การวิเคราะห์แบบทดสอบเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน


846 ผู้ชม


การวิเคราะห์แบบทดสอบเพื่อคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน




ทำไมต้องสนใจเรื่องการวิเคราะห์แบบทดสอบ?

การลงทุนขององค์การเพื่อการสร้างแบบทดสอบที่ใช้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงาน จะไม่เกิดผลอันใดเลย ถ้าหากผู้ใช้แบบทดสอบบอกไม่ได้ว่าแบบทดสอบนั้นดีหรือไม่ เพียงใด

เพราะหากท่านยังคงฝืนใช้แบบทดสอบนั้นๆ โดยบอกไม่ได้ว่าแบบทดสอบนั้นๆ เป็นแบบทดสอบที่ดี ผลการคัดเลือกก็จะไม่ได้ รับความเชื่อถือจากฝ่ายต่างๆ ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ ก็เปล่าประโยชน์ที่จะมีแบบทดสอบ

อย่างไรก็ดี การกล่าวเช่นนี้มิได้หมายความว่า หากยังไม่รู้วิธีการวิเคราะห์แบบทดสอบแล้ว แบบทดสอบจะไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นต่อองค์การ ตรงกันข้ามแบบทดสอบเป็นสิ่งจำเป็นและเป็นประโยชน์ต่อองค์การเป็นอย่างยิ่งที่แต่ละองค์การควรนำมาใช้ควบคู่กับการสัมภาษณ์งาน

ดังนั้น ไม่ว่าแบบทดสอบนั้นจะเกิดจากการที่ท่านสร้างขึ้นมาเอง หรือจ้างผู้อื่นที่เชี่ยวชาญมาสร้างให้ ก็จำเป็นอยู่ดีที่จะต้องบอกได้ว่า แบบทดสอบนั้น ดีหรือไม่

ข้อสอบมีคุณภาพดีแค่ไหน ดูได้จากไหน?

การจะวิเคราะห์แบบทดสอบว่าดีหรือไม่ควรพิจารณาประเด็นต่อไปนี้คือ

  1. ความยากง่าย (Difficulty)

  2. อำนาจจำแนก (Discrimination)

  3. ความเป็นปรนัย (Objectivity)

  4. ความมีประสิทธิภาพ (Efficiency)

  5. ความยุติธรรม (Fairness)

  6. ความเที่ยงตรงของแบบทดสอบ (Validity)

  7. ความเชื่อมั่น (Reliability)

  1. ความยากง่าย (Difficulty)

ข้อสอบที่ดีควรมีลักษณะที่ยากง่ายปานกลาง ข้อสอบที่ยากเกินไปจนกระทั่งคนเก่งก็ทำผิด คนไม่เก่งก็ตอบไม่ได้ ทุกคนหรือเกือบทุกคนตอบถูก  ถือว่าเป็นข้อสอบที่ไม่ดี จะต้องปรับปรุงให้มีความยากง่ายปานกลาง มีผู้ตอบผิดบ้าง ถูกบ้า

  1. สูตรการหาค่าความยากง่ายของแบบทดสอบรายข้อ

การหาค่าความยากง่ายของแบบทดสอบมีสูตรดังนี้

P

= ( H + L)/ N 

P

= ค่าความยากง่าย

H

= จำนวนคนที่ตอบข้อสอบนั้นถูกในกลุ่มคนเก่ง
(ตามสูตรนี้ คนเก่งคือคนที่ได้คะแนนสูงสุด 25 %  แรกของกลุ่มผู้สอบทั้งหมด)

L

= จำนวนคนที่ตอบข้อสอบข้อนั้นถูกในกลุ่มคนไม่เก่ง
(ตามสูตรนี้ คนไม่เก่งคือคนที่ได้คะแนนต่ำสุด 25% ท้ายของกลุ่มผู้สอบทั้งหมด)

N

= จำนวนคนทั้ง 2 กลุ่มรวมกัน
  1. ค่าความยากง่ายและความหมายของค่า

ค่าของความยากง่ายแทนด้วย P ซึ่งจะมีค่าอยู่ระหว่าง 0 – 1.00  โดยค่าที่ได้จะอ่านความหมายได้ดังนี้

ค่า P = 0 - .19

หมายความว่า เป็นข้อสอบที่ยากมาก เป็นข้อสอบที่ไม่ดีต้องปรับปรุงให้ง่ายขึ้น

ค่า P = .20 -.39

หมายความว่า เป็นข้อสอบที่ค่อนข้างยาก เป็นข้อสอบที่ดี

ค่า P = .40 - .60

หมายความว่า เป็นข้อสอบที่ยากง่ายปานกลาง เป็นข้อสอบที่ดี

ค่า P = .61 - .80

หมายความว่าเป็นข้อสอบที่ค่อนข้างง่าย เป็นข้อสอบที่ดี

ค่า P = .81 –1.00

หมายความว่าเป็นข้อสอบที่ง่ายมาก เป็นข้อสอบที่ไม่ดี ต้องปรับปรุงให้ยากขึ้น
  1. วิธีเก็บข้อมูลเพื่อหาค่าตามสูตร

สมมุติว่ามีข้อสอบ 3 ข้อ มีผู้เข้าสอบทั้งหมด 40 คน

กลุ่มคนเก่ง

หมายถึง คนที่สอบได้ที่ 1 ถึงที่ 10 (25% แรกของ 40 คน)

กลุ่มคนไม่เก่ง

หมายถึง คนที่สอบได้ที่ 31 ถึงที่ 40 (25% ท้ายของ 40 คน)

กลุ่มคนเก่ง 10 คนแรกและ 10 คนสุดท้ายต่างทำข้อสอบถูกรายข้อดังนี้

ข้อ 1. กลุ่มคนคะแนนตอบถูก 9 คน กลุ่มคนคะแนนต่ำตอบข้อนี้ถูก 1 คน
  ดังนั้น ค่า H = 9 และ ค่า L = 1
ข้อ 2. กลุ่มคนคะแนนสูงตอบถูก 2 คน กลุ่มคนคะแนนต่ำตอบถูก 8 คน
  ดังนั้น ค่า H = 2 และ ค่า L = 8
ข้อ 3.  กลุ่มคนคะแนนสูงตอบถูก 5 คน กลุ่มคนคะแนนต่ำตอบถูก 5 คน
  ดังนั้น ค่า H = 5 และ ค่า L = 5

เมื่อนำผลการทดสอบที่เก็บข้อมูลได้มาแทนค่าในสูตรจะได้ผลค่าความยากง่ายแต่ละข้อดังนี้

 ข้อ แทนค่าสูตร ค่าความยากง่าย
สูตร (H + L)/N   
1. (9 + 1)/20 .5
2. (2 + 8)/20 .5
3. (5 + 5)/20 .5

ผลของคะแนน 3 ข้อนี้ ค่าความยากง่ายออกมา = .5 ซึ่งเท่ากัน (โดยบังเอิญ) แต่ถ้าหากผลการวิเคราะห์ข้อสอบออกมาที่ค่า .5 ลักษณะนี้สามารถอ่านค่าได้ว่าข้อสอบทั้ง 3 ข้อ เป็นข้อสอบที่มีความยากง่าย ปานกลางควรจะนำมาใช้ทดสอบได้

อย่างไรก็ดี ข้อสอบนั้นดีหรือไม่ ไม่ได้ดูที่ความยากง่ายอย่างเดียวแต่จะต้องพิจารณาประเด็นอื่นๆ ประกอบด้วยซึ่งจะได้กล่าวต่อไป

  1. อำนาจจำแนก (Discrimination)

ข้อสอบที่ดีต้องมีอำนาจจำแนกคนที่เก่งออกจากคนที่ไม่เก่งได้

กล่าวคือ คนเก่งควรตอบถูก และคนไม่เก่งควรตอบผิด ข้อสอบใดที่ คนเก่งก็ตอบถูก คนไม่เก่งก็ตอบได้ เป็นข้อสอบที่ไม่ดี เพราะตอบแล้วจะไม่รู้ว่าใครเก่ง ใครไม่เก่ง หรืออีกกรณีหนึ่งคือ คนเก่งก็ตอบไม่ได้ คนไม่เก่งก็ตอบไม่ได้ เช่นนี้ก็เรียกว่าข้อสอบนั้นไม่มีอำนาจจำแนก

บางกรณียิ่งแล้วไปใหญ่คือ คนเก่งตอบผิด คนไม่เก่งกลับตอบถูกแบบนี้เรียกว่า จำแนกกลับ ข้อสอบแบบนี้ก็ต้องตัดทิ้ง

  1. สูตรการหาอำนาจจำแนกของแบบทดสอบ

ใช้สูตร  r = (H  - L)/n1

r

= อำนาจจำแนก

H

= จำนวนคนที่ตอบข้อสอบข้อนั้นถูกในกลุ่มคนเก่ง (ตัวเดียวกับสูตรหาความยากง่าย)

L

= จำนวนคนที่ตอบข้อสอบข้อนั้นถูกในกลุ่มคนไม่เก่ง (ตัวเดียวกับค่า L ในสูตรหาความยากง่าย)

n1

= จำนวนคนในกลุ่มคนเก่ง (25 % แรก) หรือกลุ่มคนไม่เก่ง (25 %ท้าย)
กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งซึ่งมีค่าเท่ากันอยู่แล้ว
  1.  ค่าของอำนาจจำแนกและความหมายของค่า

 ค่าของอำนาจจำแนกแทนด้วยค่า r โดยค่า r จะมีค่าอยู่ระหว่าง –1.00 ถึง +1.00  โดยค่า r แต่ละค่าจะมีความหมายดังนี้

ค่า r =  .20 ถึง 1.00

หมายความว่า เป็นข้อสอบที่สามารถจำแนกได้ เป็นข้อสอบที่ดี

ค่า r =  -.19 ถึง  +.19 หมายความว่า เป็นข้อสอบที่จำแนกไม่ได้ เป็นข้อสอบที่ไม่ดี ต้องปรับปรุง
ค่า r =  -.20 ถึง  -1.00 หมายความว่า เป็นข้อสอบที่จำแนกกลับ คือคนเก่งตอบผิด
แต่คนไม่เก่งกลับตอบถูก คือว่าเป็นข้อสอบที่ไม่ดี ต้องปรับปรุง
  1. วิธีการเก็บข้อมูลเพื่อหาค่าตามสูตร

จากข้อมูลเกี่ยวกับที่เก็บได้ในข้อ 1.3 นอกจากใช้วิเคราะห์ความยากง่ายได้แล้ว ยังนำมาใช้วิเคราะห์อำนาจจำแนกได้ดังนี้

ข้อ แทนค่าสูตร ค่าอำนาจจำแนก ประเมินค่าข้อสอบจำแนกได้ว่า
สูตร
r = H  - L
n1
ข้อ 1
r = 9 - 1
10
.8 เป็นข้อสอบที่ดี จำแนกคนเก่งกับไม่เก่งได้ดี
ข้อ 2.
r =

2 - 8

10
-.6 เป็นข้อสอบที่ไม่ดีจำแนกกลับกล่าวคือ
คนเก่งตอบผิดคนไม่เก่งตอบถูก ต้องปรับปรุง หรือตัดออก
ข้อ 3.
r = 5 - 5
10
.0 เป็นข้อสอบที่จำแนกคนเก่งกับไม่เก่งไม่ได้
เป็นข้อสอบที่ไม่ดี ต้องปรับปรุง

จากผลวิเคราะห์ข้อสอบทั้ง 3 ข้อ โดยสูตรความยากง่าย และอำนาจจำแนกดังกล่าวข้างตน จะเห็นได้ว่า ข้อสอบที่ใช้ได้มีเพียงข้อเดียวคือ ข้อ 1 เพราะมีความยากง่ายพอเหมาะ (.5) และมีอำนาจจำแนกได้ดี (.8) ส่วนข้อ 2 แม้มีความยากง่ายพอเหมาะ (.5) แต่มีอำนาจจำแนกกลับ (-.6) จึงเป็นข้อสอบที่ไม่ดี ต้องปรับปรุง หรือตัดออก และสำหรับข้อ 3 แม้ว่าจะมีความยากง่ายพอเหมาะ (.5) แต่ไม่มีอำนาจจำแนก (0)

  1. ความเป็นปรนัย (Objectivity)

ความเป็นปรนัย ในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ข้อสอบปรนัยอย่างที่เรา ๆ เข้าใจกัน แต่หมายความถึง ข้อสอบนั้นต้องมีความชัดเจน ถูกต้องและเข้าใจตรงกัน ทั้งนี้โดยยึดถือความถูกต้องทางวิชาการเป็นเกณฑ์ ไม่ใช่เป็นความถูกต้องตามความเห็น ความรู้สึกของบุคคล ซึ่งอาจเป็นและรู้สึกไม่ตรงกันได้

ในการสร้างข้อสอบนั้น ต้องมีหลักเกณฑ์ที่เป็นที่ยอมรับของทุกคน ไม่ใช่เป็นที่ยอมรับของเราคนเดียว แต่ไม่มีหลักวิชาที่จะให้ผู้อื่นยอมรับ ซึ่งคุณสมบัติของแบบทดสอบที่ถือว่าเป็นปรนัย คือ

  1. ชัดเจนในความหมายของคำตอบ ทุกคนที่มีอ่านข้อสอบนั้นจะต้องเข้าใจตรงกัน ไม่ว่าจะเป็นผู้สอบ ผู้ตรวจข้อสอบ หรือผู้ใช้ผลของ ข้อสอบนั้น ข้อสอบที่จะนำมาใช้ จึงมักจะต้องทดสอบกับคนกลุ่มต่าง ๆ ก่อนให้แน่ใจว่า ใครมาอ่านก็เข้าใจเหมือนกันจึงจะเกิดความมั่นใจ และนำมาใช้

  2. ตรวจให้คะแนนได้ตรงกัน หมายความว่า เฉลยของข้อสอบต้องตรงกัน ไม่ว่าจะให้ใครมาตรวจ ข้อสอบที่ผู้ตรวจแล้วเป็นผลเฉลยไปคนละอย่าง แบบนี้ถือว่าไม่มีความเป็นปรนัย จะนำมาใช้ไม่ได้

  3. แปลความหมายของคะแนนได้ตรงกัน เช่นตอบถูกได้ 1 คะแนน ตอบผิดได้ 0 คะแนน ไม่ใช่ใครมาตรวจแล้วให้คะแนนได้ไม่เหมือนกัน

  1. ความมีประสิทธิภาพ (Efficiency)

แบบทดสอบที่มีประสิทธิภาพ หมายถึง แบบทดสอบที่ทำให้ได้ ข้อมูลถูกต้อง เชื่อถือได้ โดยลงทุนเวลา แรงงาน และเงินน้อยที่สุด เพื่อการสร้าง การทำข้อสอบ การตรวจแบบทดสอบที่ไม่มีประสิทธิภาพเช่น :-

  • ลงทุนมาก แต่ใช้ประโยชน์ได้น้อย และยังเชื่อถือไม่ได้

  • พิมพ์ตก ๆ หล่น ๆ ไม่ชัด เรียงหน้าสลับ อ่านยาก รูปแบบเรียงไม่เป็นระเบียบ ทำให้ผู้ตอบสับสน จนอาจเข้าใจผิด ตอบผิด ใส่ช่องคำตอบผิด และเสียคะแนนสอบ เป็นต้น

หากข้อสอบไม่มีประสิทธิภาพดังกล่าวข้างต้น ก็ถือว่าเป็นแบบทดสอบที่ไม่ดี ต้องปรับปรุง

  1. ความยุติธรรม (Fairness)

ข้อสอบที่ยุติธรรม ต้องไม่เปิดโอกาสให้มีการได้เปรียบเสียเปรียบกัน ในระหว่างผู้ทดสอบ เช่น  บางคนเคยทำข้อสอบนี้มาแล้ว ไม่ว่าเป็นเพราะเหตุใด อาจเป็นเพราะเคยมาสมัครงานกับบริษัทเราแล้ว เคยทดสอบข้อสอบนี้มาแล้ว เมื่อสอบไม่ผ่าน วนกลับมาสอบใหม่ โดยเรายังใช้ข้อสอบเดิมลักษณะนี้ ก็จะเกิดความไม่ยุติธรรม ระหว่างผู้สอบได้

ทางแก้ไขจึงต้องมีข้อสอบไว้หลาย ๆ ชุด หรือเรียกว่ามี ธนาคารข้อสอบ หรือคลังข้อสอบ เพื่อนำมาหมุนเวียนใช้จนผู้เข้าสอบไม่สามารถทราบได้ว่า เราจะใช้ข้อสอบชุดไหน เป็นต้น

เท่าที่กล่าวมาแล้วทั้ง 5 เครื่องมือในการวัดว่าแบบทดสอบนั้นดีหรือไม่ จะเห็นว่าสามารถนำมาวิเคราะห์ข้อสอบคัดเลือกได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ดี ยังมีเครื่องมือที่สำคัญในการวิเคราะห์คุณภาพของแบบทดสอบ คือเรื่อง ความเที่ยงตรงของแบบทดสอบ (Validity) และความเชื่อมั่นของแบบทดสอบ (Reliability) ซึ่งมีเนื้อหาอีกหลายประเด็น ตลอดจนมีสูตรสำคัญ ๆ ที่ต้องการ การอธิบายอีกมากพอสมควร


อัพเดทล่าสุด