จะดูแลกลุ่มพนักงานที่ทำงานข้ามชาติอย่างไร


608 ผู้ชม


จะดูแลกลุ่มพนักงานที่ทำงานข้ามชาติอย่างไร




HR SOLUTION : จะดูแลกลุ่มพนักงานที่ทำงานข้ามชาติอย่างไร

       Q
        บริษัทของผมทำทางด้านอาหารแช่แข็ง ตอนหลังเริ่มเติบโตมาก และมีการไปร่วมทุนกันกับต่างชาติในแถบนี้ ก็เลยจะต้องมีการโยกย้ายบุคคลากรข้ามประเทศทั้งที่เป็นชาวต่างชาติเข้ามาและทั้งที่เป็นคนไทยออกไปอยู่ต่างประเทศ ผมอยากทราบว่าที่อื่นๆเขามีแนวทางทำกันอย่างไรบ้างเกี่ยวกับการบริหารผลตอบแทนของพนักงานกลุ่มนี้ ขอทราบเป็นแนวทาง- เปรมศักดิ์

       
       A
        เรื่องนี้ เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับการทำงานข้ามชาติ ซึ่งเป็นภาพสะท้อนของลักษณะการทำงานปัจจุบันที่มีการโยกย้ายของกำลังคนที่เรียกว่ากลุ่ม Talent กันอย่างไร้พรหมแดน อย่างที่เรียนไปตอนต้นว่า ผมเองไม่ได้มีประสบการณ์โดยตรงในเรื่องนี้ ก็ต้องอาศัยพรรคพวกที่รับผิดชอบด้านนี้มาช่วยให้ความกระจ่าง ก็ได้แนวทางดังนี้ครับ คือ ในการย้ายพนักงานไปทำงานข้ามชาติเท่าที่ปฏิบัติกันอยู่ จะแยกเป็น 2 กลุ่ม คือ
       
        กลุ่มแรกเป็นกลุ่มที่ย้ายถาวร คือ เป็นกลุ่มที่ย้ายในลักษณะเป็นสายอาชีพ เป็นการย้ายเพื่อไปทำงานที่สูงขึ้นไป หรือเพิ่มประสบการณ์ ขอบข่ายความรับผิดชอบ ซึ่งอาจจะย้ายไปแล้ว ก็ย้ายไปที่อื่นต่อ หรืออาจจะเติบโตในที่นั้น หรือ อาจจะย้ายกลับไปในประเทศเดิมที่ตนเคยอยู่ แต่จะต้องมีลักษณะเป็นการโยกย้ายตามเส้นทางอาชีพ แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารผลตอบแทนที่ใช้กับกลุ่มนี้ จะเป็นการปรับตามค่าครองชีพ และจ่ายโดยต้นสังกัดใหม่ในประเทศนั้นๆ จะเริ่มจากเมื่อมีการตกลงมอบหมายงานกับแล้วว่าจะให้ไปอยู่ประเทศไหน ก็จะนำรายได้ทั้งปีของพนักงานมาดู แล้วเทียบกับตารางค่าครองชีพมาตรฐานที่มีการกำหนดไว้เป็นสากล โดยดูว่าประเทศที่จะไป เมื่อเทียบกับตารางค่าครองชีพมาตรฐานแล้ว ค่าครองชีพจะสูงขึ้นหรือต่ำลง กรณีสูงขึ้น ไม่ค่อยมีปัญหา เพราะจะมีการปรับขึ้นให้ไปตามค่าครองชีพอยู่แล้ว แต่กรณีต่ำลงมักจะเป็นปัญหาว่าต้องทำอย่างไร
       
        โดยทั่วไป เขาจะมีการปรับลงไปตามค่าครองชีพที่ใหม่ก่อน เช่น ตามตารางค่าครองชีพจะต่ำลงไป 30% ดังนั้นก็จะปรับรายได้ลงไป 30% ก่อน จากนั้นก็มาตกลงกันว่า แล้วจำนวนเงินที่หายไปจะทำอย่างไร ทั้งนี้ เพื่อเป็นการรักษาขวัญกำลังใจพนักงาน โดยเขาจะเปิดโอกาสให้มีการต่อรองได้อย่างเต็มที่ บางคนอาจจะขอเป็นเงินก้อนครั้งเดียวต่อปี บางคนอาจขอในรูปผลประโยชน์สวัสดิการอื่นที่นอกเหนือจากสวัสดิการปกติที่ได้จัดหาไว้ให้อยู่แล้ว ก็แล้วแต่ทั้งพนักงานและบริษัทจะตกลงกันอย่างไร ก็ให้เป็นไปตามนั้น
       
        กลุ่มที่สองเป็นกลุ่มที่ย้ายชั่วคราว คือ เป็นกลุ่มที่ได้รับมอบหมายมาให้ปฏิบัติงานอย่างมีกำหนดเวลาแน่นอนชั่วระยะเวลาใดเวลาหนึ่ง เมื่อปฏิบัติภารกิจสำเร็จหรือครบกำหนดอายุงานตามที่ได้รับอบหมายแล้ว ก็จะถูกโยกย้ายกลับประเทศต้นสังกัดเดิม แนวปฏิบัติเกี่ยวกับการบริหารผลตอบแทนในกรณีนี้ จะเป็นการจ่ายในลักษณะเบี้ยเลี้ยงต่อวัน บวกกับสวัสดิการพื้นฐานอื่น เช่น ค่าที่พัก รถประจำตำแหน่งและคนขับ ค่าเล่าเรียนบุตร ทั้งนี้ เงินเดือนและโบนัส จะจ่ายโดยประเทศต้นสังกัดเดิม ส่วนเบี้ยเลี้ยงและค่าสวัสดิการพื้นฐาน ก็จะเป็นบริษัทในประเทศที่ถูกโยกย้ายมาลงเป็นผู้รับผิดชอบ ซึ่งกรณีเบี้ยเลี้ยงของคู่สมรสและบุตร โดยทั่วไปจะเป็นการในอัตราส่วนที่ลดหลั่นลงมา
       
        ตัวอย่างเช่น ถ้าตัวพนักงานได้ค่าเบี้ยเลี้ยง 300 เหรียญต่อวัน คู่สมรสอาจจะได้ 50 % ของ 300 เหรียญ และบุตรอาจจะได้ 30% ของ 300 เหรียญ เป็นต้น
       
        อย่างไรก็ตาม ทั้งสองกรณี ผมไม่มีข้อมูลที่เป็นตัวเลขว่า เขาจ่ายกันอย่างไร เพราะดูเหมือนเขาจะไม่แลกเปลี่ยนกัน เพราะถือว่า เป็นเรื่องของแต่ละบริษัท ดังนั้น คงตอบคำถามคุณเปรมศักดิ์ได้ในเชิงของแนวทาง ส่วนรายละเอียดตัวเลข คุณเปรมศักดิ์คงต้องลองสอบถามจากแหล่งอื่นด้วยนะครับ
       
       ท่านสามารถส่งคำถามหรือร่วมแสดงความคิดเห็นที่ [email protected] ด้วยความร่วมมือจากสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย

     

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์

อัพเดทล่าสุด