กลยุทธ์การบริหารผู้บริหารระดับสูงขององค์กร


668 ผู้ชม


กลยุทธ์การบริหารผู้บริหารระดับสูงขององค์กร




     จากกรณีที่บริษัท เอนรอนและบริษัทเวิลคอมล้มละลายนั้น เราคงพอที่จะมองเห็นสัจธรรมอย่างหนึ่งได้ชัดเจน นั่นก็คือ "ความโลภ" ของคนเก่งไม่เข้าใครออกใคร ถึงแม้คนๆนั้นจะเป็นผู้บริหาระดับสูงก็ตาม แต่ถ้าไม่สามารถขจัดความโลภออกจากตัวเองได้แล้ว ต่อให้องค์กรนั้นๆเจริญก้าวหน้าหรือเติบโตมีชื่อเสียงเพียงใดก็ตามคนเก่งที่มีความโลภก็สามารถทำให้พินาศได้

      หลายองค์กรพยายามที่จะสรรหา ควานหา แย่งตัว ซื้อตัว "คนเก่ง" แต่หารู้ไม่ว่าคนเก่งนั้นเปรียบเสมือนดาบสองคม ถ้าได้คนที่เป็นทั้ง "คนเก่ง" และ "คนดี" ก็โชคดีไป แต่ถ้าได้คนเก่งที่เป็นคนไม่ดีแล้ว ความเสี่ยงขององค์กรก็มีมากขึ้น

       องค์กรต่างๆมักจะมุ่งเน้นการพัฒนาบุคลากรระดับกลางถึงระดับล่างมากจนเกินไป จนละเลยการพัฒนาฝึกอบรมผู้บริหาระดับสูง ถึงเวลาแล้วหรือยังที่กรรมการบริษัทหรือผู้ถือหุ้นจะต้องเริ่มคิดเรื่องนี้กันได้แล้ว มิฉะนั้น อาจจะมีเอนรอนและเวิลคอม 2,3 ต่อไปเรื่อยๆไม่มีที่สิ้นสุด

       ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้บริหาระดับสูงเกิดความโลภคือ เป็นคนเก่งในการบริหารธุรกิจ แต่สอบตกการบริหารชีวิต ยิ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงมากเท่าไหร่ "กิเลส" ยิ่งพอกพูนมากยิ่งขึ้น ยิ่งเก่งกว่าคนอื่นมากเท่าไหร่ โอกาสเข้าใกล้การทุจริตคอรัปชั่นก็มีมากขึ้นเท่านั้น

      ในช่วงแรกๆ กระแสของบรรษัทภิบาลมาแรงมาก เพราะทุกคนเชื่อว่ามันจะสามารถแก้ไขปัญหาความไม่สื่อสัตย์ ไม่โปร่งใสของการบริหารงานได้ แต่วินาทีนี้ ไม่มีใครการันตีได้ว่าระบบบรรษัทภิบาลเพียงระบบเดียวจะสามารถสกัดกั้น "เพลิงกิเลส" ของคนเก่งๆที่เป็นผู้บริหารได้เพื่อป้องกันไม่ให้ไวรัสกิเลสของผู้บริหารเข้ามาลุกลามในองค์กร ผมคิดว่าเราควรจะกำหนดกลยุทธ์ในการพัฒนาผู้บริหารที่เก่งๆให้เป็นคนดีดังนี้

  กระบวนการตรวจสอบพฤติกรรม

เป็นไปได้หรือไม่ที่องค์กรต่างๆจะนำเอาแนวคิดในการตรวจสอบประวัติผู้บริหารที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น มีการตรวจสอบประวัติตั้งแต่วัยเด็กทั้งประวัติในครอบครัว คนรอบข้าง สังคม โดยมีการตรวจสอบพฤติกรรมทั้งก่อนเข้ามาในองค์กรและระหว่างอยู่ในองค์กรหรืออาจจะตรวจสอบไปถึงหลังจากที่ออกไปจากองค์กรแล้ว เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้บริหารที่เก่งๆแต่ไม่ดีนั้นลอยนวลไปทำความเสียหายให้กับองค์กรอื่นๆอีก

การที่องค์กรจะสามารถตรวจสอบผู้บริหารจากผลงาน จากผู้ตรวจสอบภายนอกแล้ว องค์กรควรจะหันมาให้ความสำคัญกับ "กรรมการบริษัท" ให้มากยิ่งขึ้น กรรมการอิสระควรจะมีบทบาทในการติดตามและตรวจสอบกรรมการที่เป็นกรรมการบริหารให้มากยิ่งขึ้น แต่การที่จะทำอย่างนี้ได้ กรรมการอิสระจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถไม่ด้อยไปกว่ากรรมการบริหาร มิฉะนั้นจะตามผู้บริหารไม่ทัน

ผมเชื่อว่าระบบการตรวจสอบแบบรอบด้านและต่อเนื่องน่าจะเป็นวิธีการหนึ่งที่จะช่วยลดโอกาสแห่งความ "โลภ" ของผู้บริหารลงได้บ้าง พูดง่ายๆคือ ไม่เปิดโอกาสให้คนชั่วได้ทำมาหากินว่างั้นเถอะ

 กำหนดหลักสูตรการพัฒนาจิตใจ

เป็นไปได้หรือไม่ที่ผู้บริหารระดับสูงควรจะผ่านการฝึกอบรมหลักสูตรที่เกี่ยวข้องกับจรรยาบรรณในการบริหารธุรกิจ ในแวดวงนักบริหารควรจะมีหลักสูตรนี้ขึ้นมาบ้าง เพราะปัจจุบันนี้จะมีเพียงผู้บริหารบางคนในบางองค์กรเท่านั้นที่ได้พัฒนาจิตใจของตัวเองโดยการฝึกสมาธิ ขัดเกลาจิตใจตัวเองโดยอาศัยคำสอนทางศาสนา การพัฒนา "จิตใจ" นี้ถือเป็นจุดสำคัญเพราะใจเป็นบ่อเกิดของกิเลส เป็นบ่อเกิดของความชั่วและความดี ก่อนที่จะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรม การที่เราจะไปยับยั้งหรือป้องกันพฤติกรรมที่ไม่ดีนั้น เป็นเรื่องที่ยากมากเหมือนตำรวจตามจับขโมย แต่ถ้าจะดับกิเลสให้ถาวรนั้นจะต้องพัฒนาจิตใจของผู้บริหารให้เกิดความเข้มแข็งและต่อสู้กับฝ่ายอธรรมในจิตใจของตัวเองก่อน

 ลดโอกาสที่อาจจะก่อให้เกิดความโลภ

จากกรณีของเวิลคอมนั้น จะเห็นว่าผู้บริหารด้านการเงินระดับสูงมีแรงจูงใจจากผลตอบแทนเรื่องของ Stock Option (องค์กรไหนมี Incentive แบบนี้ก็คงหนาวๆร้อนๆกันพอสมควร) พูดง่ายๆคือ "ผลประโยชน์" คือบ่อเกิดของ "ความโลภ" ดังนั้น การจัดแพคเก็จจูงใจสำหรับผู้บริหาระดับสูงควรจะพิจารณาให้ดีว่า การเพิ่มขึ้นหรือลดลงของผลประโยชน์นั้นๆ มีส่วนสัมพันธ์กับการตัดสินใจของผู้บริหารมากน้อยเพียงใด องค์กรต้องพยายามลดเชื้อเพลิงแห่งความโลภที่เกิดจากผลตอบแทนจูงใจให้มากที่สุด

 สร้างวัฒนธรรมองค์กร

ถึงแม้คนไม่ดีเข้ามาอยู่ในองค์กร แต่ถ้าวัฒนธรรมองค์กรในเรื่องของความโปร่งใส ความสื่อสัตย์มีความเข้มแข็ง โอกาสที่คนไม่มีจะประพฤติไม่ดีก็จะมีน้อยลงหรือไม่มีโอกาสเลย วัฒนธรรมองค์กรเปรียบเสมือนตำรวจทางใจที่คอยเตือนให้คนที่ไม่ดีคอยระแวดระวังอยู่ตลอดเวลา วัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่มองไม่เห็นแต่ส่งผลต่อจิตใจของคนในองค์กรได้

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัด เช่น คนในประเทศหนึ่งเป็นคนที่มีนิสัยมักง่ายชอบทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทาง (ประเทศไหนก็พอจะเดากันได้นะครับ) แต่พอเดินทางไปอีกประเทศหนึ่งที่เขามีวัฒนธรรมทางสังคมในเรื่องการทิ้งขยะให้เป็นที่ คนๆนั้นก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับวัฒนธรรมของอีกสังคมหนึ่งได้ สิ่งนี้แสดงให้เห็นว่าวัฒนธรรมองค์กรมีผลต่อการกำหนดพฤติกรรมคนในสังคมนั้นๆ

สรุป การพัฒนาบุคลากรในองค์กรต่างๆ ควรมุ่งเน้นการพัฒนาทั่วทั้งองค์กร อย่าเน้นเพียงบุคลากรระดับล่างหรือระดับกลาง แต่ต้องมีกระบวนการในการพัฒนาผู้บริหาระดับสูงด้วย เพราะถ้าบุคลากรระดับล่างไม่ดี อย่างดีก็ทำให้องค์กรไม่เติบโตก้าวหน้าเท่านั้น แต่ถ้าผู้บริหารระดับสูงไม่ดี โอกาสล้มละลายมีสูงมาก ที่สำคัญจะทำให้บุคลากรระดับต่างๆตกงานไปด้วย ดังนั้น เพื่อให้องค์กรอยู่รอดและเราอยู่ได้ บุคลากรทุกคนในองค์กรจึงต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตาในการสอดส่องดูแลพฤติกรรมของทุกคนในองค์กรนะครับ

บทความ:ณรงค์วิทย์ แสนทอง
[email protected]


อัพเดทล่าสุด