จรรยาบรรณ : หลักสำคัญสู่ความสำเร็จ


700 ผู้ชม


จรรยาบรรณ : หลักสำคัญสู่ความสำเร็จ




    พอพูดถึงจรรยาบรรณคนก็มักจะนึกถึงอาชีพบางอาชีพ เช่น แพทย์ พยาบาล ทนายความ ฯลฯ แต่ในความเป็นจริงแล้ว คำว่าจรรยาบรรณน่าจะต้องใช้กับคนทุกคนถึงแม้จะมีอาชีพหรือไม่มีอาชีพก็ตาม อย่างน้อยที่สุดก็ต้องจรรยาบรรณแห่งความเป็นคนคนหนึ่งในฐานะสมาชิกของสังคม ในความเป็นจริงเราอาจจะไม่เรียกว่าจรรยาบรรณ แต่เราอาจจะเรียกว่าศีลธรรม เรียกว่าหลักความดีความชั่ว หรือใครจะเรียกอะไรก็ตาม ผมคิดว่ามันคือสิ่งเดียวกันนั่นก็คือ การจิตสำนึกว่าการจะทำอะไรลงไปสักอย่างหนึ่งนั้น สิ่งนั้นเหมาะสมกับสถานะของตัวเองหรือไม่ เช่น ถ้าจะพูดจาไม่สุภาพกับต้นไม้คงจะไม่มีใครว่าอะไร แต่ถ้าจะพูดจาไม่สุภาพกับลูกๆ ก็ต้องดูว่าสถานะของเราคือการเป็นพ่อแม่ พ่อแม่ควรจะมีข้อควรคำนึงอะไรบ้าง (ต้องรับผิดชอบต่อสถานะของตัวเองอย่างไร) ถ้าเราทำงานเป็นผู้บริหารการเปิดเผยข้อมูลขององค์กรถือเป็นสิ่งที่ควรกระทำหรือไม่ เหล่านี้เราเรียกว่า “ จรรยาบรรณ ”

     ผมเคยเห็นองค์กรต่างๆมีการประกาศจรรยาบรรณกันออกมาเหมือนเป็นแฟชั่น แล้วก็มาบังคับจับมือให้พนักงานเซ็นรับทราบ ทุกคนก็ต้องเซ็นเพื่อรักษาสถานะของการเป็นลูกจ้าง แต่ถามจริงๆเถอะว่ามีสักกี่คนที่ยอมรับจรรยาบรรณที่องค์กรกำหนดขึ้นมา จรรยาบรรณจริงๆแล้วไม่ใช่การจับมือพนักงานเซ็น แต่เป็นการปลูกฝังจิตสำนึกให้พนักงานรู้สึกรับผิดชอบชั่วดีต่อผลที่ตนเองจะกระทำหรือไม่กระทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งมากกว่า

     ผมอยากจะยกตัวอย่างพฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณให้ท่านผู้อ่านพิจารณากันดังนี้

  • ผู้บริหารบางคนในบางองค์กรเล่นหุ้นโดยใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัทในเวลางาน ผิดจรรยาบรรณหรือไม่

  • แม่บ้านเล่นหุ้นในเวลาเดียวกันกับการทำงานบ้าน ผิดจรรยาบรรณหรือไม่

  • นักลงทุนนั่งเล่นหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ ผิดจรรยาบรรณหรือไม่

     ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านสามารถตอบได้ว่าอะไรควร อะไรไม่ควร เราจะเห็นว่าจรรยาบรรณไม่ได้ขึ้นอยู่กับพฤติกรรม แต่ขึ้นอยู่กับพฤติกรรมนั้นสัมพันธ์หรือเหมาะสมกับสถานะของบุคคลคนนั้นหรือไม่ ดังนั้น จรรยาบรรณไม่ต้องเขียน จรรยาบรรณไม่ต้องเซ็นรับ แต่ทำอย่างไรให้คนคิดเป็น วิเคราะห์ได้ ยับยั้งชั่งใจต่อการกระทำที่มันขัดต่อความดีชั่ว ถูกต้องเหมาะสมเท่านั้นเอง

     องค์กรหรือสังคมมักจะเรียกร้องให้พนักงานหรือคนในสังคมมีจรรยาบรรณในการทำงาน แล้วตัวองค์กรหรือผู้บริหารองค์กรหรือผู้บริหารประเทศเองมีจรรยาบรรณกันแล้วหรือยัง
ผมคิดว่าการปลูกฝังเรื่องจรรยาบรรณให้กับคนในสังคม ควรจะดำเนินการในหลายมาตรการดังนี้

  • ระดับครอบครัว ครอบครัวควรจะปลูกฝังให้เด็กๆรู้จักประเมินได้ด้วยตนเองว่าอะไรควรอะไรไม่ควรทำ เพราะอะไร ไม่ใช่บังคับให้เด็กจำว่าอะไรควรทำอะไรไม่ควรทำเท่านั้น เช่น ห้ามเด็กพูดคำหยาบ เด็กๆถามว่าทำไม อย่าตอบเพียงว่าไม่ดีเพียงอย่างเดียว (เด็กๆก็ยังงงๆว่าไม่ดีตรงไหน) พ่อแม่อาจจะต้องอธิบายเหตุผลให้เด็กเข้าใจ เช่น ถ้าคนอื่นพูดกับเราแบบนี้เราชอบหรือ ถ้าเขาตอบว่าไม่ชอบก็อธิบายเขาว่าที่เราไม่ควรพูดคำหยาบกับคนอื่นก็เพราะจะทำให้คนอื่นไม่ชอบด้วย และถ้าเราพูดบ่อยๆคนอื่นจะไม่ชอบไม่รักเรา

  • สถาบันการศึกษา เนื่องจากเด็กอยู่กับโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาเป็นเวลายาวนานกว่าจะออกมาประกอบอาชีพ ดังนั้น โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษาจึงถือเป็นแหล่งเพาะบ่มจรรยาบรรณของความเป็นคนให้กับคนได้เป็นอย่างดี น่าจะมีการเรียนการสอนวิชาการควบคู่ไปกับการปลูกจิตสำนึกไปพร้อมกันด้วย แทนที่จะวัดคนเก่งกันตรงที่คะแนนสอบทางวิชาการแต่เพียงอย่างเดียว แต่จะมีการสอบทางด้านจรรยาบรรณของการเป็นนักเรียนที่ดีไปด้วย

  • องค์กร คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในองค์กรไม่น้อยไปกว่าครอบครัวหรือสถาบันการศึกษา และคนในวัยนี้เป็นคนในวัยที่อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนอีกหลายกลุ่มในสังคม ดังนั้น เรื่องจรรยาบรรณไม่ว่าจะเป็นจรรยาบรรณในการประกอบอาชีพ จรรยาบรรณในการเป็นสมาชิกของสังคม หรือแม้กระทั่งจรรยาบรรณของความเป็นคน จึงน่าจะเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ผมเชื่อว่าองค์กรต่างๆมีความรู้ความสามารถในการพัฒนาคนให้ทำงานเก่งได้ ก็น่าจะสามารถพัฒนาหรือสร้างจิตสำนึกหรือจรรยาบรรณให้กับคนได้โดยไม่ยากนัก ขอเพียงแต่องค์กรต้องให้ความสำคัญและทุ่มเทกับเรื่องนี้มากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น เนื่องจากองค์กรส่วนใหญ่มักจะให้ความสำคัญกับจรรยาบรรณก็ต่อเมื่อมีกฎอะไรมีบังคับ ก็ต่อเมื่อมีเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นไปแล้ว เช่น เกิดการคอรัปชั่นจากคนที่ไม่ดีเพียงบางคน แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นคือการกำหนดจรรยาบรรณขึ้นมาเพื่อบังคับคนส่วนมาก(ซึ่งดีอยู่แล้ว )อยู่เสมอ

   สรุป คนทุกคนไม่ว่าจะประกอบอาชีพอะไรหรือไม่ประกอบอาชีพ ก็ควรจะมีจรรยาบรรณติดตัวติดใจอยู่ตลอดเวลา อย่าไปคิดให้สูงส่งว่าจรรยาบรรณใช้เฉพาะบางวิชาชีพเท่านั้น ให้คิดเสียว่าจรรยาบรรณคือเครื่องกรองความคิดที่ไม่ดีไม่ให้หลุดไปสู่การกระทำนั่นเอง ถ้าเครื่องกรองทางความคิดเราดี สามารถคิดใหม่ สามารถยับยั้งชั่งใจ ไม่ให้ความคิดที่ไม่ดีแปลงร่างออกมาเป็นการกระทำที่ไม่ดีไม่เหมาะสมได้ อย่างนี้ก็เรียกได้อย่างเต็มปากแล้วนะครับว่าเรามี “ จรรยาบรรณ ”

“ ขอให้คิดว่าสิ่งที่คุณกำลังจะทำนั้น เหมาะสมกับบทบาทหน้าที่และสถานะของตัวเองหรือไม่ ”

แหล่งที่มา: ณรงค์วิทย์ แสนทอง [email protected]


อัพเดทล่าสุด