คำแนะนำ เกี่ยวกับ เรื่องอาชีพ
“ฉันควรทำมาหากินอาชีพอะไรดี”
“ฉันควรเลือกเรียนคณะไหนดี”
“ฉันไม่ชอบงานที่ทำอยู่ แต่ไม่รู้ว่าตัวเองชอบอะไร”
คำถามเกี่ยวกับเรื่องอาชีพตอบยาก
แจ็ก เวลช์ พูดไว้ในหนังสือ Winning ว่า “คุณมีชีวิตมุ่งไปข้างหน้า แต่คุณจะเข้าใจมันง่ายขึ้นหากมองย้อนหลัง เรื่องของอาชีพก็เช่นกัน” แจ็กเล่าว่า เวลาเขาถามผู้บริหารที่ประสบความสำเร็จว่า ทำงานอะไรงานแรก ส่วนใหญ่มักจะหัวเราะก่อนเลย เพราะว่าคนส่วนใหญ่กับงานแรกนั้นมันดูไม่เหมาะกันเอาเลย
งานแรกๆ ของคนจำนวนมากมักไม่ตรงกับฝัน เพราะว่าเมื่อเราจบใหม่ เราคว้าอะไรได้ก็คว้าเอาไว้ก่อน อย่างที่อับราฮัม มาสโลว์ พูดไว้ในทฤษฎีความต้องการว่า พื้นฐานเลยคนต้องการปัจจัยสี่ก่อน
แล้วทำไมคนจึงทำงานแล้วลาออกเร็ว
นิยามของผมเร็ว คืออยู่น้อยกว่าหนึ่งปี แต่สมัยนี้คนรุ่นใหม่บอกว่า 3-4 เดือนก็เปลี่ยน และเปลี่ยนบ่อยๆ ไม่ใช่เรื่องเสียหาย เพราะว่าเราอยู่ในยุคกูเกิล อะไรๆ ต้องไวแบบบะหมี่ไมโครเวฟ รวมทั้งความสำเร็จในงานด้วย
แต่ว่าที่จริงแล้วความสำเร็จต้องใช้เวลา จากหนังสือ First Break All the Rules by Marcus Bucking ham and Curt Coffman บอกว่าในอาชีพทั่วๆ ไป คนใช้เวลา 10-18 ปีที่จะขึ้นสู่ระดับยอดเยี่ยม ยกเว้นพวกเด็กอัจฉริยะแบบ สตีฟ จ๊อบส์ ไทเกอร์ วูดส์ หรือ สตีเวน สปีลเบิร์ก เท่านั้น
คำแนะนำสำหรับคนที่เพิ่งจบใหม่
1.รู้จักตัวเองก่อน มีแบบสอบถามที่เราสามารถทำเพื่อหาความถนัดในอาชีพของเราได้ ในอินเทอร์เน็ตมีเยอะ โดยมีค่าใช้จ่ายเล็กน้อย ส่วนตัวแล้วผมชอบ strengthsfinder จากหนังสือเจาะจุดแข็งของ มาร์คัส บักกิงแฮม และ ดอน คลิฟตัน ซึ่งเมื่อซื้อหนังสือมา แล้วจะได้รหัสเพื่อเข้าไปทำแบบสอบถามภาษาไทย เพื่อค้นหาศักยภาพของแต่ละคน หากไม่ต้องการใช้เครื่องมือก็มีวิธีง่ายๆ คือการสอบถามคนรอบตัวเรา 5-6 คน ว่าในสายตาของพวกเขา เรามีความถนัดอะไร เราน่าจะไปประกอบอาชีพอะไร
2.ขั้นตอนต่อไปก็มาประเมินว่าเราควรไปทำอะไร สมมติว่าจากข้อแรก คนบอกว่าเรามีศักยภาพในการโน้มน้าวคน น่าจะไปเป็นพนักงานขาย ก็มาทำการวิจัยเล็กๆ ว่าเราควรไปทำงานขายที่ไหนดี เริ่มจากกการวิเคราะห์อุตสาหกรรมกันก่อน อุตสาหกรรมบริการ เช่น ธุรกิจโรงพยาบาล การศึกษา โรงแรม อาจจะไม่เหมือนกับอุตสาหกรรมไฮเทค เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์มือถือ หรืออุปกรณ์เทคโนโลยีชั้นสูง ทั้ง 2 อุตสาหกรรมต้องการคนทำงานที่มีคุณสมบัติที่แตกต่างกัน เลือกอุตสาหกรรมก่อน
3.แล้วเราลองมาเทียบกันจากข้อมูลทั้ง 2 ข้อ ว่าเราควรมุ่งไปทำงานอะไร ในธุรกิจอะไร
4.แล้วลงมือวางแผน คราวนี้ก็มาเจาะลงไปอีก สมมติว่าอยากทำงานขาย ในอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ เราก็ต้องดูว่าแต่ละบริษัทก็มีวัฒนธรรมองค์กรไม่เหมือนกัน เช่น ที่แอปเปิลคอมพิวเตอร์ และที่ HP ก็มีวัฒนธรรมองค์กรที่แตกต่างกัน ก็ต้องทำการบ้านแล้วพิจารณาดูว่าที่ไหนที่เหมาะกับเรา หากเราเป็นคนที่มีค่านิยมแบบกันเอง ก็ควรจะหาองค์กรที่มีลักษณะวัฒนธรรมแบบเป็นกันเองเป็นต้น
5.แล้วลงมือเตรียมตัว โดยหลักๆ ก็คือ มาดูว่างานที่เรามองหานั้นมีคุณสมบัติอะไรบ้าง แต่ว่าในเกือบทุกงานต้องการคุณสมบัติเบื้องต้นเหล่านี้คือ คอมพิวเตอร์ ภาษาอังกฤษ ทักษะการนำเสนอ ซึ่งล้วนแต่ฝึกฝนและเตรียมตัวได้
กรณีเป็นคนทำงาน แต่ว่าไม่อยากทำในสิ่งที่ตนเองทำอยู่ มีคำแนะนำดังนี้
1.ตอบคำถามนี้ 3 ครั้ง “คุณได้ทุ่มเททำงานปัจจุบันอย่างสุดความสามารถแล้วหรือยัง” หากคำตอบว่ายัง กลับไปทำงานให้เต็มที่ก่อนที่จะบอกว่าไม่อยากทำ เพราะว่ามันสำคัญสำหรับขั้นตอนต่อไป คนส่วนใหญ่ทำไปได้พักหนึ่งไม่อยากทำ ลาออก หางานใหม่ แล้วเข้าสู่วงจรนี้ไปเรื่อยๆ เป็นความสูญเสียของทุกฝ่าย โดยเฉพาะประสิทธิผลของประเทศของเรา ท่านอาจจะสงสัยว่าทำไมเราต้องทำงานให้สุดๆ ก่อน ทั้งๆ ที่เราอาจจะไม่อยากทำ เพราะว่าท่านจะได้ทราบว่าในกิจกรรมต่างๆ ที่ท่านทำนั้น ส่วนไหนที่ท่านชอบหรือทำได้ดี และส่วนไหนที่ไม่ชอบ เพื่อจะได้ใช้เป็นเกณฑ์ในการเลือกงานในอนาคต
2.เมื่อรู้แล้ว มองหางานภายในองค์กรตนเองก่อน ถ้าท่านทุ่มเทเต็มที่คนอื่นต้องเห็น และเขาอาจจะนำพาท่านไปสู่งานที่เหมาะกว่าได้ง่าย
3.หากมองหาภายในไม่พบ ก็เริ่มมองหาที่อื่นต่อไป
ที่มา : โพสต์ทูเดย์