ข้อแนะนำ การทำ Resume


1,450 ผู้ชม


ข้อแนะนำ การทำ Resume




    ในการเขียน Resume นั้น มีปัจจัยหลายประการที่จำเป็นในการที่จะทำให้ Resume ของคุณนั้นมีพลังในการดึงดูดใจ  ต่อไปนี้จะเป็นแนวทางที่อธิบายถึงหัวข้อที่สำคัญใน Resume

ทำหน้าตาให้น่าสนใจ

          พยายามทำ Resume ให้ดึงดูดความสนใจด้วยการจัดทำด้วยรูปแบบ(Format)เดียวกันตลอดทั้งฉบับ    การพิมพ์ให้ใช้ตัวย่อหน้า(Tab)แทนที่จะเป็นการเคาะ(Space)  การนำเสนอให้จัดเรียงเป็นลำดับและเป็นรูปแบบเดียวกัน  เช่น หากต้องการให้หัวข้อเรื่องเป็นตัวเข้ม(Bold)และวางอยู่กลางหน้ากระดาษ(Center)  ก็ควรจะทำให้ทุกหัวข้อมีรูปแบบ(Format)เดียวกัน   หรือ กรณีที่กล่าวถึงประวัติการทำงาน  หากจะเริ่มต้นด้วยการวางชื่อของบริษัทไว้อยู่ด้านล่างของช่วงระยะเวลาการทำงาน  ก็ควรจะวางในรูปแบบเดียวกันกับประวัติการทำงานกับบริษัทอื่นๆที่เหลือ   หรือกรณีที่กล่าวถึงระยะเวลาการทำงานโดยระบุปีที่ทำงานสำหรับในแต่ละตำแหน่งงาน  ก็ไม่ควรจะระบุเดือนสำหรับตำแหน่งงานที่เหลือ    เมื่อทำเสร็จแล้ว ก็ควรจะตรวจดูรูปแบบทั้งหมดว่าเป็นรูปแบบเดียวกันโดยตลอด   เพราะคนหางานจำนวนไม่น้อยที่มักจะทำผิดพลาดด้วยการทำ Resume แบบลวกๆ  หรืออ่านยาก  ควรจะเริ่มต้นด้วยการเขียนชื่อนามสกุลของคุณด้วยการใช้ตัวอักษรเข้ม(Bold)และตัวใหญ่(Capitalize)ด้วยตัวอักษรขนาดไม่น้อยกว่า 16 จุด(Points)  ให้ใส่ที่อยู่ไว้ในจุดที่น่าสนใจ  ตัวอย่างเช่น นำที่อยู่ไว้ด้านล่างของชื่อ  โดยให้ทั้งชื่อและที่อยู่วางไว้จุดกึ่งกลางของกระดาษ

  

แล้วให้เว้นชื่อและที่อยู่นั้นไว้ 1 บรรทัดแยกต่างหากจากส่วนที่เป็นเนื้อหาของ Resume
มุ่งให้เห็นวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน
          ชี้ให้เห็นถึงวัตถุประสงค์(Objective)ที่ชัดเจนและคนอ่านไม่ต้องคาดเดา  วางหัวข้อวัตถุประสงค์นี้ไว้โดยใช้ตัวพิมพ์ใหญ่และตัวเข้ม
ตัวอย่างที่ใช้ไม่ได้/น่าเบื่อ/ขาดความน่าสนใจอย่างสิ้นเชิง
วัตถุประสงค์  ต้องการหางานที่สามารถใช้ประสบการณ์และความรู้เพื่อความมั่นคงและเติบโตในตำแหน่งงาน
ตัวอย่างการเขียนวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนและน่าสนใจ
วัตถุประสงค์ :  ประสบการณ์ห้าปีในงานตัวแทนบริการลูกค้า(Customer Service Representative)ในธุรกิจอุตสาหกรรมยานยนต์ต้องการหาตำแหน่งงานฝ่ายขายในธุรกิจที่เป็นตัวแทนจำหน่ายรถยนต์
 
คุณสมบัติ(Qualification)
          ให้ใส่คุณสมบัติ  ทักษะความชำนาญหลักๆที่มีอยู่และตรงกับความต้องการในตำแหน่งงานที่สมัคร  และควรจะระบุช่วงเวลาของประสบการณ์นั้นๆด้วย  โดยให้ระบุประเภทของประสบการณ์ให้ชัดเจน เช่น ฝ่ายขาย  ฝ่ายบริการลูกค้า  นอกจากนี้หากมีใบอนุญาต หรือประกาศนียบัตร หรือวุฒิการศึกษาที่เกี่ยวข้องก็ให้ระบุเข้าไปด้วย
 
คุณลักษณะส่วนตัว
          ให้ใส่ทักษะ หรือคุณลักษณะส่วนตัวอื่นๆที่ไม่ใช่เรื่องหลักแต่เหมาะสมกับตำแหน่งงานที่สมัครเข้าเป็นส่วนประกอบด้วย  แต่ทั้งนี้ จะต้องไม่ขัดหรือแย้งกับคุณสมบัติหลัก  ซึ่งอาจรวมถึงทักษะในการสื่อสารได้ดี    มีความสามารถในการบริหารเวลา   การทำงานร่วมกับผู้อื่นได้ดี   การทำงานเป็นทีม   การแก้ไขปัญหา  ความเชื่อมั่นในตนเอง   ความอดทน และอื่นๆ
 
ประสบการณ์
          ให้นำเสนอว่าเคยทำงานที่ไหน  ตำแหน่งอะไร  ระยะเวลาเท่าใด  ทำให้เห็นว่าตำแหน่งงานนั้นเกี่ยวกับอะไร  มีความรับผิดชอบอะไรบ้าง  และรายงานต่อใคร(ใครคือผู้บังคับบัญชา)  หรือเคยเป็นหัวหน้างาน  หรือเคยเป็นผู้ฝึกสอนใคร   หรือใครเป็นลูกค้าบ้างและการติดต่อสัมพันธ์กับลูกค้าเป็นเช่นไร    หรือมีโครงการอะไรที่เคยทำบ้าง  ถ้าเคยเป็นคนดูแลเรื่องการเงินหรืองบประมาณก็ให้ระบุไปด้วย   หรือถ้าเคยกู้ข้อมูลในคอมพิวเตอร์ และอื่นๆ
 
ทักษะ
          ถ้ามีทักษะความชำนาญด้านเทคนิค  เช่น มีความชำนาญด้านระบบคอมพิวเตอร์   การซ่อมรถ  การวิจัยและพัฒนา หรืออื่นๆ    ควรจะต้องใส่สิ่งเหล่านี้เข้าไปด้วยการเน้นให้เห็นว่า ได้ใช้ทักษะเหล่านี้มาอย่างไรบ้าง   หรือถ้ามีทักษะพิเศษด้านคอมพิวเตอร์   ก็ควรจะแยกออกมาทักษะนี้เป็นหัวข้อต่างหาก   โดยใช้หัวข้อว่า ทักษะด้านคอมพิวเตอร์  แล้วก็ระบุรายละเอียด  มีทักษะคอมพิวเตอร์ด้านไหนอะไรบ้าง
 
ความสำเร็จ(ผลงาน)
          ทำให้เห็นว่าคุณสามารถทำให้การทำงานของคุณเกิดความแตกต่างในทางที่ดีขึ้นได้อย่างไร  เช่น การที่สามารถปรับปรุงงานให้ดีขึ้น   ลดขั้นตอนการทำงานและมีประสิทธิภาพ  สามารถฝึกสอนให้พนักงานใหม่สามารถเข้าใจในระบบคอมพิวเตอร์และใช้งานได้   หรือเป็นผู้เริ่มหน่วยงานใหม่ๆ เป็นต้น  ทั้งนี้ ความสำเร็จเหล่านี้อาจใส่รวมไว้ในการเขียนประสบการณ์ทำงานในแต่ละตำแหน่ง   หรือแยกออกเป็นหัวข้อต่างหากเป็น หัวข้อ ผลงาน หรือความสำเร็จ
 
ความชำนาญด้านเทคนิค(Technical Expertise)
          นี่คือหัวข้อสำคัญมากที่จะแสดงให้เห็นถึงความชำนาญและเป็นมืออาชีพด้านเทคโนโลยี  ควรจะใส่เรียงลำดับกันไป  เช่น Hardware, Software,Operating System, Protocals, Programming Language, Website Development......
 
ใบอนุญาต/ประกาศนียบัตร
          สำหรับในบางตำแหน่งงานแล้ว   หัวข้อนี้เป็นสิ่งที่จำเป็นเพราะหากไม่มีแล้วจะไม่สามารถปฏิบัติงานนั้นๆได้เลย เช่น เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยระดับวิชาชีพ วิศวกร แพทย์  พยาบาลเป็นต้น
 
การศึกษา
          หัวข้อนี้ก็เช่นเดียวกับใบอนุญาตหรือใบประกาศนียบัตร   เพราะตำแหน่งงานส่วนใหญ่มักจะต้องการคนที่มีความรู้   เพราะใบอนุญาตหรือใบประกาศนียบัตรบางอย่างจะต้องได้รับการฝึกจากสถาบันที่ได้รับการรับรอง  เช่น  เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงานระดับวิชาชีพจะต้องได้รับการฝึกอบรมจากสถาบันและระยะเวลาที่กำหนด 
          หากว่าคุณมีประสบการณ์แต่ไม่ได้ผ่านการฝึกอบรมจากสถาบันที่กำหนด  ก็ให้ใส่การศึกษาไว้ด้านล่าง  หรือถ้าคุณกำลังศึกษาอบรมหรือกำลังจะสอบผ่านสถาบันที่กำหนด  ก็ให้ใส่สถาบันไว้ด้านบน   หลักก็คือพยายามขายตัวเองในจุดที่เด่นที่สุดของตนเอง  ถ้าคุณมีระดับการศึกษาสูงกว่าที่กำหนด  ก็ควรใส่การศึกษาไว้ด้านบนเพราะนั่นคือสิ่งที่จำเป็นสำหรับงานนั้น
 
การมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับตำแหน่งงาน
          ถ้าคุณเคยเป็นสมาชิกขององค์กรใดเป็นระยะเวลานานและคุณคิดว่าจะมีส่วนช่วยทำให้คุณดูดีขึ้น ก็ให้ใส่เข้าไปด้วย  แล้วก็ให้ใส่ว่าเป็นสมาชิกอยู่นานเท่าใด  และถ้าคุณมีตำแหน่งหรือเคยมีบทบาทหรือรับผิดชอบอะไร  ก็ให้ใส่ไว้ด้วย  สำหรับคนที่เพิ่งจบการศึกษา คุณอาจจำเป็นต้องใส่ว่า คุณมีส่วนในโครงการใดบ้าง  เพราะจะเป็นสิ่งที่จะแสดงให้เห็นว่าคุณมีลักษณะเป็นผู้นำ  มีศักยภาพในการทำงานร่วมกับผู้อื่นเพียงใด  แต่เมื่อคุณมีประสบการณ์ทำงานแล้ว  คุณก็ไม่จำเป็นต้องใส่รายละเอียดเกี่ยวกับเรื่องเหล่านี้เข้าไปอีกให้มันมากมาย  เพราะคุณมีข้อมูลอื่นๆที่น่าสนใจมากกว่าที่จะใส่เข้าไปแล้ว
 
ทักษะด้านคอมพิวเตอร์
          ถ้าคุณทำงานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ  ให้ไปใส่ไว้ในหัวข้อทักษะความชำนาญด้านเทคนิค  สำหรับหัวข้อนี้อาจใส่ว่าสามารถใช้โปรแกรมอะไรได้บ้าง  โดยไม่ต้องระบุว่า มีความเชี่ยวชาญมากน้อยขนาดไหน  ไม่จำเป็นต้องใส่ว่า ใช้อีเมล์  อินเตอร์เน็ท  ใช้เครื่องโทรสาร หรือใช้เครื่องคิดเลข เข้าไปด้วยในหัวข้อนี้   เพราะเป็นสิ่งที่เขาคาดว่าคุณจะต้องทำได้อยู่แล้ว
 
การอ้างอิง
          หัวข้อนี้ไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นนัก  เพราะคุณสามารถที่จะนำสำเนาเอกสารของสิ่งที่คุณจะอ้างอิงมอบไว้ให้กับผู้สัมภาษณ์ภายหลังการสัมภาษณ์ได้  หากคุณรู้สึกว่างานที่คุณได้สัมภาษณ์นั้นน่าสนใจ  เพราะการใส่หัวข้อนี้เข้าไปดูเป็นเรื่องเก่าโบราณเต็มที  ซึ่งน่าจะใช้สำหรับผู้ที่กำลังเริ่มหางานเป็นครั้งแรกเท่านั้น  แต่หากว่าคุณมีเอกสารการอ้างอิงอยู่มากมายและคุณคิดว่าจะทำให้คุณดูน่าสนใจเป็นพิเศษ  คุณก็อาจจะบอกไปเลยว่า คุณมี Portfolio  ของเอกสารการอ้างอิงจากบุคคลต่างๆ หรือเอกสารการอ้างอิงถึงความเป็นผู้เชี่ยวชาญเป็นพิเศษของคุณก็ได้
 
 
ที่มา : สมาชิก HR

อัพเดทล่าสุด