Department of Surprise !!!


629 ผู้ชม


Department of Surprise !!!




คอลัมน์ HR CORNER
โดย ศรัณย์ จันทพลาบูรณ์ บริษัท 37.5 องศาเซลเซียส จำกัด
ในช่วงวิกฤตเศรษฐกิจถดถอยที่ผ่านมา และกำลังจะยังคงอยู่ไปอีกสักระยะหนึ่งนั้น หลายต่อหลายองค์กรอาจมีความจำเป็นต้องปลดคนทำงาน สาเหตุหลักก็คงเป็นเพราะตลาดหดตัว ซึ่งเป็นต้นเหตุให้งานอะไรๆ ต่างๆ ในองค์กรก็เลยพลอยหดลดตามไปด้วย
แต่มีหลายองค์กรที่ยังพอกัดฟันทนต่อไปได้โดยไม่ต้องปลดพนักงาน เพราะอาจมีกำไรสะสมอยู่มากพอที่จะประทังต่อไปได้ หรือเพราะมีลูกค้าที่เหนียวแน่น มี brand loyalty สูง หรือเพราะเป็นอยู่ใน industry ที่อาจหดตัวไปอีกไม่นาน แม้ไม่ต้องปลดลดพนักงานแต่ก็ยังเจอสภาพ "คนหลวมงาน"
เริ่มตั้งแต่ฝ่ายขายก็อาจมีลูกค้าให้พบน้อยลง การตลาดก็มีงบฯที่จะทำตลาดน้อยลง ตามมาด้วยฝ่ายผลิต ซึ่งเห็นได้ชัดเจนที่สุดจากข่าวสารต่างๆ การจัดส่ง ติดตั้งก็ส่งน้อยลงตามไปด้วย บริการหลังขายรวมไปถึงงาน admin ก็พลอยลดน้อยถอยลงไปด้วย
สิ่งที่จะตามมาคือ พนักงานเริ่มทำงานเฉื่อย หรือมาสายแต่กลับเร็ว หรือเล่นเน็ตนานหน่อย หรือรับจ็อบอื่น ทำงานขายตรงบ้าง...รับงานฝิ่นบ้าง...ไซด์ไลน์บ้าง ทำไปนานๆ อาจเป็นนิสัยใหม่ พอถึงช่วงเศรษฐกิจฟื้นตัวอาจกู่ไม่กลับ ฟิตไม่ขึ้น ก็มันชักจะติดลมไปแล้ว
คงจะดีนะ ถ้าเรามีอะไรที่จะ "keep them busy" ในช่วงนี้
คงจะดีนะ ถ้าสิ่งนั้นไม่เพียงสักแต่ว่ามีงานให้ทำๆ ไป แต่ยังเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อองค์กร
สิ่งนั้นควรจะคืออะไรล่ะ ?
เป็นที่รู้ๆ กันในช่วงวิกฤต สภาวะแวดล้อมภายนอกนั้นแตกต่างไปจากเดิมๆ ลูกค้าเปลี่ยนไป supplier เปลี่ยนไป นโยบายภาครัฐก็เปลี่ยนไป หากยังคงใช้วิธีคิดแบบเดิมๆ กับสิ่งที่เปลี่ยนไปก็คงไม่แมตช์กัน น่าจะมีวิธีคิดที่ต่างไปจากเดิม มันจะได้แมตช์กัน นั่นคือเรื่องการปรับตัวให้เข้ากับสภาพภายนอกองค์กร
แล้วสภาพภายในองค์กรล่ะ มันอาจจะมีหลายสิ่งหลายอย่างที่เราทำๆ กันมา ซึ่ง ล้าสมัย ซ้ำซ้อน หรืออุ้ยอ้ายหลายขั้นตอนเกินไป ซึ่งเป็นการทำงานที่เหมือนๆ เดิม หากมีการทบทวนเพื่อหาวิธีคิดใหม่ๆ กันในช่วงนี้ ก็น่าจะเป็นโอกาสที่ดี
ทั้งการปรับเข้าสภาพภายนอกที่เปลี่ยนไป และปรุงสภาพภายในที่ทำงานให้ดี มีประสิทธิภาพมากขึ้น ล้วนต้องการวิธีคิดที่ต่างไปจากเดิม ซึ่งเรามักเรียกสิ่งนั้นว่า "ความคิดสร้างสรรค์"
ดังนั้น หากสิ่งที่เราจะ "keep them busy" และเป็นประโยชน์ต่อองค์กร คือการรวมทีมเพื่อร่วมกันคิดสร้างสรรค์ ก็คงตอบโจทย์ที่ตั้งไว้ได้ทั้งข้อ
จากการวิจัย พบว่าการเสนอความคิดใหม่ให้ไปสู่การปฏิบัติจริงโดยไม่ติดอุปสรรคขวางกั้น มักต้องทำงานโดยตรงกับผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ไม่ว่าจะเป็น CEO หรือ MD ดังนั้นทีมนักคิดสร้างสรรค์ทีมนี้จึงอาจตั้งเป็น department ใหม่ จะชั่วคราวเพียงแค่ช่วงวิกฤตระยะสั้นนี้แล้วค่อยสลายตัวก็ได้ หรืออาจถาวรไปเลยก็ดี
และเพราะผลของความคิดใหม่ๆ ที่แตกต่างไปจากเดิม มักจะสร้างความ surprise ให้กับพนักงานอื่นๆ ภายในองค์กร รวมถึงกับ supplier หรือกับลูกค้าภายนอกองค์กร
เราจึงอาจตั้งชื่อกลุ่มคนนี้ว่า depart ment of surprise !
เมื่อรวบรวมสมาชิกของ department of surprise ได้ครบถ้วนแล้ว ก็เริ่มด้วยการฝึกอบรมเพื่อปรับ "กบาล" ด้านความคิดสร้างสรรค์กันก่อนเลย
เริ่มรู้จักกับธรรมชาติของความคิดสร้างสรรค์...
ตระหนักว่าไม่ใช่เราคิดสร้างสรรค์ "ไม่ออก" แต่ที่จริงแล้วเราคิดออก แต่เรา "ไม่ยอมให้มันออก" มา
ที่เป็นเช่นนั้นก็เพราะเรา "ติดกรอบ" ของความคิด
แล้วจึงค้นหากรอบให้เจอ และรู้เทคนิคในการกำจัด "กรอบ" ที่ครอบความคิดที่ทำให้คนเราไม่ยอมให้มันออกมา
เราจึงได้ความคิดแบบ "ไร้กรอบ"
จากนั้นก็ซ้อมคิดด้วยสมองซีกขวา ด้วยการคิดแบบ divergent thinking
ตามมาด้วยการซ้อมคิดด้วยสมองซีกซ้าย ด้วยการคิดแบบ convergent thinking
หลังจากนั้น จึงนำ "กบาล" การคิดสร้างสรรค์มาใช้คิดใน "กระบวน" การคิดสร้างสรรค์
เริ่มด้วยขั้นตอนแรกกันที่ O.F. (objective finding) ด้วยการไปร่วม divergent thinking กับ CEO หรือ MD ว่าอยากจะมีเป้าหมายในการคิดสร้างสรรค์อะไรบ้าง แล้วจึงร่วมกันคิดแบบ convergent thinking ด้วยเทคนิคการกรองความคิดด้วยตะแกรง 3I"s
จากนั้นทีมงานก็มาคิด F.F. (fact finding) P.F. (problem finding) I.F. (idea finding) ด้วยการใช้การคิดทั้ง divergent thinking และ convergent thinking ในทั้ง 3 ขั้นตอน
หลังจากได้ความคิดใหม่ๆ มาแล้ว หลายความคิดอาจ "หลุดโลก" อาจ "แหกกรอบ" หรืออาจ "นอกลู่นอกทาง" ซึ่งเป็นความคิดที่แปลกแต่นำไปปฏิบัติไม่ได้
ดังนั้น ทีมงานจะมาคิดในขั้นตอน S.F. (solution finding) เพื่อดันความคิดให้เข้ากรอบ เข้าลู่เข้าทาง นำไปปฏิบัติได้จริง และสุดท้ายของกระบวนการคิดสร้างสรรค์คือการสร้างการยอมรับในไอเดียใหม่ที่ได้มาด้วยการทำ A.F. (acceptance finding) กับ CEO หรือ MD เมื่อผ่านแล้วก็ไปสร้างการยอมรับกับหัวหน้า department อื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
อาจจะเห็นได้ว่าข้อดีของการมี depart ment of surprise นี้คือมีพนักงานมาจากทุกแผนก จึงมีหลากหลายมุมมองมาร่วมคิดกัน เมื่อเวลานำไปสู่การปฏิบัติก็จะราบรื่นกว่าแผนกใดแผนกหนึ่งคิดกันเอง
จะเรียกว่า "ร่วมด้วย...ช่วยกัน" หรือ "ช่วยคิด...ช่วยทำ" ก็แล้วแต่ผู้อ่านก็แล้วกัน
แต่คงไม่อยากเรียกมันว่า "คิดไป... ทำไป" หรอกนะ เพราะมันคล้ายกับ "ชิมไป...บ่นไป"
เพราะมันอาจไม่เป็นมงคล !
หน้า 29
ที่มา : matichon.co.th

อัพเดทล่าสุด