คุณลักษณะพิเศษของพนักงานผู้ชำนาญการ
คุณลักษณะพิเศษของพนักงานผู้ชำนาญการ
ลักษณะของพนักงานผู้ชำนาญการทั้งด้านเทคนิคและวิชาชีพ มักจะมีลักษณะพิเศษที่แตกต่างกันไปจากพนักงานปกติทั่วไปบางอย่าง และความแตกต่างเหล่านี้เองที่ทำให้เกิดปัญหาแก่องค์การที่ต้องมีมาตรการพิเศษ เพื่อสำหรับนำมาใช้กับกลุ่มนี้โดยเฉพาะ
ลักษณะที่เป็นข้อแตกต่างที่สำคัญอาจสรุปได้โดยย่อ คือ
- ระดับสติปัญญาและการศึกษา ซึ่งโดยปกติจะมีระดับสูงกว่าพนักงานโดยถัวเฉลี่ย โดยความนึกคิดตลอดจนความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหาและแก้ปัญหามักจะมีสูงมากกว่า และจากการสำรวจในต่างประเทศก็พบเช่นกันว่า จำนวนปีทีต้องใช้เพื่อการศึกษาที่จะเป็นผู้ชำนาญการนั้นจะมีสูงกว่ากรณี อื่นๆ เป็นอย่างมากด้วย
- บุคลิกภาพ ลักษณะบุคลิกภาพของกลุ่มผู้ชำนาญการนี้มักจะไม่เหมือนกับบุคคลกลุ่มเดียวกัน จากการวิจัยดูบุคลิกภาพและอุปนิสัยของผู้ชำนาญการด้านวิศวกรรม ในต่างประเทศได้พบลักษณะพิเศษที่ว่า ผู้ชำนาญการวิศวกรรมมักจะมีกำลังแรงผลักดันและแรงจูงใจที่ต้องการ ประสบผลสำเร็จสูงมากกว่า และนอกจากนี้โดยอุปนิสัยก็ชอบทำงานกับเครื่องจักรสิ่งของมากกว่าที่จะต้องไปยุ่งกับปัญหาเรื่องคน และแม้ว่าอาจจะเป็นคนค่อนข้างขรึมในตอนหนุ่มๆ แต่ก็เข้าสังคมได้ดีเมื่ออายุมากขึ้น และที่เด่นที่สุดคือ พนักงานกลุ่มนี้จะทุ่มเทจิตใจกับงานมากเป็นพิเศษ
- ความโน้มเอียงของค่านิยม พนักงานกลุ่มชำนาญการนี้มักจะมีค่านิยมและทัศนคติเป็นแบบฉบับของตน ซึงลักษณะจะแตกต่างจากผู้บริหารธุรกิจที่อยู่ในหน้าที่งานต่างๆ ทางด้านการผลิต การขายและการบริหารงานทั่วๆไป เกี่ยวกับคน โดยกลุ่มผู้ชำนาญการ หรือบางครั้งมักจะเรียกกันว่างานวิชาการนี้ ส่วนมากแล้วจะเป็นคนเถรตรงที่มุ่งหาความจริงด้วยตนเอง มีลักษณะเป็นเสรีชนที่นิยมใฝ่หาสัจธรรมด้วยตนเอง การที่จะมีความคิดเห็นเหมือนคนอื่นๆ จึงเป็นเรื่องยาก และโดยที่กลุ่มผู้ชำนาญการทางวิชาชีพเหล่านี้มักจะมีกลุ่มที่อ้างอิงของตนเอง (เช่น สมาคมวิชาชีพ หรือวงการวิชาชีพ) จึงทำให้พนักงากลุ่มผู้ชำนาญการนี้ไม่ผูกพันตัวแน่นอนอยู่กับบริษัท และมักจะโน้มเอียงไปคำนึงถึงอาชีพของตน (Career oriented) มากกว่าที่จะมุ่งคำนึงถึงบริษัทของตน (Company oriented)
- ความต้องการพิเศษเกี่ยวกับงาน นักวิชาการหรือผู้ชำนาญการมักจะมีความต้องการพิเศษเกี่ยวกับงานหลาย อย่าง เช่น ต้องการเสรีภาพในการแสดงออก มีโอกาสได้สังคมกับพวกนักวิชาการด้วยกัน มีฐานะและการยอมรับความสำคัญของงานวิชาการโดยองค์การ มีอุปกรณ์และเครื่องมือพร้อมมูล มีโอกาส ก้าวหน้าในทางอาชีพและในทางบริหารด้วย และอย่างอื่นๆ เช่น โอกาสที่จะได้ศึกษาต่อ เป็นต้น ซึ่งความต้องการต่างๆ เหล่านี้ย่อมชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่ต้องมีการออกแบบงานให้ถูกต้องเป็นพิเศษด้วย
ที่มา : รองศาสตราจารย์ ธงชัย สันติวงษ์