ถึงเวลา HR บริหารต้นทุน


599 ผู้ชม


ถึงเวลา HR บริหารต้นทุน




สืบเนื่องจากที่ได้แลกเปลี่ยนความเห็นไว้ครั้งที่แล้ว ในเรื่องการเปลี่ยนแปลงว่าหน่วยงาน HR ต้องไวต่อการรับรู้ และเท่าทันในการจัดการกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อพลิกผันให้การเปลี่ยนแปลงต่างๆ นั้น เป็นโอกาสแห่งความสำเร็จใหม่ๆ ขององค์กร

มีผู้อ่านท่านหนึ่งถามมาว่า การเปลี่ยนแปลงด้านอะไรที่ถือว่ายากมาก จึงขอตอบอย่างเร็วๆ ว่า เรื่องการเปลี่ยนแปลงวิธีคิดของบุคลากรในองค์กร

เพราะเป็นสิ่งที่ลึกลงไปในความเชื่อ และถูกใช้เป็นเหตุผลในการแสดงพฤติกรรมหรือวิธีปฏิบัติจนเกิดความเคยชิน และความเคยชินนี่เองถือเป็นอุปสรรคของการเปลี่ยนแปลง

HR และ Line จึงต้องไม่เล่นเฉพาะบทหวานๆ คือ ให้กำลังใจเพียงอย่างเดียว แต่ต้องกระตุ้นให้เห็นพิษสงของการหยุดนิ่ง ให้กังวลใจไว้บ้างด้วย จะได้ไม่ประมาท ชะล่าใจ

วิธีการหนึ่งที่ทำให้พนักงานไม่ยึดติดกับสิ่งเดิมๆ คือ การเล่นบทผู้รวบรวมข่าวสาร ตัวอย่างขององค์กรอื่นๆ ที่ต้องล้มหายไปจากธุรกิจ เพราะไม่สามารถปรับเปลี่ยนวิธีคิดวิธีค้าให้ทันกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

การหยิบยกนิทาน เรื่องกบต้มที่กระโดดหนีออกจากหม้อน้ำร้อนไม่ทัน เพราะมัวแต่เพลิดเพลินอยู่จนไม่ทันเฉลียวใจว่า การปรับตัวที่ล่าช้าไปนั้นกลายเป็นภัยถึงตัวในที่สุด นิทานคลาสสิกนี้ก็ช่วยทำให้คนในองค์กรเกิดการตื่นตัวที่ต้องพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงไว้เสมอ

HR ในยุคเศรษฐกิจเป็นพิษติดกันงอมแงมทั่วโลก การแข่งขันแทบจะทุกอุตสาหกรรมก็ยังคงต้องย่ำอยู่ในเรื่องราคา ซึ่งส่งผลทำให้การเติบโตของรายได้ถดถอยลง

คงถึงเวลาที่ Line และ HR ต้องส่งสัญญาณเตือนให้พนักงานตื่นจากภาพการทำงานแบบเดิมที่อาจจะเคยใช้จ่ายสบายมือ มาดูแลให้เกิดความคุ้มค่าทุกจุด HR ควรช่วยเสนอเรื่องการบริหารต้นทุนขององค์กรให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นโครงการสำคัญระดับองค์กร

นั่นหมายถึง ทุกหน่วยงานช่วยกันค้นหาประเด็นที่เข้าไปดูแลกำกับให้ต้นทุน หรือค่าใช้จ่ายขององค์กรมีความสมเหตุสมผล ระดมพลังความคิดกันในการระแวดระวังให้มีการใช้ทรัพยากรต่างๆ อย่างเกิดประโยชน์สูงสุด โดยมุ่งเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้ดีขึ้น โดยใช้ทรัพยากรเท่าเดิมหรือใช้ทรัพยากรน้อยลงได้ก็ยิ่งดี

ต้นทุนทรัพยากรรายการใหญ่ตัวหนึ่ง คือ ต้นทุนของทรัพยากรบุคคล HR ต้องช่วยดูแลให้คุ้มค่าสูงสุด ทั้งนี้ต้องหาวิธีการหรือเครื่องมือ รวมทั้ง Best Practice ต่างๆ เป็นแนวทางอ้างอิงในการเข้าไปค้นหา ความทับซ้อนของงาน (Job Redundancy) ที่อาจทำให้ขาดประสิทธิภาพในการทำงาน รวมทั้งเกิดการสูญเปล่าด้านกำลังคนที่ต้องมาทำงานที่คล้ายคลึงกัน

ต้นทุนทรัพยากรอาจหมายถึง การไม่เห็นหรือไม่ได้ใช้คนที่มีศักยภาพสูงมาทำงานที่สำคัญ หรือหมายรวมถึงงานบางงานไม่ได้ถูกผ่องลงข้างล่างให้ผู้ใต้บังคับบัญชาทำทั้งที่เขามีความสามารถเพิ่มพูนขึ้นมาแล้ว

หรือมีกลุ่มงานบางงานเมื่อสถานการณ์ทางธุรกิจเปลี่ยนไปแล้ว แต่ยังไม่ได้จัดสรรเคลื่อนย้ายกำลังคน (Reallocation) มายังกลุ่มงานที่มีปริมาณงานสูงขึ้นหรือไม่

สิ่งต่างๆ เหล่านี้เป็นความสูญเปล่าที่ HR ต้องค้นหา ซึ่งจะช่วยทำให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า อันส่งผลดีทั้งต่อตัวพนักงานและต่อประสิทธิภาพขององค์กรโดยรวม

 

ที่มา : จารุนันท์ อิทธิอาวัช

อัพเดทล่าสุด