การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม กรณี เลิกจ้างลูกจ้างไม่มีความผิด


880 ผู้ชม


การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม กรณี เลิกจ้างลูกจ้างไม่มีความผิด




คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1458/2524

ผู้บังคับบัญชาสั่งให้โจทก์ปฏิบัติงาน โจทก์ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง ผู้บังคับบัญชาจึงได้ออกใบเตือนให้โจทก์รับทราบ โจทก์ฉีกใบเตือนเฉพาะฉบับที่จำเลยออกให้โจทก์เท่านั้น ซึ่งเป็นฉบับที่มอบให้ลูกจ้าง ถือว่าลูกจ้างจะเอาไปทำอะไรก็ได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จำเลยก็ไม่อาจอ้างว่าโจทก์ทำลายทรัพย์สินคือใบเตือนของจำเลย ดังที่ระบุไว้ในคำสั่งเลิกจ้าง จึงถือไม่ได้ว่าการที่จำเลยปลดโจทก์ออกจากงาน เป็นการปลดหรือเลิกจ้างเพราะเหตุได้กระทำผิดดังที่ระบุไว้ในคำสั่ง จำเลยต้องรับโจทก์กลับเข้าทำงาน และชำระค่าเสียหายให้โจทก์


ศาลแรงงานกลางพิพากษาให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงานในตำแหน่งหน้าที่เดิม และให้นับอายุการทำงานติดต่อกัน กับให้จำเลยจ่ายค่าเสียหายเท่ากับอัตราค่าจ้างสุดท้ายที่โจทก์ได้รับอยู่นับแต่วันที่ 21 มกราคม 2524 ตลอดไปจนกว่าจำเลยจะรับโจทก์กลับเข้าทำงาน จำเลยอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา

ศาลฎีกาแผนกคดีแรงงานวินิจฉัยข้อกฎหมายว่า "คดีนี้โจทก์ฟ้องมุ่งประสงค์ให้จำเลยรับโจทก์กลับเข้าทำงาน เพราะโจทก์ถูกจำเลยเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ. 2522 มาตรา 49 ปัญหาที่ต้องวินิจฉัยจึงมีว่า การเลิกจ้างของจำเลยเป็นการเลิกจ้างโดยไม่เป็นธรรมหรือไม่ เห็นว่า ตามคำสั่งที่ให้ปลดโจทก์ออกจากงานคือคำสั่งที่ 4/2524 (เอกสารหมาย ล.4) ในคำสั่งดังกล่าวจำเลยได้ระบุว่าเลิกจ้างโจทก์เพราะโจทก์จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย และเจตนาทำลายทรัพย์สินของนายจ้าง ถือว่าเป็นความผิดร้ายแรง คดีนี้จำเลยอุทธรณ์ทั้งปัญหาข้อเท็จจริงและข้อกฎหมาย ศาลแรงงานกลางรับเฉพาะอุทธรณ์ข้อ 3 ย่อหน้าที่ 4 และ 5 ซึ่งอยู่ในหน้า 6 อันเป็นข้อกฎหมาย ในข้ออุทธรณ์ ของจำเลยที่ว่า การที่โจทก์ฉีกใบเตือนถือได้หรือไม่ว่าเป็นการทำลายทรัพย์สินของบริษัท จงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย อันเป็นความผิดร้ายแรง เห็นว่าลักษณะใบเตือนเป็นเพียงหนังสือแจ้งให้ผู้ถูกเตือนทราบว่ากระทำความผิดเท่านั้น ใบเตือนที่จำเลยออกให้และโจทก์ฉีกนั้น นายสมหวัง ภิญญารัตน์ ผู้จัดการโรงงานของจำเลยเบิกความว่า"สำหรับ (ใบเตือน) ฉบับที่มอบให้ลูกจ้างถือว่าลูกจ้างจะเอาไปทำอะไรก็ได้" และโจทก์ฉีกเฉพาะฉบับที่จำเลยออกให้โจทก์เท่านั้นเมื่อเป็นเช่นนี้ จำเลยก็ไม่อาจอ้างว่าโจทก์ทำลายทรัพย์สินของจำเลยดังที่ระบุไว้ในคำสั่งเลิกจ้างเอกสารหมาย ล.4 ได้ จึงถือไม่ได้ว่าการที่จำเลยปลดโจทก์ออกจากงานเป็นการปลดหรือเลิกจ้างเพราะเหตุได้กระทำผิดดังที่ระบุไว้ในคำสั่ง ส่วนที่จำเลยอุทธรณ์ว่าโจทก์จงใจขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชาทำลายระเบียบข้อบังคับของบริษัท และเพื่อให้ลูกจ้างคนอื่นฝ่าฝืนระเบียบข้อบังคับการทำงานของบริษัท ทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย เห็นว่ามิใช่ข้อที่จำเลยยกขึ้นเป็นเหตุเลิกจ้าง ไม่จำต้องนำมาพิจารณาในคดีนี้"

พิพากษายืน

ที่มา : ศาลฎีกา

อัพเดทล่าสุด