ผู้นำ (ที่ดี) ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง


860 ผู้ชม


ผู้นำ (ที่ดี) ต้องกล้าเปลี่ยนแปลง




Post Today - ไม่ว่าในองค์กรของรัฐหรือองค์กรธุรกิจเอกชน การบริหารทรัพยากรบุคคล หรือเอชอาร์ ถือเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุดจะขาดเสียมิได้ องค์กรใดก็ตาม แม้จะมีระบบเทคโนโลยีไฮเทคเลอเลิศเพียงใด หากการบริหารทรัพยากรบุคคลล้มเหลวและไม่มีประสิทธิภาพแล้ว องค์กรนั้นก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้ ...

องค์กรจะก้าวหน้าต้อง “เอาไหน” เรื่องคน

คนที่เป็นมาร์เก็ตติงแม้จะเก่งแค่ไหน แต่หากเข้ากับคนไม่ได้ ก็ขายของไม่ได้ เรื่องคนจึงเป็นเรื่องสำคัญ งานทุกอย่างที่สำเร็จลงได้ก็ด้วยคนเป็นหลัก องค์กรจะเจริญหรือเสื่อมก็ด้วยคน เมื่อเกิดปัญหาอะไรขึ้นมาก็ล้วนแต่คนเป็นผู้แก้ จะเก่งกาจมาจากไหนถ้าบริหารคนไม่ได้ก็ลำบาก

พารณ อิศรเสนา ณ อยุธยา รองประธานมูลนิธิไทยคม และที่ปรึกษาสภามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี กล่าวถึง บุญมา วงศ์สวรรค์ ที่แต่ก่อนเป็น รมว.คลัง และเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ของปูนซิเมนต์ไทย ว่า เป็นคนแรกที่ไม่ได้มีแบ็กกราวด์ด้านอุตสาหกรรมมาก่อน อยู่ในองค์กรไฟแนนซ์มาตลอด แต่เมื่อมาทำงานที่ปูนซิเมนต์ไทยก็เอาใจใส่ในเรื่องการบริหารคนอย่างเข้มข้นหลังจากที่ก่อนหน้านี้บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย มีฝรั่งปกครองมากว่า 50 กว่าปี

“วิธีการแปลกของท่าน คือไม่มีการฉลองวันเกิด หรือวันปีใหม่ ไม่มีการเปิดบ้านรับแขกในวันเหล่านี้ เวลาประชุมท่านจะให้เสนอความคิดเห็นทุกคนและรับฟังหมด ถ้าถามใครแล้วไม่ตอบก็จะแสร้งถามคำถามเพื่อดูว่ายากอย่างนี้เขาจะตอบอย่างไร ครั้งหนึ่งท่านใช้ผมให้ไปหาคนมาเป็นผู้อำนวยการฝ่ายบุคคล ผมไปหาเท่าไรก็หาไม่ได้ สุดท้ายท่านบอกผมว่าคุณนั่นแหละเป็น พอผมปฏิเสธไปท่านก็บอกว่าคุณทำได้” พารณ เล่าด้วยปีตินึกถึงเหตุการณ์วันนั้น

พารณ กล่าวว่า ตั้งแต่นั้นวันนั้นเป็นต้นมาชีวิตของตัวเองเปลี่ยนไป และตลอดเวลาที่เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ที่ปูนซิเมนต์ไทย 8 ปี ก็ได้ดูแลคนมาโดยตลอด ซึ่งไม่ใช่จะดูแลเฉพาะคนหรือพนักงานเท่านั้น ยังดูแลถึงครอบครัวของเขาด้วย โดยจัดการพัฒนาเขาในเรื่องต่างๆ เช่น เย็บผ้า ทำอาหาร นอกจากนั้น ผู้แทนจำหน่ายทั่วประเทศไทยจะออกเยี่ยมปีละครั้ง ไปรอบประเทศไทย 8 รอบ เพื่อจะเอาพวกเขาเป็นพวก

หน่วยงานที่อยู่ต่างจังหวัดทุกหน่วยงานจะออกไปเยี่ยมอาทิตย์ละหน ทุกวันจะร่วมรับประทานอาหารกลางวันกับผู้บริหารที่มีอยู่ 400 คน วันละ 10 คน และทุกๆ คนจะรับประทานอาหารด้วยปีละ 2 ครั้ง ซึ่งการดูแลเรื่องคนนั้นจะต้องดูแลทุกๆ ด้าน ทั้งความปลอดภัยในด้านการทำงาน ดูแลจริยธรรม จรรยาบรรณ อุดมการณ์ บรรษัทภิบาล เป็นต้น

ดังนั้น คนที่จะทำให้องค์กรขับเคลื่อนและดำเนินไปสู่ความสำเร็จจะต้องเป็นคนที่เอาไหนในด้านการบริหารงานบุคคลอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะในเรื่องของงบประมาณ สวัสดิการ ความเป็นอยู่ ตลอดจนคำชมเชยยกย่องเมื่อเขาทำดี เป็นต้น

คน... ตัวจักรสำคัญในการเปลี่ยนแปลง

องค์กรที่อยู่ในระดับยอดเยี่ยม ที่มีทั้งระบบไฮเทคและไฮทัช ต้องยอมรับว่าที่เป็นเช่นนั้นเพราะคนคือตัวจักรสำคัญ เพราะถ้าไม่มีคนเข้าไปจัดการ สิ่งเหล่านี้ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย

กิตติรัตน์ ณ ระนอง รองผู้อำนวยการฝ่ายวิชาการ สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจศศินทร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ถ้าใครที่เข้าไปที่กรมการกงสุล จะพบว่า การบริการ การจะเลี้ยวซ้ายเลี้ยวขวา บัตรคิวต่างๆ จนกระทั่งชำระเงิน หรือเมื่อชำระแล้วเกิดความไม่สะดวกที่จะมารับหนังสือเดินทาง เพราะอยู่ต่างจังหวัด เขาก็ส่งจดหมายไปให้ถึงบ้านได้โดยการชำระค่าจัดส่ง

แม้แต่สำนักงานเขตต่างๆ ที่เดี๋ยวนี้เมื่อเข้าไปทำบัตรประชาชน ถ่ายรูปเสร็จแล้ว เขาบอกว่ามาดูหน่อยไหม หล่อไหม ถ้าไม่หล่อ ไม่พอใจก็ถ่ายใหม่ได้ และเสร็จในเวลาอันรวดเร็ว จนกระทั่งผู้ใช้บริการมองว่าเร็วขนาดนี้หรือ

“นี่เป็นตัวอย่างว่าที่ผมคิดว่ามันเกิดมาจากคน ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะต้องเกิดจากผู้บริหารทรัพยากรบุคคลเท่านั้น แต่ว่า...คนที่ทำงานร่วมกับคน และทำให้คนเกิดแรงบันดาลใจ เกิดความอยากที่จะเอาชนะกับความคาดหวังที่คนจะพึงมี หรือไม่แน่อาจอยากเอาชนะกรมการกงสุลประเทศอื่นๆ หรือเอาชนะการให้บริการในสำนักงานเขตในจังหวัดอื่น ประเทศอื่น แต่จุดสำคัญที่สุดคือ อยากให้งานออกมาดี และงานจะออกมาดีต้องเอาชนะความคาดหวังอันเป็นธรรม”

เพราะฉะนั้น คนหรือทรัพยากรบุคคล จึงเป็นตัวจักรสำคัญในการให้เกิดความเปลี่ยนแปลง ซึ่งคนที่เป็นซีอีโอจะต้องใช้ทุกมุมทุกจุดในองค์เป็นเครื่องสนับสนุนในการเปลี่ยนแปลงในองค์กร

การบริหารเอชอาร์ให้ประสบความสำเร็จ

อย่างไรก็ตาม การบริหารทรัพยากรบุคคล หากจะให้ประสบความสำเร็จต้องขึ้นกับหลายๆ ปัจจัยประกอบกัน โดยเฉพาะผู้นำหรือผู้บริหารที่เป็นผู้นำขับเคลื่อนองค์กร ซึ่งนอกจากจะเป็นผู้รอบรู้ มีวิสัยทัศน์แล้ว ยังต้องมีความสามารถพิเศษอีกหลายๆ อย่างประกอบด้วย

โชค บูลกุล กรรมการผู้จัดการกลุ่มบริษัท ฟาร์มโชคชัย กล่าวว่า ผู้นำที่ดีควรจะต้องเป็นนักจิตวิทยาและเป็นผู้ที่ดึงเอาศักยภาพของคนในองค์กรออกมาใช้ ทั้งยังเป็นผู้ที่สร้างแรงกดดันที่ดีต่อคนในองค์กรเพื่อให้เขาเกิดแรงบันดาลใจหรือเกิดความฮึกเหิมศรัทธาต่อองค์กร ซึ่งหากการสร้างคนในองค์กรให้เกิดแรงบันดาลใจหรือเกิดความศรัทธาได้แล้ว องค์กรก็จะประสบความสำเร็จ

ในหลักการคือจะต้องนำเอาคนที่มีประสบการณ์ที่ดีในองค์กรมาพูดคุยกันเพื่อให้เกิดวัฒนธรรมที่ดีอันจะเป็นบรรทัดฐานของการพัฒนาในองค์กร

“อย่างในองค์กรของผม เราอยากจะทำทุกอย่างอย่างที่เราคิดและกำหนดขึ้นมา แต่เราจะเริ่มต้นจากการสังเกตให้ออกก่อน ว่า อะไรคือจุดอ่อน อะไรคือจุดแข็งของธุรกิจ ถ้าเป็นจุดอ่อนก็พยายามผลักออกไป ที่เป็นจุดแข็งก็เอาไปขยายผล และเอาจุดแข็งนั้นมาสร้างเป็นบรรทัดฐานให้กับเอชอาร์ในองค์กรต่อไป”

ทำให้เขาเห็นตามและกล้าเปลี่ยนแปลง

คนที่เป็นผู้บริหารจะรู้เลยว่า เอชอาร์เป็นหัวใจสำคัญขององค์กรขนาดใหญ่ทั้งของรัฐและเอกชน และในเรื่องของการเป็นเอชอาร์ของรัฐนั้นจะมีข้อจำกัดในการบริหารเยอะ อีกทั้งวัฒนธรรมขององค์กรก็มักจะอ่อนไหว ส่วนใหญ่เอชอาร์ในองค์กรของรัฐจะทำงานคล้อยๆ กับเป็นผู้สื่อสารจากข้างบนลงมาสู่ข้างล่างมากกว่าจะเป็นผู้บริหารเสียเอง และเป็นเรื่องยากมากคุณที่จะให้ใครออกได้ง่ายๆ มีอย่างเดียว คือจะต้องทำให้เขาเห็นด้วยและไปกับผู้นำให้ได้

กรพจน์ อัศวินวิจิตร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวว่า การปรับหรือยกระดับบุคคลนั้นต้องเข้าใจว่าองค์กรของรัฐต้องให้โอกาสคนทุกคนไม่เฉพาะคนที่มีโอกาส ต้องให้เขาได้มีโอกาสแสดงศักยภาพ แสดงผลงานของเขา แล้วก็เอาความสามารถของเขานั้นเข้ามาเปล่งประกายให้ได้

เมื่อเราทำให้เขาได้เกิดความรู้สึกว่าได้รับโอกาสเท่าเทียมกันแล้ว องค์กรที่ทุกคนได้รับโอกาสอย่างนั้นก็จะเดินต่อไปพร้อมกัน ทำให้เขาได้มีความรู้สึกว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงแล้วเขาไม่ถูกทอดทิ้งหรือถูกเลือกปฏิบัติ นี่เป็นหลักหัวใจสำคัญขององค์กรของรัฐหรือองค์กรขนาดใหญ่ ซึ่งถ้าทำได้อย่างนั้นในเวลาที่สั้นและรวดเร็วก็เท่ากับคุณคุมเกมได้เบ็ดเสร็จ หลังจากนั้นก็จะเป็นการเดินต่อไปในลักษณะแข็งแรง มั่นคง และยั่งยืน

กรพจน์ บอกว่า การจัดสรรทรัพยากรบุคคลให้เหมาะกับงาน เหมาะกับโอกาส จังหวะ ถูกกับความต้องการในขณะนั้นถือเป็นส่วนที่สำคัญมาก ซึ่งหากเมื่อทำได้อย่างนั้น องค์กรนั้น ประเทศนั้น ก็มีโอกาสสูงที่จะก้าวไปข้างหน้าได้ดีและเร็วด้วย

สิ่งสำคัญคือ ในการยกระดับบุคลากรกับการปรับองค์กร ไม่ว่าในระดับองค์กรหรือระดับประเทศ ต้องปรับทุกระดับ มิใช่ปรับเฉพาะองค์กรที่มีโอกาส ไม่ว่าจะเป็นพวกแรงงาน คนชั้นกลาง ชั้นบริหาร ระดับปกติ หรือระดับสูงสุด ถ้าเราสามารถเคลื่อนขบวนและยกระดับขบวนการได้จริงแล้ว ก็จะเป็นประโยชน์ต่อองค์กรมาก

คนที่จะเข้ามาดูแลเอชอาร์หรือคนที่เข้ามาบริหารทรัพยากรบุคคลจะต้องรู้จักเตรียมตัว วางแผน และจะต้องผลิตคนให้เข้ากับสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กรหรือประเทศได้ในช่วงจังหวะเวลาที่เหมาะสมและทันการณ์ด้วย ที่สำคัญต้องไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงเมื่อถึงคราวที่ต้องเปลี่ยน แต่ควรแสดงความกล้าและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างมีสติและรอบคอบที่สุด

 

ที่มา : jobjob.co.th

อัพเดทล่าสุด