HR Solutions : พนักงานชอบตีกันในงานจัดเลี้ยง


812 ผู้ชม


HR Solutions : พนักงานชอบตีกันในงานจัดเลี้ยง




Q
       พนักงานทั้งโรงงานมี 1,000 กว่าคน แต่เป็นผู้ชายมากกว่าครึ่ง จัดงานเลี้ยงทีไรมีการตีกันทุกปี ทำอย่างไรจะให้เลิกตีกัน - โกศล ปากน้ำ
       
       A
       คำถามของคุณโกศลตอบง่ายมากครับว่า ถ้าอยากให้เลิกตีกันก็เลิกจัดงานไปเลยครับ ที่ผมตอบอย่างนี้ไม่ใช่ว่าจะกวนโมโหคุณโกศล แต่ผมไม่เคยได้ยินใครบอกผมเลยว่า จัดงานปีนี้ไม่มีการกระทบกระทั่งกันเลย ทุกคนดื่มกินกันอย่างเรียบร้อย ถ้อยทีถ้อยอาศัยกัน กินกันอย่างมีความสงบสุข แม้แต่บริษัทที่มีผู้หญิงล้วนก็ตาม ก็ยังมีกระทบกระทั่งกันมากบ้างน้อยบ้าง
       
        ดังนั้น หากจะจัดงานเลี้ยงที่มีความมันส์ถึงขีด ก็ต้องทำใจว่าต้องมีเรื่องแน่ แต่เจะทำอย่างไรให้ลดโอกาสเกิด หรือเกิดแล้วจะต้องสามารถจัดการปัญหาได้ในเวลาอันรวดเร็วและเงียบเชียบ ผมจึงไม่มีข้อคิดเห็นเกี่ยวกับการทำอย่างไรไม่ให้พนกงานตีกัน แต่ผมพอจะมีแนวทางที่จะช่วยลดโอกาสที่จะเกิด และมาตรการที่จะแก้ปัญหาได้ทันต่อเหตุการณ์ โดยมองเป็นสองอย่างคือการลดความเสี่ยง และการกำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัยที่พร้อม
       
        อย่างแรกคือการลดความเสี่ยง จะต้องทำต่อเนื่องกันตลอดทั้งปี โดยเน้นกิจกรรมที่สร้างความสัมพันธ์ข้ามสายงาน จะให้เวลามากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับว่าบรรยากาศความสัมพันธ์ที่เป็นอยู่ตอนนี้เป็นอย่างไร ถ้าดีกรีแรงมาก ก็อาจจะเน้นไปในหน่วยงานที่มีปัญหากันหนักๆหน่อย แล้วก็ปลูกฝังบรรยากาศการอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์ หาโอกาสให้กลุ่มที่มีปัญหาไปทำกิจกรรมอะไรเพื่อสังคมร่วมกัน แล้วเอามาประชาสัมพันธ์เพื่อให้เกิดความรู้สึกภูมิใจ ผูกพันกัน แล้วจะต้องมีการติดตามอยู่ตลอดเวลา
       
        ในการทำงานปกติยังมีการกระทบกระทั่งกันอยู่หรือไม่ ถ้ามี จะต้องเข้าไปดูสาเหตุของการขัดแย้งกัน แล้วรีบจัดการให้อยู่ในระดับที่ไม่รุนแรง หรือฝังตัวนาน แล้วพอใกล้ถึงเทศกาลที่จะต้องจัดงาน ก็มาดูอีกครั้งว่า บรรยากาศเป็นอย่างไร หากสถานการณ์ไม่น่าเป็นห่วง รูปแบบการจัดงาน เราก็ว่ากันได้เต็มที่ แต่ถ้ายังมีเหตุการณี่เป็นการจุดชนวนอยู่ เราคงต้องคุยกับทีมที่จะจัดงานว่า ต้องปรับลดความหวือหวาลง เช่น โทนอารมณ์ของงานให้มันมีความมันส์น้อยลง หรือ จัดกีฬาฮาเฮที่ทุกคนได้เล่น แล้วก็ออกแรงกันอย่างเต็มที่จนแรงหมดกว่าจะถึงงานเลี้ยง หรือ อาจลดปริมาณความแรงของเครื่องดื่มมึนเมาให้อยู่แต่พอประมาณ
       
        อย่างที่สองคือกำหนดมาตรการดูแลความปลอดภัย โดยต้องเริ่มจากการวางโครงสร้างคณะกรรมการความปลอดภัย เราควรใช้บารมีหัวหน้าในแต่ละพื้นที่เข้ามาใช้ให้เป็นประโยชน์ ด้วยการดึงมาให้ร่วมกันรับผิดชอบในเรื่องการรักษาความปลอดภยในงานร่วมกัน จากนั้นก็ต้องการเตรียมทีมและแผนรักษาความปลอดภัยให้ชัดเจน โดนทีมจะต้องประกอบด้วยคนของเรา เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย และเจ้าหน้าทหารหรือตำรวจแล้วแต่เราจะนำมา เมื่อได้ทีมรักษาความปลอดภัยแล้ว เราก็ต้องทำแผนฉุกเฉิน มีแผนการระงับเหตุโดยจะต้องกำหนดว่า มื่อมีเหตุเกิดขึ้น เบื้องต้นเป็นใครที่เข้าชาร์จ แล้วถ้าเอาไม่อยู่จะเป็นใครต้องรับมือต่อ ซึ่งส่วนใหญ่จะเริ่มจากการให้หัวหน้างานโดยตรงเข้าไปช่วยเคลียร์ก่อน แล้วให้ตำรวจหรือทหารที่เราเชิญคอยสนับสนุนถ้าหากว่าภายในยังไม่สามารถทำให้สถานการณ์คลี่คลายได้ ก็ต้องปล่อยให้เจ้าหน้าที่เข้ามาจัดการตามกระบวนการกฎหมาย ซึ่งหลายบริษัทจะนำรถที่ไว้ขนนักโทษ มีลักษณะเป็นกรงขังมาวางพร้อมติดป้ายไว้ว่า "ห้องดัดนิสัยลูกผู้ชาย" เป็นต้น การเข้าออกงานควรให้เข้าออกทางเดียว เพื่อให้ง่ายต่อการค้นหาอาวุธ ตรวจสอบอาวุธ ข้อสำคัญ จะต้องใช้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยหญิงมาตรวจค้นนักงานหญิงด้วย เพราะหลายครั้งที่พวกที่ชอบมีเรื่อง มักจะอาศัยความที่เราไม่ค่อยเข้มงวดตรวจค้นพนักงานหญิง แอบฝากอาวุธให้เข้ามานอกจากนี้ ควรจะเตรียมอุปกรณ์การสื่อสารที่ฉับไวให้พร้อม
       
        นอกจากนี้ยังมีเรื่องปลีกย่อยอื่นๆที่พลาดไม่ได้ และจะทำให้การควบคุมความปลอดภัยในงานรัดกุมมากยิ่งขึ้น ได้แก่ ควรกำหนดแบล็คลิสต์ผู้ที่ต้องจับตาเป็นพิเศษ มีการวางผังที่นั่งในงานให้ลดการกระทบกระทั่งกัน การกระจายการวางทีมควบคุมความปลอดภัย การจัดให้มีแสงสว่างอย่างเพียงทั้งในงานและในจุดล่อแหลม นอกจากนี้ การควบคุมครื่องดื่มให้อยู่แต่พอประมาณ ก็ช่วยได้บ้าง และเมื่อหลังงานเลิกก็อย่าเพิ่งวางใจ เพราะอาจจะมีพวกเจ้าคิดเจ้าแค้นเล่นไม่เลิก รอจังหวะที่งานเลิกแล้วการดูแลความปลอดภัยหละหลวม แล้วเข้าไปเล่นงานคู่อริ เช็คลิสต์ ระหว่างงานการจัดวางคน การวางกำลังสนับสนุน การใหแสงสว่าง การจัดให้มีเครื่องดื่ม การจัดวงดนตรี หลังงานเลิก การติดตาม
       
        ท่านสามารถส่งคำถามหรือร่วมแสดงความคิดเห็นที่ dilok_tue@yahoo ด้วยความร่วมมือจากสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย
       
        หมายเหตุ ขออภัยในความผิดพลาดในหัวข้อสัปดาห์ที่แล้วควรเปลี่ยนชื่อเรื่องเป็น"เมื่อต้องจัดงาน HR Forum"

 

โดย ผู้จัดการรายสัปดาห์


อัพเดทล่าสุด