นโยบายสิ่งแวดล้อม (Environmental Policy)


1,154 ผู้ชม


นโยบายสิ่งแวดล้อม (Environmental Policy)




นโยบายสิ่งแวดล้อม (Environmental Policy) คือแถลงการณ์ขององค์กรถึงความตั้งใจ มุ่งมั่น และหลักการในการทำงานด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยรวม เพื่อสภาพแวดล้อมที่ดีของสังคม นโยบายจึงเป็นกรอบสำหรับการดำเนินการขององค์กร และเพื่อการจัดตั้งวัตถุประสงค์และเป้าหมายสิ่งแวดล้อม

นโยบายเป็นตัวสำคัญในการขับเคลื่อนกลไกในการปฏิบัติ และปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กร เพื่อให้สามารถรักษาและปรับปรุงผลงานด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องสอดคล้องกับกฎหมาย และระบุถึงความตั้งในมุ่งมั่นของผู้บริหารระดับสูงในอันที่จะปฏิบัติตามกฎหมายและปรับปรุงระบบให้ดีขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อประโยชน์ทางการค้า การดำเนินการ และอื่น ๆ

นโยบายต้องชัดเจนและง่ายต่อการอธิบายต่อคนงานในองค์กรและ ผู้สนใจทั่วไปพร้อมทั้งสามารถปรับเปลี่ยนให้ทันต่อเหตุการณ์และข้อมูลอยู่เสมอ นโยบายนี้ยังควรสอดคล้องกับนโยบายด้านอื่น ๆ ขององค์กร เช่น นโยบายด้านคุณภาพ ความปลอดภัย ฯลฯ นโยบายควรสะท้อนถึงสภาวะและข้อมูลที่เปลี่ยนแปลงไป นโยบายจะนำไปใช้กับส่วนงานใดบ้างก็ควรจะชี้บ่งให้ชัดเจนลงไป ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรควรกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมและจัดทำเป็นเอกสาร ในกรณีที่าองค์กรนี้เป็นส่วนหนึ่งขององค์กรใหญ่ นโยบายควรอยู่ในกรอบของนโยบายขององค์กรใหญ่ โดยที่องค์กรใหญ่นั้นยอมรับด้วย ซึ่งผู้บริหารอาจเป็นบุคคลคนเดียวหรือเป็นคณะกรรมการก็ได้ ซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบในการดำเนินงานโดยรวมขององค์กรนั้น ๆ

อะไรวัตถุประสงค์ของนโยบาย?

นโยบายสิ่งแวดล้อมจะต้องเผยแพร่ให้กับบุคลากรภายในองค์กรได้ทราบ โดยการกำหนดลักษณะการดำเนินงานที่สำคัญที่แสดงถึงจุดมุ่งหมายขององค์กร นโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกำหนดทิศทางและแสดงความมุ่งมั่นในการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กร ผู้บริหารสูงสุดขององค์กรต้องกำหนดและเผยแพร่นโยบายสิ่งแวดล้อม โดยพิจารณาให้เหมาะสมกับลักษณะ ประเภท ขนาดของธุรกิจ และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ขององค์กร นโยบายสิ่งแวดล้อมต้องมีความเฉพาะเจาะจง ชัดเจนและเป็นที่เข้าใจไปในทิศทางเดียวกัน ทั้งภายในองค์กร ตลอดถึงผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและจะต้องมีการทบทวนและปรับปรุงนโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นระยะๆ ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป

จัดทำนโยบายอย่างไรดี?

ในการจัดทำนโยบายนั้นจะต้องมีการดำเนินการโดยผู้บริหารสูงสุดเป็นหลัก หรือเป็นผู้ชี้แนวทางในการจัดทำนโยบายที่ถูกต้อง และผู้ดำเนินการจะต้องเป็นผู้จัดทำนโบายและนำนโยบายไปปฏิบัติ ซึ่งมีแนวทางในการกำหนดเพื่อให้ตอบสนองต่อกลุ่มเป้าหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับองค์กรเช่น ผู้ร่วมถือหุ้น ผู้ร่วมลงทุน ชุมชนรอบข้างหรือเพื่อนบ้าน ผู้รับประกัน คู่แข่งทางธุรกิจ องค์กรอิสระด้านสิ่งแวดล้อม ผู้กำหนดกฎหมาย ผู้ส่งมอบวัตถุดิบ ความคิดเห็นของชุมชน พนักงานในองค์กร ผู้บริโภค เป็นต้น กลุ่มบุคคลเหล่านี้คือบุคคลที่จะรับทราบถึงนโยบายขององค์กร ซึ่งเป็นที่แน่นอนว่าแต่ละกลุ่มก็ต้องการรับข้อมูลหรือผลประโยชน์ทางด้านนโยบายสิ่งแวดล้อมแตกต่างกันไป

อะไรคือการดำเนินงานทางด้านสิ่งแวดล้อมที่ดี?

การแสดงถึงการดำเนินงานทางด้านสิ่งแวดล้อมและสร้างความสัมพันธ์อันดี รวมไปถึงภาพพจน์ที่ดีต่อสังคมและชุมชน จะเห็นได้ว่าความแตกต่างของกลุ่มบุคคลย่อมมีจุดประสงค์ในการรับข้อมูลข่าวสารแตกต่างกันไป และไม่ใช่ว่าองค์กรใดที่ไม่มีนโยบายสิ่งแวดล้อมจะไม่มีการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมในองค์กร ในบางองค์กรจะรวมเอาเรื่องของสิ่งแวดล้อมอยู่ในการดำเนินงานขององค์กรด้วยแล้ว ซึ่งโดยมากจะรวมถึง ด้านสุขภาพอนามัย ความปลอดภัย สิ่งแวดล้อม แรงงานสัมพันธ์ ซึ่งมาตรการเหล่านี้ทราบกันดีในแง่ของมาตรการทางด้านสังคม ซึ่งเป็นมาตรการในการดำเนินงานร่วมกัน ซึ่งถ้าจะให้มีความเฉพาะเจาะจงก็ต้องมีการกำหนดนโยบายเฉพาะขึ้นมาไม่ว่าจะเป็นนโยบายสิ่งแวดล้อม หรือนโยบายด้านสังคมก็ตามขั้นตอนในการจัดทำนโยบายดังต่อไปนี้

(1) การกำหนดนโยบาย
(2) การเผยแพร่นโยบาย
(3) การทบทวนและปรับปรุงนโยบายสิ่งแวดล้อม

เราควรกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

ผู้บริหารระดับสูงเป็นผู้กำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อม หรือให้ทิศทางแล้วมอบหมายให้คณะจัดทำฯ ร่างนโยบายและนำมาเสนอให้พิจารณานโยบายสิ่งแวดล้อม เนื้อหาที่จะต้องนำมาบรรจุลงในนโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่จะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เนื่องจากแต่ละองค์กรมีจุดมุ่งหมายที่แตกต่างกัน มีปรัชญาในการดำเนินงานแตกต่างกัน ซึ่งองค์กรจะต้องคาดหวังว่านโยบายจะต้องปฏิบัติได้ มีความเฉพาะเจาะจง และจะต้องเป็นที่ประทับใจของลูกค้าหรือผู้พบเห็นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ชุมชนหรือคู่แข่งทางธุรกิจ นโยบายสิ่งแวดล้อมควรมีพื้นฐานมาจากการทบทวนสถานะเบื้องต้นทางด้านสิ่งแวดล้อม นโยบายจะไม่มีความหมายเลยถ้าไม่มีความมุ่งมั่นในการดำเนินงานที่จะปรับปรุงและพัฒนาสิ่งแวดล้อม นโยบายสิ่งแวดล้อมจะต้องครอบคลุมประเด็นดังต่อไปนี้

(1) เหมาะสมกับลักษณะ ขนาด และผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมอันเกิดจากกิจกรรม สินค้า หรือบริการขององค์การ
(2) แสดงความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงอย่างต่อเนื่องและป้องกันมลภาวะด้วยการใช้กระบวนการ กรรมวิธี วัสดุหรือผลิตภัณฑ์ที่หลีกเลี่ยง ลด หรือควบคุมมลพิษ ซึ่งอาจรวมถึงการหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่ การใช้ประโยชน์จากของเสีย การบำบัด การเปลี่ยนแปลงกระบวนการผลิต กรรมวิธีควบคุม การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ และการใช้วัสดุทดแทน
(3) แสดงถึงความมุ่งมั่นต่อการปฏิบัติตามกฎหมาย และข้อบังคับ รวมถึงข้อกำหนดต่างๆ ที่องค์กรเป็นสมาชิกอยู่
(4) เป็นแนวทางที่ใช้ในการกำหนดและทบทวน วัตถุประสงค์และเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อม
(5) มีการบันทึกไว้ นำไปปฏิบัติและการรักษา เพื่อสื่อสารต่อพนักงานทุกคน เช่น รวมไว้ในคู่มือพนักงานหรือแยกส่วนไว้ต่างหาก
(6) เปิดเผยต่อสาธารณชน เช่น ปิดประกาศไว้ในห้องโถง และมีแจกถ้ามีผู้ขอดู
นโยบายสิ่งแวดล้อมต้องจัดทำเป็นลายลักษณ์อักษร มีการลงนามโดยผู้บริหารระดับสูงสุด รวมทั้งลงวัน เดือน ปี ที่มีผลบังคับใช้ด้วย

นโยบายสิ่งแวดล้อมควรเป็นแนวทางหรือหลักการสั้น ๆ และกว้างที่พิมพ์เผยแพร่ นอกจากนี้ยังมีแนวทางของกลุ่มอุตสาหกรรมแต่ละกลุ่มซึ่งรวมไปถึงแนวทางการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมด้วย เช่น มาตรการของกลุ่มอุตสาหกรรมรถยนต์ กลุ่มอุตสาหกรรมอีเลคโทรนิค เป็นต้น มาตรการของกลุ่มอุตสาหกรรมเหล่านี้ก็สามารถนำมากำหนดเป็นนโยบายขององค์กรได้ เช่น การประหยัดพลังงาน การประหยัดน้ำ การป้องกันการเกิดมลพิษ การปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง หรือการลดปริมาณของเสียอันตราย เป็นต้น นโยบายจึงเป็นส่วนสำคัญในการใช้สำหรับการจัดทำวัตถุประสงค์และเป้าหมาย ส่วนรายละเอียดและเป้าหมายนั้นจะเขียนไว้ในวัตถุประสงค์และเป้าหมายในขั้นตอนของการวางแผน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายอีกทีหนึ่ง ในกรณีที่มีหน่วยงานในองค์กรใหญ่ ซึ่งมีนโยบายทางด้านสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว นโยบายของหน่วยงานควรสอดคล้องกับนโยบายขององค์กรใหญ่โดยอาจมีข้อจำกัดเฉพาะลงไปอีกได้

เอกสารนโยบายสิ่งแวดล้อมในระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมขององค์กรเป็นเอกสารระดับแรก ๆ ในระบบ ฯ ซึ่งแสดงถึงความมุ่งมั่นขององค์กร ปัจจุบันหลาย ๆ องค์กรมักมีการจัดทำวิสัยทัศน์ขององค์กรมากกว่านโยบาย ซึ่งในวิสัยทัศน์จะรวมถึงแนวทางในการกำหนดวัตถุประสงค์ทางด้านสิ่งแวดล้อมไว้ด้วย โดยมากเอกสารนโยบายสิ่งแวดล้อมจะถูกระบุไว้ในคู่มือสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นเอกสารระดับสูงสุดขององค์กร อย่างไรก็ตามการเผยแพร่นโยบายซึ่งโดยมากองค์กรติดประกาศนโยบายไว้ตามที่ต่าง ๆ ในองค์กรด้วย ซึ่งเอกสารนโยบายสิ่งแวดล้อมเหล่านั้นก็ต้องควบคุม (ตามแนวทางการควบคุมเอกสาร) ตามจุดที่นำไปติดด้วย

เราจะเผยแพร่นโยบายสิ่งแวดล้อมอย่างไร?

การเผยแพร่ภายในองค์กร
ต้องทำความเข้าใจนโยบายสิ่งแวดล้อมให้แก่พนักงานทุกคน ทุกระดับ รวมทั้งผู้รับเหมาที่เข้ามาทำงานในพื้นที่ขององค์กรด้วยแล้วให้นำนโยบายไปปฏิบัติอย่างจริงจังและสม่ำเสมอ ไม่จำเป็นต้องท่องให้ขึ้นใจแบบนกแก้วนกขุนทอง แต่ทำอย่างไรให้พนักงานทุกคนเข้าใจ และรู้จักวิธีการดำเนินงานที่ถูกต้องตามนโยบายดังกล่าว คือจะต้องทราบว่ากิจกรรมที่ตนเองทำนั้นส่งผลกระทบอะไรต่อสิ่งแวดล้อมบ้าง และมีแนวทางในการดำเนินการเพื่อควบคุมปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นอย่างไร ฉะนั้นจึงต้องมีการฝึกอบรมความตระหนักทางด้านสิ่งแวดล้อม แต่มิใช่ให้พนักงานสามารถท่องจำได้

การเผยแพร่ภายนอกองค์กร
นโยบายสิ่งแวดล้อมสามารถเปิดเผยต่อสาธารณชนทั่วไป หน่วยงานราชการ หน่วยงานเอกชน หรือหน่วยงานต่างประเทศ ที่เป็นทั้งลูกค้า โดยเฉพาะผู้ที่ส่งวัตถุดิบหรือผู้ส่งมอบ ผู้ที่ต้องการทราบ การเผยแพร่อาจทำเป็นเอกสาร ข่าวสาร หรือหนังสือพิมพ์ และการเผยแพร่ต่อชุมชนโดยรอบ อาจจัดทำป้ายขนาดใหญ่หรือ การส่งเอกสารเพื่อเผยแพร่อื่น ๆ ก็ได้ การเผยแพร่สู่ภายนอกนั้นก็เฉพาะผู้ที่เกี่ยวข้องเท่านั้น เช่น ลูกค้า ผู้ส่งมอบสินค้า ผู้ส่งมอบวัตถุดิบ ผู้ที่ได้รับผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากองค์กร ภายนอกองค์กรไม่ใช่ทุกคนตามที่หลายท่านเข้าใจ

วิธีการทบทวนและปรับปรุงนโยบายสิ่งแวดล้อม?

เนื่องจากสภาพการณ์ต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กร มีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ ดังนั้น ผู้บริหารสูงสุดต้องมีการทบทวนและปรับปรุงนโยบายสิ่งแวดล้อมให้เหมาะสมกับสภาพการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยอาจกำหนดระยะเวลาในการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงแก้ไขตามความเหมะสม หรือถ้านโยบายที่กำหนดไว้ยังคงมีความทันสมัย เหมาะสมกับสภาพทางเศรษฐกิจและสังคม นโยบายสิ่งแวดล้อมดังกล่าวก็ยังสามารถใช้ได้ก็ให้คงไว้ได้ ในการทบทวนและปรับปรุงนโยบายนั้นจะอาจมาจากคณะกรรมการดำเนินการ พนักงานหรือผู้บริหารเองก็ได้ ซึ่งต้องมีการสื่อสารนโยบายใหม่ให้กับคณะกรรมการบริหารพิจารณาตามลำดับ จนกระทั่งถึงคณะกรรมการบริหารองค์กรและผู้บริหารสูงสุด ซึ่งนโยบายใหม่ทุกคนจะต้องเห็นพ้องกันในการปรับปรุงระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมในดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากนั้นก็ประกาศใช้และดำเนินการเข้าสู่วงจรของระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมต่อไป

นโยบายพร้อมทั้งการกระทำที่มุ่งมั่นในการปฏิบัติตามนโยบาย ควรกระทำอย่างไร?

ความมุ่งมั่นของนโยบายควรคำนึงถึงกิจกรรม ผลิตภัณฑ์หรือการบริการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งนอกเหนือจากการปฏิบัติตามข้อบังคับและกฎหมายแล้ว ยังอาจแสดงความมุ่งมั่นที่จะทำการต่อไปนี้
• นโยบายสิ่งแวดล้อมจะต้องได้รับการอนุมัติจากผู้บริหารสูงสุดขององค์กร และต้องมั่นใจว่านโยบายจะได้รับการสนับสนุนจากคณะกรรมการบริหารในองค์กรด้วย
• ต้องแสดงถึงความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามกฎหมายและกฎระเบียบอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทางด้านสิ่งแวดล้อม และองค์กรจะต้องปฏิบัติให้ได้ด้วย
• ต้องแสดงถึงความมุ่งมั่นในการเผยแพร่นโยบาย และผลการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมกับองค์กรภายนอกหรือผู้ที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ
• ลดผลกระทบอันร้ายแรงโดยการใช้วิธีจัดการสิ่งแวดล้อมโดยรวม (Integrated Environmental Management) และการวางแผน
• จัดทำขั้นตอนในการวัดผลการปฏิบัติการด้านสิ่งแวดลอม และตัวดัชนีที่เกี่ยวข้องกับมาตรการทางด้านสิ่งแวดล้อม
• รวมวิธีคิดวัฏจักรชีวิต (Life Cycle Analysis) และพยายามปฏิบัติให้ได้มากที่สุด ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นการพัฒนาระบบการจัดการสิ่งแวดล้อม แต่ยังเป็นการป้องกันผลกระทบสิ่งแวดล้อมที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
• ออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ในการผลิต การใช้และการทิ้งของเสียในกระบวนการผลิต
• ป้องกันมลพิษ ลดปริมาณของเสีย และความต้องการทรัพยากร เช่นวัตถุดับ เชื้อเพลิง และพลังงาน มุ่งมั่นที่จะน้ำกลับมาใช้หมุนเวียนและสกัดของมีค่าแทนการทิ้ง
• การให้การศึกษาและฝึกอบรมแก่ พนักงาน สาธารณชน ลูกค้า ผู้ส่งมอบ ผู้รับจ้างช่วง หรือแม้แต่นักศึกษาฝึกงาน ฯลฯ
• การแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ เช่น จากการประชุม การแสดงความคิดเห็นต่อสาธารณะ
• การเข้าร่วม และติดต่อกับกลุ่มผู้ที่สนใจ แสดงถึงความมุ่งมั่นในการจัดการสิ่งแวดล้อมตามนโยบาย
• พยายามเข้าสู่การพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development)
• สนับสนุนให้มีการใช้ระบบการจัดการสิ่งแวดล้อมให้ผู้ขายส่งและผู้รับเหมาขององค์กร โดยการสนับสนุนในด้านการเงิน ด้านเทคนิค หรือด้านบุคลากรก็ได้
• สร้างมาตรการในการลดการใช้ทรัพยากรหรือใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ไฟฟ้า น้ำ น้ำมัน เป็นต้น
• มั่นใจได้ว่าการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมสอดคล้องกับนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมด้วย
• จัดทำรายงานประจำปี ซึ่งต้องแสดงถึงข้อมูล ข่าวสารที่จำเป็นที่แสดงถึงสถานภาพการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรไว้ด้วย

สิ่งสำคัญสำหรับนโยบายสิ่งแวดล้อม

(1) ข้อตกลงที่องค์กรได้ทำไว้กับชุมชนโดยรอบ ถือเป็นสิ่งที่ต้องนำไปปฏิบัติด้วย เนื่องจากถ้ามีปัญหาสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้น ชุมชนโดยรอบจะต้องอ้างนโยบายที่องค์กรได้แถลงต่อชุมชนก่อนเสมอ ฉะนั้นจะต้องดำเนินการตามนโยบายอย่างเคร่งครัดที่สุด
(2) ควรระบุในนโยบายสิ่งแวดล้อม ถึงการเปิดเผยนโยบายฯ ต่อสาธารณชน ในสภาพความเป็นจริงอาจระบุเช่นนั้นก็ได้ แต่บางท่านอาจมีการเปิดเผยต่อสาธารณะชนแล้วก็ไม่ต้องระบุก็ได้ แต่สิ่งสำคัญคือการปฏิบัติเพื่อให้ชุมชนรอบข้างได้ทราบถึงนโยบายขององค์กร
(3) ควรนำผลจากการทบทวนสถานะปัจจุบันของการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม มาใช้ในการกำหนดนโยบายด้วย การทบทวนทำให้ทราบการดำเนินการในปัจจุบันและปัญหาที่เกิดขึ้นกับองค์กร และสามารถนำปัญหาเหล่านั้นมากำหนดเป็นนโยบายก็ได้

โดยสรุปแล้วนโยบายสิ่งแวดล้อมเป็นเอกสารที่แสดงถึงหน้าตาและมาตรการในด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมซึ่งกำหนดโดยองค์กรเอง นโยบายสิ่งแวดล้อมแสดงถึงข้อมูลข่าวสารที่ให้พนักงานในองค์กรและสาธารณชน ทราบถึงเป้าหมายขององค์กรในการที่จะควบคุมและปรับปรุงปัญหาสิ่งแวดล้อมขององค์กร ซึ่งมีหลักการในการกำหนดนโยบายสิ่งแวดล้อมอยู่ 4 ประการคือ


• นโยบายสิ่งแวดล้อมจะต้องได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ซึ่งสามารถกำหนดได้จากลายเซนต์ของผู้บริหาร และความมุ่งมั่นในการปฏิบัติตามนโยบายที่เกิดขึ้น
• จะต้องมีการปรับปรุงหรือพัฒนาการจัดการสิ่งแวดล้อมตามระยะเวลาที่เหมาะสม
• จะต้องเผยแพร่นโยบายสิ่งแวดล้อมสู่สาธารณชนภายนอก
• นโยบายสิ่งแวดล้อมจะต้องได้รับการทบทวนให้ทันสมัยอยู่เสมอ และต้องได้รับการตรวจสอบว่ายังมีการปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะถูกดำเนินการโดยการตรวจประเมินระบบ ฯ ภายในหรือภายนอก และเป็นการทบทวนระบบ ฯ หลังจากถูกตรวจประเมินแล้ว

ที่มา : moodythai.com

อัพเดทล่าสุด