ผู้นำกับนวัตกรรมในองค์กร


676 ผู้ชม


ผู้นำกับนวัตกรรมในองค์กร




จารุนันท์ อิทธิอาวัชกุล

ผู้นำทุกระดับในองค์กรตั้งแต่หัวหน้าฝ่าย หัวหน้าหน่วย ตลอดจนถึงผู้นำซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ล้วนมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการคิดริเริ่มสร้างสรรค์และนวัตกรรมขององค์กร และโดยเฉพาะผู้บริหารระดับสูงยิ่งเป็นผู้มีอิทธิพลทางความคิดและพฤติกรรมของพนักงานในองค์กร เพราะเป็นศูนย์กลางที่พนักงานมองเห็นแบบอย่าง จนอาจกล่าวได้ว่า ผู้นำขององค์กรมีคุณลักษณ์อย่างไร ก็จะสะท้อนและสื่อสารออกมาเป็นวิธีคิดและวิถีปฏิบัติของคนในองค์กรหรือเป็นวัฒนธรรมองค์กรนั่นเอง

หัวหน้าหน่วยงานซึ่งเป็นผู้นำในระดับปฏิบัติการนั้นก็มีบทบาทสำคัญในการสร้างบรรยากาศและกลไกต่างๆ ที่อำนวยให้ทีมงานมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นผู้อยู่ใกล้ชิดกับการปฏิบัติงานของพนักงานจำนวนมาก และการปฏิบัติงานในด้านต่างๆ ของทุกแผนกทุกสายงานนั้น สามารถนำมาเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อการปรับปรุงพัฒนาเพิ่มเติมได้อีกเสมอ หากหัวหน้าส่งเสริมหรือสร้างเงื่อนไขที่เกื้อหนุนให้พนักงานที่รับผิดชอบงานที่อยู่ตรงหน้า ซึ่งเรียกว่า “หน้าที่” นั้น รู้สึกกระตือรือร้นที่จะลองคิดใหม่ ทำใหม่ก็จะเกิดผลงานสร้างสรรค์มากมาย ตั้งแต่ระดับปรับปรุง พัฒนา จนถึงระดับนวัตกรรม

จะเห็นว่า ผู้นำทุกระดับมีบทบาทสำคัญยิ่งต่อการส่งเสริมให้เกิดนวัตกรรมในองค์กร ซึ่งอาจสรุปเป็นแนวปฏิบัติสำหรับผู้นำโดยสังเขปได้ดังนี้

1. ทำตนเป็นแบบอย่างในการท้าทายสิ่งที่ดำเนินการอยู่ หรือกระบวนการที่ปฏิบัติอยู่ โดยหมั่นสื่อสาร โน้มน้าวให้ทีมงานค้นหามุมมองที่จะปรับปรุงพัฒนาประสิทธิภาพและสร้างสรรค์อย่างต่อเนื่อง

2. วิเคราะห์สถานการณ์และแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงที่อาจจะเกิดขึ้นอยู่เสมอ เพื่อเตรียมความพร้อมให้ทีมงาน ร่วมระดมความคิด ในการปรับเปลี่ยนกระบวนการทำงาน และการปลดล็อกเงื่อนไขต่างๆ รวมถึงโครงสร้างหน่วยงานและการจัดการทรัพยากรต่างๆ ได้อย่างสร้างสรรค์และทันต่อสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป

3. ส่งเสริมให้ทีมงานทุกคนมีอิสระในการคิด และกล้าทำบนความเสี่ยงที่พอรับได้ โดยให้การสนับสนุนทรัพยากรที่ต้องใช้ในการสร้างนวัตกรรมนั้นๆ และแสดงออกถึงความพร้อมที่จะร่วมรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้น

4. สร้างความรู้สึกตื่นเต้น สนุกในการทำงานแก่ทีมงาน ด้วยการสื่อสารเป้าหมายที่ชัดเจน มีท่าทีและพฤติกรรมที่กระตือรือร้นในการทำงานกับทีมงาน จับจ้องมองหาผลงานหรือความคิดของพนักงานที่แปลกแตกต่าง น่าสนใจ อยู่เสมอๆ และให้การชื่นชมยกย่องโดยทันที ผู้นำที่สามารถสื่อสารเหตุผล เป้าหมายที่ชัดเจนนั้น ถือว่ากำลังบริหารสมองซีกซ้ายของพนักงาน และการเสริมสร้างแรงบันดาลใจ การชมเชยยอมรับพนักงานนั้นเป็นการบริหารสมองซีกขวาของพนักงาน หากผู้นำทำบทบาทหน้าที่ในการสื่อสารด้วยเหตุด้วยผล พร้อมทั้งจุดประกายความคิด วางภาพแห่งความหวัง และกระตุ้นจูงใจอย่างเหมาะสมก็จะทำให้ผู้นำทำหน้าที่ในการปลดปล่อยพลังปัญญาจากสมองทั้ง 2 ซีกของทีมงานได้อย่างเต็มที่

5. ส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากการให้ปฏิบัติงานกันอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งสนับสนุนให้เข้ารับการอบรมเพิ่มเติมความสามารถในการคิดสร้างสรรค์ เพราะความคิดริเริ่มสร้างสรรค์เป็นสิ่งเรียนรู้และสอนได้ ไม่ใช่เรื่องที่เป็นคุณลักษณะเฉพาะที่ติดตัวมาตั้งแต่เกิด

ผู้นำที่นำด้วยการพูดจริงและทำจริงในแนวปฏิบัติข้างต้นนั้น ย่อมได้ชื่อว่า เป็นผู้นำที่มีบทบาทสำคัญต่อการสร้างนวัตกรรมให้เกิดขึ้นในองค์กร

อ้างอิง : bangkokbiznews.com


อัพเดทล่าสุด