จะป้องกันการคอร์รัปชั่นในสำนักงานได้อย่างไร


889 ผู้ชม


จะป้องกันการคอร์รัปชั่นในสำนักงานได้อย่างไร




กฤษณเนตร พันธุมโพธิ

 

คอร์รัปชั่นเป็นเรื่องที่พบเห็นกันทั่วไปมานานแล้ว จนคนชักจะเคยชิน ไม่ว่าในราชการ หรือเอกชน ทั้งในประเทศของเราเอง หรือต่างประเทศ ที่ถูกจับได้ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมในศาล จนต้องถูกลงโทษจำคุกก็มีจำนวนมาก ไม่เลือกเพศ อายุ ตำแหน่งหน้าที่
ที่ทำกันแพร่หลาย ก็ได้แก่การติดสินบน และรับสินบนของเจ้าหน้าที่ (Bribery) การละเลยละเว้นไม่ปฏิบัติสิ่งที่ควรทำตามหน้าที่ (Dereliction of duty) การใช้อำนาจหน้าที่เอื้ออำนวยประโยชน์ให้แก่ญาติของตนให้ได้ งานทำ (Nepotism) การรายงานเท็จหรือสร้างหลักฐานให้หลงเชื่อสิ่งที่ไม่จริง (Deceitation) สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นได้ เพราะคนยอมรับและผู้เสียประโยชน์ก็ไม่ทักท้วง
คอร์รัปชั่นมีลักษณะคล้ายไฟ ไฟจะติดได้ต้องมีองค์ประกอบสามอย่าง คือ 1) เชื้อเพลิง 2) อ๊อกซิเย่น 3) ประกายไฟ การทุจริตเกิดขึ้นได้เพราะ 1) ความเร้าใจ (Attraction) 2) ข้ออ้างความสมเหตุผล (Rationalization) และ 3) โอกาส (Occasion) หากขาดอย่างใดอย่างหนึ่ง การทุจริตก็จะไม่เกิดขึ้นได้ การติดสินบนจะพบมากที่สุด เพราะทั้งผู้ให้และผู้รับได้ประโยชน์ “ใคร ๆ เขาก็ทำกัน” เป็นข้ออ้างที่ได้ยินอยู่บ่อย ๆ

จะป้องกันคอร์รัปชั่นในสำนักงานได้อย่างไร
1) รวบรวมเรื่องทุจริต และอาชญากรรมที่เกิดขึ้นในสำนักงานทุกเรื่องแล้วจัดลำดับความสำคัญและศึกษาจากที่อื่นว่าเกิดขึ้นในแผนกไหน เกิดขึ้นได้อย่างไร มีใครเกี่ยวข้องบ้าง
2) ระบุการกระทำที่เป็นการทุจริต โดยตอบคำถามดังนี้

  • ทุจริตในเรื่องอะไร
  • มีใครเกี่ยวข้องกับการทุจริตทั้งผู้ให้ ผู้รับ และคนช่วยเหลือหรือมีส่วนสนับสนุน
  • การทุจริตเกิดในส่วนไหน ในแผนกไหน เช่น แผนกพัสดุ แผนการเงิน ฯลฯ
  • การทุจริตเกิดขึ้นตามรอบบริการ หรือตามระยะเวลาในช่วงเวลาไหน เช่น ในช่วงไตรมาสที่สาม ฯลฯ
  • ปัญหานั้นใหญ่เพียงใด ใช้เวลามากแค่ไหน เสียหายมากเพียงใด และมีแนวโน้มเป็นอย่างไร
    3) ความเร้าใจ ให้ทุจริตมากเพียงใด (attraction)
  • ความเร้าใจของผู้ให้ ผู้รับ และคนที่เกี่ยวข้อง คืออะไร
  • ได้ประโยชน์อะไร จากการกระทำเช่นนั้น
  • มีความเสี่ยงที่จะถูกจับได้มากแค่ไหน โทษรุนแรงมากหรือน้อย ถ้าต้องขึ้นศาล
    4) ความมีเหตุผลที่อ้าง (rationalizations)
  • จริง จริงครึ่งเดียว หรือไม่จริงเลย เพราะตนเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์นั้น
  • ข้ออ้างที่ยกมาแก้ตัวนั้น น่าเชื่อถือแค่ไหน คนในสำนักงานเชื่อและยอมรับหรือไม่
  • อะไรจริง อะไรไม่จริง อะไรเป็นข้ออ้างที่สำคัญ
  • คนไหนเป็นต้นตอของเรื่องที่ไม่จริง จะบอกให้คนอื่นในสำนักงานรู้และเข้าใจได้อย่างไร
    5) โอกาสที่จะเกิดทุจริตซ้ำอีก มีแค่ไหน
  • อะไรทำให้คนมีโอกาสจะทุจริต
  • ระบบงาน หรือ ขั้นตอนการทำงานไหนที่มีจุดอ่อนทำให้เกิดทุจริตได้ เช่น ขาดการสอบทาน
    6) กำหนดแผนปฏิบัติ (action plan) ป้องกันการทุจริต
  • จะลดความเร้าใจให้ทุจริตลงจนหมดไปได้หรือไม่
  • จะคิดให้รางวัลความซื่อสัตย์อย่างไร ให้มีความหมาย เป็นที่น่าพอใจ ควรแก่การยกย่อง
  • ถ้าไม่ซื่อสัตย์จะให้รับโทษรุนแรงมากขึ้น หรือ ต้องเสี่ยงมากขึ้น ทำให้ไม่น่าสนใจ ได้อย่างไร
  • ข้ออ้างที่ใช้เมื่อทุจริต ทำอย่างไร จึงมีน้อยลง จนหมดไป
  • ทำอย่างไรจะไม่ให้เกิดรายงานเท็จ หรือ ไม่ให้เกิดหลักฐานที่ใช้อ้างเมื่อทุจริต
  • จะปลุกเร้า ความสำนึกเรื่องความสุจริต ความซื่อตรง และความจริงใจให้เกิดในสำนักงานได้อย่างไร
  • จะลดโอกาสที่จะเกิดทุจริตลงให้น้อยจนหมดไปได้อย่างไร
  • จะปรับปรุงระบบงานและลำดับขั้นตอนการทำงานอย่างไร เพื่อเป็นการป้องกันการทุจริต ให้รู้แต่เนิ่น ๆ และแก้ไขให้เร็วที่สุด ทันเวลาก่อนที่จะเกิดความเสียหายรุนแรง
  • ต้องให้การสนับสนุนแก่กระบวนการต่อต้านการทุจริต และนำหลักธรรมทางศาสนาเข้ามาร่วมด้วย จัดให้มีกิจกรรมสนับสนุน ความซื่อสัตย์ ความเป็นมืออาชีพ และจริยธรรมในสำนักงาน ให้คนทำงานมีส่วนร่วม ช่วยกระตุ้นความสำนึกให้เพิ่มมากขึ้น หากทุกคนในสำนักงานเฉยเมยในเรื่องนี้ โอกาสที่จะป้องกันการทุจริตก็ยากที่จะสำเร็จ
    เมื่อเกิดทุจริตขึ้นในสำนักงาน ต้องให้คนทำงานรู้ทั่วกัน ให้รู้ด้วยว่าฝ่ายบริหารเข้มงวดจัดการเรื่องนี้อย่างไร เพราะถ้าคุณปกปิด ก็จะมีแต่ข่าวลือที่สร้างความลังเลใจ และอาจทำให้อยากลองดู

     

    ที่มา : Business Management Co.,Ltd.

    อัพเดทล่าสุด