เงินเฟ้อกับการปรับค่าจ้าง-เงินเดือน


642 ผู้ชม


เงินเฟ้อกับการปรับค่าจ้าง-เงินเดือน




ราคาอาหารและพลังงานของโลกที่ทะยานสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ กำลังส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางต่อประเทศต่างๆทั่วโลก ทำให้คาดการณ์ว่าอัตราเงินเฟ้อของโลก ในปี 2551 นี้ จะขึ้นไปเป็นระดับสูงสุดในรอบกว่าทศวรรษ ผลกระทบจากความตึงตัวของอุปทานสินค้าโภคภัณฑ์หลายประเภทที่เกิดขึ้นในช่วงที่ความต้องการสินค้าเหล่านั้นยังคงเพิ่มขึ้น อีกทั้งสินค้าอาหารและพลังงานเปรียบเสมือนสิ่งจำเป็นต่อการดำรงอยู่ของประชาชน ทุกระดับ ทำให้ปัญหาราคาสินค้ากำลังเป็นประเด็นที่ท้าทายต่อการดำเนินนโยบายของทาง การในแต่ละประเทศ
ในประเทศไทย จากตัวเลขที่กระทรวงพาณิชย์ประกาศออกมาล่าสุด อัตราเงินเฟ้อทั่ว ไป (Headline Inflation) ในเดือนเมษายน 2550 พุ่งสูงขึ้นไปถึงร้อยละ 6.2 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน เป็นระดับสูงสุดในรอบ 23 เดือน และมีกระแสที่ผู้ประกอบการที่ตรึงราคา สินค้าไว้ในระยะที่ผ่านมาอาจจะปรับราคาขึ้นใน ระยะต่อไป จึงคาดว่าเงินเฟ้อจะคงอยู่ในระดับใกล้เคียงร้อยละ 6 ไปอีกในระยะ 2-3 เดือนจากนี้ และมีโอกาสที่จะปรับตัวสูงขึ้นไปกว่านี้อีกในไตรมาสที่ 3 โดยเป็นผลของฐานเปรียบเทียบที่ต่ำในช่วงเดียวกันของปีก่อน (ที่อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 3 ปี 2550 อยู่ที่ร้อยละ 1.6) ประกอบกับเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบในตลาด โลกมีโอกาสจะปรับตัวสูงขึ้นได้อีก ซึ่งถ้าราคาน้ำมันและสินค้าอาหารยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป จะทำ ให้อัตราเงินเฟ้อในบางเดือนของไตรมาสที่ 3 ขยับขึ้นไปเกือบแตะระดับร้อยละ 7 ซึ่งถ้าเป็นเช่นนั้นจะนับว่าเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 10 ปี นับตั้งแต่ปี 2541 (หรือช่วงหลังวิกฤติเศรษฐกิจ ที่ค่าเงินบาทของไทยอ่อนลงอย่างหนักทำให้เงิน เฟ้อบางเดือนขึ้นไปสูงกว่าร้อยละ 10) แต่เงิน เฟ้อมีแนวโน้มจะอ่อนตัวลงในไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ จากผลของฐานเปรียบเทียบที่สูงขึ้นใน ปีก่อน (ที่อัตราเงินเฟ้อในไตรมาสที่ 4 ปี 2550 เร่งขึ้นจากไตรมาสที่ 3 มาอยู่ที่ร้อยละ 2.9) ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่าอัตราเงิน เฟ้อเฉลี่ยในปี 2551 จะสูงขึ้นไปอยู่ช่วงร้อยละ 5.0-5.8 จากร้อยละ 2.3 ในปีก่อนหน้า
> เงินเฟ้อ : ภาระค่าครองชีพและการปรับค่าจ้าง-เงินเดือน
ถ้าสังเกตจากตัวเลขอัตราเงินเฟ้อในเดือนเมษายน 2551 เห็นได้ว่าสินค้าที่มีราคาปรับสูงขึ้นอย่างมาก ได้แก่ สินค้าอาหารสด ทั้งข้าว เนื้อสัตว์ ผัก ผลไม้ ไข่และผลิตภัณฑ์นม เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยร้อยละ 14 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ขณะที่ค่าพาหนะขนส่ง และ สื่อสาร เพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 9.0 จากการที่ราคา พลังงานในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 16.8 ค่าใช้จ่ายหมวดที่เพิ่มสูงนี้เป็นกลุ่มสินค้าจำเป็นที่มีผล ต่อคนทั่วไปในวงกว้าง และกลุ่มผู้ที่มีรายได้ค่อนข้างน้อยจะได้รับผลกระทบมากที่สุดเนื่องจากรายได้ที่ได้มาเกือบทั้งหมดถูกใช้ไปเพื่อการอุปโภคบริโภคสินค้าจำเป็น และยิ่งครัวเรือนที่มีลูกหลานอยู่ในวัยเรียน ช่วงนี้จะยิ่งมีปัญหาค่า ใช้จ่ายเป็นพิเศษเพราะเป็นช่วงใกล้เปิดเทอมที่ต้องมีค่าใช้จ่ายสำหรับค่าเทอมและอุปกรณ์การ เรียนต่างๆ ของบุตรหลาน ทำให้มีเสียงเรียกร้อง ขอปรับค่าจ้าง-เงินเดือนจากกลุ่มต่างๆ
ในกรณีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ หลังจากผ่านการพิจารณาร่วมกันระหว่างรัฐบาลกับตัวแทนฝ่ายนายจ้างและลูกจ้างแล้ว ในวันที่ 2 พฤษภาคม คณะกรรมการค่าจ้างกลางมีมติปรับ ค่าจ้างขั้นต่ำ (รอบกลางปี) อัตราตั้งแต่ 2-11 บาท มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2551 เป็นต้นไป การปรับค่าจ้างครั้งนี้น่าจะช่วยบรรเทาความ เดือดร้อนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ในระดับหนึ่ง อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในระยะเวลาที่เหลือของปี ภาวะเงินเฟ้อยังอยู่ภายใต้แรงกดดันจาก ปัจจัยราคาสินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกที่ยังมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้อีก การปรับค่าจ้างครั้งนี้จึงยังไม่อาจสรุปได้ว่าจะแก้ปัญหาความเดือด-ร้อนของกลุ่มผู้ใช้แรงงานได้ทั้งหมด
> การปรับค่าจ้าง-เงินเดือน...
ผลต่อธุรกิจ จากแนวโน้มค่าจ้าง-เงินเดือนที่สูงขึ้น ในอีกด้านหนึ่งย่อมส่งผลกระทบต่อต้นทุนของธุรกิจต่างๆ แต่จะมากน้อยแตกต่างกันไปตามอัตรา ส่วนต้นทุนแรงงานของแต่ละธุรกิจ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ได้วิเคราะห์ผลของการปรับขึ้นค่าจ้าง-เงินเดือน ต่อภาคเศรษฐกิจต่างๆ โดยมีประเด็นสำคัญสรุปได้ดังนี้
ภาคเกษตรและการบริการมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานสูงกว่าภาคอุตสาหกรรม โดยเปรียบเทียบแล้ว ภาคอุตสาหกรรมโดยเฉลี่ยมี ต้นทุนแรงงานคิดเป็นสัดส่วนต่อมูลค่าผลผลิตรวมต่ำกว่าภาคเกษตรกรรมและการบริการ เนื่องจากการทำการเกษตรของไทยยังใช้แรง-งานคนเป็นหลักในการสร้างผลผลิต ขณะที่ภาค บริการก็ต้องอาศัยคนในการสร้างความพึงพอใจ และคุณค่าของการให้บริการแก่ลูกค้า ในขณะที่ภาคอุตสาหกรรม นอกเหนือจากปัจจัยการผลิตในด้านแรงงานแล้ว ยังต้องใช้วัตถุดิบและ ทุน ซึ่งรวมถึงเครื่องจักร เครื่องมือทุ่นแรง และเทคโนโลยี ซึ่งในอุตสาหกรรมที่เทคโนโลยีขั้นสูง ไปถึงระดับ Automation หรือ Robotic อาจมีต้นทุนแรงงานน้อยมาก ทั้งนี้ ภาคอุตสาหกรรม ไทยโดยเฉลี่ยมีสัดส่วนต้นทุนแรงงานประมาณร้อยละ 9.1 ต่ำกว่าอัตราส่วนต้นทุนแรงงานโดยเฉลี่ยของระบบเศรษฐกิจไทยที่ร้อยละ 13.8 ขณะที่ภาคเกษตรโดยเฉลี่ยมีต้นทุนแรงงาน ร้อยละ 15.5 และภาคการบริการโดยเฉลี่ยมีต้นทุนแรงงานร้อยละ 18.6
อย่างไรก็ดี ภาคเกษตรหลายสาขาได้รับประโยชน์จากราคาพืชผลปรับตัวสูง ดังนั้น จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ราคาสินค้าเกษตรที่เกษตรกรขายได้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าต้นทุนค่าจ้างแรงงาน ผลกระทบต่อรายได้สุทธิในภาคเกษตรจึงอาจจะน้อยกว่าภาคเศรษฐกิจที่อยู่ภายใต้สภาวการณ์แรงกดดันภาวะอุปสงค์และการแข่งขันในตลาดที่ไม่ได้เปิดโอกาสให้ปรับราคาสินค้าได้มากนัก
ธุรกิจที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบค่อนข้าง มากจากการปรับขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ได้แก่ การขนส่ง การผลิตรองเท้า การทำเหมือง การผลิตเฟอร์นิเจอร์ โรงแรมและการบริการด้านบันเทิงและสันทนาการ การค้าปลีก และการประมง เป็นต้น
ธุรกิจที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบปานกลาง ได้แก่ การผลิตวัสดุก่อสร้างประเภทกระเบื้อง เซรามิกส์ ซีเมนต์และผลิตภัณฑ์คอนกรีต การผลิตสิ่งทอ เสื้อผ้า เครื่องแต่งกาย เครื่องหนัง และเครื่องประดับ การผลิตเครื่องจักร การก่อสร้าง การผลิตผลิตภัณฑ์อาหาร อาหารกระป๋องและแปรรูป ร้านอาหาร และบริการทางธุรกิจ เป็นต้น
ธุรกิจที่มีแนวโน้มได้รับผลกระทบค่อนข้าง น้อย ได้แก่ การผลิตยานยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์สำนักงาน อุตสาหกรรมเหล็ก การผลิตน้ำมันพืชและไขมันสัตว์ อาหารสัตว์ โรงกลั่นน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ เป็นต้น
โดยสรุป การปรับค่าจ้างขั้นต่ำเป็นความ พยายามของรัฐบาลที่จะช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนจากภาวะราคาสินค้าที่พุ่งสูงขึ้นในปัจจุบัน โดยเฉพาะความเดือดร้อน ของผู้ที่มีรายได้น้อย อย่างไรก็ตาม การดำเนิน นโยบายเศรษฐกิจที่จะแก้ไขประเด็นปัญหาที่ ต่อเนื่องตามมากับปัญหาราคาสินค้านั้น ต้องพิจารณาผลกระทบในด้านต่างๆ อย่างรอบคอบ เนื่องจากการใช้แนวทางปรับค่าจ้างแรงงานตามการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้า ในอีกด้านหนึ่งก็จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการ และนำไปสู่ผลอื่นๆ ตามมา ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถแบกรับต้นทุนได้ก็จะส่งผ่านภาระไปสู่การปรับขึ้นราคาสินค้า ซึ่งจะมีผลทำ ให้เงินเฟ้อเพิ่มสูงยิ่งขึ้นไปอีก ขณะเดียวกัน ผู้ประกอบการที่ไม่สามารถปรับขึ้นราคาได้จะมีอัตรากำไรลดต่ำลง ซึ่งจะมีผลต่อสถานะการเงิน ของธุรกิจ และส่งผลต่อเนื่องไปสู่การขึ้นเงินเดือนให้แก่ลูกจ้าง การจ่ายภาษีให้แก่รัฐ และชะลอการลงทุนของภาคธุรกิจ และท้ายที่สุดอาจกลายเป็นปัจจัยเสี่ยงที่จะนำไปสู่การชะลอตัวของการบริโภคและการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยภาพรวม

โดย : siamturakij.com


อัพเดทล่าสุด