ทุนมนุษย์ : คุณธรรมที่มี คุณภาพ
ตามปกติผมเป็นคนที่ กระอักกระอ่วนกับคำว่า คุณธรรม เพราะเห็นว่าใช้กันเกร่อ เพื่อเอาไว้กล่าวหาคนที่ตนเองไม่ชอบหน้า
ยิ่งเห็นพวกชอบอ้าง คุณธรรม แล้วเวลาทำงานแล้วไม่ได้ความ ไม่ทันโลก ก็ยิ่งรู้สึกว่า เป็นเพียงข้ออ้างของความไร้ประสิทธิภาพ ซึ่งเอาเข้าจริงก็ไม่ได้มีคุณธรรมอะไรมากมายเสียด้วยซ้ำ
ผมเชื่อว่า คุณธรรม ต้องคู่กับ คุณภาพ
ถ้าปากชอบอ้าง คุณธรรม แต่ลงมือทำงานแล้วไม่มี คุณภาพ ก็น่าจะเป็น คุณธรรม จอมปลอม เพราะงานคุณภาพ จะเกิดขึ้นจาก วิสัยทัศน์ ความตั้งใจจริง ความรับผิดชอบ การวางแผน และการลงมือปฏิบัติจนบรรลุผล
คุณภาพ จึงเป็น คุณธรรมในทางปฏิบัติ ซึ่งผมได้เห็นกลไกนี้ใน คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ที่ชื่อเหมือนออกมาจากหนังจีน แต่เป็นนวัตกรรมแห่งระบบราชการไทย ที่ก้าวล้ำนำหน้าภาคเอกชนด้วยซ้ำ
ระบบบริหารทรัพยากรบุคคลในโลกปัจจุบันพัฒนาไปไกล รวมถึงระบบราชการซึ่งในกลุ่มประเทศที่พัฒนาจะมี 2 องค์กรสำคัญ คือ องค์กรบริหารงานบุคคลกลาง และองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรม เพื่อสร้างความสมดุลในการบริหารงานซึ่งกันและกัน
แต่เดิมระบบราชการไทย กำหนดให้คณะกรรมการข้าราชการพลเรือน หรือ ก.พ. นั่งคร่อม บทบาท 3 ด้าน คือ ด้านนิติบัญญัติ โดยการออกกฎ ระเบียบ หลักเกณฑ์ และวิธีการบริหารงานบุคคล ด้านบริหาร โดยการเป็นผู้จัดการฝ่ายบุคคลของฝ่ายบริหาร และด้านตุลาการ โดยการตีความ วินิจฉัยข้อหาที่เกิดขึ้นจากการใช้กฎหมายว่าด้วยระเบียบข้าราชการพลเรือน
กลายเป็นประเด็นคำถามกลับมาว่า จะเกิดประสิทธิภาพและความเป็นธรรมได้เพียงใด หากผู้ที่ออกกฎ ใช้กฎ และวินิจฉัยกรณีกระทำผิดกฎเป็นบุคคลคนเดียวกัน
สิ่งเหล่านี้ได้เปลี่ยนไปเมื่อพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ถือเป็นนวัตกรรมใหม่ของการบริหารทรัพยากรบุคคล ได้แยกบทบาท ภารกิจ หน้าที่โดยเฉพาะงานวินัย อุทธรณ์ และร้องทุกข์ออกจากกันโดยเด็ดขาด โดยเสนอให้มีการจัดตั้งคณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ขึ้นเพื่อทำหน้าที่พิจารณาอุทธรณ์ พิจารณาคำร้องทุกข์และคำร้องเรียน
หัวใจสำคัญของ ก.พ.ค. คือ ความเป็นมืออาชีพ ความเป็นอิสระ และความเป็นธรรม โดยที่มาของ ก.พ.ค. มาจากการคัดเลือกของคณะกรรมการชุดพิเศษคัดเลือก ก.พ.ค. ที่ประกอบด้วย ประธานศาลปกครองสูงสุด รองประธานศาลฎีกา กรรมการ ก.พ. ผู้ทรงคุณวุฒิ และเลขาธิการ ก.พ. เป็นเครื่องรับรองในความเป็นกลางตั้งแต่กระบวนการเริ่มต้นของการดำเนินงาน
คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม (ก.พ.ค.) ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 ประกอบด้วยกรรมการ 7 ท่าน ที่เป็นผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายๆ ด้าน โดยมีคุณวุฒิและคุณสมบัติที่เหมาะสมตามที่กำหนดไว้ เช่น ต้องเป็นผู้มีสัญชาติไทย มีอายุไม่ต่ำกว่า 45 ปี เป็นหรือเคยเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน รับราชการหรือเคยรับราชการในตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง โดยต้องไม่มีลักษณะต้องห้ามต่างๆ เช่น ต้องไม่เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่เป็นข้าราชการ ไม่เป็นกรรมการในรัฐวิสาหกิจหรือประกอบการใดๆ อันขัดต่อการปฏิบัติหน้าที่
ในขณะที่สื่อส่วนใหญ่ให้ความสำคัญกับการยกเลิกระบบซี ตาม พ.ร.บ.นี้ นักกฎหมายชั้นครูกลับบอกว่า คณะกรรมการพิทักษ์ระบบคุณธรรม ต่างหากที่เป็นไฮไลต์ของกฎหมายใหม่นี้ ซึ่งเป็นการสรรหาคนที่มีความเป็นกลางและเป็นองค์กรอิสระแยกจาก ก.พ. ทำหน้าที่ในการรับเรื่องร้องทุกข์ อีกทั้งจะดูแลคุ้มครองข้าราชการประจำที่ถูกแต่งตั้งโยกย้ายไม่เป็นธรรมหรือถูกกลั่นแกล้ง
ก.พ.ค. จึงเป็นเสมือนศาลปกครองชั้นต้นสำหรับข้าราชการ มีสถานภาพการทำงานลักษณะองค์กรกึ่งตุลาการ มีองค์คณะวินิจฉัย ที่ต้องทำงานเต็มเวลา โดยสามารถดำรงตำแหน่งได้ 6 ปีและอยู่ได้เพียงวาระเดียว
ผู้ที่จะมาเป็น ก.พ.ค. ซึ่งได้รับการสรรหาแบบกรรมการอิสระที่ผ่านความเห็นชอบของสภา สามารถคาดหวังว่าจะเป็นคนดี คนกล้า ที่จะคอยถ่วงดุล ผู้บริหารทั้งหน่วยงานรัฐ และฝ่ายการเมือง
คุณธรรม ก็จะไม่ใช่คำพูดที่เลื่อนลอย หรือเอาไว้เป็นเครื่องมือดิสเครดิตกันอีกต่อไป แต่มีกลไกช่วยค้ำประกัน สร้างความสมดุลในการบริหาร ผลที่ตามมาคือขวัญกำลังใจ และปฏิบัติงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ
บัดนี้ในระบบราชการไทย มีองค์กรบริหารงานบุคคลกลาง และองค์กรพิทักษ์ระบบคุณธรรม เพื่อสร้างความสมดุลในการบริหารงานซึ่งยังไม่เป็นว่า ภาคเอกชนจะมี
ถึงต้องบอกว่าหากทำได้อย่างนี้ ผมว่า คุณภาพ ราชการแซงหน้าเอกชนได้
จุมพฏ สายหยุด