HR หัวใจมาร์เก็ตติ้ง : องค์กรเปื้อนยิ้ม ง่ายนิ้ดด...เดียว


814 ผู้ชม


HR หัวใจมาร์เก็ตติ้ง : องค์กรเปื้อนยิ้ม ง่ายนิ้ดด...เดียว




กลยุทธ์สร้างความสุขในองค์กรที่สำคัญอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นอะไรง่ายๆ ที่คุณพบเจอและได้ใช้ในทุกๆ วัน ซึ่งก็คือ “การสื่อสาร” นั่นเองครับ มันพัวพันกับชีวิตเราตั้งแต่ลืมตาตื่นจนถึงปิดตาหลับทีเดียว

ลองทบทวนดูเมื่อวานคุณตื่นขึ้นมาแล้วเปิดวิทยุฟังข่าวก่อนอาบน้ำแต่งตัว ขับรถขึ้นทางด่วนเห็นโฆษณาบนป้าย Billboard ขึ้นรถไฟฟ้าก็เห็นภาพในจอทีวีบนรถ ถึงที่ทำงานก็ชงกาแฟอ่านหนังสือพิมพ์ คุยเรื่องงาน ประชุมทีม สั่งงานลูกน้อง ฟังเพื่อนนินทานาย (OOPs! อันนี้ไม่ดีนะครับ) อ่าน e-mail เล่น MSN ใส่ภาพใน Hi5 เลิกงานรีบกลับบ้านเพื่อไม่พลาดดูตอนจบของจำเลยรัก และอ่านหนังสือสักเล่มก่อนเข้านอน

ทำไมเราจึงไม่นำสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้ในองค์กรให้เจาะลึกเข้าเป็นชีวิตประจำวันในสังคมที่ทำงานบ้างล่ะ! ถ้าทำได้ก็จะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ขึ้นภายใน เกิดความรักและภูมิใจที่ได้ทำงานในองค์กร ซึมซาบวัฒนธรรมขององค์กร และเกิดความสุขในการทำงาน

“แต่จะทำอย่างไรให้เขาสนใจติดตามดีล่ะ” คำตอบคือ เริ่มต้นที่รูปแบบครับ

การสื่อสารแบบทางเดียวจากยอดเขาสู่เบื้องล่างน่ะ Out ไปแล้ว เอะอะก็เริ่มต้นด้วยประกาศ คำสั่ง หนังสือเวียนน่ะไม่ได้แล้ว ลองถามใจตัวเองดูสิว่าชอบไหม

ผมว่าวันนี้ควรสื่อสารได้ทั้งบนลงล่าง ล่างขึ้นบน ตะแคงซ้าย ตะแคงขวา เปิดโอกาสให้สื่อสารกันได้สะดวกตลอดเวลาอย่าไปตั้งจำกัดช่วงเวลาโปรโมชั่น ฟังเขาบ้าง เขาฟังเราบ้าง มีความจริงใจทุกครั้งสื่อสาร แต่จริงใจแล้วไม่จริงจังก็ไม่ได้นะครับ

ภายใต้คำว่า “การสื่อสาร” ก็จะพบคำว่า “โฆษณา” ตามมาด้วย ผมว่าโฆษณาทุกวันนี้มีบทบาทต่อการคิด และตัดสินใจของคนเราอย่างมาก

HR ต้องทำตัวเป็นเอเยนซีโฆษณา และหาทีมมาทำหน้าที่เป็น AE (Account Executive) มีคนทำด้าน Creative คอยสร้างสรรค์โฆษณาให้กระทบถึงใจ มี Art Director ช่วยใส่สีสันให้กับเนื้องานให้ไม่น่าเบื่อ และมีคนทำ Planning มาวางแผนช่องทางการใช้สื่อให้ทะลุทะลวงเข้าถึงพนักงาน

เราสมมติให้องค์กรเป็นสินค้ามีแบรนด์ และคิดว่าพนักงานเป็นผู้บริโภค ให้เอเยนซีช่วยกันทำให้

แบรนด์กับผู้บริโภครู้จักกัน ให้ถึงขั้นด้วยรักและผูกพัน รู้ใจกัน

เลียนแบบบริษัทเอเยนซีโฆษณาดูว่าเขาใช้วิธีไหนเราก็ใช้วิธีนั้นด้วย ไม่ว่าจะเป็นวิธี 3D หรือ3 Dimensions ที่เป็นเครื่องมือผสมผสานปั่นให้แบรนด์กับกลุ่มเป้าหมายเข้าเป็นเนื้อเดียวกัน เริ่มที่ D1 เป็นการวิเคราะห์ทำเข้าใจในแบรนด์เรา ทั้งวัฒนธรรม และความหมายของแบรนด์ เพื่อสร้างความศรัทธาในแบรนด์ให้แข็งแรงชัดเจนในใจกลุ่มเป้าหมาย

ถ้าเราไม่รู้ว่าองค์กรเราเป็นอย่างไร สถานการณ์เป็นอย่างไร มีวัฒนธรรมอย่างไร แล้วเราจะพูดกับใครรู้เรื่องล่ะครับ

เมื่อรู้จักแล้วก็ใช้ D2 มาสร้างมิติที่ต้องฉีกแนวจากเดิม เพราะความแตกต่างจะทำให้แบรนด์โดดเด่น จดจำได้เร็ว ถ้าองค์กรเราเป็นองค์กรทันสมัย ทุกชิ้นงานต้องใส่ความทันสมัยลงไป ถ้าเป็นองค์กรแห่งความสุขก็ต้องใส่ความสุขเข้าไป แต่ ถ้าเราทำได้ฮิตแต่ไม่ใช่ภาพของแบรนด์ อาจไม่เกิดแถมกลายเป็นพวกขี้โม้ไปซะงั้น!

ช่องทางการสื่อสารไม่ควรเป็นจดหมายเวียน ประกาศ แต่น่าจะเป็นโปสเตอร์สุดฮิพ หากองค์กรออกสินค้าใหม่ก็ควรทำโปรโมชั่นภายในหมู่พนักงาน ให้เขารู้ก่อนเข้าใจก่อน เขาจะรู้สึกดี ภูมิใจ ใครถามก็ตอบได้ ไม่ใช่ไม่รู้ทั้งๆ ที่เป็นเรื่องของบริษัทตัวเอง

มาถึง D3 ทำความรู้จักกับกลุ่มเป้าหมาย เราจะใช้ Consumer Insight ซุนวูบอกว่ารู้เขา รู้เรารบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ถ้าเรารู้ว่าพนักงานเป็นคนแบบไหน รู้สึกอย่างไร คิดอะไร และคาดหวังอะไร เราจะสามารถทำสื่อให้เข้าถึงจิตใจได้ง่ายขึ้นจริงไหม

นอกจากนั้น เราต้องมั่นตรวจสุขภาพความสุขของกลุ่มเป้าหมายด้วย โดยใช้วิธีพูดคุยแบบตัวต่อตัวไม่เป็นทางการไม่ว่าคุยกันในทางเดิน ในห้องน้ำ หรือที่ไหนก็ได้ขอให้มีโอกาสเถอะ

หรือบางครั้งงัดแบบสอบถามมาใช้เพิ่มการชิงรางวัลเข้าไปด้วย ใครตอบก่อนรับทันทีตั๋วหนัง Honeymoon Seat อะไรประมาณนี้ หรือเปิดทางด่วนแสดงความคิดเห็น เช่นเปิด Web Board ถามได้ทุกเรื่องทุกคำถามมีคำตอบให้ทุกคน ไม่ว่าจะเรื่องเล็กเรื่องใหญ่

ผลที่ได้คือสามารถสยบข่าวลือให้หยุดกระพือได้ ไม่ต้องเสียเวลาตามล้างตามเช็ด นอกจากนี้ยังจะวัดกระแส เช็คเรทติ้ง ต่างๆ ของงาน HR ได้อีกด้วย

สุดท้าย สื่อโฆษณาต้องพยายามเลือกใช้ให้หลากหลาย วิทยุ โทรทัศน์ บางทีก็คิดอะไรใหม่ๆ แปลกๆ ไปเลย เช่น ให้คนมาแต่งตัวเป็นผียืนตามป้ายรถเมล์เพื่อโฆษณาหนัง เป็นต้น

ลองมองหาสิ่งที่มีอยู่ในองค์กรของเรามาปรับเป็นช่องทางการสื่อสารดูนะครับ ซึ่งควรเป็นไปอย่างประหยัด เช่น ในองค์กรมีระบบ Microsoft Outlook ก็นำมาใช้เป็น Poster Mail ส่งถึงทุกคน เครื่องคอมพิวเตอร์ที่ใช้ทุกวี่ทุกวันก็ดัดแปลงหน้าจอ Wallpaper เป็น Billboard

บางโอกาสก็เชิญเพื่อนพนักงานมาแต่งตัวเป็นนางแบบ-นายแบบเดินพาเหรด เป็นการประชาสัมพันธ์ที่เข้าหาเขาถึงโต๊ะทำงาน เหมือนจัด Event ในพื้นที่ทำงานนั่นเอง

ส่งท้ายด้วยละครหลังข่าว "จำเลยรัก" ด้วยคอนเซปต์จับผิดตัว พระเอกทึกทักว่านางเอกต้องเป็นศันสนีย์ ส่วนนางเอกก็บอกว่า “ฉันพยายามบอกตั้งหลายครั้งแล้วแต่เธอไม่เคยฟัง” แล้วคุณล่ะ..เห็นการสื่อสารแบบนี้ในองค์กรบ้างไหม พบกันใหม่ฉบับหน้าครับ

 

ที่มา : ดุสิต รัชตเศรษฐนันท์

อัพเดทล่าสุด