ทำงานแบบยืดหยุ่นเรื่องเวลาเพื่อลด OT


739 ผู้ชม


ทำงานแบบยืดหยุ่นเรื่องเวลาเพื่อลด OT




คำถาม
       
       คุณดิลกค่ะ อย่างที่คุณดิลกทราบดีว่า ในสถานการณ์ปัจจุบัน ทุกองค์กรต้องคิดถึงการลดต้นทุน โดยเฉพาะต้นทุนเรื่องคน บริษัทของดิฉันเองก็กำลังต้องหามาตรการอะไรหลายอย่างด้วยเช่นกัน หนึ่งในมาตรการที่ว่านี้ก็คือ การลดค่าทำงานล่วงเวลา เพราะเรามีต้นทุนเรื่องค่าล่วงเวลาสูงมาก แต่เนื่องจากงานเราเองก็ค่อนข้างมาก ดังนั้นก็ยังต้องมีคนทำงานอยู่ในจำนวนที่เหมาะสม ดังนั้ดิฉันจึงอยากทำความเข้าใจและขอความร่วมมือกับพนักงานปฎิบัติการและพนักงานระดับต่ำกว่าผู้ช่วยผู้จัดการในการทำงานแบบยืดหยุ่นเรื่องเวลาหรือ Flexi Time แทนการเบิกค่าล่วงเวลา คุณดิลกมีความเห็นว่าอย่างไร แล้วควรจะเริ่มต้นอย่าไรดีครับ - แวววรรณ
       
       
คำตอบ
       

       เรื่องการทำงานแบบกำหนดเวลายืดหยุ่น เป็นเรื่องทีหลายที่อยากจะทำกัน เคยมีบริษัทในกลุ่มน้ำมันแห่งหนึ่งได้พยายามลองปรับใช้อยู่ช่วงหนึ่ง ตอนนี้ก็ได้ข่าวว่าเลิกทำไปแล้ว ผมคิดว่า การปรับใช้เวลาทำงานแบบยืดหยุ่น เป็นเรื่องที่เหมือนง่าย แต่ไม่ง่าย เพราะจะต้องประกอบไปด้วย ความชัดเจนของแนวทาง ความมีวินัยต่อตนเอง และระบบการควบคุมจะต้องดีพอที่จะไม่ให้เกิดการใช้ช่องว่างเอาประโยชน์ได้ หากจะให้ผมให้ความเห็นต่อเรื่องนี้ ผมคงให้ความเห็นได้เป็นสองช่วงครับ คือ ก่อนที่จะปรับใช้ และหลังจากที่ปรับใช้ไปแล้ว
       
       ก่อนปรับใช้ อยากให้ลองถามตัวเองก่อนนะครับว่า จริงๆแล้ว การจัดเวลายืดหยุ่นตอบโจทย์การลดค่าทำงานล่วงเวลาได้จริงหรือเปล่า เพราะวัตถุประสงค์หลักของการกำหนดเวลาทำงานแบบยืดหยุ่นก็คือการสร้างคุณภาพชีวิตการทำงานให้กับพนักงาน อย่างไร หากคุณแวววรรณวิเคราะห์อย่างดีและมั่นใจว่า ต้องช่วยลดค่าทำงานล่วงเวลาได้แน่ๆ ก็ลองดูเรื่องต่อไปก็คือ ธรรมชาติธุรกิจเราเอื้อหรือไม่ต่อการกำหนดเวลาทำงานแบบยืดหยุ่น เพราะบางธุรกิจ จะต้องมีคนอยู่พร้อมกัน หรือต้องทำงานไปพร้อมกับเวลาของลูกค้า ถ้าดูแล้วธุรกิจเรามีข้อจำกัดเรื่องเวลา ก็อย่าฝืนครับ แต่ถ้าเราดูแล้วไม่กระทบกับธุรกิจ ก็ดูเรื่องต่อไปก็คือ จะต้องออกแบบไม่มีความหลากหลายมากเกินไป อย่าเหลื่อมล้ำมากไป และต้องเป็นไปอย่างทั่วถึง ไม่จำกัดอยู่เฉพาะกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เคยมีนะครับ บริษัทแห่งหนึ่งกำหนดให้เฉพาะวิศวกรฝ่ายออกแบบสามารถใช้การทำงานแบบยืดหยุ่นเรื่องเวลาได้ ปรากฎว่าสร้างความไม่พอใจต่อหน่วยงานอื่นจนกลายเป็นเรื่องเป็นราวเกือบจะถึงขั้นนัดหยุดงานกัน จยสุดท้ายต้องยกเลิก รวมทั้งจะต้องมีการกำหนดแนวทางให้ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องให้มีขั้นตอนการยื่นขอพร้อมลงลายมือชื่อ เพื่อให้หัวหน้าอนุมัติ เรื่องนี้จำเป็นครับ เพราะเป็นการลดแง่มุมทางกฎหมายไปในตัว นอกจากนี้ ควรกำหนดด้วยว่า เป็นการทดลองปรับใช้เพื่อประโยชน์ต่อตัวพนักงาน ผมไม่อยากให้บอกว่าเพื่อลดการทำงานล่วงเวลา แม้ว่าวัตถุประสงค์จริงๆเราอาจจะต้องการอย่างนั้น แต่ก็ไม่จำเป็นต้องพูดออกมา เพราะธรรมชาติพนักงานจะไม่ชอบถ้าถูกบอกว่าต้องทำเพื่อองค์กร แต่จะยินดีหากได้ยินว่า ต้องทำเพื่อตัวเขาเอง และเมื่อเตรียมเสร็จแล้ว ก็ขอให้ทำการสื่อสารอย่างเป็นขั้นตอน เริ่มจากระดับผู้จัดการ หัวหน้างานก่อร แล้วค่อยลงไปถึงระดับพนักงาน
       
       เมื่อถึงขั้นตอนปรับใช้ ผมแนะนำว่า ให้กำหนดให้ชัดว่า เราทำเป็นการทดลองไปก่อนสัก 2-3 เดือน แล้ว่อยประเมินผลดู ตรงนี้แหละครับที่คุณแวววรรณจะได้รู้จริงๆว่า การทำงานแบบกำหนดเวลายืดหยุ่นจะช่วยลดการทำงานล่วงเวลาได้จริงหรือไม่ เพราะไม่แน่นะครับ หากลองๆใช้ดู อาจจะปรากฎว่า ค่าทำงานล่วงเวลาอาจจะสูงขึ้นได้ ดังนั้น เริ่มเป็นลักษณะการทดลองจะเป็นการดีที่สุดนะครับสำหรับการปรับใช้เรื่องทำนองนี้

ที่มา : manager.co.th


อัพเดทล่าสุด