ความสำคัญของการคัดเลือก
เป็นที่ยอมรับกันอย่างไม่มีข้อโต้แย้งแล้วว่า สมัยนี้แข่งกันที่คนหรือเฉือนกันที่คน ใครมีคนเก่ง คนดี และคนที่มีความสามารถมากกว่า ก็จะเป็นผู้ชนะ
ดังนั้น ผู้บริหารที่มีวิสัยทัศน์ คิด หรือมองการณ์ไกล จึงต่างหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องคนโดยการหาทางสร้างพลังคน เพื่อใช้เป็นเครื่องช่วยสร้างข้อได้เปรียบ
การสร้างพลังคนเริ่มจากการคัดเลือก (Selection) ซึ่งถือว่าเป็นการวางรากฐานที่สำคัญ ถ้าพลาดส่วนนี้ อย่างอื่นก็จะพลาดหมด เพราะรากฐานไม่ดีเสียแต่แรก
จะเห็นได้ว่าการคัดเลือกเป็นด่านแรก ถ้าเลือกคนถูกองค์การก็จะแข็งแกร่ง แต่ถ้าเลือกคนผิดองค์การก็จะไม่อยู่ในฐานะที่จะแข่งขันได้ดีเท่าที่ควร ขอให้ลองคิดกันดู ถ้าคนที่จ้างหรือเลือกเข้ามาแทนคนเก่าที่ออกไปมีคุณภาพแย่ลง เรื่อย ๆ ในขณะที่ธุรกิจต้องแข่งขันกันมากขึ้น โอกาสที่จะเป็นผู้ชนะย่อมเป็นไปได้ยาก ดังนั้น จะต้องให้แน่ใจว่า ได้คนที่เหมาะกับงานและเหมาะกัองค์การทุกครั้งที่มีตำแหน่งว่างแม้ว่าจะถูกบีบโดยเงื่อนไขของเวลาและภาวการณ์ขาดแคลนกำลังคนก็ตาม
ด้วยเหตุผลดังกล่าว จึงจำเป็นที่จะหันมาตรวจสอบระบบการคัดเลือกเพื่อให้แน่ใจว่าสอดคล้องกับแนวคิดข้างต้น โดยเริ่มตั้งแต่การกำหนดคุณสมบัติที่จำเป็นให้ครบถ้วน ระบุความสามารถที่ต้องการให้ละเอียด จัดหาเครื่องมือเครื่องช่วยต่าง ๆ สำหรับใช้ตรวจสอบคุณสมบัติและความสามารถให้ละเอียดมากขึ้นกว่าเดิม ยอมเสียเวลาในการคัดเลือก จัดหาสถานที่ จัดให้มีแบบช่วยสัมภาษณ์ (Interview Guide) เพื่อช่วยเก็บข้อมูลในแง่มุมต่าง ๆ และมีการรวบรวมข้อมูลอย่างเป็นระบบ ภายหลังการสัมภาษณ์ (Post Interview)
สถานประกอบการชั้นนำหลาย ๆ แห่ง ยอมเสียเวลาการคัดเลือกบุคลากรระดับปฏิบัติการในส่วนการผลิตถึง 2 วัน หรือมากกว่านั้น โดยจัดให้มีศูนย์ทดสอบ (Assessment Center) และรื้อระบบการคัดเลือกเสียใหม่เพื่อให้แน่ใจว่าได้คนที่ถูกต้องและเหมาะสม มิใช่ใช้เวลาสัมภาษณ์เพียงแค่ 10-15 นาที แล้วตัดสินใจเลือกหรือเลือกโดยไม่ตรวจดูให้ละเอียดเสียก่อนเพราะถือว่าคนหายากและการที่มีคนมาสมัครงานถือว่าเป็นความโชคดีและต้องฉวยโอกาสทองนั้น ซึ่งเป็นความคิดที่ผิด แม้ว่าคนจะหายากสักปานใดก็ตาม ก็จะต้องตรวจสอบให้ละเอียดเสียก่อน
งานทุกตำแหน่งไม่ว่าจะอยู่ในระดับใดและทำอะไร ล้วนแล้วแต่มีบทบาทสำคัญต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวขององค์การทั้งสิ้น อย่าคิดว่าเฉพาะตำแหน่งระดับสูง ๆ เท่านั้นจึงจะมีบทบาท ดังนั้น จึงต้องพิถีพิถันในการคัดเลือกโดยดูแล้วดูอีกและดูกันหลาย ๆ คน เพียงแค่การสัมภาษณ์อย่างเดียวไม่พอ แต่จะต้องให้ผู้สมัครพิสูจน์ฝีไม้ลายมือความรู้ความสามารถให้ดูจากแบบจำลอง เกม หรือแบบฝึกหัดที่จัดทำขึ้นนอกเหนือจากการทดสอบและสัมภาษณ์
ผู้บริหารที่ขาดวิสัยทัศน์จะไม่ให้ความสนใจในเรื่องนี้มากนัก แต่จะเน้นการรวดเร็วในการบรรจุตำแหน่ง (Speed) มากกว่าคุณภาพของผู้สมัครงาน (Quality) ซึ่งถือว่าเป็นอันตรายต่อองค์กรเป็นอย่างมาก
การบรรจุตำแหน่งจะต้องให้ได้ครบองค์ประกอบสำคัญ 2 อย่าง คือ ความรวดเร็วและคุณภาพของผู้สมัครงาน แต่ถ้าจะต้องเลือกเพียงอย่างหนึ่ง คุณภาพควรเป็นอันดับแรก "คุณภาพ" ในที่นี้หมายถึง การได้ผู้สมัครที่มีคุณสมบัติครบองค์ประกอบ เช่น การศึกษา ประสบการณ์ ความรู้ ทักษะ พฤติกรรม แรงจูงใจ ฯลฯ ซึ่งจะต้องกำหนดให้ละเอียดก่อนที่จะทำการเสาะหาและคัดเลือก เพื่อป้องกันการผิดพลาดและความลำเอียง ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นจากตัวแปรหลายประการ เช่น ความประทับใจแรกเริ่ม หรือความประทับใจเมื่อแรกพบ (First Impression) เช่น เห็นว่าผู้สมัครมีบุคลิกที่ดี ได้เกรดดี ๆ หรือจบจากมหาวิทยาลัยดัง ๆ ก็เลือกเลยโดยไม่ได้พิจารณาที่องค์ประกอบอื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งความสามารถในเชิงพฤติกรรมและความเหมาะสมกับงานที่สมัคร
ผู้ที่ทำหน้าที่ H.R. จะต้องศึกษาและให้ความสนใจในเรื่องการคัดเลือกให้มากขึ้นกว่าเดิม และพยายามหาเครื่องมือเครื่องช่วยคัดเลือกมาใช้เพื่อช่วยกลั่นกรอง
ถ้าอยากทราบว่าสถานประกอบการของท่านมีระบบการคัดเลือกที่ทันสมัยหรือไม่ ให้พิจารณาจากรายการตรวจสอบดังต่อไปนี้
1.มีการแจกแจงคุณสมบัติของแต่ละตำแหน่งงานอย่างละเอียดและมีการกำหนดความสามารถ (Competency) เฉพาะตำแหน่ง
2.มีการใช้เทคนิคการสัมภาษณ์เพื่อค้นหาความสามารถของผู้สมัครในแง่มุมต่าง ๆ
3.ผู้ที่ทำหน้าที่สัมภาษณ์ได้ผ่านการฝึกอบรมเรื่องการสัมภาษณ์อย่างเป็นระบบมาแล้ว
4.มีแบบช่วยสัมภาษณ์แบบมาตรฐาน โดยมีคำถามที่ได้เตรียมไว้แล้วในแต่ละหัวข้อ หรือเรื่องที่จะสัมภาษณ์ เช่น การศึกษา ประสบการณ์การทำงาน ความสามารถในเชิงพฤติกรรม ฯลฯ
5.มีสถานที่สำหรับใช้ในการทดสอบความรู้ความสามารถที่เหมาะสม
6.มีการใช้เครื่องมือเครื่องช่วยในการคัดเลือก
อื่น ๆ ที่นอกเหนือจากแบบทดสอบที่เชื่อถือได้และการสัมภาษณ์ เช่น การอ่านพฤติกรรมจากแบบจำลอง (Behavior Simulation) เป็นต้น
ถ้าขณะนี้ยังไม่มีแบบช่วยสัมภาษณ์ (Interview Guide) และมีการมุ่งเน้นการค้นหาความสามารถในเชิงพฤติกรรมของผู้สมัคร ถือได้ว่ายังล้าหลังในเรื่องการคัดเลือกอยู่มาก
ที่มา : คอลัมน์ HR.Management โดย ชำนาญ พิมลรัตน์
นิตยสาร : Recruit ฉบับที่ 416 ประจำวันที่ 16-31 ธันวาคม 2547