การจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์
ชัยทวี เสนะวงศ์
ปัจจุบันในการบริหารหรือจัดการธุรกิจสมัยใหม่นั้น การบริหารงานเชิงรุกในรูปแบบของการวางแผนเชิงกลยุทธ์นับวันจะมีความสำคัญมากขึ้นทุกขณะ ทั้งนี้ก็เพราะการวางแผนเชิงกลยุทธ์เป็นกระบวนการในการกำหนดทิศทางและแนวทางของการปฎิบัติภารกิจขององค์กรในอนาคต การวางแผนเชิงกลยุทธ์จะเป็นการวางแผนการทำงานที่มีลักษณะแตกต่างไปจากการวางแผนโดยทั่ว ๆ ไป เพราะคำว่า “ กลยุทธ์ ” จะเป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทั้งภายนอกและภายในขององค์กร ซึ่งการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายนอกจะหมายถึง การวิเคราะห์สภาพของการเปลี่ยน-แปลงทางเศรษฐกิจ สังคม การเมือง อุตสาหกรรม และคู่แข่งขันที่จะมีผลกระทบต่อธุรกิจทั้งที่เป็นโอกาสและภยันตราย ส่วนการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายในจะหมายถึง การวิเคราะห์โครงสร้างองค์กร สถานภาพทางการเงิน เทคโนโลยี วัฒนธรรม ประสิทธิภาพ และประสิทธิผล เพื่อที่จะหาจุดอ่อนและ จุดแข็งในด้านต่าง ๆ เพื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งขัน ซึ่งเมื่อผ่านกระบวนการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ไปแล้วธุรกิจก็จะได้ข้อมูลมาเพื่อประกอบการวางแผนทั้งระยะสั้น ระยะปานกลาง ระยะยาว ต่อไป การวางแผนกลยุทธ์จะต้องเป็นการวางแผนอย่างมีระบบ ซึ่งจะหมายรวมถึงการกำหนดกลยุทธ์ของหน่วยงานต่าง ๆ ขององค์กรให้มีความสัมพันธ์สอดคล้องส่งเสริมซึ่งกันและกัน เพื่อให้องค์กรประสบ-ความสำเร็จสามารถสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันทางธุรกิจได้ การจัดการทรัพยากรมนุษย์เป็นกิจกรรมหนึ่งในการปฏิบัติงานขององค์กรที่จะต้องมีการปรับตัวให้สอดคล้องกับแนวทางการบริหารองค์กรเชิงกลยุทธ์ องค์กรสมัยใหม่ที่ประสบความสำเร็จจะให้ความ-สำคัญในการจัดการทรัพยากรมนุษย์อย่างจริงจัง องค์กรเหล่านี้จะพัฒนาระบบการจัดการทรัพยากร-มนุษย์จากระบบเดิมที่เรียกว่า “การบริหารงานบุคคล” ที่มีแนวคิดว่าคนเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งของการผลิตสินค้าและบริการเท่านั้น ซึ่งรูปแบบของการบริหารงานบุคคลในลักษณะนี้จะมีกระบวนการง่าย ๆ เช่น จ้างบุคลากรเข้ามาทำงาน แล้วจ่ายค่าจ้างให้ตามที่องค์กรกำหนด ควบคุมการปฏิบัติงานของบุคลากรด้วยกฎระเบียบขององค์กรที่เข้มงวด บุคลากรคนใดปฏิบัติงานได้ก็ให้ปฏิบัติงานต่อไป แต่ถ้าบุคลากรคนใดที่มีผลการปฏิบัติงานไม่เป็นที่พอใจก็ให้ออกจากงานไป เป็นต้น มาสู่ระบบการจัดการทรัพยากรมนุษย์สมัยใหม่ที่เรียกว่า “ การจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ ” ที่มีแนวคิดในการ จัดการทรัพยากรมนุษย์ว่าเป็นทรัพยากรที่มีค่าสูงสุดขององค์กร การจัดการทรัพยากรมนุษย์จะเป็น การจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่มองไปข้างหน้า หรือคิดล่วงหน้า ในการกำหนดกลยุทธ์ในการจัดการทรัพยากรมนุษย์ออกมาทั้งนี้เพื่อดึงดูด จูงใจ และรักษาบุคลากรที่องค์กรต้องการให้มุ่งมั่นกับการปฏิบัติ-งานให้กับองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้การจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์ยังจะต้องกำหนดกลยุทธ์ของตนเองให้ สอดคล้องและสนับสนุนกับกลยุทธ์ด้านอื่น ๆ ขององค์กรด้วย ทั้งนี้ก็เพื่อการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรในการผลักดันให้ผลการดำเนินงานขององค์กรบรรลุวิสัยทัศน์ ภารกิจ และเป้าหมายที่องค์กำหนดไว้ ระดับของกลยุทธ์
ในการวางแผนกลยุทธ์นั้นจะแบ่งระดับที่แตกต่างกันของกลยุทธ์ออกเป็น 3 ระดับดังต่อไปนี้
1. กลยุทธ์ในระดับองค์กร หรือระดับบริษัท
เป็นกลยุทธ์ที่ครอบคลุมถึงขอบเขตการทำธุรกิจ ทิศทางของธุรกิจ และการพัฒนาธุรกิจไปใน ทิศทางใดโดยภาพรวม 2. กลยุทธ์ในระดับธุรกิจ
เป็นการกำหนดกลยุทธ์ในระดับหน่วยที่ย่อยลงไปอาจจะหมายถึง การกำหนดกลยุทธ์ในด้านการตลาด เพื่อบรรลุสู่ลูกค้าเป้าหมายกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง หรือ อาจจะกำหนดกลยุทธ์ของการผลิต สินค้าในการเน้นความเป็นผู้นำในด้านต้นทุน เป็นต้น อาจกล่าวได้ว่ากลยุทธ์ในระดับธุรกิจนั้นเป็น แนวทางเพื่อบรรลุทิศทางของธุรกิจที่ถูกกำหนดในระดับองค์กร 3. กลยุทธ์ในระดับปฏิบัติการ
เป็นการกำหนดกลยุทธ์ในเชิงเทคนิคของหน่วยงานต่าง ๆ ในองค์กร เช่น การกำหนด กลยุทธ์ในด้านเทคนิค การตลาด การเงิน การผลิต การจัดการทรัพยากรมนุษย์ เป็นต้น การวางแผนกลยุทธ์ทางด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรเป็นการกำหนดกลยุทธ์ในระดับปฏิบัติการที่ธุรกิจกำหนดขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางให้การจัดการทรัพยากรมนุษย์ขององค์กร ในการที่จะช่วยส่งเสริม สนับสนุน ให้องค์กรประสบความสำเร็จในการแข่งขัน หรือบรรลุวิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมายที่องค์กรได้กำหนดไว้ องค์ประกอบของแผนกลยุทธ์ด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์
แผนกลยุทธ์ทางด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพควรมีองค์ประกอบดังนี้ ( ดูแผ่นภาพที่ 1 ประกอบ )
1. เหมาะสมกับแผนกลยุทธ์ขององค์กร
ในการกำหนดกลยุทธ์ด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่ดีจะต้องให้แผนกลยุทธ์นั้นมี ความเหมาะสม สอดคล้อง กับแผนกลยุทธ์ในภาพรวมขององค์กร ทั้งนี้โดยมีแนวคิดว่าแผนกลยุทธ์ทางด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์จะต้องเป็นส่วนหนึ่งของแผนงานที่จะเอื้ออำนวยให้แผนกลยุทธ์ในระดับ องค์กรประสบความสำเร็จ 2. เหมาะสมกับสภาวะแวดล้อมขององค์กร
ในขั้นตอนของการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมขององค์กรก่อนที่จะกำหนดกลยุทธ์นั้น องค์กรจะทราบว่าสภาวะแวดล้อมขององค์กรเป็นในลักษณะเช่นไร เช่น มีกระบวนการทำงานเชิงรุก ตั้งรับ หรือถดถอย มีจุดเด่น จุดด้อย และความเสี่ยงอะไรบ้าง เป็นต้น ซึ่งในการกำหนดกลยุทธ์ทางด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์จะต้องคำนึงถึงสภาวะแวดล้อมเหล่านี้ขององค์กรเอาไว้ด้วย 3. เหมาะสมกับลักษณะขององค์กร
องค์กรแต่ละองค์กรจะมีลักษณะเฉพาะขององค์กรที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งอาจจะเรียกว่าเป็นวัฒนธรรมของแต่ละองค์กรก็ได้ เช่น องค์กรที่เน้นด้านการตลาด การขาย หรือองค์กรที่มีวัฒนธรรมที่เน้นระบบคุณธรรม โปร่งใส ตรวจสอบได้ เป็นต้น การกำหนดกลยุทธ์ด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์จะต้องคำนึงถึงลักษณะขององค์กรดังกล่าวเอาไว้ด้วย 4. เหมาะสมกับความสามารถขององค์กร
ความสามารถขององค์กรในภาพรวม แล้วจะประกอบด้วย ความรู้ ความสามารถ ทักษะ ของผู้บริหารและพนักงาน ความสามารถในการแข่งขันของธุรกิจ ความสามารถในการทำกำไรของธุรกิจ ความสามารถในการจ่ายของธุรกิจ เป็นต้น แผนกลยุทธ์ด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่กำหนดขึ้นควรคำนึงถึงความสามารถขององค์กรด้วย จึงจะทำให้แผนกลยุทธ์นั้น ๆ ประสบความสำเร็จได้ ขั้นตอนการจัดทำแผนกลยุทธ์ด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์
การวางแผนกลยุทธ์ด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ ควรมีขั้นตอนในการวางแผนกลยุทธ์ ดังต่อไปนี้ ( ดูแผ่นภาพที่ 2 ประกอบ )
1. การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของการจัดการทรัพยากรมนุษย์ในองค์กร
ขั้นตอนนี้เป็นการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของการจัดการทรัพยากรมนุษย์ใน 3 ลักษณะ คือ
1.1 วิเคราะห์ถึงกลยุทธ์ระดับต่าง ๆ ขององค์กรว่าเกี่ยวข้องกับการจัดการทรัพยากร-มนุษย์อย่างไร และองค์กรต้องการกำหนดกลยุทธ์ด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์อย่างไรในการที่จะช่วยสนับสนุน ส่งเสริม ในการดำเนินธุรกิจขององค์กรประสบความ-สำเร็จ
1.2 วิเคราะห์ถึงศักยภาพของหน่วยงานการจัดการทรัพยากรมนุษย์ว่ามีความสามารถมากน้อยเพียงไร ในการที่จะกำหนดและบริหารกลยุทธ์ทางด้านการจัดการทรัพยากร-มนุษย์ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
1.3 วิเคราะห์ถึงจุดอ่อน จุดแข็ง ในการจัดการทรัพยากรมนุษย์ขององค์กร
แนวทางในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมทรัพยากรมนุษย์
ในการวเคราะห์สภาพแวดล้อมทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรเป็นกระบวนการในการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมภายใน เป้าหมายหลักก็คือการวิเคราะห์ถึงจุดอ่อน จุดแข็ง ขององค์กรประกอบของทรัพยากรมนุษย์เมื่อเทียบกับคู่แข่งขัน ซึ่งควรจะมีแนวทางในการวิเคราะห์ ดังนี้ - การวิเคราะห์คุณภาพของฝ่ายบริหารว่ามีวิสัยทัศน์ ประสบการณ์ มีคุณธรรม และ จรรยาบรรณ มีความเป็นวิชาชีพในลักษณะใด
- วิเคราะห์ถึงคุณภาพ ความรู้ ประสบการณ์ของพนักงานโดยรวม
- วิเคราะห์ถึงขวัญ และกำลังใจของพนักงาน
- วิเคราะห์ประสิทธิภาพของพนักงาน
- วิเคราะห์ระบบสื่อสารภายในองค์กรว่ามีช่องว่าง และมีความคล่องตัวมากน้อยแค่ไหน
- วิเคราะห์กระบวนการตัดสินใจของบุคลากรว่ามีประสิทธิภาพ และมีความรวดเร็ว ทันต่อ เหตุการณ์อย่างไร
- วิเคราะห์ถึงกระบวนการในการพัฒนา และฝึกอบรมพนักงาน
- วิเคราะห์ถึงความคิดสร้างสรรค์ของบุคลากร
- วิเคราะห์ถึงกิจกรรมด้านต่าง ๆ ของการจัดการทรัพยากรมนุษย์ว่ามีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงไร เช่น การวางแผนกำลังคน การจ้างงาน การบริหารค่าตอบแทน การแรงงานสัมพันธ์ ระบบความปลอดภัยและอาชีวอนามัย เป็นต้น
2. การกำหนดวิสัยทัศน์ในเรื่องทรัพยากรมนุษย์มนุษย์
ขั้นตอนนี้จะเป็นการนำเอาผลสรุปจากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมมากำหนดเป็นวิสัยทัศน์ในเรื่องทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งวิสัยทัศน์ในเรื่องทรัพยากรมนุษย์นี้จะเปรียบเสมือนแนวทางและทิศทาง ในการจัดการทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรในอนาคตระยะยาว เช่น " มุ่งเน้นการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างจริงจัง
เพื่อให้พนักงานเป็นคนเก่งคิด เก่งทำ เน้นการทำงานเป็นทีม
มีความคิดสร้างสรรค์ มีการเรียนรู้ตลอดเวลา "
" พัฒนาพนักงานให้เป็นคนเก่งคิด เก่งทำ
และต้องหาทางจูงใจให้พนักงานเหล่านี้
อยากอยู่ อยากคิด อยากทำ เพื่อบรรลุเป้าหมายขององค์กร "
เป็นต้น
3. กำหนดกลยุทธ์
เป็นการกำหนดแผนกลยุทธ์ที่เป็นกระบวนการวางแผนออย่างมีขั้นตอน และเน้นระบบและสามารถปฏิบัติได้โดยยึดกรอบของวิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมายขององค์กร และจุดอ่อน จุดแข็ง จากการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของการจัดการทรัพยากรมนุษย์มาเป็นองค์ประกอบในการกำหนดกลยุทธ์ 3.1 การกำหนดทางเลือกทางกลยุทธ์
ภายหลังจากที่ได้มีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมแล้วก็จะต้องมีการกำหนดทิศทางของ กลยุทธ์ แนวทางการปฏิบัติงานในอนาคตในหลาย ๆ ทางเลือก เพื่อที่จะบรรลุวิสัย-ทัศน์ที่ได้กำหนดไว้ 3.2 การประเมินทางเลือกทางกลยุทธ์
ขั้นตอนนี้จะเน้นการศึกษาและประเมินว่าแผนกลยุทธ์ต่าง ๆ ที่กำหนดไว้นั้น มีความเหมาะสมและเป็นไปได้มากน้อยเพียงไร หรือ กล่าวอีกนัยหนึ่งก็คือเป็นการประเมินว่ากลยุทธ์อะไรจะเหมาะสมที่สุด 3.3 การเลือกกลยุทธ์
ขั้นตอนนี้จะเป็นกระบวนการในการตัดสินใจเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมที่สุดเอาไปปฏิบัติ
ซึ่งแผนกลยุทธ์ที่เลือกจะต้องคำนึงถึงจุดอ่อน จุดแข็งของการจัดการทรัพยากรมนุษย์
ตลอดจนค่านิยมและวัฒนธรรมขององค์กรด้วย 4. นำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ
ขั้นตอนนี้จะเป็นการวางแผนระดับปฏิบัติการที่จะต้องกำหนดการใช้ทรัพยากรต่างๆ เช่น งบประมาณ บุคลากร การจัดองค์กร เป็นต้น เพื่อให้แผนกลยุทธ์ที่กำหนดไว้นั้นประสบความสำเร็จ แผนปฏิบัติการที่กำหนดขึ้นจะต้องมีการระบุถึงภารกิจ และเป้าหมายที่ชัดเจน และเป็นรูปธรรม การกำหนดเป้าหมายที่ดี ควรมีองค์ประกอบดังนี้
4.1 เป้าหมายควรจะเป็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่เฉพาะเจาะจง
4.2 เป้าหมายจะต้องเป็นผลสำเร็จของกิจกรรม
4.3 เป้าหมายจะต้องวัดได้
4.4 เป้าหมายจะต้องระบุระยะเวลาของการปฏิบัติงานที่ชัดเจน
4.5 เป้าหมายจะต้องท้าทาย และมีความเป็นไปได้
5. การประเมินผล และติดตามผล
เป็นการตรวจสอบแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ว่าในการนำไปปฏิบัติจริงแล้ว มีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงไร ซึ่งการประเมินผลและติดตามผลที่ดีผู้บริหารแผนควรจะต้องได้ข้อมูลย้อนกลับที่ชัดเจนและรวดเร็วทันสถานการณ์ เพื่อที่จะได้แก้ปัญหา และปรับแนวทางของแผนปฏิบัติการต่าง ๆ ตลอดเวลา ทั้งนี้ก็เพื่อให้แผนกลยุทธ์ต่าง ๆ ประสบความสำเร็จ บรรลุเป้าหมาย ภารกิจ และวิสัยทัศน์ที่กำหนดไว้
ประโยชน์ของการวางแผนกลยุทธ์ด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์
การวางแผนกลยุทธ์ทางด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ที่เหมาะสม สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ขององค์กร เมื่อนำแผนกลยุทธ์นั้นไปปฏิบัติจะก่อให้เกิดประโยชน์ในหลาย ๆ แนวทาง ดังต่อไปนี้ 1. เป็นการวางแผนการทำงานเชิงรุกที่ต้องคิดไปข้างหน้า
ที่ได้กล่าวมาแล้ว กระบวนการวางแผนกลยุทธ์ด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ เป็นกระบวนการทำงานเชิงรุกที่ต้องคิดไปข้างหน้า ซึ่งการปฏิบัติงานที่มีการกำหนดทิศทางเอาไว้ล่วงหน้าจะมีประสิทธิภาพดีกว่าการทำงานเชิงรับที่คอยแก้ปัญหาเฉพาะไปในแต่ละวัน 2. เป็นการกำหนดเป้าหมายของการจัดการทรัพยากรมนุษย์
แผนกลยุทธ์ทางด้านการจัดการทรัพยากรมนุษย์ จะบอกให้ทราบได้ว่าองค์กรมีเป้าหมาย หรือแนวทางในการจัดการทรัพยากรมนุษย์เป็นอย่างไร ซึ่งจะเป็นทิศทางให้การวางแผนปฏิบัติมีรูปธรรมที่ชัดเจนขึ้น 3. การกำหนดกลยุทธ์เป็นกระบวนการทำงานที่ต้องใช้ความคิดอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ
กระบวนการวางแผนกลยุทธ์จะต้องคอยตรวจสอบวิธีการทำงานอยู่ตลอดเวลาว่าจะบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่ หรือจะต้องมีการปรับปรุง เปลี่ยนแปลง กลยุทธ์อย่างไรบ้าง ซึ่งขั้นตอนการปฏิบัติงานเหล่านี้จะต้องใช้ความคิดอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอ และต้องการความคิดที่หลากหลาย 4. เป็นการกำหนดจุดอ่อน จุดแข็ง
ขั้นตอนของการวางแผนกลยุทธ์ จะต้องมีการวิเคราะห์สภาพแวดล้อม ซึ่งจะทำให้องค์กรทราบได้ว่าการจัดการทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรมีจุดอ่อน จุดแข็ง เป็นอย่างไรบ้าง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดการทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรต่อไป 5. สร้างการมีส่วนร่วมของผู้บังคับบัญชาตามสายงาน
ดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในเรื่องทรัพยากรมนุษย์ขององค์กรจะไม่ประสบความสำเร็จเลยถ้าปราศจากการมีส่วนร่วมของผู้บังคับบัญชาตามสายงาน การวางแผนกลยุทธ์จะช่วยกำหนดบทบาทที่ชัดเจนในเรื่องของการจัดการทรัพยากรมนุษย์ระหว่างหน่วยงานการบริหารทรัพยากรมนุษย์กับ หน่วยงานอื่น ๆ ตามแนวคิดที่ว่า " ผู้บังคับบัญชาตามหน่วยงาน จะต้องเป็นผู้บริหารทรัพยากรมนุษย์ของหน่วยงานนั้น ๆ " 6. สร้างความรู้สึกร่วม ความสามัคคี
การวางแผนกลยุทธ์จะต้องเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามามีส่วนร่วมระดมความคิด บอกปัญหา บอกความต้องการ เป็นต้น ซึ่งจะเป็นการสร้างการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง เมื่อถึงเวลาที่จะต้องนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติจะได้รับความร่วมมือร่วมใจอย่างเต็มที่ แผนกลยุทธ์นั้น ๆ ก็จะประสบความสำเร็จได้โดยง่าย สรุปการจัดการทรัพยากรมนุษย์เชิงกลยุทธ์เป็นกระบวนการปฏิบัติงานที่หน่วยงานทรัพยากรมนุษย์จะต้องคิดไปข้างหน้า เพื่อกำหนดกลยุทธ์ของหน่วยงานตนเองให้มีส่วนในการสนับสนุน สอดคล้องกับกลยุทธ์ของหน่วยงานอื่น ๆ ขององค์กร ทั้งนี้ก็เพื่อการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรที่มีส่วนร่วมในการผลักดันผลการปฏิบัติงานขององค์กรให้สร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน และบรรลุวิสัยทัศน์ ภารกิจ เป้าหมาย ที่องค์กรกำหนดไว้
ที่มา : Business Management Co.,Ltd.