การสร้าง Blue Ocean ด้าน HR


830 ผู้ชม


การสร้าง Blue Ocean ด้าน HR




ธุรกิจไทยหรือธุรกิจที่ดำเนินการในประเทศไทยถึงวันนี้จะเรียกว่า เป็นโอกาสที่ดีที่จะได้เร่งปรับตัวและเดินหน้าต่อไปได้เสียทีภายหลังจากที่ได้สูญเสียโอกาสมาตลอดช่วงทศวรรษตั้งแต่วิกฤตประเทศ
สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ในปัจจุบันดูเหมือนว่าเรื่องราวในการจัดการหรือบริหารคน ได้กลายมาเป็นหัวข้อที่มีการให้ความสนใจกันค่อนข้างมาก อาทิ
-มีสถาบันหรือชมรมที่จุดประกายและพูดถึงเรื่องการบริหารคน การพัฒนาคน การสร้างความรู้เกิดขึ้นมากมาย
-การแสดงให้สาธารณะได้รับรู้ถึงกิจกรรมต่างๆ เกี่ยวกับคน มักจะมีให้เห็นในลักษณะของ “กิจกรรมทางการตลาด หรือที่เรียกว่า Event Marketing” ซึ่งมีระดับความถี่ที่มากขึ้น
-หนังสือพิมพ์หรือนิตยสารบางฉบับกลับกลายเป็นหนังสือพิมพ์ที่มีแต่เรื่องของการพูดเกี่ยวกับการบริหารคน เพื่อให้ได้ผลในด้านการมีโฆษณาหรือการลงรับสมัครงานในหนังสือพิมพ์นั้นๆ ถือว่าเป็นทิศทางที่เปลี่ยนไปจากอดีตเป็นอย่างมาก
ประการแรก การริเริ่มของการบริหารคนหรือการถ่ายทอดประสบการณ์ของธุรกิจอย่างกว้างขวาง
หลายๆ ครั้งที่จะเห็น กิจกรรมขององค์กรต่างๆ ที่ผู้นำออกมาเล่าหรือถ่ายทอดในเวทีสัมมนาว่า
-ธุรกิจเหล่านี้ได้ดำเนินการเรื่องนั้นเรื่องนี้เป็นที่สำเร็จหรือเห็นถึงการใช้แนวคิดกลยุทธใหม่ๆ ที่ติดอันดับของโลกตะวันตก เพื่อเป็นการยกย่องบริษัทดังกล่าว ขณะเดียวกันจะได้เป็นการกระตุ้นให้ธุรกิจอื่นได้ดำเนินการบ้าง
-กระแสของ “นวัตกรรม” ในปัจจุบันจะเห็นว่ามาแรงมากๆ ขณะที่ผู้เขียนเองได้เขียนและบรรยายในเรื่องนี้มากพอสมควร โดยเฉพาะได้มีโอกาสไปบรรยายเรื่อง การสร้างคุณค่า (Value Creation) มีผู้บริหารของหน่วยงานด้านเทคโนโลยีและวิทยาศาสตร์แห่งหนึ่ง ได้ถามคำถามที่น่าสนใจคือ นวัตกรรมคืออะไร สร้างได้อย่างไร และมีวิธีการที่สร้างได้จริงๆ หรือ สุดท้ายเทคโนโลยีที่พูดๆ กันคืออะไรผู้เขียนคิดว่าเป็นคำถามที่ดีมากและน่าสนใจ (ถ้ามีโอกาสจะเขียนเล่าในภาย-หลัง) ต่อการพัฒนาคนและธุรกิจเป็นอย่างยิ่ง
ประการต่อมา สิ่งที่เรายังขาดอยู่ของธุรกิจ จากที่เกริ่นมาข้างต้น ผู้เขียนกลับพบว่า
-กระแสการบูมในสิ่งที่เป็นการกระตุ้นหรือประชาสัมพันธ์เครื่องมือบริหารใหม่ๆ นั่นแสดงให้เห็นว่า เรายังไม่มีการศึกษาและสร้างองค์ความรู้กันอย่างจริงๆ จังๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านนวัตกรรมการจัดการ (Management Innovation) หรือนวัตกรรมเชิงกลยุทธ (Strategic Innovation)
-สิ่งที่พบคือ ธุรกิจหรือผู้ที่รับผิดชอบในการปฏิบัติงาน ขาดเครื่องมือในการสร้างความรู้ใหม่ๆ ที่เรียกว่า “การวิจัยทางธุรกิจ” (Business Research) ทำให้ธุรกิจทั้งหลายจึงต้องนำเข้าความรู้ใหม่ๆ และเครื่องมือทางการบริหารอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาในขณะที่ธุรกิจซึ่งได้ดำเนินการสิ่งใหม่ๆ มาระยะหนึ่งจนกระทั่งสามารถปรับให้
สอดคล้องในบริบทขององค์การ แต่เพราะขาดเครื่องมือในการสร้างความรู้ทำให้น่าเสียดายที่ไม่สามารถสร้างให้เกิด “นวัตกรรมการจัดการ” ที่เป็นของเราขึ้นมาเองได้
ประการสุดท้าย ความท้าทายใหม่ด้วยการสร้าง Blue Ocean ด้าน HR
ผู้เขียนคลุกคลีกับธุรกิจและการบริหารคนมาอย่างมากที่เดียว จนกระทั่งได้มีโอกาสเมื่อประมาณปี 2541 ได้วิจัยเกี่ยวกับ ทิศทางและบทบาทการบริหารทรัพยากรบุคคลในทศวรรษหน้า (ปี พ.ศ.2550) ซึ่งผลการวิจัยดังกล่าวมีการอ้างอิงถึงมากที่สุดและนักศึกษาระดับบัณฑิตศึกษาที่ศึกษาด้าน HR ในหลายสถาบันฯ ถูกกำหนดให้อ่านงานวิจัยดังกล่าว
จากองค์ความรู้ของการวิจัยข้างต้น โดยเฉพาะในการทบทวนวรรณกรรม ผู้เขียนได้พัฒนาโมเดลในการบริหาร HR หรือการนำไปสู่การสร้างโมเดลความสามารถ (Compe-tency Model) ที่ใช้เป็นต้นแบบในการวัดและประเมินความสามารถได้อย่างถูกต้องสำหรับธุรกิจ
ในปี 2549 ได้สร้างตัวแบบ (Model) สำหรับธุรกิจไทย โดยเรียกว่า ตัวแบบ SICM (Strategic Intellectual Capital Model) เพื่อที่จะดำเนินการในเรื่องทุนทางปัญญา ซึ่งเป็นการพัฒนาการขั้นที่สูงขึ้นของทุนมนุษย์ (Human Capital) โดย
กรณีที่ธุรกิจต้องการปรับเปลี่ยน (Transform) สิ่งที่ธุรกิจได้จัดทำเรื่องของวิสัยทัศน์ (Vision) และภารกิจ (Mission) พร้อมด้วยปัจจัยแห่งความสำเร็จหรือความสามารถหลักของธุรกิจไปสู่ตัวแบบทุนทางปัญญา (IC Model)
หรือกรณีที่ธุรกิจได้ดำเนินการด้าน การควบคุมกระบวนการ (Process Control) เช่น TQM ISO ทุกเวอร์ชั่น แล้วต้องการปรับเปลี่ยนไปสู่ตัวแบบทุนทางปัญญา
ผู้เขียนได้พัฒนาสิ่งที่เรียกว่า รูปแบบการจับคู่ (Pattern Matching) ในสิ่งที่เป็นหัวใจด้านกลยุทธธุรกิจไปสู่ตัวแบบทุนทางปัญญา ซึ่งในรูปแบบจับคู่นี้จะปรับ (Convert) สิ่งที่เรียกว่า ปัจจัยแห่งความสำเร็จ หรือความสามารถหลักของธุรกิจ หรือขอบเขตผลลัพธ์สำคัญ ให้ได้ความสามารถในตัวแบบทุนทางปัญญา
โดยที่ตัวแบบทุนทางปัญญานี้จะมีองค์ประกอบหลักๆ ใน 4 องค์ประกอบคือ
•ทุนภาวะผู้นำ หมายถึง วิสัยทัศน์ อุดมคติหลัก วัฒนธรรมเชิงคุณค่า ภาวะผู้นำในการจัดการ
•ทุนความสัมพันธ์ หมายถึง ความสัมพันธ์ของธุรกิจกับผู้ร่วมค้า ลูกค้าและพนักงานกับตลาด
•ทุนองค์กร หมายถึง กระบวนการกิจกรรม กระบวนการเรียนรู้ องค์กรและโครงสร้าง ทรัพย์สินทางปัญญา คุณสมบัติเฉพาะของผลิตภัณฑ์และฐานข้อมูลทางความรู้
•ทุนทรัพยากรบุคคล หมายถึง การบริหารทรัพยากรบุคคลและการพัฒนาทรัพยากรบุคคล
ขณะเดียวกัน สิ่งที่ผู้เขียนได้พัฒนาขึ้นคือ วิธีการสังเคราะห์ดัชนีบ่งชี้ความสำเร็จโดยเรียกสิ่งนี้ว่า Meta-Indicators Analysis
โดยการที่ผู้เขียนมี ดัชนีบ่งชี้ (Indicators) ที่เป็นเท็มเพลตของความสามารถในองค์ประกอบ ตัวแบบทุนทางปัญญา ที่ได้ศึกษาไว้และพบว่าสามารถนำไปใช้ตรวจสอบ KPIs ที่ใช้วัดความสามารถที่ธุรกิจพัฒนาขึ้นมาว่ามีความเหมาะสมมากน้อยเพียงใด
สิ่งนี้เป็น “การสร้าง Blue Ocean ด้าน HR” ที่อาศัยการวิจัยในกรณีศึกษากับธุรกิจจริงๆ และมีความแตกต่างจากการสำรวจองค์กรที่บริษัทที่ปรึกษาชอบนำเสนอผลการสำรวจ ทั้งนี้ก็เพราะว่า
•การสร้าง Blue Ocean ต้องเป็นการสร้างธุรกิจใหม่หรือผลิตภัณฑ์ใหม่เข้าไปยังตลาดที่ไม่มีการแข่งขัน
ซึ่งตัวแบบทุนทางปัญญาหรือที่เรียกว่า ตัวแบบ SICM จึงเป็น Blue Ocean ด้าน HR ที่น่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง
•การที่ธุรกิจสนใจเรื่องทุนมนุษย์ (Human Capital) ถ้าจะว่าไปแล้วมีความหมายที่กว้างกว่า การบริหาร HR ตามที่เข้าใจกัน ธุรกิจต้องการการจุดระเบิด (Injection) จากทุนมนุษย์ไปสู่ทุนความสัมพันธ์ ทุนองค์การและทุนภาวะผู้นำ สิ่งนี้ถือเป็น Blue Ocean ของ HR ที่ผู้เขียนได้ศึกษาไว้ การที่ธุรกิจจะสร้างธุรกิจแห่งนวัตกรรม (Innovative Enterprise) ให้เกิดขึ้นได้จะมีโอกาสยากมากเพราะยังคงแต่จะแสวงหา นวัตกรรมจากการวิจัยและพัฒนา แต่ธุรกิจแห่งนวัตกรรมต้องการนวัตกรรมที่มากกว่าผลิตภัณฑ์ใหม่คือ นวัตกรรมเชิงกลยุทธและนวัตกรรมการจัดการ ซึ่งตัวแบบ SICM คือ สะพานเชื่อมใหม่ของธุรกิจจากทุนมนุษย์สู่ธุรกิจแห่งนวัตกรรม
ดร.ดนัย เทียนพุฒ
Dr.Danai Thieanphut
DNT Consultants

อัพเดทล่าสุด