หลักการปรับเงินเดือนพนักงาน ในท่ามกลางสภาวะปกติและไม่ปกติ มนุษย์เงินเดือน ต้องเร่งหาทางออกของตนเองให้เจอ


739 ผู้ชม


ในท่ามกลางสภาวะปกติและไม่ปกติ มนุษย์เงินเดือน ต้องเร่งหาทางออกของตนเองให้เจอ




หลักการปรับเงินเดือนพนักงาน ในท่ามกลางสภาวะปกติและไม่ปกติ มนุษย์เงินเดือน ต้องเร่งหาทางออกของตนเองให้เจอ

ปราชญ์เมธีจากโลกตะวันตกเคยกล่าวว่า เมื่อใดที่โลกอยู่ในสภาวะปกติ เราจะเห็นการเคลื่อนย้ายของมนุษยชาติ เพราะโลกอันประกอบไปด้วยผืนดินและผืนน้ำ
ทั้งทรัพยากรต่าง ๆ มากมาย
อสังหาริมทรัพย์ และสังหาริมทรัพย์
รวมไปถึงความเจริญทางวัตถุในด้านต่าง ๆ ที่ล้วนทำให้มนุษย์โลกเกิดการเคลื่อนย้าย และถ่ายเทภูมิลำเนา อากาศหนาวในยุโรป และอเมริกาเหนือ อาจย้ายไปอยู่ในทวีปเอเชียบางประเทศได้
หรืออากาศร้อนในทวีปเอเชีย อาจย้ายไปสัมผัสอากาศหนาวในทวีปยุโรป หรืออเมริกาเหนือได้
อันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ผู้ที่มีความเชื่อว่าโลกนั้นไร้พรมแดน
ในความเป็นจริงของโลก หากย้อนกลับมามองที่องค์กรต่าง ๆ ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา หรือบางประเทศในทวีปเอเชีย เราจะพบว่าคำกล่าวของปราชญ์เมธีจากโลกตะวันตก สามารถนำมาเปรียบเทียบได้กับองค์กรต่าง ๆ
ยิ่งเฉพาะกับองค์กรที่อยู่ในสภาวะปกติ
เพราะสภาวะปกติ ล้วนต่างทำให้
พนักงาน ผู้บริหาร หรือแม้แต่บัณฑิตจบใหม่ต่างถวิลที่จะโบยบินหางานทำกันเป็น ว่าเล่น
บางคนทำงานเพียงปีสองปี ไม่พอใจหัวหน้างาน ลาออกไปอยู่ที่องค์กรอื่น
บางคนทำงานเพียงปีสองปี รู้สึกว่าโอกาสเติบโตคงเป็นไปได้ยาก ก็ลาออกไปอยู่องค์กรอื่น
ขณะที่บางคนทำงานเพียงไม่กี่ปี รู้แล้วว่าฐานเงินเดือนคงทะลุไปไม่ได้มากกว่านี้ ก็ลาออกไปอยู่องค์กรอื่น รวมทั้งอีกหลายเหตุผล ไม่ว่าจะเป็นบรรยากาศของการทำงาน สวัสดิการ โบนัสและความไม่เป็นธรรมของหัวหน้างาน
ก็ทำให้เขาเหล่านั้นไปอยู่องค์กรอื่น
สิ่งเหล่านี้ หากมองเผิน ๆ เหมือนเป็นเรื่องธรรมดาสำหรับมนุษย์เงินเดือนทั่วไป แต่ถ้ามองในเชิงลึก ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่าองค์กรในฝันที่ทุกคนทำงานแล้วมีความสุข
ทุกคนทำงานแล้วอยู่จนถึงวัยเกษียณ
หรือทุกคนทำงานแล้ว ได้แสดงผลงานอันเป็นที่ประจักษ์ จนหัวหน้า ผู้บริหารให้การยอมรับ ล้วนไม่ได้อยู่ที่องค์ประกอบไหนไกลตัวเราเลย
หากอยู่ที่ตัวพนักงานล้วน ๆ
เพื่อที่จะเรียนรู้ว่าทำงานอย่างไรแล้วมีความสุข
ทำงานอย่างไรถึงจะเจริญก้าวหน้า
ฉะนั้น ในท่ามกลางสภาวะปกติ เหตุผลที่กล่าวมา จึงพอตอบโจทย์มนุษย์เงินเดือนทั่วไปได้ว่า เมื่อหนทางข้างหน้ายังมีทางไป เราควรหาโอกาส หรือทางเลือกใหม่ให้กับชีวิตตัวเองบ้าง
ซึ่งบางคนสามารถตอบโจทย์ตัวเองได้อย่างสวยงาม
ขณะที่บางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าการย้ายตัวเองเพื่อไปแสวงหาความสามารถใหม่ในองค์กรอื่น จะเป็นไปในโลกแห่งความเป็นจริงหรือไม่
เพราะทุกองค์กรย่อมมีปัญหาที่ต่างกัน
ฉะนั้น ต่อคำถามในเรื่องเดียวกันนี้ จึงพอนำเสนอในประเด็นที่ตรงกันข้ามกับประเด็นที่กล่าวมา เพราะหากองค์กรไม่อยู่ในสภาวะปกติดังเช่นตอนนี้ล่ะ เขาจะย้ายองค์กรหรือไม่
บางคนบอกว่าย้ายเพราะเขาเป็นผู้มีความรู้ความสามารถ
ขณะที่บางคนบอกว่าย้ายเพราะเขาจะได้กุมชะตาชีวิตพนักงานอีก 5-6 คน
หรือบางคนอาจไม่ย้าย เพราะรู้ดีว่าในสภาพเศรษฐกิจแบบนี้ ทุก ๆ องค์กรคงอยู่ในสภาพกลืนไม่เข้าคายไม่ออกเหมือนกัน
ฉะนั้น ควรเล่นบทเพลย์เซฟดีที่สุด
ผลเช่นนี้ จึงทำให้หัวหน้างาน ผู้บริหารระดับสูงบางคน จึงมองว่าโอกาสในการเล่นบทนี้เขาน่าจะได้เปรียบ และเขาน่าที่จะใช้โอกาสนี้ทดสอบความรู้ความสามารถกับพนักงานของเขา
เพราะเขาเชื่อแน่ว่าหากพนักงานคนนั้นทนบททดสอบไม่ได้ เขายังมีชอยซ์อื่นอีกมากที่ให้เลือก ฉะนั้น เมื่อมีโอกาสเลือก เขาก็ควรที่จะเลือกผู้ที่มีความรู้ ทักษะความสามารถจริง ๆ
ทั้งนั้นเพราะไม่ใช่เขาคนเดียวที่เป็นตัว ผู้เล่น หากผู้สนับสนุนทีมที่ให้ผู้เล่นเล่นแบบนี้คือนายใหญ่ ดังนั้น ทางเดียวที่จะทดสอบความรู้ความสามารถจนเหลือกลุ่มทาเลนต์จริง ๆ จึงต้องพยายามหาบททดสอบมาสนองตอบอยู่เรื่อย ๆ
เพื่อที่จะเลือกคนที่ดีที่สุด
ส่วนคนที่ไม่ผ่าน ก็ไม่จำเป็นต้องเก็บ หรือรักษาไว้ เพราะอย่าลืมว่าในท่ามกลางสภาวะไม่ปกติ พนักงานมีทางเลือกไม่มาก ยิ่งเฉพาะพนักงานคนนั้นอยู่ในกลุ่มเกรดซี เกรดดี หรือเกรดเอฟ ยิ่งจะหาทางเลือกให้กับตัวเองน้อยลง
ที่สุดเขาจึงอยู่แบบเพลย์เซฟเช่นกัน
คืออยู่แบบไปไหนไปด้วย
อยู่แบบแสวงหาจุดร่วม สงวนจุดต่าง
เพื่อรอฟ้าเปิดเมื่อไหร่ เขาเหล่านั้นจึงพร้อมจะโบยบินจากไปทันที แต่กระนั้น ตรงนี้ก็เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ที่ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ล่วงรู้มาก่อนเช่นกัน
เพราะเขาเองอยู่กับข้อมูลสมัครงาน
เขารู้ว่าเรซูเม่ของบัณฑิตจบใหม่เป็นอย่างไร ขณะเดียวกัน เขาก็รู้ว่าเรซูเม่ของพนักงานที่ย้ายงานเป็นว่าเล่นเป็นอย่างไร
พร้อมกันนั้น เขารู้อีกว่ากลุ่มพนักงานอีกบางกลุ่มที่มีความรู้ความสามารถอย่างเอกอุเป็นอย่างไรเช่นกัน ดังนั้น เมื่อเรซูเม่ของเขาเหล่านั้นหลุดไปอยู่ในมือของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์บางองค์กร เขาจึงรีบคว้าไว้ทันที
เพราะเขารู้แล้วว่าทักษะความสามารถแบบนี้ ไม่เฉพาะแต่องค์กรเขาเท่านั้นที่อยากได้ หากองค์กรอื่นก็อยากได้ในทำนองเดียวกัน
ยกเว้นเพียงแต่ว่าเมื่อเรียกมาคุยแล้วทัศนคติไม่ดีพอ
หรือมองเรื่องของตัวเองมากกว่าเรื่องขององค์กร
หรือมองเรื่องของโอกาสมากกว่าการทำงานแบบทีมเวิร์ก
หรือมองเรื่องของรายได้มากเกินไป
จนบดบังสรรพสิ่งที่จะมาช่วยให้องค์กรเติบโตไปข้างหน้า ทั้งในเรื่องของทีม ทั้งในเรื่องของการขับเคลื่อนไปในอนาคต หรือความเสียสละส่วนตน เพื่อรักษาประโยชน์ส่วนรวม
ฉะนั้น จะเห็นว่าการที่ปราชญ์เมธีจากโลกตะวันตก ตั้งคำถามปลายเปิดเพื่อให้หลายคนขบคิด จึงเป็นคำถามในคำตอบที่ทุกคนสามารถนำไปปรับใช้ได้ ทั้งกับเรื่องมนุษย์ชาติ และมนุษย์เงินเดือน
เพียงแต่จุดแตกต่างอาจขึ้นอยู่กับเวลาในช่วงขณะนั้นเท่านั้นเอง
หรือพูดให้ตรง ๆ คือขึ้นอยู่กับความโลภของบุคคลคนนั้น
ถึงจะมองเห็นแสงสว่างในปลายอุโมงค์ ?
หน้า 31


วันที่ 08 มีนาคม พ.ศ. 2553 ปีที่ 33 ฉบับที่ 4190  ประชาชาติธุรกิจ


อัพเดทล่าสุด