ปัจจัยด้านจิตวิทยาพื้นฐานที่ควรพิจารณาในการสัมภาษณ์
ปัจจัยด้านจิตวิทยาพื้นฐานที่ควรพิจารณาในการสัมภาษณ์
การสัมภาษณ์เพื่อการคัดเลือกบุคคลเข้าทำงานมีปัจจัยด้านจิตวิทยาที่ควรพิจารณา ดังต่อไปนี้
1. แรงจูงใจของผู้ถูกสัมภาษณ์
การให้ข้อมูลของผู้ถูกสัมภาษณ์ ขึ้นอยู่กับบุคลิกภาพและพฤติกรรมของผู้สัมภาษณ์เป็นสำคัญ หมายความว่า ผู้สมัครงานจะพูดอย่างเปิดเผยและสบายใจถ้าเขารู้สึกว่าผู้สัมภาษณ์พยายามที่จะเข้าใจในความคิดให้ความสนใจและพยายามเข้าใจความรู้สึกของบุคคลอื่น โดยพยายามเข้าใจทัศนะหรือจุดยืนของผู้สมัครเขาจะให้ข้อมูลอย่างดีหากเขาพอใจกระบวนการหรือวิธีการสัมภาษณ์ของผู้สัมภาษณ์
2. อุปสรรคของการติดต่อสื่อสาร
การติดต่อสื่อสารระหว่างผู้สัมภาษณ์และผู้สมัครจะเกิดอุปสรรค หากผู้สมัครรู้ว่าในขณะสัมภาษณ์ ผู้สัมภาษณ์มีค่านิยมและเป้าหมายไม่ตรงกับตนเอง นั่นคือเขาจะระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับตัวเขาหรือไม่ก็จะเปิดเผยเฉพาะข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อตัวเขาหรือข้อมูลที่ทำให้เขาได้รับความนิยมชมชอบจากผู้สัมภาษณ์นอกจากนี้การใช้ภาษาหรือสถานภาพ ( ฐานะตำแหน่ง ) ที่แตกต่างระหว่างสองฝ่ายอาจเป็นสาเหตุที่ทำให้การติดต่อพูดคุยกันล้มเหลวหรือเกิดความไม่เข้าใจตรงกันได้
3. ความลำเอียงของผู้สัมภาษณ์
จากการวิจัยพบว่าความคิดเห็นและความลำเอียงของผู้ทำการสัมภาษณ์มีอิทธิพลอย่างมากต่อการตัดสินใจในการคัดเลือกบุคคล อคติ หรือความลำเอียงดังกล่าว ได้แก่ การประเมินตัวผู้สมัครโดยใช้ความเชื่อหรืออุปทานของผู้สัมภาษณ์เป็นสำคัญ
4. อดีตย่อมชี้ให้เห็นถึงอนาคต
แนวทางในการพิจารณาถึงความสามารถตลอดจนพฤติกรรมของบุคคลในอนาคตจะพิจารณาจากประสบการณ์หรือประวัติของบุคคลในอดีตเป็นสำคัญโดยพิจารณาจากพื้นฐานของบุคคลดังนี้
- สภาพแวดล้อมในวัยเด็ก
- ประสบการณ์การศึกษา
- ประสบการณ์การทำงาน
- การทำงานในสังคม
- สภาพครอบครัว
- สุขภาพ
- ฐานะทางการเงิน เป็นต้น
อย่างไรก็ตามอาจเป็นการไม่เหมาะสมหากผู้สัมภาษณ์จะสรุปหรือประเมินผู้สมัครโดยพิจารณาจากเหตุการณ์อย่างใดอย่างหนึ่งในอดีตแต่เพียงอย่างเดียว เช่น หากผู้สมัครประสบความล้มเหลวในงานอย่างใดอย่างหนึ่งก็มิได้หมายความว่าเขาจะประสบความล้มเหลวในงานทุกอย่างในอนาคต ดังนั้นผู้สัมภาษณ์จึงควรพิจารณาหลักฐานและข้อมูลต่างๆ เกี่ยวกับผู้สมัครอย่างเพียงพอและมีเหตุผลจึงสามารถประเมินพฤติกรรมของผู้สมัครได้อย่างถูกต้อง