จูง...ปลุก...ปลอบ...ใจ พนักงานช่วงธุรกิจขาลง
คอลัมน์ของผู้เขียนในสัปดาห์นี้ยังคงเป็นหัวข้อสืบเนื่องมาจากผลกระทบของราคาน้ำมันแพงอยู่ เพราะในระยะ 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา สื่อมวลชนทุกแขนงให้ความสนใจและวิตกวิจารณ์ถึงสภาพเศรษฐกิจการ อยู่รอดของธุรกิจ ภาวะการจ้างแรงงาน และค่าครองชีพของมนุษย์เงินเดือนอย่างเห็นได้ชัด และแม้ว่านักเศรษฐศาสตร์และผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายจะมีความเห็นว่า ภาวะเศรษฐกิจของประเทศไทยเรายังไม่ถึงขั้นที่เรียกว่า “วิกฤต” อย่างในปี พ.ศ.2540 และการใช้นโยบาย “รัดเข็มขัด” ของภาคธุรกิจเพื่อลดค่าใช้จ่ายก็ไม่น่าจะ มีผลถึงกับต้องปลดพนักงานออกเ...
อย่างไรก็ตาม สำหรับเจ้าของกิจการขนาดย่อม เช่น ร้านอาหาร ร้านเสริมสวย และธุรกิจเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเดินทาง เช่น บริษัทการบิน ต่างก็เริ่มปลดพนักงานออกกันบ้างแล้ว ส่วนเจ้าของร้านอาหารเล็กๆ ย่านชานเมืองก็มีปิดกิจการไปหลายร้าน เพราะลูกค้าหายหน้าหายตาไปหมด เนื่องจากใช้นโยบายประหยัดไม่รับประทานอาหารนอกบ้าน
เศร้า... เศร้า... เศร้า! น่าจะเป็นคำบรรยายบรรยากาศของผู้ที่โชคร้ายต้องถูกออกจากงานในเวลานี้ ส่วนคนที่โชคยังดีอยู่ที่มีงานทำก็ใช่ว่าจะหน้าชื่นตาบาน เพราะในหัวอกนั้นใจก็เต้นตุ๊มๆ ต้อมๆ ว่าข้าพเจ้าจะเป็นรายต่อไปหรือเปล่า ซึ่งถ้าสังเกตดีๆ นายจ้างคงเห็นลูกจ้างของตนหน้าตาไม่ค่อยสบาย เหม่อลอย ซังกะตายทำงาน ก็ขอให้เข้าใจว่าพวกเขาอาจตกอยู่ในอาการขวัญหายกำลังใจหดอยู่ โดยเฉพาะบริษัทที่เพิ่งปลดคนงานออกไป อาการเซ็งซึมของพนักงานที่เหลืออยู่ในบริษัทเป็นอาการที่ไม่ส่งผลดีต่อตัวพนักงานเอง และต่อกิจการของบริษัทโดยรวม ฉะนั้นนายจ้างผู้บริหารพึงหาวิธีการสร้างขวัญกำลังใจให้พนักงานโดยเร็ว
การซึมเซ็งของพนักงานหลังการปลดคนงาน หรือ Downsizing ไม่ยากนักที่จะเดา ทั้งนี้สาเหตุของความเครียดและการหมดกำลังใจของพนักงานมักมาจาก
1) หวั่นใจเรื่องความมั่นคงของงานที่ทำอยู่ (Job Security) สาเหตุข้อนี้น่าจะเดาได้ง่ายที่สุด ว่าจะต้องมีผลทำให้พนักงานที่รอดพ้นจากการถูกปลดหวั่นวิตกถึงอนาคตของตนว่าจะยังมีงานทำในอนาคตหรือไม่ โดยพนักงานที่หวั่นใจเรื่องนี้มักเป็นพนักงานกลุ่ม อายุ 35 ปีขึ้นไป และมีการศึกษาและทักษะความ เชี่ยวชาญไม่สูงมาก ทั้งอายุก็ค่อนข้างสูงมักมีภาวะทางครอบครัว เช่น มีบุตรที่ต้องดูแล พนักงานกลุ่มนี้ เท่าที่ผู้เขียนสังเกตดูมักจะเป็นพนักงานที่มีการศึกษาระดับปริญญาตรี หรือต่ำลงไป
ทั้งนี้ ในปัจจุบันประเทศของเรามีผู้จบการศึกษาระดับปริญญาตรีออกมาสู่ตลาดแรงงานเป็นจำนวนมากในทุกๆ ปี โดยเฉพาะบัณฑิตทางสายสังคมศาสตร์นั้นมีจำนวนมากกว่าสายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ดังนั้นนายจ้างจึงมีโอกาสในการเลือกจ้างพนักงานจบการศึกษาใหม่ๆ ค่าแรงถูก เพื่อทดแทนพนักงานที่มีวุฒิปริญญาตรีที่อยู่มานานจนเงินเดือนสูง แต่ไม่มีความสามารถเชี่ยวชาญใดๆ ที่เด่นเป็นพิเศษ และเป็นเช่นเดียวกันกับกลุ่มที่มีวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี และไม่มีความสามารถเด่น พนักงานในกลุ่มนี้มักจะเป็นกลุ่มเป้าหมายที่เจ้าของกิจการจะมองว่าเป็นผู้ที่อาจจะต้องปลดออก เพราะสามารถหาแรงงานรุ่นใหม่มาทดแทนได้ในต้นทุนที่ถูกกว่า หรือน่าปลดออกเพราะไม่ได้สร้างคุณค่าเพิ่มให้องค์กร
สำหรับองค์กรชั้นนำนั้น ผู้บริหารระดับกลาง (Middle Manager) ที่แม้มีวุฒิการศึกษาระดับปริญญาโท ก็ยังเป็นกลุ่มที่ถูกปลดออกจากงานมากเช่นกัน โดยขอยกตัวอย่าง GE ในช่วงทศวรรษ 1990 ที่ Jack Welch เข้ารับตำแหน่งเป็น CEO และทำการปฏิวัติธุรกิจของ GE จากที่ซบเซาและเริ่มตามหลังคู่แข่งใน ประเทศญี่ปุ่นให้ผงาดเป็นยักษ์ใหญ่อยู่แนวหน้า พนักงานกลุ่มที่ถูกปลดออกมากที่สุดคือกลุ่มผู้จัดการระดับกลางนี้แหละ โดย Jack Welch ให้เหตุผลว่า เป็นกลุ่มที่มักทำตัวเป็นคอขวด (Bottle Neck) ที่ขาดประสิทธิภาพในการสื่อสารนโยบายและกลยุทธ์ไปยังกลุ่มปฏิบัติการ (Operations Workers) ให้นำแผนไปปฏิบัติโดยรวดเร็ว ดังนั้นเพื่อทำให้การนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติได้รวดเร็ว จึงปลดพวกทำตัวเป็นคอขวดเหล่านี้ออกเสีย!
2) หวั่นใจเรื่องอนาคตของบริษัท ซึ่งเป็นเรื่องของทิศทางธุรกิจ (Business Direction) นอกจากจะหวั่นใจในอนาคตของตัวเองแล้ว พนักงานก็ยังอาจวิตกกังวลกับอนาคตของบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ด้วย เพราะหาก บริษัทล้มเหลวปิดกิจการ พนักงานไฉนเลยจะอยู่ได้ และแม้ว่าบริษัทจะไม่อยู่ในสภาพที่แย่ขนาดจะต้องปิดกิจการ แต่การที่ผู้บริหารไม่สามารถประกาศนโยบายที่แน่ชัดเกี่ยวกับเป้าหมายทิศทางในอนาคตของธุรกิจ รวมทั้งกลยุทธ์ ทำให้พนักงานขาดความชัดเจน ว่าอนาคตของธุรกิจจะเป็นอย่างไร และตนใน ฐานะเป็นพนักงานของบริษัทจะมีบทบาทหน้าที่และความรับผิดชอบอะไรบ้าง ควรประพฤติตัวอย่างไร สภาวะ อึมครึมเช่นนี้ทำให้พนักงานรู้สึกอึดอัดคับข้องใจ
3) ซึมเซ็งเพราะบรรยากาศทั่วไปของบริษัทในช่วงธุรกิจขาลง คงพอจะนึกภาพออกว่าในช่วงที่บริษัทเพิ่งทำการ Downsizing ผนวกกับผู้บริหารกำลังเมาหมัดไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี ยอดขายก็ตก พนักงานถูกสั่งให้รัดเข็มขัดจนไม่รู้ว่าจะรัดอย่างไรแล้ว บรรยากาศแบบนี้ย่อมไม่สร้างสรรค์ให้พนักงานรู้สึกชื่นบาน กระฉับกระเฉงที่จะทำงานแน่นอน จะหันไปทางไหนก็เจอเก้าอี้ที่ว่างเปล่าของเพื่อนร่วมงานที่จากไป ครั้นจะมองโต๊ะทำงานของตัวเอง ก็อาจจะเจอกับงานที่สุมกองเต็ม เพราะต้องทำงาน เพิ่มขึ้นเพื่อทดแทนแรงงานที่จากไป หรือไม่โต๊ะตัวเองก็ว่างเปล่าน่าใจหายเพราะไม่มีธุรกิจ พอคิดจะออกไป รับประทานอาหารกลางวัน เช่น ไก่ย่างส้มตำรสแซบให้หายเซ็ง กระเป๋าก็แห้งต้องก้มหน้าชงบะหมี่สำเร็จรูป ทานลูบท้องไปก่อน...
ผู้อ่านอย่าเพิ่งวิจารณ์ผู้เขียน “เพนต์” ภาพเกิน ความเป็นจริงไปเลย เวลามันแย่... มันก็แย่ได้เช่นนี้จริงๆ อย่างไรก็ตามอย่าปล่อยให้สถานการณ์แบบนี้มาทำให้ท่านทดท้อ เขาว่ากันว่า “เงินหมด หรือหมดตัว ก็ยังไม่เท่าหมดกำลังใจ” ฉะนั้น ลุกขึ้นมา จูง... ปลุก... ปลอบใจตนเองและ ลูกน้องกันดีกว่า
ผู้นำต้องเข้มแข็งและกำหนดวิสัยทัศน์ธุรกิจ และกลยุทธ์ให้ชัดเจน ทั้งในปัจจุบันและอนาคต เมื่อธุรกิจต้องเจอมรสุม พนักงานซวนเซหมดกำลังใจ ผู้นำต้องจำไว้ขึ้นใจว่า ทรุดตามธุรกิจไม่ได้ ท้อได้ แต่ต้องสู้ เรื่องของกำลังใจนี้ต้องอาศัยหลักจิตวิทยา ถ้าผู้นำยังมีกำลังใจ แสดง ท่าทางกระฉับกระเฉง พนักงานจะรู้สึกว่าสถานการณ์ยังไม่แย่เท่าไร ทำให้เขาพลอยมีกำลังใจขึ้นมาบ้าง และ พอพนักงานคึกคักก็จะสะท้อนกลับไปยังผู้นำให้คึกคักตามไปด้วย
ต่อจากเรื่องกำลังใจก็คือการกำหนดทิศทางธุรกิจว่าจะไปทางไหน แม้ว่าบางทีผู้บริหารเองก็ยังไม่ทราบเลยว่าอนาคตของบริษัทจะไปทางไหน แต่อย่าปล่อยให้ลูกน้องไม่รู้ว่าควรจะปฏิบัติตัวอย่างไร โดยขอแนะนำให้เริ่มจากกิจกรรมประจำวันหรือประจำสัปดาห์ก่อนก็ได้ เช่น สัปดาห์นี้ให้มุ่งเรื่องคิดหาทางลดค่าใช้จ่าย สัปดาห์ต่อไปสำรวจความต้องการของลูกค้า ทั้งนี้การที่พนักงานรู้ว่าแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์มีเป้าหมายอะไรบ้างที่ต้องรับผิดชอบ ทำให้เขามีสมาธิที่จะทำงาน แทนที่จะฟุ้งซ่านกลุ้มใจ สรุปคือถ้ายังกำหนดวิสัยทัศน์ธุรกิจในระยะยาวไม่ได้ ก็ให้ค่อยๆ กำหนดเป้าหมายย่อยๆ ในระยะสั้นไปก่อน ซึ่งพอผ่านช่วงเวลาคับขันไปสัก 2-3 เดือน อาจจะมองเห็นช่องทางใหม่ๆ ได้
ยามศึกเรารบ ยามสงบเราเตรียม คำขวัญของทหารอาจนำมาใช้ได้ช่วงธุรกิจขาลง กล่าวคือ ช่วงธุรกิจดีพนักงานก็เร่งขยายตลาด ผลิตสินค้าแข่งกับคู่แข่งขัน ช่วงขาลงไม่มีธุรกิจก็ใช่ว่าจะนั่งทอดอาลัย ก็ให้เร่ง พัฒนาฝึกปรือฝีมือความเชี่ยวชาญเอาไว้ นโยบายของ รัฐบาลเองก็สนับสนุนให้บริษัททำการฝึกอบรมพนักงาน โดยสามารถนำค่าใช้จ่ายการฝึกอบรมมาหักลดภาษีได้ อีกทั้งการพัฒนาพนักงานมิได้หมายความว่าจะต้องเสียสตางค์ส่งพนักงานไปฝึกอบรมหรือจ้างคนมาสอนพนักงาน เสมอไป
บริษัทสามารถจัดกิจกรรมส่งเสริมให้พนักงานรวมกลุ่มกันเป็น “Think Tank” แลกเปลี่ยนความรู้และแสดงความคิดเห็นในการลดค่าใช้จ่าย ปรับปรุงบริการหรือลดขั้นตอนการทำงานก็ได้ ซึ่งการจัดกิจกรรมกลุ่มนี้จะเป็นการสร้างบรรยากาศการทำงานเป็นทีม และสร้างไอเดียใหม่ๆ ดีๆ ที่ผู้บริหารอาจคาดไม่ถึงก็ได้ จริงอยู่ที่ในสมัยนี้ผู้บริหารคงไม่สามารถให้คำมั่นสัญญาว่าจะไม่มีการ Downsizing (อีก) หรือจะจ้างงานพนักงานคนใดจนกระทั่งเกษียณอายุ แต่การฝึกอบรมพนักงานให้มีความพร้อมตลอดจะทำให้พนักงานมีศักยภาพที่จะได้รับการจ้างงานมากขึ้น เป็นการลดปัญหาความกังวลเรื่อง การขาดความมั่นคงในงานได้ในระดับหนึ่ง
สร้างบรรยากาศความรักความสามัคคีระหว่าง ผู้บริหารและพนักงาน ดังที่ได้กล่าวไปแล้วว่า ถ้า ผู้บริหารคึกคัก ลูกน้องก็จะพลอยเข้มแข็งตามไปด้วย ดังนั้นผู้บริหารควรให้ความสำคัญกับการพูดคุยกับลูกน้อง สอบถามทุกข์สุข แม้ว่าช่วยไม่ได้ ก็ช่วยรับฟังก็ยังดี ธรรมเนียมฝรั่ง เช่น การนำอาหารคนละชนิดมาร่วมกันรับประทาน (Potluck Party) ก็สามารถนำมาใช้ได้ในบางวัน เช่น วันศุกร์ให้มาร่วมรับประทานกลางวันร่วมกัน นอกจากประหยัดแล้วยังสนุกสนานด้วย ความสัมพันธ์ที่ดีจะช่วยให้ทุกคนคลายความเครียดลง แล้วเมื่อความเครียดลดลง ไอเดียดีๆ รวมทั้งโอกาสดีๆ ก็จะตามมา ขอให้มีกำลังใจนะคะ!
ที่มา : www.jobjob.co.th/