การบริหารคนยุคเศรษฐกิจฝืด


782 ผู้ชม


การบริหารคนยุคเศรษฐกิจฝืด




         - ระดมความคิดการบริหารจัดการคนยุคเศรษฐกิจฝืดเคือง "PMAT" มองประเด็นการสร้างสมดุลระหว่างต้นทุนและค่าของคน
        - "ศศินทร์" ฝึกการมองโอกาสบนวิกฤต ถือเป็นช่วงเวลาดีๆ ของการปรับโครงสร้างให้ปึ๊ก
        - "เซ็นทรัล" แสดงสปิริต อัดฉีดค่าครองชีพสาวห้าง ประกันรายได้พื้นฐานให้เลี้ยงตัวได้
        - "เฮย์กรุ๊ป" ประเมินภาพรวมเศรษฐกิจไม่กระทบการบริหารคน แต่ต้องสร้างแรงจูงใจระยะสั้น
       
        จับเข่าคุยกับ 4 นักคิดนักปฏิบัติในแวดวง HR ต่อปัญหาการบริหารจัดการคนในยุควิกฤตเศรษฐกิจรุมเร้า
        "PMAT" มองยังมีอีกหลายทางเลือกในการลดดีกรีกับปัญหา มากกว่าเผชิญหน้ากับเลย์ออฟ ขณะที่นักวิชาการ "ศศินทร์" ชี้วิกฤตเป็นโอกาสในการปรับโครงสร้างบริหารจัดการอีกระลอก
        ด้าน "เซ็นทรัล" ทำทุกอย่างเพื่อแบ่งเบา ประกาศถ้าพนักงานอยู่ไม่ได้ บริษัทก็อยู่ไม่ได้ ตบท้าย "เฮย์กรุ๊ป" ที่ปรึกษาองค์กรเล็งการจ่ายผลตอบแทนระยะสั้นช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา
       
       "PMAT" : เชื่อมโยงสร้างสมดุล
       
        ฉัตรพงษ์ วงษ์สุข นายกสมาคมการจัดการงานบุคคลแห่งประเทศไทย กล่าวกับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์" ว่า เวลาเศรษฐกิจไม่ดีก็เป็นหลักการพื้นฐานที่ทุกคนต้องเอาตัวรอด ควบคุมต้นทุนทุกอย่าง รวมถึงคนที่เป็นต้นทุนอย่างหนึ่ง วิธีคิดที่ดีที่สุดคือ ทำอย่างไรให้ต้นทุนน้อยที่สุด แต่ก็ยังรักษาคุณค่าของคนไว้ได้อย่างต่อเนื่อง แง่ของ HR จะต้องรักษาคนไว้ให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้ และต้องไม่คิดว่าจะเอาคนออก ถ้าไม่จำเป็น
        ในยุคเศรษฐกิจมีความผันผวน จากปัญหาน้ำมันแพง ราคาสินค้าพุ่งพรวด อัตราดอกเบี้ยสูง ต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอาจทำให้หลายองค์กรชะลอการรับคนใหม่เข้ามาทำงาน และใช้ช่วงเวลานี้บริหารคนที่มีอยู่ให้มีคุณค่ามากที่สุด
        "เราต้องคุมอัตรากำลังคนที่มีอยู่ในปัจจุบัน ว่าสอดคล้องต่อเนื่องกับสิ่งที่องค์กรจะมุ่งไปหรือไม่? ไม่สมควรตัดสินใจไปลดอัตราคนตรงๆ เพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เพราะที่ผ่านมาหลายองค์กรเสียเวลาฟูมฟักพัฒนาคน จนกล่าวได้ว่ามนุษย์เป็นทุนอย่างหนึ่งที่มีคุณค่าแล้ว จึงควรจะรักษาเอาไว้ ไม่ใช่พุ่งประเด็นไปที่การลดต้นทุนอย่างเดียว"
        ขณะเดียวกันเมื่อรายจ่ายสูงขึ้นจากภาวะค่าครองชีพ HR ควรจะดูแลประเด็นค่าตอบแทนด้วย โดยการมองภาพรวมทั้งระบบ เชื่อมโยงเข้าด้วยกันเพื่อสร้างสมดุลระหว่างต้นทุน ความคุ้มค่า และการเติบโตขององค์กร
        เขามองว่าจะไม่มีประโยชน์เลยถ้าคิดจะพัฒนาองค์กรโดยมองข้ามเรื่องค่าตอบแทน เพราะเป็นสิ่งที่แสดงถึงคุณค่า การสร้างแรงจูงใจ ยิ่งในภาวะเศรษฐกิจไม่ดีก็ยิ่งมองได้ว่าองค์กรใส่ใจและเข้าใจถึงความจำเป็นทางเศรษฐกิจ
        วิกฤตทางเศรษฐกิจครั้งนี้จะลากยาวไปถึงครึ่งปีหลัง และนำไปสู่การปลดพนักงานหรือไม่นั้น? ฉัตรพงษ์มองว่า เลิกจ้างก็เป็นอีกกระแสหนึ่งที่บางองค์กรหยิบมาใช้ แต่ทางออกที่ดีกว่าน่าจะเป็นการเลือกเส้นทางเดินที่ระมัดระวังรอบคอบในการเคลื่อนตัวขององค์กร มากกว่าไปเผชิญหน้ากับการเลย์ออฟ เพราะประเด็นการปลดคนแปลว่าบริษัทไปต่อไม่ได้อีกแล้ว จะกระทบขวัญกำลังใจพนักงานโดยตรง รวมถึงกระทบต่อภาพลักษณ์องค์กร
       
       "ศศินทร์" : ทุกวิกฤตมีโอกาส
       
        ผศ.ดร.ศิริยุพา รุ่งเริงสุข ผู้ช่วยผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาหลักสูตร สถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์ว่า สถานการณ์ทางเศรษฐกิจเวลานี้กล่าวได้ว่าอยู่ในยุคที่ความน่าเชื่อถือไม่มีอีกแล้ว เพราะทั้งโลกกำลังลำบากโดยถ้วนหน้ากันหมด แต่ในแง่ของ HR ถ้ามองกลับว่าวิกฤตเป็นโอกาสก็ถือว่าไม่เลว เพราะเป็นช่วงเวลาดีๆ ที่ได้เก็บคนเก่งไว้กับองค์กร ส่วนคนที่ไม่เก่งก็มีแนวโน้มอาจจะเลย์ออฟออกไป
        ประเด็นของการปลดคน จากเป้าหมายควบรวมกิจการให้แข็งแกร่ง ยังคงมีให้เห็นเรื่อยๆ การบริหารจัดการคนของ HR ต้องมองเป็นระยะสั้นกับระยะยาว ระยะสั้นการโละคนถือเป็นการคัดต้นทุนเท่าที่จะทำได้ ระยะยาวทิศทางธุรกิจต้องชัดในสถานการณ์เศรษฐกิจตกต่ำแบบนี้ อย่ามองแค่ว่าเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ดังนั้นสิ่งที่จะยังมีต่อไปคือ การรับคนเก่งๆ เข้าทำงานกับการโละคนไม่เก่งออกไป
        ขณะเดียวกันในสถานการณ์ที่น่าอึดอัดแบบนี้ ก็ต้องการผู้นำที่มีพลังสูง ที่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดกับพนักงานได้ มีการปลุกปลอบขวัญว่าถึงจะต้องเหนื่อยหน่อย แต่ก็ไม่ทิ้งกันอยู่แล้ว "ผู้นำต้องสร้างพลังใจให้พนักงาน ต้องทำให้พนักงานแฮปปี้ถึงแม้จะไม่มีเงินจ่าย ให้อิสระในการทำงาน พนักงานมีสิทธิ์ควบคุมดูแลตัวเอง ไม่มานั่งจู้จี้ขี้บ่น เพื่อลดความกดดันจากภาวะเศรษฐกิจลง ลดความกดดันภายในองค์กร และเน้นผลลัพธ์จากการทำงานเป็นหลัก"
        อนาคตการโละคนจะมาในรูปของการแทนที่แรงงานคนด้วยเครื่องจักร และการจัดการทางด้านไอที ฉะนั้น การเป็นพนักงานในองค์กรยุคใหม่นี้จะต้องมีบุคลิกลักษณะ มีความสามารถในการยืดหยุ่นสูง มีความพร้อมทางด้านจิตใจ สามารถรับสถานการณ์หนักๆ ได้
        เวลาเศรษฐกิจไม่ดี คน HR ต้องช่วยกันสร้างขวัญกำลังใจ เน้นสื่อสารมากขึ้น ไม่ลดค่าใช้จ่ายการฝึกอบรม ส่วนประเด็นการบริหารค่าตอบแทน ในกลุ่มองค์กรที่มีประสิทธิภาพยินดีจ่ายเพิ่มให้แน่นอนสำหรับกลุ่มคนที่ต้องรักษาไว้ แต่กับบางกลุ่มคนก็ยินดีจ่ายเพื่อให้ไป
        ถือเป็นห้วงเวลาของการประเมินกำลังคนอีกรอบ ว่ามีคุณภาพดี เพียงพอและเหมาะสมกับต้นทุนบริหารจัดการหรือไม่ ระบบยังหละหลวมหรือแน่นเปรี๊ยะเพียงไร? ในองค์กรที่รัดเข็มขัดจนเอวกิ่วถ้ามองให้ดีก็อาจจะมีบางมุมที่สามารถรัดเข็มขัดสองเส้นได้อีก
        ในแง่ของคนทำงาน ผศ.ดร.ศิริยุพาบอกว่า ความเครียดจากภาวะกดดันมีแน่นอน ขึ้นกับว่ายอมรับได้ไหม? ต้องทำใจว่าเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต เครียดแล้วแก้ปัญหาไม่ได้รังแต่ทำร้ายตัวเอง ถ้าหาทางแก้ไม่ได้ก็หยุดพักก่อน แล้วค่อยลุกมาแก้ใหม่เพราะชีวิตมีทางออกหมดกับทุกปัญหา
        หน้าที่ของ HR เองต้องคุมค่าใช้จ่าย มีวิธีคิดแบบสร้างสรรค์ หนุนแรงจูงใจคนโดยไม่ต้องใช้เงิน อาจจะไปเล่นสวัสดิการลดค่าใช้จ่ายแทนการให้ค่าครองชีพ ทำอย่างไรก็ได้ให้พนักงานคลายกังวลและทำงานสุดความสามารถเพื่อบริษัท เป็นเรื่องของการซื้อใจกันโดยไม่ต้องใช้เงินอย่างเดียว
       
       "เซ็นทรัล" : งานมีแต่เงินตึง
       
        ดร.วศิน อุดมรัชตวนิชย์ ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (ซีอาร์ซี) ผู้บริหารธุรกิจค้าปลีกในเครือเซ็นทรัล กล่าวว่า พนักงานที่ลาออกไปจากธุรกิจเพราะได้เงินเดือนน้อย แต่มีค่าเดินทางแพงมาก บริษัทจึงปรับค่าครองชีพเติมให้ มีการเล่นเรื่องของคอมมิสชั่นมากขึ้นเพื่อกระตุ้นยอดขาย ให้ได้ผลตอบแทนในเกณฑ์ที่สูง
        หันมาเน้นเรื่องของสวัสดิการพนักงาน ต่อรองให้ได้แพกเกจที่ดีขึ้น เช่น ค่ารักษาพยาบาล หรือให้สวัสดิการร้านอาหารราคาถูก จานละ 5-10 บาท โดยบริษัทแบกภาระไม่เก็บค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟทุกอย่างฟรี พยายามช่วยพนักงานให้ได้มากที่สุดในทุกสาขาของห้างเซ็นทรัล
        "ก่อนหน้านี้เราขึ้นค่าครองชีพให้ตั้งแต่ต้นปี แต่มองว่าเมื่อทุกอย่างขยับก็ต้องตรึงราคาค่าใช้จ่ายต่างๆ มีการการันตีรายได้ระดับล่าง อย่างพนักงานขายพนักงานขายจะมีรายได้ไม่ต่ำกว่า 7,000 บาทสำหรับสาขาใจกลางเมือง และบวกค่าครองชีพเพิ่มเข้าไป เฉพาะสาขาที่ค่าใช้จ่ายแพงจริงๆ เรื่องนี้เราเพิกเฉยไม่ได้ เพราะถ้าพนักงานอยู่ไม่ได้บริษัทก็อยู่ไม่ได้"
        ดร.วศินกล่าวต่อว่า ถ้าเปรียบเทียบความตึงตัวทางเศรษฐกิจในปี 2540 กับปีปัจจุบัน ปีก่อนหน้านั้นทุกอย่างหนักหน่วงจริงๆ แต่ปีนี้ไม่ใช่งานหาไม่ได้ แต่ทุกอย่างฝืดเคือง ทั้งราคาน้ำมัน ปัญหาการเมือง งานยังมีอยู่ เพียงแต่ว่าเงินตึง สภาพการทำงานถ้าไม่เสมอตัวก็ขาดทุน ทุกคนจนลงเพราะค่าของเงินหายไป
        สำหรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมค้าปลีกในช่วงเศรษฐกิจผันผวน กล่าวได้ว่า ค้าปลีกไม่ได้หดตัว ยังมีการจ้างงานอยู่ แต่เป็นไปในในลักษณะที่ว่าเงินไม่ได้มากมาย ยังมีงานอยู่ แต่อยู่ด้วยความลำบาก "เอาแค่พอดีๆ แค่มีกินมีใช้ ไม่ต้องเหลือเก็บเลย แต่ก็ไม่ได้วิกฤตหนัก คนรวยก็เริ่มใช้เงินประหยัดขึ้น ระวังขึ้น นอกจากพวกรวยจัดๆ จริงๆ เพราะเคยล้มปี 40 มาแล้วก็ไม่น่าจะประมาทอีก"
       
       "เฮย์กรุ๊ป" : เพิ่มผลตอบแทนระยะสั้น
       
        อนุชิต วีรศิริยานนท์ ผู้จัดการด้านการบริหารผลตอบแทน บริษัท เฮย์ กรุ๊ป ประเทศไทย จำกัด ที่ปรึกษาทางด้านพัฒนาองค์กร กล่าวว่า จากการพูดคุยกับองค์กรชั้นนำหลายแห่งถึงผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่มีต่อการบริหารคนในองค์กร ข้อสรุปที่ได้คือ ส่วนใหญ่จะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เพราะสภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังแข็งแรง บวกกับการที่องค์กรต่างๆ มีแนวทางรบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพจึงสามารถปรับตัวได้
        โดยแนวทางหลักจะเน้นการจ่ายผลตอบแทนตามโปรแกรมจูงใจระยะสั้น เช่น โบนัส ส่วนแบ่งจากยอดขาย ฯลฯ เพื่อกระตุ้นให้พนักงานรักษาความสามารถในการแข่งขันเอาไว้ ในภาวะตลาดซบเซา โดยที่ไม่กระทบกับโครงสร้างการจ่ายค่าตอบแทนหลักขององค์กร รวมถึงให้ความสำคัญกับเครื่องมืออย่าง KPI และ Balanced Scorecard เพื่อรักษาประสิทธิภาพในการทำงานของพนักงาน

 

 

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ


อัพเดทล่าสุด