กลวิธีการทำงานร่วมกับ เจ้านาย(ฝรั่ง)
หากคุณต้องทำงานกับเจ้านาย หรือนายจ้างที่เป็นชาวต่างชาติ คุณจะมีวิธีปฏิบัติตัวอย่างไรให้เป็นที่ประทับใจหรือเข้าตาเจ้านายฝรั่งของคุณ??
คำถามนี้เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับผู้ที่ทำงานร่วมกับชาวต่างชาติ แต่ถึงคุณจะไม่ได้ทำงานกับชาวต่างชาติจริงๆ ก็สามารถนำกลวิธี หรือวิธีการที่จะกล่าวต่อไปนี้ไปใช้กับ เจ้านายคนไทยก็ได้เช่นกัน เราลองมาดูกันซิว่าวิธีหรือกลวิธีที่ว่ามีอะไรกันบ้าง
1. จะรับปากอะไรก็ตามขอให้แน่ใจว่าเราสามารถทำได้
การที่คุณทำงานกับเจ้านายที่ เป็นชาวต่างชาติ ประเด็นสำคัญของการทำงานร่วมกันคือ ผลงานที่ออกมา หลาย ๆ คนไม่กล้าจะปฏิเสธคำสั่งหรือกล้าจะพูดและแสดงความคิดเห็นเมื่องานที่ได้รับมอบหมายมันยากที่จะปฏิบัติให้สำเร็จตาม แผนงานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องของเวลา (เส้นตาย) ขอให้คุณแสดงความคิดเห็นออกมาอย่างสุภาพและตรงไปตรงมา
อย่าเกรงใจโดยการพยักหน้าและบอกว่า Yes ซึ่งนั่นอาจจะหมายถึง "เรากำลังรับฟัง" หากแต่ชาวต่างชาติเขาจะตีความหมายว่า "เราเห็นด้วยและตกลง" ตามนั้น ซึ่งเป็นการ "รับปาก (Promise)" สำหรับชาวต่างชาติเมื่อเรารับปากอะไรก็ตามแล้วเราไม่สามารถทำได้ นั่นหมายถึงคุณได้ทำลายความเชื่อถือ (Trust) ในตัวคุณลงโดยไม่รู้ตัว และในคราวต่อไปเราคงต้องใช้ความพยายามมากขึ้นอย่างมหาศาลเพื่อเรียกความเชื่อถือกลับมา เพราะขาดความไว้วางใจกันเสียแล้ว
ดังนั้น หากจะรับปากอะไรก็ตามขอให้แน่ใจว่าเราสามารถทำได้ตามที่รับปากเช่นนั้นจริง ๆ
ชาวต่างชาติส่วนใหญ่จะรู้สึกยินดีเมื่อมอบหมายงานแล้วลูกน้องมีคำถาม เพราะเป็นการแสดงถึงว่าเราให้ความสนใจกับรายละเอียดของงาน และเรายังแสดงออกถึงความต้องการที่จะเข้าใจเพื่อจะได้ทำงานให้สำเร็จลุล่วง
หลาย ๆ คน ไม่ชอบถาม อาจจะกลัวเสียหน้าหรืออายที่จะถาม จงระลึกอยู่เสมอว่าเราอาจจะเสียหน้าบ้าง แต่ว่าดีกว่าสูญเสียความน่าเชื่อถือจากหัวหน้างานหรืออาจจะตกงานได้ง่าย ๆ หากเราเข้าใจผิด เพราะเราจะทำอะไรในคนละเรื่องกับสิ่งที่เขาต้องการก็เป็นได้ ฉะนั้น ต้องกล้าที่จะถามเมื่อไม่เข้าใจหรือมีปัญหา
กรณีที่คุณทำงานแล้วเกิดข้อผิดพลาดแล้วปกปิดเรื่องนั้นไว้ เพราะเกรงว่าจะทำให้ตัวเองถูกตำหนิหรือด้วยเหตุอื่นๆ แต่ว่าความจริงแล้วหากคุณบอกเจ้านายแต่เนิ่น ๆ ความเสียหายที่เกิดขึ้นและโอกาสของการแก้ไขปัญหาก็ง่ายขึ้นกว่าการปล่อยให้เนิ่นนานออกไป
แน่นอนที่สุด คุณอาจจะถูกเจ้านายของคุณโกรธบ้าง แต่แน่ใจได้เลยว่าเขาจะยิ่งโกรธมากขึ้นแน่ ๆ หากปล่อยให้เนิ่นนานออกไป หรือละเลยให้ความเสียหายยิ่งบานปลาย
มีคนเคยกล่าวไว้ในสมรภูมิการรบว่า "วันใดที่ทหารของคุณเลิกนำปัญหามาปรึกษากับคุณ แสดงว่าคุณไม่ได้เป็นผู้นำของเขาแล้ว เพราะเขาคงคิดว่าคุณไม่สามารถช่วยเขาได้หรือคุณไม่แคร์ ไม่ว่าจะเป็นเหตุผลใดก็ตามถือว่าคุณล้มเหลวในความเป็นผู้นำ" คำกล่าวนี้น่าจะทำให้คุณกล้าที่จะเผชิญกับปัญหาแต่เนิ่น ๆ แล้วโดนตำหนิบ้างนิดหน่อย ดีกว่าปล่อยให้กลายเป็นเรื่องใหญ่
สำหรับคนไทย การพูดตรงไปตรงมามักจะต้องระมัดระวังคำพูดมิให้คำกระทบกระทั่งความรู้สึกของคนอื่น บ่อยครั้งทำให้เราพูดอ้อมค้อมเกินไปและไม่ตรงประเด็น แต่กับเจ้านายหรือชาวต่างชาติการพูดหรือสื่อสารอย่างตรงไปตรงมาจะทำให้เขาพอใจมาก
สัญญาณที่จะได้รับเมื่อเจ้านายคุณไม่เข้าใจคือ "คุณหมายความว่าอย่างไรที่บอกว่า...(What do you mean by that...?)" เมื่อเจออย่างนี้ต้องรีบแก้ไข
สำหรับเคล็ดลับหรือวิธีการที่ดีที่สุด คือ คุณต้องลำดับความคิดของคุณก่อน อาจจะเป็นการนั่งลงพร้อมกับกระดาษ แล้วเขียนความคิดของคุณว่าคุณต้องการคุยเรื่องอะไร มีที่มาหรือภูมิหลังว่าอย่างไร เกิดปัญหาอะไรขึ้นอะไรเป็นสาเหตุ มีข้อมูลอะไรสนับสนุน สุดท้ายมีข้อเสนอแนะอะไรสำหรับปัญหานั้นบ้าง และควรจะเสนอแนะหลาย ๆ ทางเลือก รวมทั้งเสนอทางเลือกในความเห็นของคุณ หากจะให้ดีก็ควรวิเคราะห์ต่อเนื่องถึงผลลัพธ์ หากตัดสินใจเลือกทางเลือกนั้นจะเกิดผลกระทบหรือความเสี่ยงอะไรตามมาได้บ้าง
เจ้านายหรือหัวหน้างานส่วนใหญ่ต้องการทราบผลความคืบหน้าของงานเป็นระยะ ๆ เราควรจะรายงานเจ้านายอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ
ในเรื่องของความถี่และรายละเอียด รูปแบบการสื่อสารก็อาจจะต้องศึกษาเจ้านายของคุณว่าเขาชอบให้รายงานทางโทรศัพท์ คนบางคนต้องรายงานเป็นลายลักษณ์อักษร คนบางคนต้องรายงานด้วยวาจาทุกวัน หรือทุกสัปดาห์ ดูตามสไตล์ของแต่ละคนแล้วปรับประยุกต์ใช้
การบันทึกสิ่งที่คุณทำ บันทึกความเข้าใจ (MEMO) บันทึกการประชุม หรือรายละเอียดของงานจะช่วยคุณได้หลายกรณี เช่น ช่วยให้ทุกคนมีความเข้าใจตรงกัน
นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่บันทึกผลงานและความสำเร็จต่างๆ ของเรา เราสามารถนำไปใช้อ้างอิงในอนาคต หรือนำไปใช้เมื่อต้องพิจารณาผลงานของเรา และยังเป็นหลักฐานยืนยันกับหัวหน้างานคนใหม่ เพราะเราในอนาคตหากมีการเปลี่ยนแปลงหัวหน้างาน
ทั้ง 6 ประการที่กล่าวมาข้างต้น น่าจะเป็นแนวที่ดีสำหรับผู้ที่มีเจ้านายเป็นชาวต่างชาติ แต่อย่างว่าละครับ..กลวิธีที่ได้กล่าวไปแล้วไม่เฉพาะเจ้านายที่เป็นชาวต่างชาติ คนไทย หรือคนที่ไหนก็สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับงานของคุณได้ทั้งหมดนะครับ
ที่มา: Career Tips โดย : มุขรินทร์ นิตยสาร Recruit Update