เป็นวิธีที่ทำลายธุรกิจในทางตรง เพราะทุกธุรกิจขับเคลื่อนโดยคนทั้งสิ้น และเมื่อคนถูกพิจารณาเป็นส่วนเกิน ส่วนที่ต้องจากไปก็ย่อมไม่พอใจไม่มากก็น้อย และแน่นอนภาพพจน์ของบริษัทก็ต้องได้รับผลกระทบทางลบ อาจมีข้อพิพาทแรงงานตามมา พ่วงด้วยการนัดหยุดงาน จนอาจนำไปสู่คดีแรงงาน
ส่งผลให้ธุรกิจต้องหยุดชะงัก ขาดรายได้ ขาดความน่าเชื่อถือ จากคู่ค้า จนอาจนำไปสู่การขาดสภาพคล่องทางการเงิน และล้มละลาย หรือปิดกิจการในที่สุด ไม่มีธุรกิจใดอยากไปสู่จุดจบนั้นแน่นอน
ในทางธุรกิจมีอยู่หลายกลยุทธ์ที่จะทำให้ธุรกิจดำเนินการต่อไปได้ อาทิเช่น การขายกิจการ การควบรวมกิจการ แต่ผู้เขียนขอแนะนำวิธีที่สร้างสรรค์กว่านั้น ก็คือ การผันหน่วยงานด้านสนับสนุน (Supporting Function/Cost center) ไปสู่การเป็นหน่วยงานที่แสวงหารายได้ (Profit center) และ หรือศูนย์ลดค่าใช้จ่าย (Cost reduction Center)
ผู้เขียนขอกล่าวถึงศูนย์ลดค่าใช้จ่ายก่อนนะครับ ก่อนจะมีการแบ่งปันประสบการณ์ ผู้เขียนขอถามท่านผู้อ่านว่า ในองค์กรของท่าน
คำถามที่หนึ่ง ฝ่ายใดมีเครื่องมือการจัดการ การบริหาร รวมทั้งเทคนิคการจัดการสมัยใหม่เป็นอันดับต้นๆ คำถามที่สอง ฝ่ายใดมีบุคลากรที่มีทักษะการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง เป็นอันดับต้นๆ คำถามที่สาม ฝ่ายใดมีศักยภาพในการให้บริการที่เป็นเลิศ เป็นอันดับต้นๆ
และ คำถามสุดท้าย ฝ่ายใดมีศักยภาพในการหาพันธมิตรทางการค้ามากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ถึงคำถามนี้ผู้เขียนเชื่อว่าผู้อ่านหลายท่านคงจะกล้าตอบบ้างแล้วครับว่า ฝ่ายทรัพยากรบุคคลไง หรือฝ่ายฝึกอบรมไง อาจไม่ใช่ที่หนึ่งแต่ก็เชื่อว่าอยู่อันดับต้นๆ
ความคิดของท่านถูกแล้วครับ ฝ่ายทรัพยากรบุคคล ถือเป็นฝ่ายที่มีศักยภาพในการช่วยบริษัทลดค่าใช้จ่ายได้ฝ่ายหนึ่ง อย่างไรละครับ .. ก่อนอื่น HR ก็ต้องได้รับการสนับสนุนจากคณะผู้บริหารก่อน แล้วอย่างไรละครับถึงจะได้รับการสนับสนุน
HR ต้องจัดทำ แผนการช่วยเหลือธุรกิจ แสดงให้เห็นถึงสภาวการณ์ของธุรกิจที่ต้องการความช่วยเหลือ ศักยภาพของ HR ที่มีขีดความสามารถที่เป็นหนึ่งหน่วยงานที่ช่วยเหลือธุรกิจได้ โดยแสดงถึงผลงานในอดีต ปัจจุบันที่เป็น Success story ตลอดจนแผนงานในอนาคตที่ก็ได้มีการวางแผนการช่วยเหลือธุรกิจอยู่ด้วยแล้ว ตลอดจนแสดงถึงแนวทางที่จะให้ความช่วยเหลือธุรกิจในแต่ละด้านอย่างละเอียด
รวมทั้งตัวชี้วัดความสำเร็จที่เป็นรูปธรรม และค่าใช้จ่ายที่อาจมีในการดำเนินการตามแผนงานนี้ และที่สำคัญไม่แพ้ปัจจัยอื่น ก็คือ การยอมรับ และการให้ความร่วมมืออย่างจริงใจ เพราะเห็นถึงผลประโยชน์อย่างแท้จริง ภายใต้สโลแกน
"ความสำเร็จของคุณ คือ ภารกิจของพวกเรา"
ลำดับถัดไปผู้เขียนขอแบ่งปันประสบการณ์ของตัวอย่าง ของแผนงานการช่วยเหลือธุรกิจ (what we can do ?)
ลดปัญหาคำติจากลูกค้า ซึ่งเท่ากับการรักษาฐานของลูกค้า นั่นเท่ากับไม่ต้องเพิ่มต้นทุนในการหาลูกค้าใหม่
ลดขั้นตอนการทำงานของทุกหน่วยงาน เท่ากับเพิ่มผลผลิตในการทำงาน เท่ากับลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย
ลดปัญหาการทำงานพลาดเป้าหมายของทุกหน่วยงาน เท่ากับสนับสนุนให้ธุรกิจมีรายได้ตามเป้าหมาย
ลดความผิดพลาดในสายการทำงานทุกสายงาน เท่ากับลดต้นทุนการให้บริการ หรือการผลิตซ้ำ
เพิ่มมาตรฐานการทำงานทุกฝ่าย เท่ากับเพิ่มผลผลิตในการทำงาน เท่ากับลดต้นทุนการผลิตต่อหน่วย
ผู้เขียนเชื่อว่าจากตัวอย่างแผนงานข้างต้น คงจะพอเป็นแนวทางของท่านที่จะช่วยจุดประกายให้ขยายผลโครงการที่มีคุณค่าโดยตรงกับธุรกิจของท่านนะครับ
สำหรับประเด็นการทำให้หน่วยงานด้านสนับสนุนผันตัวเองกลายเป็นศูนย์กำไร จะมีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด อดใจรอฉบับหน้า ฉบับนี้ผู้เขียนขอลาไปก่อนครับ
โดย : ภัทรพงศ์ พรรณ
ที่มา : www.bangkokbiznews.com