ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต


666 ผู้ชม


ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิต




หลายเดือนที่ผ่านมาจวบจนปัจจุบัน มีการกล่าวขานถึงหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการหักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตกันมาก จนอาจก่อให้เกิดความสับสน ประกอบกับกรมสรรพากรได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากร เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 172) ลงวันที่ 30 ธันวาคม 2551 ซึ่งมีผลใช้บังคับแทนประกาศอธิบดี เกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 112) ที่ใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2551 เป็นต้นมา
 
ดังนั้น เพื่อความเข้าใจอันดี และการปฏิบัติที่ถูกต้อง ในวันนี้จึงขอนำหลักเกณฑ์ เกี่ยวกับเบี้ยประกันชีวิตที่ต้องใช้ในการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ปี 2551 ตามมาตรา 47 (1) (ง) แห่งประมวลรัษฎากร และการยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเบี้ยประกันชีวิตในส่วนที่เกิน 10,000 บาท แต่ไม่เกิน 90,000 บาท ตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 126 ข้อ 2(61) มากล่าวดังนี้
 
1. ค่าลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตสำหรับผู้มีเงินได้และคู่สมรสจะนำไปหักเป็นค่าลดหย่อนได้นั้น เฉพาะเบี้ยประกันชีวิตตามจำนวนที่จ่ายจริงในปีภาษีแต่ไม่เกิน 10,000 บาท โดยกรม ธรรม์ประกันชีวิตต้องมีกำหนดเวลาตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป และบริษัทผู้รับประกันภัยต้องประกอบกิจการในประเทศไทย  
 
2. สำหรับเบี้ยประกันในส่วนที่เกิน 10,000 บาท เป็นจำนวนอีก 90,000 บาท นั้น ให้ได้รับยกเว้นโดยนำไปหักออกจากเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่าย แล้วภาษีเงินได้สำหรับเบี้ยประกันชีวิตในส่วนที่เกิน 10,000 บาท เฉพาะในส่วนของผู้มีเงินได้เท่านั้น เว้นแต่ภริยาของผู้มีเงินได้ได้คำนวณและเสียภาษีเงินได้แยกต่างหาก จากสามีผู้มีเงินได้เท่านั้น จึงจะมีสิทธินำเบี้ยประกันชีวิตไปหักยกเว้นในการคำนวณภาษีเงินได้ตามเกณฑ์เดียวกับดังกล่าว
 
ตัวอย่างเช่น ผู้มีเงินได้มีค่าเบี้ยประกันชีวิตจำนวน 120,000 บาท หักลดหย่อนเบี้ยประกันชีวิตได้ 10,000 บาท ส่วนที่เหลือมีสิทธินำไปหักออกจากเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายได้อีก 90,000 บาท รวมเป็น 100,000 บาท
 
ทั้งนี้ ไม่ว่ากรมธรรม์ประกันชีวิตของผู้มีเงินได้และของคู่สมรสจะมีเงื่อนไขเช่นไร ก็ให้หักลดหย่อนได้ดังเคยปฏิบัติมาในอดีต
 
สำหรับหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขใหม่ ๆ อาทิ กรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีความคุ้มครองอื่นเพิ่มเติม หรือกรมธรรม์ประกันชีวิตที่มีการรับเงินหรือผลประโยชน์ตอบแทนคืนในระหว่างอายุกรมธรรม์ เกินกว่า 20% ของเบี้ยประกันชีวิตรายปี ที่มีกำหนดให้ไม่สามารถนำไปหักออกจากเงินได้หลังจากหักค่าใช้จ่ายนั้น กำหนดให้มีผลใช้บังคับสำหรับกรมธรรม์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2552 เป็นต้นไป
 
ก็เป็นอันโล่งใจ ในความเป็นธรรมของท่านอธิบดีกรมสรรพากร นายวินัย วิทวัสการเวช ที่กล้าหาญชาญชัยออกหลักเกณฑ์ดังกล่าว และไม่ให้มีผลใช้ย้อนหลัง ตามหลักกฎหมายในส่วนที่เป็นคุณเท่านั้นที่จะใช้ย้อนหลังได้ก็ขอชื่นชมท่านอีกครั้งหนึ่งมา ณ ที่นี้.

ที่มา : dailynews.co.th

อัพเดทล่าสุด