งานเยอะ เครียด ลาออก (ดีกว่า)


805 ผู้ชม


งานเยอะ เครียด ลาออก (ดีกว่า)




พอดีได้อ่านงานสำรวจเกี่ยวกับเรื่องของความเครียด และผลกระทบของความเครียดที่มีผลต่อการทำงาน ก็เลยนึกถึงโฆษณาที่ดังมากชิ้นหนึ่งที่บอกว่า “จน เครียด กินเหล้า” ก็เลยสงสัยเหมือนกันนะครับว่า จะมีเป็นไปได้ไหมที่พนักงานในองค์กรจะร้องขึ้นมาบ้างว่า “งานเยอะ เครียด ลาออก” ทั้งนี้เนื่องจากไปอ่านเจอผลสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังระดับโลก Accenture ที่เขาสำรวจคนทำงานในอเมริกาและพบว่า ปัจจุบันภาระงานหรือ Workload ของพนักงานบริษัทต่างๆ เพิ่มมากขึ้น และจากการที่ภาระงานที่เพิ่มมากขึ้น ก็นำไปสู่ความเครียดของพนักงานที่เพิ่มขึ้น

และจากผลการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาชื่อดังอีกแห่งคือ Watson Wyatt ก็ชี้ให้เห็นว่า การที่ความเครียดจากการทำงานเพิ่มมากขึ้นนั้น ก็จะเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พนักงานลาออกมากขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วย่อมส่งผลเสียต่อองค์กร เพียงแต่ปัญหาที่พบเหมือนกันจากการสำรวจของทั้งสองแหล่งก็คือองค์กรและผู้บริหารยังไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลเรื่องของความเครียดของพนักงานในองค์กรอย่างดีเท่าที่ควร

ในปัจจุบันท่านผู้อ่านสังเกตไหมครับว่าภาระงานของเราเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ดังที่ภาษาทางด้าน HR เขาเรียกว่า Work Intensification ทั้งนี้เนื่ององค์กรต่างๆ ก็ต่างพยายามเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานมากขึ้น โดยทุกแห่งก็ต่างหาหนทางที่จะให้ได้งานมากขึ้น จากจำนวนบุคลากรที่เท่าเดิม ทำให้พนักงานแต่ละคนได้มีภาระงานที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นจากในอดีต

เชื่อว่าท่านผู้อ่านคงเห็นพ้องกันนะครับว่า ปัจจุบันภาระงานของพวกเราล้วนเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ผลกระทบที่มีต่อบุคลากรในองค์กรนั้นกลับแตกต่างกัน จากผลการสำรวจของ Accenture พบว่า ครึ่งหนึ่งของผู้ตอบแบบสอบระบุว่าการเพิ่มภาระงานนั้นก่อให้เกิดผลในทางลบแก่ตนเอง โดยทำให้เกิดความเครียดกับชีวิตของบุคลากรแต่ละคนเพิ่มขึ้น

ในขณะที่หนึ่งในสี่ตอบว่าการมีภาระงานเพิ่มขึ้นไม่ได้ก่อให้เกิดผลผลกระทบอันใดต่อชีวิตตนเอง และอีกหนึ่งในสี่มองว่าการมีภาระงานเพิ่มขึ้นกลับเป็นสิ่งที่ดี เนื่องจากผลจากภาระงานที่เพิ่มขึ้นกลับทำให้คุณภาพชีวิตของพวกเขาดีขึ้น ก็ถือเป็นความคิดเห็นที่หลากหลายกันไปนะครับ ไม่ทราบท่านผู้อ่านรู้สึกอย่างไรบ้างกับการเพิ่มขึ้นของภาระงาน?

ทีนี้พอไปดูผลสำรวจของทาง Watson บ้างนะครับ ทาง Watson เขาก็มีการสำรวจคนทำงานในอเมริกาเช่นเดียวกันและพบว่า ความเครียดจากการทำงานนั้นเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้พนักงานลาออกจากงาน และสาเหตุสำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดความเครียดก็คือเวลาหรือชั่วโมงในการทำงานที่ยาวนานขึ้น ซึ่งในขณะเดียวกันองค์กรธุรกิจต่างๆ ก็ไม่ได้ให้ความสนใจต่อการดูแลและจัดการความเครียดนี้กันอย่างจริงจังเท่าใด

และถ้าเชื่อมโยงกับงานของ Accenture ก็อาจจะอนุโลมได้ว่า เมื่อภาระงานของพนักงานเพิ่มมากขึ้นทำให้พนักงานต้องทำงานหนักและยาวนานขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความเครียดมากขึ้น และนำไปสู่การลาออกของพนักงาน ดังคำกล่าวที่ว่า “งานเยอะ เครียด ลาออก (ดีกว่า)”

นอกเหนือจากจำนวนชั่วโมงในการทำงานที่ยาวนานขึ้นแล้ว สาเหตุของความเครียดประการอื่นๆ จากการสำรวจของ Watson ได้แก่ การขาดความสมดุลระหว่างชีวิตการทำงานกับชีวิตส่วนตัว พัฒนาการของเทคโนโลยี และสุดท้ายคือตัวผู้บริหารเองครับ

ซึ่งเรื่องของพัฒนาการของเทคโนโลยีนั้นน่าสนใจมากครับ ว่าการพัฒนาของเทคโนโลยีนั้นทำให้เกิดความเครียดได้อย่างไร? สาเหตุสำคัญนั้นก็เนื่องจากพอเทคโนโลยีมีการพัฒนามากขึ้น ก็ส่งผลให้เราสามารถติดต่อถึงกันได้มากขึ้นทุกขณะ ทุกเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งการถูกตามตัวได้ง่ายและสะดวกขึ้น ท่านผู้อ่านลองนึกภาพดูนะครับว่า ถ้าท่านกำลังพักร้อนอยู่กับครอบครัวในต่างประเทศ แล้วอยู่ดีๆ เจ้านายก็โทรศัพท์ตามตัว เพื่อมอบหมายงานให้โดยส่งงานมาทางอีเมล ท่านก็ต้องหยุดการพักผ่อนเพื่อไปหาเน็ตคาเฟ่ เพื่อทำงานตามที่เจ้านายสั่งการมา

ผมเชื่อว่าท่านผู้อ่านในฐานะลูกจ้างและลูกน้องคงเชื่อว่า ความเครียดนั้นส่งผลกระทบต่อการทำงานและขวัญกำลังใจในการทำงานเพียงใด แต่ดูเหมือนคนที่จะไม่เคยตระหนักถึงผลของความเครียดกลับเป็นตัวผู้บริหารขององค์กรครับ ทั้งๆ ที่ความเครียดเป็นสาเหตุสำคัญให้พนักงานลาออก และการลาออกของพนักงานที่เกิดขึ้นก็ไม่ได้ส่งผลดีต่อผลการดำเนินงานขององค์กร แต่เวลาถามผู้บริหารว่า อะไรคือสาเหตุสำคัญที่สุดห้าประการ ที่ทำให้พนักงานของตนลาออกนั้น ผู้บริหารกลับไม่ได้คิดถึงเรื่องของความเครียดเลย

เมื่อสอบถามต่อว่าเมื่อพนักงานเกิดความเครียดนั้น จะหันไปขอความช่วยเหลือหรือปรึกษากับใคร ปรากฏว่าส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นคนในครอบครัว หรือเพื่อนสนิท แต่พนักงานจำนวนน้อยมากที่จะนึกถึงฝ่ายทรัพยากรบุคคลขององค์กรที่มีหน้าที่ในการดูแลทุกข์สุขของพนักงานในองค์กร แสดงว่านอกจากองค์กรจะไม่ได้ให้ความสำคัญและสนใจต่อความเครียดของพนักงานแล้ว ฝ่ายทรัพยากรบุคคลยังไม่สามารถเป็นที่พึ่งพิงให้กับพนักงานเมื่อพนักงานเกิดความเครียด

สุดท้ายก็ฝากท่านผู้อ่านไว้นะครับว่า ลองดูความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสามปัจจัยตามหัวข้อบทความนี้ว่าเกิดขึ้นในองค์กรท่านหรือเปล่านะครับ นั้นคือ จากการต้องการเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กร ก็เลยมอบหมายภาระงานให้กับพนักงานมากขึ้น ซึ่งพนักงานส่วนหนึ่งก็จะเกิดความเครียดจากภาระงานและเวลาในการทำงานที่ยาวนานขึ้น และเมื่อเครียดแล้วก็อาจจะทำให้พนักงานตัดสินใจที่จะลาออก ซึ่งสุดท้ายแล้วการเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรนั้นแทนที่จะเป็นผลดี กลับกลายเป็นผลเสียในระยะยาว

ถ้าองค์กรหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเพิ่มภาระงานให้กับบุคลากร องค์กรก็ต้องหากลไกในการช่วยบุคลากรในการจัดการกับความเครียดที่เกิดขึ้นครับ

ที่มา : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ [email protected]

อัพเดทล่าสุด