กลยุทธ์ 'บริหารผลตอบแทน' ลูกจ้าง ให้มากกว่า เงินเดือน-โบนัส


784 ผู้ชม


กลยุทธ์ 'บริหารผลตอบแทน' ลูกจ้าง ให้มากกว่า เงินเดือน-โบนัส




กลยุทธ์ ''บริหารผลตอบแทน'' ลูกจ้าง ให้มากกว่า เงินเดือน-โบนัส

วรนุช เจียมรจนานนท์
เฮย์กรุ๊ป พบว่า ผลตอบแทนหลักของพนักงานขณะนี้ไม่ได้ขีดวงจำกัดเฉพาะเงินเดือนและโบนัสเท่านั้น แต่องค์กรยังมีการวางกลยุทธ์ "บริหารผลตอบแทน" ทั้งในรูปตัวเงินและแรงจูงใจอื่นๆ เช่น ผลตอบแทนพิเศษ หากพนักงานแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ให้องค์กรอีกด้วย

สะท้อนถึงความแข็งแกร่งในการบริหารจัดการคนขององค์กร

"อนุชิต วีรศิริยานนท์" ผู้จัดการด้านการบริหารผลตอบแทนประจำประเทศไทย บริษัท เฮย์กรุ๊ป จำกัด ที่ปรึกษาการบริหารจัดการองค์กร เปิดเผยว่า จากผลการสำรวจการบริหารค่าตอบแทนของเฮย์กรุ๊ป พบว่า ในขณะนี้องค์กรพยายามสร้างความเท่าเทียมกันของการให้รางวัลพนักงาน ทั้งในรูปแบบของตัวเงิน สวัสดิการ ความก้าวหน้าในงานและสภาวะแวดล้อมในการทำงานที่ดี

ผลตอบแทนหลักของพนักงานจึงไม่มีเฉพาะเงินเดือนและโบนัสเท่านั้น ถือเป็นแนวโน้มในการบริหารจัดการคนขององค์กร

โดยผู้บริหารระดับสูงและกลุ่มบุคคลที่องค์กรมองว่ามีศักยภาพ จะได้รับการผลักดันให้เกิดความรู้สึกร่วมที่ดีกับองค์กร สร้างทัศนคติที่ดีในการร่วมแรงร่วมใจกันทำงานเพื่อบรรลุวัตถุประสงค์หลักขององค์กร

รวมถึงโครงการต่างๆ ที่เกิดขึ้น จะถูกเชื่อมโยงเข้าหากันอย่างค่อยเป็นค่อยไป ในรูปของการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value Chains) และแนวคิดของการเป็นเจ้าของ (Entrepreneurial concept) โดยภาพเดิมๆ ขององค์กรแบบลำดับชั้นได้ถูกทำให้กระชับขึ้น มีสายบังคับบัญชาสั้นลง

ส่วนประเด็นของความก้าวหน้าในอาชีพ มีการขยับทั้งในแนวตั้งและแนวนอนตามความถนัดของพนักงาน

คือ ถ้าถนัดในการเชื่อมโยงวิสัยทัศน์เข้าสู่วิธีการปฏิบัติ ก็จะเป็นการก้าวหน้าทางแนวนอน ส่วนการสร้างสรรค์ความเป็นผู้นำขององค์กรก็จะเป็นการก้าวหน้าแบบแนวตั้ง

"การดึงคนที่มีศักยภาพขององค์กรชั้นนำระดับโลก ส่งผลให้องค์กรขนาดกลางต้องปรับเปลี่ยนการบริหารบุคคลให้มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเชื่อมโยงกับกลยุทธ์หลักขององค์กร เช่น ถ้าองค์กรต้องการขยายกิจการอย่างรวดเร็ว ก็ต้องมีมาตรการที่เข้มข้นที่จะแข่งขันกับองค์กรอื่น

ถ้าองค์กรเน้นที่จะรักษาส่วนแบ่งการตลาดก็ต้องหลีกเลี่ยงที่จะแข่งขันทางด้านผลตอบแทน โดยมุ่งเน้นที่ความเท่าเทียมกัน” อนุชิต กล่าว

เขามองว่า เงินเดือนและโบนัสไม่ใช่ปัจจัยหลักในการสร้างความผูกพันระหว่างคนกับองค์กร แต่เป็นวัฒนธรรมและความสามารถด้านการจัดการของผู้บริหาร ที่เป็นเครื่องบ่งชี้ระดับความผูกพันที่คนมีต่อองค์กร

ผลสำรวจของเฮย์กรุ๊ปยังพบว่า ผลตอบแทนโดยรวมทั้งในรูปแบบของเงินเดือน โบนัส และสวัสดิการของพนักงานทั่วไปจนถึงผู้บริหารชั้นต้น ของกลุ่มธุรกิจน้ำมันนำมาเป็นอันดับหนึ่ง ตามมาด้วยกลุ่มธุรกิจพลังงาน ปิโตรเคมี ธนาคาร และสินค้าอุปโภคบริโภค

ขณะที่ผู้บริหารระดับสูงกลุ่มธนาคารถือเป็นแชมป์ที่ได้รับผลตอบแทนรวมสูงสุด ตามมาด้วยกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค โรงงานอุตสาหกรรม และน้ำมัน

"ในกลุ่มบริษัทชั้นนำจะบริหารผลตอบแทนพนักงานอย่างมีระบบ โดยเน้นที่ความเท่าเทียมตามความรับผิดชอบและผลงานที่ผ่านๆ มา พร้อมทั้งมุ่งพัฒนาศักยภาพของพนักงานอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่ผลตอบแทนโดยรวมจะเติบโตแบบก้าวกระโดดสำหรับพนักงานที่พัฒนาตัวเองได้เร็ว"

สำหรับแนวโน้มอัตราการขึ้นเงินเดือนเฉลี่ยของพนักงานทุกระดับจะอยู่ที่ระดับ 6.7% และโบนัสรวมเฉลี่ยคือ 3 เท่าของเงินเดือน โดยผู้บริหารระดับสูงจะได้โบนัสโดยรวมสูงกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย

ส่วนแนวโน้มการย้ายงานจะลดลงเหลือประมาณ 7.5% เนื่องจากความกังวลด้านความมั่นคงของงานใหม่ ทำให้ต้องคิดหลายรอบก่อนเปลี่ยนงาน

สำหรับองค์กรที่ผลประกอบการแย่ลงหรือทรงตัวจะปรับเงินเดือนขึ้นเท่ากับปีที่ผ่านมา ขณะที่องค์กรที่ผลประกอบการดีมากๆ จะปรับสูงกว่าตลาดรวมเล็กน้อย โดยเน้นให้ผลตอบแทนตามผลงานเป็นหลัก และองค์กรที่กำลังเติบโตในตลาดโลกจะเน้นรับพนักงานที่มีศักยภาพสูงจากหลากหลายอุตสาหกรรม เพื่อนำมาหล่อหลอมให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่ง แล้วจึงผลักดันให้ใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่

เฮย์กรุ๊ปได้สำรวจบริษัทชั้นนำ 130 แห่ง จาก 8 ธุรกิจในไทย ได้แก่ สถาบันการเงิน เคมี น้ำมัน ค้าปลีก พลังงาน ระบบสาธารณูปโภค สินค้าอุปโภคบริโภค โรงงานอุตสาหกรรม และบริการ ส่วนใหญ่เป็นองค์กรขนาดกลางและใหญ่ มีจำนวนพนักงานมากกว่า 300 คน มีรายได้ต่อปีมากกว่า 1,000 ล้านบาท

ด้าน "ทายาท ศรีปลั่ง" กรรมการผู้จัดการ บริษัท วัทสัน ไวแอท (ประเทศไทย) ที่ปรึกษาทางด้านการจัดการองค์กรประเมินแนวโน้มการขึ้นเงินเดือนและโบนัสว่าโดยเฉลี่ยการขึ้นเงินเดือนจะอยู่ที่ 6.31% ต่อปี สูงขึ้นเล็กน้อยเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาซึ่งอยู่ที่ 6.22%

อย่างไรก็ตามหากพิจารณาในแง่ของการขึ้นเงินเดือนที่แท้จริง โดยนำอัตราเงินเฟ้อเข้ามาคำนวณจะพบว่าอัตราการขึ้นเงินเดือนที่แท้จริงลดลงมาตลอดช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดอยู่ที่ 1.8% เท่านั้น หากพิจารณาตามขนาดของกิจการจะพบว่า ธุรกิจขนาดเล็ก (รายได้น้อยกว่า 100 ล้านบาทต่อปี) เป็นกลุ่มที่มีอัตราการขึ้นเงินเดือนสูงที่สุดที่ 8.77% เหตุผลประการหนึ่งก็คือการที่บริษัทขนาดเล็กต้องจูงใจเพื่อดึงดูดและรักษาพนักงานไว้

เมื่อพิจารณาตามประเภทของกิจการ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน (Energy and Petroleum Products) เป็นกลุ่มที่มีการขึ้นเงินเดือนในอัตราสูงที่สุดคือเฉลี่ย 9% รองลงมาคือกลุ่มผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค (8.98%) และกลุ่มธุรกิจบันเทิง (7.38%) ตามลำดับ ขณะที่ในกลุ่มที่มีการขึ้นเงินเดือนต่ำที่สุดคือ กลุ่มอุตสาหกรรมด้านการขนส่ง (Logistics and Transportation) (4.74%)

สำหรับการจ่ายโบนัสในปีที่ผ่านมา ค่าเฉลี่ยของการจ่ายโดยรวมอยู่ที่ 2.5 เดือน ลดลงจากปีก่อนที่มีอัตราการจ่ายโบนัสโดยรวมที่ 2.8 เดือน โดยในการจ่ายโบนัสนี้ กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน เป็นกลุ่มที่มีการจ่ายโบนัสโดยรวมสูงที่สุดในกลุ่ม อยู่ที่ 4.25 เดือน รองลงมาคือ กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 3.59 เดือน ขณะที่กลุ่มอื่นๆ ส่วนใหญ่จ่ายในระดับใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ย สำหรับกลุ่มที่มีการจ่ายโบนัสน้อยที่สุดคือกลุ่มธุรกิจโรงแรม และกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอ ที่ 1.5 เดือน

เมื่อแยกพิจารณาการจ่ายโบนัสออกเป็นการจ่าย Fixed/Guaranteed Bonus และการจ่าย Variable Bonus พบว่าในส่วนการจ่าย Fixed Bonus จะอยู่ระหว่าง 1-3 เดือน โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน เป็นกลุ่มที่จ่าย Fixed Bonus สูงที่สุด 3 เดือน รองลงมาคือกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 2.28 เดือน

สำหรับการจ่าย Variable Bonus ในปีนี้ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยในปีนี้กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงาน จะมีการจ่าย Variable Bonus สูงที่สุดคือ 4.67 เดือน รองลงมาคือกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์และชิ้นส่วน 3.59 เดือน

ส่วนประเด็นที่น่าสนใจของแนวโน้มในการบริหารจัดการทรัพยากรมนุษย์ในปี 2550 พบว่าการพัฒนาศักยภาพของพนักงาน (11.5%) ยังเป็นประเด็นที่องค์กรต่างๆ ให้ความสนใจมากที่สุด รองลงมาคือ เรื่องของการพัฒนาศักยภาพผู้นำ (10%) และการพัฒนาเส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ (9.8%) ตามลำดับ

การสำรวจในครั้งนี้มีผู้เข้าร่วมจำนวนทั้งสิ้น 297 บริษัท จาก 14 อุตสาหกรรมหลักส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมการผลิต (Manufacturing) คิดเป็นสัดส่วน 47.24% ของจำนวนผู้ตอบแบบสอบถามทั้งหมด รองลงมาคือกลุ่มการค้า (6.55%) และกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค (6.21%) ตามลำดับ ซึ่งในแง่รายได้ของกิจการ พบว่า 60% เป็นกลุ่มบริษัทที่มีรายได้เกินกว่า 1,000 ล้านบาทต่อปี และกว่า 48% มีจำนวนพนักงานเกินกว่า 500 คน

 

 

ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ BizBook


อัพเดทล่าสุด