ประเมินอย่างไร ให้ตรงใจทุกๆฝ่าย
ประเมินการปฏิบัติงานอย่างไร ให้ตรงใจทุกๆฝ่าย
ข้อที่ควรพิจารณาในเรื่องนี้คือจำนวนผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินควรมีกี่คนและใครจะทำหน้าที่ดังกล่าว จำนวนผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินจะสัมพันธ์กับคุณสมบัติของบุคคลที่จะประเมิน แต่โดยหลักการทั่วไปจะมีผู้ประเมินมากกว่า 1 คน เพื่อหลีกเลี่ยงอคติอันเกิดจากบุคคลคนเดียวและการนำเอาความเห็นของบุคคลเดียวกันมาเป็นบรรทัดฐานกำหนดผลงานของคนอื่นอาจจะถูกวิจารณ์ว่ามีความลำเอียงและไม่ให้ความเป็นธรรมแก่ผู้ถูกประเมิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของการประเมินผลการปฏิบัติงานอาจมองกันได้หลายทัศนะและไม่ตรงกัน ดังนั้นทัศนคติของคนหนึ่งอาจถูกโจมตี เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาดังกล่าวจึงควรให้มีจำนวนผู้ประเมินมากกว่า หนึ่งคน
ส่วนคุณสมบัติของผู้ประเมินนั้นจะยึดหลักผู้ประเมินจะต้องเป็นบุคคลที่มีความรู้ความเข้าใจในงานของผู้ถูกประเมินอย่างดี โดยทั่วไปผู้บังคับบัญชาเบื้องต้นของผู้ถูกประเมินจะเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติดังกล่าว แต่ผู้บังคับบัญชาที่ว่าก็มักจะมีคนเดียวจึงกลายเป็นปัญหาว่าบุคคลคนเดียวเป็นผู้พิจารณาให้คุณให้โทษแก่ผู้อยู่ใต้บังคับบัญชา ปัญหาของการเกิดอคติจึงตามมาอีก ฝ่ายผู้บังคับบัญชาเองจำนวนไม่น้อยที่ไม่อยากทำหน้าที่เป็นผู้ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาเพราะถ้าผลการประเมินออกมาในลักษณะที่ไม่น่าพอใจก็จะเกิดการเผชิญหน้าซึ่งกันและกัน ทางออกในเรื่องนี้ที่นิยมทำกันก็คือ การตั้งคณะกรรมการเป็นผู้ทำหน้าที่ประเมิน ดังนั้น องค์ประกอบของคณะกรรมการจึงควรเป็นผู้ที่มีความรู้และความเข้าใจในงานของผู้ที่ถูกประเมินดีพอ ซึ่งอาจจะรวมถึงเพื่อนร่วมงานที่เกี่ยวข้องแต่ไม่ใช่เพื่อนร่วมงานที่ต้องแข่งขันกันเพราะมิฉะนั้นปัญหาของอคติก็ตามมาอีก
ในบางหน่วยงานถ้าหากงานตำแหน่งใดที่สัมพันธ์กับบุคคลภายนอก เช่น ลูกค้า ก็อาจจะต้องนำเอาความคิดเห็นของบุคคลภายนอกดังกล่าวมาประกอบการพิจารณา เพราะบุคคลภายนอกนั้นเป็นผู้ที่รู้ข้อมูลการทำงานของผู้ถูกประเมินมากที่สุด
แม้ว่าผู้ประเมินผลการปฏิบัติงานจะประกอบไปด้วยจำนวนเท่าไรและเป็นใครบ้างก็แล้วแต่ แต่ผู้บังคับบัญชาเบื้องต้นของผู้ถูกประเมินจะปฏิเสธหน้าที่ประการนี้ของตนเองไม่ได้เพราะถ้าหากตนเองไม่สามารถมาให้คุณให้โทษผู้อยู่ใต้บังคับบัญชาแล้ว การบังคับบัญชาก็อาจจะทำไม่ได้เต็มที่ นอกจากนั้นผู้บังคับบัญชาจะต้องตระหนักว่าการประเมินผลการปฏิบัติงานเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารที่ตนเองต้องรับผิดชอบ
อย่างไรก็ตามขั้นตอนนี้จะต้องทำความเข้าใจในเบื้องต้นก่อนว่าในหน่วยงานหลายแห่งโดยเฉพาะหน่วยงานขนาดใหญ่ๆ นั้น ผู้ที่ทำหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงานกับผู้มีอำนาจให้ความดีความชอบอาจะเป็นบุคคลคนละคนกัน เพราะการพิจารณาให้ความดีความชอบยังต้องพิจารณาปัจจัยประกอบอื่นๆ อีกหลายอย่างมิใช่พิจารณาแต่ผลของกาประเมินอันเกิดจากการประเมินผลการปฏิบัติงานแต่เพียงอย่างเดียว ปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องได้แก่ ฐานะการเงินของหน่วยงาน ภาวะเงินเฟ้อ ผลการปฏิบัติงานของฝ่ายอื่นๆ และความต้องการของหน่วยงานในความรู้ความสามารถของผู้ถูกประเมินผล เป็นต้น ในหน่วยงานเล็กๆ ที่เจ้าของกิจการทำหน้าที่ประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานตน เจ้าของกิจการนั้นอาจพิจารณาความดีความชอบประกอบกันไปเลยในคราวเดียว แต่ถ้าในหน่วยงานขนาดใหญ่ที่มีฝ่ายบริหารงานบุคคลจัดตั้งอยู่ การประเมินผลการปฏิบัติงานจะเป็นส่วนหนึ่งของงานฝ่ายบริหารงานบุคคล เมื่อฝ่ายบริหารงานบุคคลร่วมกับบุคคลที่เกี่ยวข้องได้ทำการประเมินผลการปฏิบัติงานของพนักงานเสร็จแล้วก็ส่งรายงานให้ผู้บริหารระดับสูงพิจารณาต่อไปว่าการให้ความดีความชอบจะเป็นอย่างไร ผู้บริหารระดับสูงดังกล่าวอาจต้องส่งเรื่องให้คณะกรรมการบริหารร่วมกันพิจารณาและกำหนดเป็นนโยบายออกมาว่าจะให้ค่าตอบแทนความดีความชอบอย่างไร.